‘เออิชิ โอทากิ’ (Eiichi Ohtaki / 大滝詠一) นักร้องนักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์และศิลปินผู้บุกเบิกแนวทางใหม่ ๆ ให้กับวงการดนตรีญี่ปุ่น ได้ออกผลงานอัลบั้มฮิตของเขา “A LONG VACATION” ออกมาในวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1981 ซึ่งในปีนี้นี้ถือเป็นที่ที่ครบรอบ 40 ปีนับจากวันที่อัลบั้มนี้วางจำหน่ายเป็นครั้งแรก ซึ่งอัลบั้มชุดนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นก้าวสำคัญในวิวัฒนาการของแนวดนตรี City Pop แต่ยังถือเป็นหนึ่งในอัลบั้มร็อกญี่ปุ่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลอีกด้วย

เออิชิ โอทากิ

A Long Vacation ถือเป็นก้าวสำคัญในอาชีพการงานของโอทากิ ซึ่งในผลงานเพลงชุดนี้เขาได้ใช้เทคนิคทางดนตรีที่เรียกว่า “Wall of Sound” อันเป็นเอกลักษณ์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก ฟิล สเปคเตอร์ (Phil Spector) โปรดิวเซอร์ชาวอเมริกัน เพื่อสร้างความรู้สึกให้เหมือนกับกำลังชมคอนเสิร์ตอยู่โดยผสมผสานเข้ากับการเรียบเรียงดนตรีในสไตล์บาโรกพอปยุค 60s

ด้วยความที่อัลบั้มชุดนี้ให้เสียงดนตรีที่แน่นเหมือนวงออร์เคสตรา ก็ย่อมต้องมีนักดนตรีมาร่วมงานด้วยเป็นจำนวนมากซึ่งแต่ละคนก็ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลสำคัญของวงการดนตรีญี่ปุ่นและเป็นเพื่อนพ้องนักดนตรีที่เคยร่วมงานกับโอทากิมาแล้วทั้งนั้น กลุ่มแรกเลยก็คือเพื่อนร่วมวง Happy End วงดนตรีในอดีตของโอทากิ ทุกคนกลับมารวมตัวกันอีกครั้งเป็นครั้งแรกตั้งแต่แยกย้ายกันไปในปี 1973 ทาคาชิ มัตสึโมโตะ (Takashi Matsumoto) มาเขียนเนื้อเพลงให้เกือบทุกเพลงในอัลบั้ม ชิเงรุ สุซุกิ​ (Shigeru Suzuki) เล่นกีตาร์และ ฮารุโอมิ โฮโซโนะ (Haruomi Hosono) เล่นเบส (ซึ่งต่อมาเขาได้กลายหนึ่งในตำนานแห่งวง Yellow Magic Orchestra) นอกจากนี้ก็ยังมี มาโกโตะ มัตสึชิตะ (Makoto Matsushita / 松下誠) และอดีตสมาชิกวง Sugar Babe (วงเก่าของตำนาน City Pop ทัตสึโระ ยามาชิตะและทาเอโกะ โอนุกิ)  คุนิโอะ มุรามัตสึ (Kunio Muramatsu / 村松邦男) เล่นกีตาร์, อาคิระ อิโนะอุเอะ (Akira Inoue /井上鑑) เล่นคีย์บอร์ด, สมาชิกกลุ่ม Tin Pan Alley มาซาทากะ มัตสึโตยะ (Masataka Matsutoya/松任谷正隆) และทัตสึโอะ ฮายาชิ (Tatsuo Hayashi /林立夫), และ เจค เอช. คอนเซ็ปชั่น (Jake H Concepcion) มือแซกโซโฟนที่เปลี่ยนมาเล่นฟลุตให้กับงานเพลงชุดนี้ นอกจากนี้ยังมีศิลปินคนอื่น ๆ อีกมากมายที่ได้รับเชิญให้มาเป็นนักร้องแบ็กอัป เช่น นักร้องนักแต่งเพลงหนุ่ม ฮิโรอากิ อิการาชิ ( Hiroaki Igarashi / 五十嵐浩晃) วง The Channels และไอดอลหญิง ฮิโรมิ โอตะ (Hiromi Ōta / 太田), นักร้องสาว Raije (ラジ) และ วง The Singers Three

เออิชิ โอทากิและทัตสึโระ ยามาชิตะ

A Long Vacation เปิดตัวเมื่อวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1981 ในช่วงแรกยอดขายค่อนข้างเงียบเหงา แต่ต่อมายอดขายกลับค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจนไต่ขึ้นเป็นอันดับ 2 ในชาร์ต Oricon ในช่วงฤดูร้อนของปีนั้นตามหลังอัลบั้ม ‘Reflections’ ของนักร้อง – นักแสดงหนุ่ม อาคิระ เทระโอะ (Akira Terao/寺尾聡) A Long Vacation มียอดขายมากกว่าล้านชุดและได้รับรางวัล ‘Best Album’ จากงาน Japan Record Awards ครั้งที่ 23 ความสำเร็จของ A Long Vacation ไม่ใช่เรื่องมหัศจรรย์เพราะว่าตลอด 5 ปีก่อนหน้าโอทากิและค่ายเพลงของ Niagara Records ของเขาต้องฟันฝ่าปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ  นานาจนกว่าจะพบกับความสำเร็จจากอัลบั้มนี้ วันที่ 1 ตุลาคม 1982 A Long Vacation ก็ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในซีดี 20 รายการแรกของโลกทำให้อัลบั้มชุดนี้เป็นอัลบั้มภาษาญี่ปุ่นชุดแรกที่วางจำหน่ายในรูปแบบซีดี

ปกอัลบั้ม A Long Vacation
โปสเตอร์โฆษณาที่มีผู้พันแซนเดอร์แห่ง KFC มาแจมด้วย

นอกจากงานเพลงแล้ว สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นเป็นที่จดจำของงานเพลงชุดนี้ก็คือ ปกอัลบั้มที่วาดโดยนักวาดภาพประกอบ ฮิโรชิ นางาอิ (Hiroshi Nagai) ซึ่งโอทากิได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานของนางาอิในตอนที่เขากำลังแต่งเพลงที่จะใช้ในอัลบั้มชุดนี้ หลังจาก A Long Vacation ได้ออกวางจำหน่าย ความนิยมในผลงานของนางาอิก็พุ่งสูงและหลังจากนั้นก็มีศิลปินคนอื่น ๆ มาต่อคิวรอใช้บริการจากเขาอีกมากมาย

ฮิโรชิ นางาอิ
ผลงานของฮิโรชิ นางาอิ

อัลบั้มชุดนี้ประกอบไปด้วยทั้งหมด 10 บทเพลงได้แก่

 君は天然色 (You are Natural Color) แทร็กแรกของอัลบั้มเสมือนเป็นการเซ็ตอารมณ์ให้กับผู้ฟังถึงแนวทางของเพลงในอัลบั้มนี้เมื่อเราได้ยินท่วงทำนองโหมโรงจากวงออร์เคสตราก่อนที่ต่อมาวงดนตรีจะได้เข้ามาบรรเลงท่วงทำนองแห่งหาดทรายสายลมและฤดูร้อนอันงดงามที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแนวดนตรีซันไชน์พอปจากอังกฤษและแคลิฟอร์เนียที่ถูกเรียบเรียงเสียงประสานในแนวทาง “Wall of Sound” ในเวอร์ชันแบบญี่ปุ่น

Velvet Motel เพลงสไตล์บาโรกพอปที่โอทากิดูเอ็ตกับ Raije เนื้อหาของเพลงเล่าถึงช่วงเวลาอันโรแมนติกของคู่รักที่พักอยู่ ณ โมเต็ลแห่งหนึ่ง จุดเด่นของเพลงนี้อยู่ที่สไตล์การร้องคู่ของโอทากิกับ Raije ที่จะมีการสลับร้องต่อคำกันไปกันมาในท่อน

カナリア諸島にて (In the Canary Islands)  อีกหนึ่งเพลงพอปสบาย ๆ ชวนผ่อนคลายเล่าเรื่องเกี่ยวกับการพักผ่อนในหมู่เกาะคานารี แม้ว่ามัตสึโมโตะที่เป็นคนแต่งเนื้อร้องเพลงนี้จะไม่เคยไปเที่ยวที่หมู่เกาะคานารีมาก่อนแต่เขาก็แต่งเพลงนี้ขึ้นมาจากจินตนาการของเขาเอง และในที่สุดเมื่อเขาได้มีโอกาสไปเที่ยวที่นี่เพื่อชมการแสดงของ Carlos Kleiber ในปี 1999 เขาก็ได้พบว่ามันช่างแตกต่างจากในจินตนาการของเขาเหลือเกิน

Pap-Pi-Doo-Bi-Doo-Ba Story (物語) อีกหนึ่งเพลงซันไชน์ป็อปชวนเริงรื่นที่โดดเด่นด้วยเสียงซินธ์ที่ให้อารมณ์เหมือนกับเสียงร้องในสไตล์ Doo-wop

我が心のピンボール (Pinball in My Heart) เพลงบัลลาดแนวเซิร์ฟร็อกสไตล์วินเทจเกี่ยวกับชายหนุ่มที่คร่ำครวญถึงการปฏิเสธจากหญิงที่เขาหมายปอง ซึ่งอาการของชายหนุ่มก็เป็นไปตามชื่อเพลงเลยคือหัวใจมันกระเด้งกระดอนไปมาระหว่างรสชาติอันหอมหวานของการได้ตกหลุมรักและความเจ็บปวดจากอุปสรรคของชีวิตเพื่อที่จะพุ่งลงหลุมลึกในท้ายที่สุด นี่อาจจะเป็นเพลงที่ร็อกที่สุดในอัลบั้มนี้และโอทากิก็ร้องเพลงออกมาด้วยน้ำเสียงเชิงตลกขบขัน แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ยังสร้างความกินใจให้ผู้ฟังได้อย่างดี

雨のウエンズデイ (Rainy Wednesday) เพลงบัลลาดในสไตล์ The Walker Brothers ที่นุ่มนวลชวนเคลิ้มเกี่ยวกับชายหนุ่มที่เพ้อฝันถึงผู้หญิงที่เขารัก (หรือเคยรัก) ขณะขับรถโฟล์คสวาเกนในวันฝนตกริมชายหาด นี่เป็นเพลงที่รวมสมาชิก Tin Pan Alley เดิมเข้าด้วยกันเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีซึ่งมีสุ้มเสียงการบรรเลงเปียโนอันยอดเยี่ยมจากมัตสึโตยะ

スピーチ・バルーン (Speech Balloon) เพลงบัลลาดซอฟต์ร็อกในสไตล์ทรอปิคอลอันแสนเรียบง่ายและไพเราะ

恋するカレン (Karen in Love) เพลงบัลลาดแชมเบอร์พอปอันไพเราะที่มาพร้อมกับกีตาร์อะคูสติกและการอัดทับซ้อนเสียงร้องคอรัสโดยโอทากิเอง เดิมทีโอทากิเขียนเพลงนี้ให้กับวงร็อกคอมเมดี้นาม ‘Slapstick’ แต่ถูกนำมาเรียบเรียงใหม่ให้ตลกน้อยลงและโรแมนติกมากขึ้นและใส่ไว้ในอัลบั้มนี้ เพลงนี้มีเมโลดี้และสไตล์คล้ายกันกับ “Shiawasena Ketsumatsu” ซิงเกิลในปี 1997 ที่ใช้ประกอบซีรีส์ Love Generation นำแสดงโดยคิมุระ ทาคุยะและทาคาโกะ มัตสึ (ซึ่งเรื่องนี้เคยฉายในบ้านเราทางช่อง ITV)

Fun x 4 เรื่องราวสุดคลาสสิกในแบบ “Boy Meets Girl” ที่เล่าผ่านความสนุกสนานและการแสดงความคารวะต่อเพลงของวง Beach Boys ในปี 1964 ที่มีชื่อว่า “Fun, Fun, Fun” โดยมีเสียงร้องของโอตะ ที่รับบทเด็กสาวที่พร้อมออกไป ฟัน ฟัน ฟัน ฟัน กับเด็กหนุ่มด้วยกันและมีอิการาชิเป็นลูกคู่ร้องประสานดูบีดูบีดันไปกับเด็กหนุ่มแถมด้วยบทบาทของหมาป่าเดียวดายที่ส่งเสียงร้องหอนฮูในยามราตรี (จะมาในช่วงท้าย ๆ เพลง)

さらばシベリア鉄道 (Farewell Trans-Siberian Railway)  เพลงนี้แต่งขึ้นเพื่อคารวะต่อโปรดิวเซอร์ชาวอังกฤษ โจ มีก (Joe Meek) เป็นเพลงในแนวเซิร์ฟร็อกอันเร้าใจที่ให้อารมณ์เหมือนกับกำลังควบม้าออกมาจากหนังคาวบอยสปาเกตตี โดยมีเนื้อเพลงเกี่ยวกับคาวบอยหนุ่มผู้รักสันโดดและการผจญภัยของเขาในสหภาพโซเวียต ! เพลงนี้เคยปล่อยออกมาก่อนหน้านี้เป็นซิงเกิลที่ร้องโดย ฮิโรมิ โอตะ ในเดือนพฤศจิกายน 1980

เออิชิ โอทากิเริ่มอาชีพของเขาในปี 1970 ด้วยการฟอร์มวง “Happy End” ขึ้นมาร่วมกับฮารุโอมิ โฮโซโนะ, ทาคิ มัตสึโมโตะ และ ชิเงรุ สุซุกิ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนวงการร็อกของญี่ปุ่น หลังจากที่พวกเขายุบวงในปี 1973 เออิชิได้สร้างค่ายเพลง “Niagara” ของตัวเองขึ้นมาและเริ่มงานเดี่ยวของเขา นอกเหนือจากงานเดี่ยวของเขาแล้วเขายังโปรดิวซ์และเขียนเพลงให้กับศิลปินคนอื่น ๆ และสร้างสรรค์บทเพลงฮิตออกมามากมาย นอกจากนี้เขายังเป็นดีเจวิทยุมาอย่างยาวนาน และเป็นหนึ่งในต้นกำเนิดของแนวดนตรีที่ต่อมาได้รับการขนานนามว่า ‘City Pop’ เออิชิเสียชีวิตในวันที่ 30 ธันวาคม 2013 ด้วยอาการเส้นเลือดแดงฉีดขาดในขณะที่กำลังทานแอปเปิลและเกิดอาการสำลักจนล้มลง ครอบครัวได้นำเขาส่งโรงพยาบาลแต่เขาก็สิ้นใจในที่สุด

ในขณะที่ความนิยมในดนตรี ‘City Pop’ ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก เพลงของโอทากิจึงเป็นหนึ่งในงานดนตรีแนวนี้ที่แฟน ๆ ต่างคาดหวังที่จะได้ฟังบนแพลตฟอร์มสตรีมมิง และเพื่อเป็นการรำลึกถึงวาระครบรอบ 40 ปีของอัลบั้ม A Long Vacation บทเพลงกว่า 178 เพลงของโอทากิที่เผยแพร่ผ่านค่ายเพลง “Niagara” ของเขา รวมไปถึงอัลบั้มชุดนี้ด้วยได้ถูกปล่อยให้ฟังบนแพลตฟอร์มสตรีมมิงทั่วโลกเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมาซึ่งรวมถึงเพลงฮิตของเขาอย่าง “You are Natural Color (Kimiwa Tennenshoku)”,“ Karen in Love (Koisuru Karen)”,“Shiawasena Ketsumatsu” (เพลงประกอบซีรีส์ Love Generation) รวมถึงเพลงที่โอทากิคัฟเวอร์เพลงที่ตัวเองแต่งให้กับศิลปินคนอื่นเช่น “Atsuki Kokoroni” ของอาคิระ โคบายาชิ (Akira Kobayashi) ,“ Kaze Tachinu” ของเซโกะ มัตสึดะ (Seiko Matsuda) และ “Yumede Aetara” ที่แต่งให้กับ แอน ลูอิส (Ann Lewis) แต่เวอร์ชันที่ดังเป็นของ มินาโกะ โยชิดะ (Minako Yoshida) และ เซเลีย พอล (Celia Paul)

อีกหนึ่งเซอร์ไพรส์สำหรับแฟนเพลงของโอทากิก็คือมิวสิกวิดีโอเพลง “You are Natural Color (Kimiwa Tennenshoku)” ที่ถูกทำขึ้นมาใหม่ซึ่งเผยแพร่บนยูทูบเมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา ในมิวสิกวิดีโอได้นำเอางานอาร์ตเวิร์กของฮิโรชิ นางาอิมาใช้และตัดต่อโดยโนบุทากะ อิดะ (Nobutaka Iida) ซึ่งเป็นที่รู้จักจากงานตัดต่อเทรลเลอร์ของแอนิเมชัน“ Kimino Nawa (Your Name)” และ “Tenki no ko (Weathering With You)” เพลงนี้คือแทร็กแรกจากอัลบั้ม  A Long Vacation เป็นซิงเกิลที่ติดอันดับสูงสุดใน Ocicon Singles Chart เป็นลำดับที่ 35 หลังจากผ่านไป 40 ปีเพลงนี้ยังคงเป็นที่ชื่นชอบและถูกนำไปใช้ประกอบในโฆษณา แอนิเมชันและภาพยนตร์หลายยุคหลายสมัยได้อย่างลงตัวนับเป็นบทเพลงที่สร้างสีสันอันสดใสให้กับผู้ฟังมาจนถึงวันนี้

Source

comealong radio

bunkawave

bloggang

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส