เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 1970 หรือเมื่อ 51 ปีที่แล้ว เกิดเหตุการณ์วาฬสเปิร์มตัวยักษ์ขนาดยาวประมาณ 13 เมตร (45 ฟุต) น้ำหนักประมาณ 8 ตัน ขึ้นมาเกยตื้นบนชายหาดฟลอเรนซ์ รัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา แน่นอนว่าเหตุการณ์วาฬเกยตื้นนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ และก็เป็นเรื่องที่คงไม่ได้อยากให้ตั้งใจให้เกิดขึ้น ซึ่งด้วยความที่มันตัวใหญ่มาก ๆ จนไม่รู้ว่าจะใช้วิธีไหนเคลื่อนย้ายมันออกไป แถมเริ่มส่งกลิ่นเน่าเหม็นไปไกลอีกต่างหาก

วาฬ
พอล ลินน์แมน ขณะที่กำลังรายงานข่าวอยู่เบื้องหน้าซากวาฬที่มาเกยตื้นบริเวณหาดชายหาดฟลอเรนซ์

12 พฤศจิกายน สามวันต่อมา กรมขนส่งทางหลวงของรัฐโอเรกอนเกิดปิ๊งไอเดีย ไหน ๆ การกำจัดซากวาฬเกยตื้นขนาดใหญ่แบบนี้ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ง่ายดายนัก ก็เลยตัดสินใจคิดแผนกำจัดซากวาฬตัวนี้ด้วยการวางระเบิด เพื่อหวังว่าแรงระเบิดจะทำให้ซากวาฬหลุดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และหวังว่านกหรือปูที่อยู่ในบริเวณนั้นจะมาช่วยกินซากและชิ้นเนื้อ รวมถึงหวังว่าชิ้นเนื้อบางส่วนจะได้ลอยลงทะเลไป

วาฬ
ผู้คนที่มาสังเกตการณ์การระเบิดในครั้งนี้

ซึ่งเรื่องนี้ ‘พอล ลินน์แมน’ (Paul Linnman) อดีตผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ KATU ที่ได้เดินทางไปรายงานข่าวถึงชายหาดฟลอเรนซ์ได้สอบถามกับ ‘จอร์จ ธอร์นตัน’ (George Thornton) วิศวกรทางหลวงผู้ทำการวางแผนการระเบิดซากวาฬในครั้งนี้

โดยมี ‘ดั๊ก บราซิล’ (Doug Brazil) ช่างภาพของสถานีโทรทัศน์ KATU บันทึกเหตุการณ์น่าตื่นเต้นทั้งหมดนี้บนฟิล์ม 16 มม. ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว ได้มีผู้นำเอาฟิล์มชุดนี้มาเผยแพร่ในรูปแบบคลิปวิดีโอที่มีการปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้น

คลิปเหตุการณ์ระเบิดซากวาฬ ที่มีการแปลงจากฟิล์ม 16 มม.

จอร์จได้ให้สัมภาษณ์กับพอลว่า

“ผมมั่นใจว่ามันจะได้ผล แต่สิ่งเดียวที่เราไม่แน่ใจก็คือว่า จะต้องวางระเบิดมากแค่ไหนในการสลายซากวาฬตัวนี้ เพื่อให้นกนางนวล ปู หรือสัตว์กินซากอื่น ๆ สามารถกินซากของวาฬได้”

จนในที่่สุด จอร์จก็ทำการกดระเบิด แรงระเบิดจำนวน 20 กล่อง น้ำหนักรวมกว่าครึ่งตันทำให้ซากวาฬและทรายระเบิดลอยขึ้นกลางอากาศ และก่อให้เกิดเสียงดังสนั่นไปทั่วทั้งชายหาด พร้อม ๆ กับเสียงผู้สังเกตการณ์ที่ยืนอยู่ห่างออกไป ต่างส่งเสียงหัวเราะและโห่ร้องเชียร์หลังจากการระเบิด

วาฬ
ภาพทรายพวยพุ่งขึ้นจากพื้นขณะระเบิด

แต่แล้วหายนะก็เกิดขึ้น เมื่อเศษซากชิ้นเนื้อเหล่านั้นดันไม่ได้ระเบิดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเหมือนอย่างที่ต้องการ แต่ดันระเบิดออกเป็นชิ้นเนื้อก้อนใหญ่ ๆ ปลิวว่อนไปทั่ว ซึ่งแน่นอนว่ามันชิ้นใหญ่เกินกว่าที่นกนางนวลหรือปูจะเก็บกินได้ ชิ้นเนื้อยักษ์ที่ปลิวว่อนไปทั่วบริเวณชายหาดทำเอาผู้คนที่สังเกตการณ์บริเวณโดยรอบต้องวิ่งหนีเอาตัวรอด

วาฬ
ภาพสแกนจากฟิล์ม 16 มม. แสดงให้เห็นสภาพรถที่เสียหายหลังการระเบิดซากวาฬ

แถมชิ้นเนื้อบางส่วนยังปลิวไปทับรถหลายคันที่จอดอยู่ริมหาด จนสร้างความเสียหายราวกับว่าโดนอุกกาบาตหล่นทับ ซึ่งทั้งหมดนี้สันนิษฐานว่า แรงระเบิดอาจน้อยเกินไปที่จะระเบิดซากวาฬให้กลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยอย่างที่ต้องการ

ส่วนซากวาฬก็เหลือเพียงแค่ซากหนังเหี่ยว ๆ ที่นอกจากจะทำความสะอาดได้ยากกว่าเดิมแล้ว ยังส่งกลิ่นเหม็นเน่าออกไปไกลนับเกือบกิโลเมตร จนต้องมีการปิดชายหาดเพื่อทำความสะอาดนานนับหลายเดือน โชคดีที่ไม่มีใครบาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้ แต่ก็นับว่าเป็นเหตุการณ์หายนะที่ผู้คนที่อาศัยอยู่บนชายหาดแห่งนี้ยังคงเล่าขานกันมาอย่างยาวนานตลอดห้าสิบปี

พอล ลินน์แมน ในปัจจุบัน

ส่วนพอลที่เป็นผู้สื่อข่าวที่รายงานข่าวในเวลานั้นก็กลายเป็นตัวแทนของเหตุการณ์ครั้งนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ชนิดที่ว่าทุกวันนี้เขาไปที่ไหน ก็ยังมีคนถามเขาถึงเรื่องนี้อยู่เลย


อ้างอิง
https://bit.ly/3dkAWPR
https://wapo.st/3fGu9Dd

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส