วันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1973 คือวันที่สุดยอดอัลบั้มแห่งวงการดนตรีที่มีนามว่า ‘Dark Side of The Moon’ ได้เปิดตัวต่อสาธารณชนคนดนตรี ให้ได้เสพย์ซึ้งถึงท่วงทำนองอันล้ำลึกสุดขอบจักรวาลที่ประสานไปกับเนื้อร้องที่ชวนขบคิดใคร่ครวญถึงสิ่งต่าง ๆ ที่รายล้อมรอบตัวของการดำรงอยู่ในฐานะมนุษย์โลก เป็นเวลากว่า 48 ปีแล้วที่อัลบั้มชุดนี้ได้สร้างความประทับใจและแรงบันดาลใจให้กับนักฟังเพลงและนักดนตรีหลายยุคสมัยจวบจนวันนี้มันก็ยังไม่ร่วงโรยไปตามกาลเวลา
ถึงแม้ว่าตำนานของวง ‘พิงก์ฟลอยด์’ (Pink Floyd) วงดนตรีโพรเกรสซีฟ-ไซคีเดลิกร็อกผู้ให้กำเนิดอัลบั้มระดับตำนานชิ้นนี้จะได้ปิดตำนานลงไปแล้ว และ ‘เดวิด กิลมอร์’ (David Gilmour) ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ดับฝันแฟน ๆ ไปเป็นที่เรียบร้อยว่าคงไม่มีการรียูเนี่ยนวงเป็นสี่หนุ่ม Pink Floyd ในยุคคลาสสิก ‘โรเจอร์ วอเตอร์ส’ (Roger Waters) – เบส /ร้อง ‘เดวิด กิลมอร์’ (David Gilmour) – กีตาร์ /ร้อง ‘ริชาร์ด ไรท์ ‘ (Richard Wright) – คีย์บอร์ด / ร้อง และ ‘นิค เมสัน’ (Nick Mason) – กลอง อีกแล้ว เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นมันคือความสุขและเป็นการเติมเต็มทางดนตรีเป็นที่เรียบร้อย อีกทั้งการกลับมารวมตัวกันใหม่โดยไม่มี ริชาร์ด ไรท์ มือคีย์บอร์ดที่เสียชีวิตไปในปี 2008 ก็เป็นอะไรที่ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นสุดท้ายเราก็ได้ข้อสรุปว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมานั้นมันได้กลายเป็นตำนานและมันสวยงามที่สุดแล้ว
‘Dark Side of The Moon’ ถือได้ว่าประสบความสำเร็จทั้งในด้านชื่อเสียงและยอดขายซึ่งสูงกว่า 15 ล้านก็อปปี้ในสหรัฐอเมริกาและมากกว่า 45 ล้านก็อปปี้ทั่วโลก เป็นความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่อลังการของวงการดนตรีร็อก ส่วนในด้านสารัตถะของดนตรีงานเพลงชุดนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญจากยุคดนตรีโพรเกรสซีฟที่เน้นสไตล์แจมกันและมีการทดลองแนวทางต่าง ๆ มาสู่งานดนตรีโพรเกรสซีฟ-ไซคีเดลิคร็อกที่มีความท้าทายและลุ่มลึกรวมไปถึงเนื้อหาที่คมคายและสะท้อนแง่มุมที่หลากหลายในสังคม อัลบั้มชุดนี้บันทึกเสียงที่สตูดิโอ Abbey Road ในลอนดอนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 1972 ไปจนถึงเดือนมกราคมปี 1973 ในส่วนของเนื้อหาอัลบั้มชุดนี้เป็นอัลบั้มแรกที่พิงก์ฟลอยด์มีธีมและแนวทางที่ชัดเจนว่าจะพูดเรื่องอะไรบ้าง เนื้อหาของเพลงครอบคลุมทั้งเรื่องของเงินทอง ความมั่งคั่ง (“Money”), ความขัดแย้งและสงคราม (“Us and Them”), ความบ้าคลั่ง (“Brain Damage”), ความว่างเปล่าของการดำรงอยู่ (“Time”) และความตาย (“The Great Gig in the Sky”)
ในโอกาสครบรอบ 48 ปีอัลบั้มสุดคลาสสิกชิ้นนี้ เราจะมาดู 10 เรื่องราวน่ารู้ที่เกี่ยวข้องกับอัลบั้มนี้กันและหลังจากนั้นเราจะได้กลับไปฟังผลงานชิ้นนี้กันอย่างมีความสุขอีกสักที
1. ‘Dark Side of The Moon’ เป็นอัลบั้มแรกที่ โรเจอร์ วอเตอร์ส เข้ามาเป็นคนเขียนเนื้อเพลงหลัก
โรเจอร์ วอเตอร์ส เข้ามามีส่วนร่วมในการเขียนเนื้อเพลงให้พิงก์ฟลอยด์ตั้งแต่อัลบั้ม ‘A Saucerful of Secrets’ ในปี 1968 (แต่ก่อนหน้านี้เขามีเครดิตร่วมแต่งในเพลงบรรเลง “Pow R. Toc H.” และ “Interstellar Overdrive” จากอัลบั้มชุดแรกของวง ‘The Piper at the Gates of Dawn’ ในปี 1967) สไตล์การเขียนเพลงของวอเตอร์สจะมีเนื้อหาที่เน้นไปในทางการเมืองและปรัชญาเป็นส่วนใหญ่ การเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเขียนเพลงของวอเตอร์สทำให้ทิศทางของพิงก์ฟลอยด์มีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนและด้วยความชัดเจนในแนวทางของวอเตอร์สจึงทำให้เขามีความตั้งใจที่จะให้เนื้อหาของเพลงในอัลบั้มนี้มีความชัดเจนและตรงประเด็นกว่าที่วงเคยทำมา
การเข้ามามีบทบาทอย่างเข้มข้นของวอเตอร์สได้ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเขาและสมาชิกวงคนอื่น ๆ โดยเฉพาะกิลมอร์ที่รู้สึกว่าการที่วอเตอร์สมีสิทธิมีเสียงในการเขียนเพลงนั้นไม่ได้หมายความว่าเขาจะไปก้าวก่ายในส่วนอื่นๆ ของดนตรีได้อย่างเต็มที่ แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นก็ถือได้ว่ามีความงดงามตามแบบที่ควรจะเป็นแล้ว
2.ตอนแรกอัลบั้มนี้เกือบจะมีชื่อว่า ‘Eclipse’
แรกเริ่มเดิมทีอัลบั้มนี้พิงก์ฟลอยด์ตั้งใจจะใช้ชื่อว่า ‘Eclipse’ เพื่อสื่อถึงความสัมพันธ์ของดวงจันทร์และจักรวาล แต่ก็โดนวงบลูส์ร็อกจากอังกฤษนามว่า ‘Medicine Head’ ชิงตัดหน้าไปก่อนด้วยการใช้เป็นชื่ออัลบั้มของพวกเขาในปี 1972 ซึ่งทั้งคู่ก็ต่างไม่รู้ว่ากำลังคิดใช้ชื่อเดียวกันอยู่ และตอนที่กิลมอร์รู้ว่า Medicine Head ใช้ชื่ออัลบั้มว่า Eclipse ก็ทำเอาเซ็งไปเลยเพราะเขาเชื่อว่าตัวเองคิดจะใช้ชื่อนี้มาตั้งนานนมแล้วและน่าจะก่อน Medicine Head อย่างแน่นอน
3. แฟนพิงก์ฟลอยด์ได้ฟังเพลงจากอัลบั้มนี้ในคอนเสิร์ตก่อนที่จะมีการบันทึกเสียงในสตูดิโอเสียอีก
แฟน ๆ ของวงที่ติดตามชมคอนเสิร์ตเคยได้ฟังเพลงจากอัลบั้ม Dark Side of the Moon เป็นเวลาปีกว่าก่อนที่ทางวงจะเอาเพลงไปบันทึกเสียงในสตูดิโอ และตอนที่วงเอาเพลงไปเล่นนั้นก็มีการเรียงลำดับก่อนหลังตามที่อยู่ในอัลบั้มจริง ๆ โดยเล่นเป็นครั้งแรกในคอนเสิร์ต Dark Side of the Moon: A Piece for Assorted Lunatics ที่ Brighton Dome ในวันที่ 20 มกราคม 1972 แต่เล่นไม่จบเพราะดันเกิดปัญหาทางเทคนิคเสียก่อน แต่หลังจากนั้นวงก็ได้เล่นจนจบครบเซ็ตในคอนเสิร์ตครั้งต่อ ๆ มาในปี 1972 หลังจากนั้นวงก็ได้ทำการบันทึกเสียงทั้ง 10 เพลงที่ Abbey Road โดยบันทึกลงในเทป 16-แทร็กม้วนเดียวทั้งหมดซึ่งเป็นวิธีที่ชาวบ้านเค้าไม่ได้ทำกัน แต่พิงก์ฟลอยด์มีเหตุผลเพราะว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับ ‘ช่วงรอยต่อระหว่างเพลง’ ซึ่งระยะการไหลจากเพลงหนึ่งไปยังเพลงหนึ่งในอัลบั้มนั้นถือว่ามีความสำคัญต่ออารมณ์เพลงเป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นพวกเขาเลยทำมันตั้งแต่ขั้นตอนของการบันทึกเสียงมากกว่าที่จะไปทำในขั้นตอนการการมิกซ์
4. เพลง “On the Run” เวอร์ชันสดที่เล่นในปี 1972 มีความแตกต่างจากเวอร์ชันอัลบั้ม
เพลง “On the Run” คือเพลงที่มีความแตกต่างมากที่สุดระหว่างเวอร์ชันที่เล่นไลฟ์ในปี 1972 กับเวอร์ชันที่เรียบเรียงใหม่ตอนบันทึกเสียงในสตูดิโอ แต่เดิมเพลงนี้มีชื่อว่า “The Travel Sequence” การเรียบเรียงดนตรีจะเน้นไปที่กีตาร์ แต่ต่อมาได้ถูกเรียบเรียงให้กลายเป็นเพลงที่มีซาวด์อิเล็กทรอนิกเป็นหลักจากอนาล็อกซินธ์ EMS Synthi AKS ซึ่งเป็นซินธ์แบบบิลท์อินที่มีทั้งคีย์บอร์ดและซีเคว็นเซอร์อยู่ในชุดเดียวกัน ซึ่งซินธ์ตัวนี้ถูกใช้ในเพลง “Any Colour You Like” ด้วย ส่วนสาเหตุที่เรียบเรียงเพลงนี้ให้มีความเป็นอิเล็กทรอนิกส์นั้นเพราะพวกเขาเริ่มมีความสนใจในดนตรีอิเล็กทรอนิกส์และต้องการซาวด์ที่ให้ความรู้สึกในแบบ 3 มิติ
5. เพลง “Money” ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปิน R&B ‘Booker T. & the M.G.’s’
“Money” เพลงแรกของพิงก์ฟลอยด์ที่ติดชาร์ตท็อปฮิต 20 ในสหรัฐอเมริกา นั้นเป็นเพลงที่มีท่วงทำนองอันเข้มข้นในสไตล์ร็อก ซึ่งมีลูกเล่นการใช้สัดส่วน 7/4 (ยกเว้นในท่อนกีตาร์โซโลที่ปรับเป็น 4/4) และมีเบสหนึบหน่วงจากวอเตอร์ส ลีดกีตาร์โหยหวนของกิลมอร์และโซโลแซ็กโซโฟนอันน่าตื่นเต้นจาก ‘ดิก เพอร์รี’ (Dick Parry) แถมยังมีการใช้ซาวด์ดีไซน์สุดเก๋ด้วยการใส่เสียงเครื่องกดเงินสดและเหรียญกรุ๊งกริ๊งเข้ามาด้วย แต่รู้ไหมว่าเพลงสุดเซอร์นี้มีที่มาจากแรงบันดาลใจในวง R&B ‘Booker T. & the M.G.’s’ ซึ่งกิลมอร์เคยให้สัมภาษณ์กับ Rolling Stone ได้ว่า “ถ้าให้บอกว่าได้รับอิทธิพลอะไรมาและได้มาอย่างไรนั้นเป็นสิ่งที่ตอบได้ยาก” แต่ด้วยความที่กิลมอร์เป็นแฟนตัวยงของ Booker T. มาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นรวมไปถึงความประทับใจในอัลบั้ม ‘Green Onions’ (ซึ่งพิงก์ฟลอยด์เคยเล่นเพลง ‘Green Onions’ บนเวทีด้วย) ก็เลยสั่งสมความชอบนั้นเอาไว้ในตัวและส่งผลต่องานเพลงของพวกเขาในที่สุด และกิลมอร์ก็คิดว่ามันเป็นการดีที่ “เราจะใส่เสียงในแบบของพวกเขาเอาไว้ในเพลงของเราในแบบที่ไม่มีใครจับได้”
6. เกือบจะมีเสียงของ ‘พอล แม็กคาร์ตนีย์’ (Paul McCartney) ในอัลบั้มนี้แล้วแต่วงตัดสินใจเอาออกไป
ในความพยายามที่จะเชื่อมโยงเพลงของ Dark Side of The Moon เข้าด้วยกัน โรเจอร์ วอเตอร์สได้ผุดไอเดียบรรเจิดด้วยการไปสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ของ Abbey Road และทีมงานคนอื่น ๆ ที่ทำงานอยู่ในสตูดิโอด้วยการถามคำถามเกี่ยวกับหัวข้อต่าง ๆ ตั้งแต่เรื่องที่ไม่มีอะไรหวือหวาอย่างสีและอาหารที่ชื่นชอบ ไปจนถึงเรื่องที่จริงจังลึกซึ้งอย่างความบ้าคลั่งและความตาย จากนั้นจึงตัดบางส่วนของบทสัมภาษณ์ใส่ลงไปในช่วงมิกซ์ในขั้นตอนสุดท้าย ในตอนนั้นแม็กคาร์ตนีที่กำลังบันทึกเสียงอัลบั้มชุดที่ 2 ‘Red Rose Speedway’ ในนามวง Wings ที่ Abbey Road ก็เป็นคนหนึ่งที่ถูกจับมานั่งสัมภาษณ์ แต่พอได้ฟังคำตอบแล้ววอเตอร์สรู้สึกว่าคำตอบของแม็กคาร์ตนีนั้นมัน ‘ใช้ไม่ได้’ “เขาเป็นคนเดียวที่คิดว่าจำเป็นต้องแสดงในการตอบคำถามนี้ซึ่งมันไม่มีประโยชน์เลย” วอเตอร์สรู้สึกว่าแม็กคาร์ตนีไม่มีความเป็นธรรมชาติและพยายามทำตัวตลกซึ่งมันไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ “เขาพยายามทำตัวตลกซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการเลย”
แต่ถึงแม้เสียงของแม็กคาร์ตนีจะไม่ได้ถูกนำมาใช้ในอัลบั้มนี้แต่เพลงของ The Beatles ก็มาปรากฎตัวอยู่ใน Dark Side of The Moon แบบเนียน ๆ เหมือนกัน หากคุณลองตั้งใจฟังเพลง “Eclipse” ที่อยู่เป็นแทร็กสุดท้ายของอัลบั้มคุณจะได้ยินบางส่วนของเพลง “Ticket to Ride” ของ The Beatles ลอยมาไกล ๆ ซึ่งมันกำลังถูกเปิดเล่นอยู่ในสตูดิโอขณะที่กำลังบันทึกเสียงพูดของ Gerry O’Driscoll ดอร์แมนของ Abbey Road ในท่อนอมตะ “There is no dark side of the moon, really. Matter of fact, it’s all dark. The only thing that makes it look light is the sun.”
7. “Us and Them” เกือบจะเป็นซาวด์แทร็กหนังเรื่อง Zabriskie Point
“Us and Them” คือซิงเกิลฮิตเพลงที่ 2 ของอัลบั้มต่อจาก “Money” เพลงนี้ถูกเขียนขึ้นไว้นานแล้วและวงก็เคยนำมาเล่นสดครั้งแรกในปี 1969 ซึ่งในตอนนั้นยังเป็นบทเพลงบรรเลงที่ขับเคลื่อนด้วยเสียงเปียโนและเบสภายใต้ชื่อ “The Violent Sequence” ซึ่งแต่งโดยไรท์และวอเตอร์ส และกำลังจะถูกใช้เป็นซาวด์แทร็กประกอบหนังของผู้กำกับระดับตำนานชาวอิตาลี ‘มีเกลันเจโล อันโตนีโอนี’ (Michelangelo Antonioni) เรื่อง ‘Zabriskie Point’ (1970) แต่ในตอนนั้นมีเพลงของพิงก์ฟลอยด์ใช้อยู่แล้ว 3 เพลงคือ “Heart Beat, Pig Meat” “Crumbling Land” และ “Come in Number 51, Your Time Is Up” และอันโตนีโอนีก็รู้สึกว่า “The Violent Sequence” คงไม่เหมาะกับหนังเรื่องนี้ก็เลยตัดสินถอดออกไป วอเตอร์สจำได้ว่าตอนนั้นอันโตนีโอนีบอกว่า “มันเป็นเพลงที่งดงามมากแต่ก็เศร้ามากเช่นกัน มันทำให้ผมคิดถึงโบสถ์ !”
8. อัลบั้มนี้เกือบจะมีปกเป็นรูป Silver Surfer แล้ว
อย่างที่รู้กันดีว่าปกอัลบั้มนี้คือหนึ่งในงานออกแบบปกสุดคลาสสิกที่ถูกกล่าวขวัญถึง เรียบง่ายแต่ลึกซึ้งและสะดุดตาจากรูปปริซึมที่สะท้อนแสงสีออกมา ซึ่งออกแบบโดยกราฟิกดีไซเนอร์ชาวอังกฤษ
‘จอร์จ ฮาร์ดี’ (George Hardie) ผนวกกับไอเดียจาก ‘สตอร์ม ทอร์เจอร์สัน’ (Storm Thorgerson) และ ‘ออเบรย์ โพเวลล์’ (Aubrey Powell) จากกลุ่มนักออกแบบนาม ‘Hipgnosis’ และในครั้งแรกที่ปกอัลบั้มนี้ปรากฎสู่สายตาของวงพวกเขาก็รู้ในทันทีว่านี่แหละคือสิ่งที่ใช่สำหรับ Dark Side of the Moon
แต่ลองมาจินตนาการเล่น ๆ กันว่าหากปกอัลบั้มนี้ไม่ได้เป็นแบบนี้ล่ะ เพราะครั้งหนึ่งโพเวลล์เคยแนะนำไอเดียบรรเจิดว่าถ้าปกในอัลบั้มนี้ใช้ตัวการ์ตูนจากคอมิก ‘Silver Surfer’ ล่ะจะเป็นยังไง ถึงแม้ว่าไอเดียนี้จะตกไป แต่โพเวลล์ก็รู้สึกว่ามันเป็นไอเดียที่เก๋ลองนึกภาพดูว่ามี Silver Surfer กำลังเซิร์ฟบอร์ดอยู่ท่ามกลางดวงดาวในจักรวาลอันกว้างใหญ่ มันจะลึกลับและเท่ขนาดไหน ลึกลับและเท่ที่มัน Dark Side of the Moon ชัด ๆ
9. Dark Side of the Moon เป็นอัลบั้มแรกของพิงก์ฟลอยด์ที่ขึ้นอันดับท็อป 40 ในสหรัฐอเมริกา
ด้วยความสำเร็จอย่างล้มหลามของอัลบั้มและมียอดขายทะลุเป้าไปไกลทิ้งห่างจาก 7 อัลบั้มก่อนหน้าแบบไม่เห็นฝุ่น ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ทางวงจะมี “Obscured by Clouds” เป็นอัลบั้มที่ฮิตที่สุดในอเมริกาซึ่งถูกใช้ประกอบหนังฝรั่งเศสเรื่อง “La Vallée” ซึ่งขึ้นไปถึงอันดับที่ 46 ในชาร์ตบิลบอร์ด 200 ในช่วงซัมเมอร์ปี 1872 แต่ด้วยการโปรโมตจาก Capitol Records และ ความฮิตของซิงเกิล “Money” ที่เหล่าดีเจพร้อมใจกันเปิดบนหน้าปัดวิทยุทำให้ Dark Side of the Moon ทำลายสถิติของวงด้วยการเป็นอัลบั้มที่ขึ้นชาร์ตสูงที่สุดและมียอดขายสูงที่สุด
10. เงินรายได้ส่วนหนึ่งของอัลบั้มถูกใช้เป็นทุนสร้างหนังเรื่อง Monty Python and the Holy Grail
ไม่เพียงแต่ Dark Side of the Moon จะกลายเป็นตำนานของหน้าประวัติศาสตร์ดนตรีแล้ว รายได้อันมหาศาลยังทำให้พิงก์ฟลอยด์กลายเป็นเศรษฐีใจบุญที่ได้ร่วมทุนในการสร้างหนังคอมเมดี้เรื่อง ‘Monty Python and the Holy Grail’ ผลงานการกำกับของ ‘เทรี กิลเลียม’ (Terry Gilliam) ปกติแล้วสมาชิกวงมักเอ็นจอยกับการชมทีวีซีรีส์ Monty Python’s Flying Circus ทางช่อง BBC2 ในช่วงพักระหว่างทัวร์ เพราะฉะนั้นทันทีที่พวกเขาถูกทาบทามให้มาร่วมทุนสร้างภาพยนตร์ขนาดยาวจากซีรีส์ Monty Python พวกเขาเลยไม่ลังเลใจที่จะมอบเงินรายได้จากอัลบั้ม Dark Side of the Moon เป็นจำนวน 10 เปอร์เซ็นต์จากทุนตั้งต้นของหนังจำนวน 200,000 ปอนด์ ในช่วงเวลานั้นอังกฤษกำลังขึ้นภาษีสูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ไม่มีนายทุนหน้าไหนกล้าควักเงินลงทุนให้เลย เทรี กิลเลียมก็เลยมองแหล่งทุนไปที่ศิลปินและวงดนตรีที่มีเงินถุงเงินถังอย่างเอลตัน จอห์น , เลด เซพเพลิน และแน่นอนพิงก์ฟลอยด์และมันก็เป็นการตัดสินใจที่ถูกเผงเลยทีเดียว (สามารถรับชมหนังเรื่องนี้ได้ทาง netflix)
Source
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส