แม้ละครจะอวสานไปแล้ว แต่กระแสละครช่อง 3 อย่าง ‘พิภพหิมพานต์’ กลายเป็นละครที่ยังคงถูกพูดถึงความสมจริงในงานด้าน Computer Graphic ที่สวยสมจริง และทำอย่างประณีต ต่างจากภาพจำซีจีละครไทยในอดีตที่มักโดนล้อ

เราจึงขอมาเยือน ‘Fatcat Studios’ สตูดิโอเล็ก ๆ ที่อยู่เบื้องหลังผลงานซีจีละครเรื่องนี้ สรรสร้างสัตว์หิมพานต์หลายตัว ที่ไม่ใช่เพียงแค่วาดภาพ แต่ต้องใ้ช้เวลาค้นคว้าข้อมูล และใช้เวลาสร้างสรรค์นานนับปี แม้ว่าละครจะฉายจบภายในไม่ถึงเดือนก็ตาม

รวมถึงไปหาคำตอบว่า ทำไมซีจีละครไทยในอดีตถึงได้ออกมาเป็นแบบนั้น และจะมีทางไหม ควรจะทำอย่างไรเพื่อให้วงการซีจีไทยสามารถโกอินเตอร์ไปไกลกว่าเดิม


หมายเหตุ : ชมภาพเบื้องหลัง CG ละคร ‘พิภพหิมพานต์’ แบบละเอียดได้ที่คลิปด้านล่างนี้เลยครับ


FatCat Studios STAFF

ชาลิต  ไกรเลิศมงคล (พี่เต้ย) | VFX Producer / VFX Director / เจ้าของสตูดิโอ Fatcat VFX                   
วีรยุทธ ยอดกมลศาสตร์ (พี่ลิ้ม) | Lead 3D Modeler                                      
วโรดม ไตรกิศยเวช (พี่อาร์ม) | Lead Creature FX TD                                
นบชนก  รักจิตร์ (พี่หนอด) | Lead Animator / 3D Generalist              
ธนิศร ชิตเจริญ (พี่อั้ม) | Lead Lookdev & Lighting TD
วิชยุตม์  กมล (พี่โย) | Compositing Supervisor      


ก่อนอื่นเลย อยากให้พวกคุณอธิบายวิธีขั้นตอนการทำงานในการทำ CG แบบคร่าว ๆ ให้ฟังหน่อยว่า กว่าจะได้คอมพิวเตอร์กราฟิกสักตัว ต้องมีขั้นตอนอะไรบ้าง

พี่ลิ้ม (3D Modeler) : หลังจากที่เราได้รับบรีฟดีไซน์ต่าง ๆ คุยกับพี่เต้ยแล้วว่าตัวละครที่จะทำจะออกมาประมาณไหน ผมก็จะทำการออกแบบตัวละครขึ้นมาด้วยการปั้นโมเดล 3D ขึ้นมาก่อน แล้วก็ทำพื้นผิวต่าง ๆ ขึ้นมา แล้วก็ลงสี

พี่อาร์ม (Creature FX TD) : ส่วนผมก็จะรับผิดชอบต่อจาก Modeler นะครับ ด้วยการนำตัวโมเดลคาแรกเตอร์ที่ยังไม่มีการเคลื่อนไหว เอามาใส่กระดูกและทำให้มันเคลื่อนไหวได้ ก่อนจะส่งต่อให้กับ Animator ครับ แล้วก็จะส่งกลับมาที่ผม เพื่อทำการจำลองการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ กระดูก และขนต่าง ๆ เป็นการเพิ่มไดนามิกให้กับคาแรกเตอร์ครับ

พี่หนอด (Animator / 3D Generalist) : หลังจากได้การเซ็ตอัปโมเดลมาแล้วในขั้นตอนก่อนหน้านี้ ผมก็จะมีหน้าที่ลง Scene ครับ เป็นการทำแอนิเมชัน ซึ่งก็จะมี 2 ส่วน ก็คือ หนึ่ง การทำแอนิเมชันของกล้องครับ ก็คือการทำกล้องให้ซิงก์กับฟุตเทจที่ได้รับมา ให้กล้องของ 3D เหมือนกับกล้องที่ถ่ายฟุตเทจจริง หลังจากนั้นก็ใส่แอนิเมชันที่เป็นตัวคาแรกเตอร์เข้าไป เพื่อทำให้โมเดลนิ่ง ๆ สามารถขยับเคลื่อนไหวได้เหมือนกับสัตว์จริง ๆ อย่างที่เราต้องการครับ

พี่อั้ม (Lookdev & Lighting TD) : ต่อไปก็จะเป็นขั้นตอนของการเรนเดอร์นะครับ พอได้โมเดลในส่วนของขั้นตอนก่อนหน้านี้มา ผมก็จะนำโมเดลที่ได้มาปรับพื้นผิวให้มีความเป็นผิวหนังของสัตว์ต่าง ๆ ที่ใช้เป็น Reference ซึ่งบนผิวหนัง ในปาก หรือครีบของสัตว์ก็จะมีการดูดซับแสงที่ไม่เหมือนกัน และมีความแตกต่างจากผิวหนังของคน และนำ 3D ที่แอนิเมเตอร์ทำไว้มาจำลองแสงกับฟุตเทจว่า แสงและเงาเข้าทางไหน แดดเป็นยังไง และจัดแสงให้ตรงตามฟุตเทจให้มากที่สุดเพื่อความสมจริง แล้วก็เรนเดอร์เพื่อส่งสู่ขั้นตอนสุดท้ายครับ

พี่โย (Compositing) : ในส่วนของผมก็จะเป็นส่วนสุดท้าย ก็จะเป็นส่วนของการ Composite นะครับ ก็จะเอาฟุตเทจที่ได้จากการถ่ายทำมาประกอบกับ 3D ที่เรนเดอร์ออกมา เพื่อรวบรวมองค์ประกอบให้ภาพมีความสมจริง มีความสมบูรณ์ สวยงามก่อนส่งลูกค้าครับ

พิภพหิมพานต์

อยากให้พี่เต้ยเล่าหน่อยว่า Fatcat Studios กำเนิดขึ้นมาได้ยังไง และที่ผ่านมา สตูดิโอมีผลงานเด่น ๆ ชิ้นไหนที่คนรู้จักบ้าง

พี่เต้ย : จุดเริ่มต้นก็คือการรวมกลุ่มคนที่ชอบดูหนังแฟนตาซี ดูหนังวิชวลเอฟเฟกต์ แล้วเราก็อยากจะทำคอนเทนต์ ทำหนังไทยให้มีความทัดเทียมกับต่างประเทศอะไรแบบนี้ครับ อย่างเช่นต่างประเทศก็จะมี ‘Julassic Park’ มี ‘The Lord of The Ring’ มี ‘Harry Potter’ ซึ่งของไทยเราเอง เราก็อยากจะเอาวรรณคดีไทยจากจินตนาการ หรือจากฝาผนังวัดมาสร้างให้เห็นเป็นภาพจริง ๆ ได้

ซึ่งตลอดสิบปีที่ผ่านมา ทีมของพวกเราที่ร่วมงานกันมา หรืออย่างน้อง ๆ ที่อยู่ตรงนี้ก็จะมี Passion เดียวกัน และค่อย ๆ เรียนรู้ ค่อย ๆ พัฒนางาน เวลางานของพวกเราฉาย เราก็ชอบที่จะไปเช็กฟีดแบ็กกัน ถ้าเขาชื่นชมว่ามันดี เราก็ดีใจ แต่ถ้ามีคำติ เราก็จะเอาตรงนั้นไปปรับปรุงพัฒนา

ถ้าเป็นผลงานในอดีตนะครับ เอาที่เด่น ๆ ที่คนรู้จักก็คือละครเรื่อง ‘มณีสวาท’ ซึ่งเป็นละครเรื่องแรกที่เราทำ ซึ่งจะเป็นละครที่เราได้สร้างคาแรกเตอร์แอนิเมชันตัวพญานาคกับครุฑ มีซีนครุฑโฉบพญานาค และซีนเสกยักษ์มาต่อสู้กัน ซึ่งตอนนั้นก็ถือว่าเป็นที่ฮือฮา เพราะว่าละครไทยในสมัยนั้นก็ไม่ได้เป็น 3D เต็มตัวอะไรขนาดนั้น พอหลังจากนั้นผู้จัดละครก็เริ่มเข้าใจว่า ซีจีละครไทยทำแบบนี้ได้ด้วยเหรอ

ก็เลยได้ทำอีกโปรเจกต์หนึ่งก็คือ พี่ออฟ (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง) จะทำละครเรื่อง ‘นาคี’ ซึ่งเป็นนิยายเกี่ยวกับพญานาค พี่ออฟก็เรียกไปคุยว่าเป็นไปได้ไหมที่จะทำพญานาคให้ดูเหมือนจริง จับต้องได้ เหมือนสิ่งมีชีวิต ซึ่งงานนี้ก็ทำให้ Fatcat กลายมาเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพราะกระแสและเรตติงของละครประสบความสำเร็จมาก

พอหลังจากทำนาคี ก็ได้มาทำภาพยนตร์ ก็คือ ‘นาคี 2’ ที่ต่อยอดมาจากละคร และได้ร่วมงานกับ GDH ก็คือหนังเรื่อง ‘เพื่อน..ที่ระลึก’ (2560) เป็นหนังผีที่ได้รางวัลสุพรรณหงส์ และเรื่องล่าสุดก็คือ ‘ขุนแผนฟ้าฟื้น’ (2562) แล้วก็ขอโปรโมตนิดหนึ่งว่า กำลังจะมีผลงาน Original ของทาง Fatcat ที่ผมกำกับเอง เป็นสไตล์สัตว์ประหลาด ต้องรอดูกันนะครับว่าจะมาเมื่อไหร่

พิภพหิมพานต์
พี่เต้ย – พี่หนอด

จุดเริ่มต้นการร่วมงานของ Fatcat Studios กับละคร ‘พิภพหิมพานต์’ มีที่มาอย่างไรบ้าง

พี่เต้ย : จริง ๆ แล้วตลอดสิบกว่าปีที่เราทำงานกันมา เราก็มี Passion ที่อยากจะทำ Original Content ของตัวเองมาโดยตลอด ในระหว่างทางเราก็พยายามจะคิดโปรเจกต์หนังแฟนตาซี คิดพล็อตเรื่องเพื่อที่จะเอาไปเสนอ ซึ่งในระหว่างนั้นมันก็ผ่านมาหลายยุค ตั้งแต่ยุคที่คนยังไม่เชื่อมั่นในซีจีฝีมือคนไทย

จนกระทั่งเราได้ไปเสนอกับคุณแป๊ป (ณฤทธิ์ ยุวบูรณ์) แห่งบริษัท Minds at work ที่เป็นผู้จัดละครช่อง 3 คุณแป๊ปก็มีความตั้งใจว่าอยากจะทำวรรณคดีไทยให้ดูอินเตอร์ เหมือนซีรีส์ ‘Game of Thrones’ ที่เอาตำนานของตะวันตกมาทำให้ดูจับต้องได้ พอได้คุยกันก็เหมือนเคมีตรงกัน คุณแป๊ปก็เลยไปเสนอกับทางผู้ใหญ่ของช่อง 3

ซึ่งจริง ๆ แล้วสไตล์ละครช่อง 3 ไม่ค่อยมีละครแนวแฟนตาซีมากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นแนวดราม่า หรือแนวจิ้น แต่พอมีละครเรื่องนี้ขึ้นมา เหมือนเขาก็อยากจะทดลองอะไรใหม่ ๆ ดู มันก็เหมือนว่าเราที่เตรียมกันมาเป็นสิบ ๆ ปี อยู่ดี ๆ ก็มีคนให้โอกาสและเชื่อว่าเราจะทำได้ ก็เลยมาบิลต์กับน้อง ๆ ในทีมว่า ละครพิภพหิมพานต์ ซีจีจัดเต็มทุกตอน เตรียมอดหลับอดนอนกันได้ ไหวไหม จะลองกันไหม (หัวเราะทั้งวง) ต้องมีการเช็กกันก่อนครับ เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าเราสนุกอยู่คนเดียว แต่น้อง ๆ ไม่สนุกด้วย (หัวเราะ) ซึ่งพอดีว่าน้อง ๆ ทุกคนเขามีเป้าหมายเดียวกัน ก็เลยได้เริ่มโปรเจ็กต์นี้ขึ้นมาครับ

พิภพหิมพานต์
พี่หนอด – พี่อาร์ม

ในขั้นตอนการทำซีจีละครเรื่องนี้ แต่ละขั้นตอนของการออกแบบ ‘สัตว์หิมพานต์’ มีความยากหรือมีอุปสรรคอย่างไรบ้าง

พี่ลิ้ม : ในละครพิภพหิมพานต์ ความยากก็คือว่าสัตว์ประหลาดแต่ละตัวมันไม่เคยมีอยู่จริงบนโลกครับ อย่างเช่นตัว ‘เหรา’ (เห-รา) มันไม่ได้มีอยู่จริงบนโลกน่ะครับ เวลาเราออกแบบ ก็ต้องคิดว่าเราจะทำยังไงดีนะ ที่จะทำให้คนเชื่อว่าสัตว์หิมพานต์ควรจะเป็นแบบนี้ เราก็เลยใช้วิธีการดึงเอกลักษณ์ต่าง ๆ ของสัตว์หิมพานต์มาผสมผสานกับสัตว์ที่มีอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง อย่างเช่นเหรา เราก็จะเลือกตัว ‘มังกรโคโมโด’ มาเป็นตัวต้นแบบของเหรา เพื่อที่ว่าเวลาเราเคลื่อนไหว การใส่กระดูก ลักษณะกล้ามเนื้อ จะได้ดูมีความสมจริง ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้เวลา 3 เดือนครับ

พิภพหิมพานต์
เหรา

พี่เต้ย : กี่เวอร์ชันกว่าจะผ่าน กว่าจะได้เป็น Final

พี่ลิ้ม : เกิน 20 เวอร์ชันครับ (หัวเราะ)

พี่เต้ย : จริง ๆ โปรดิวเซอร์เคาะให้ผ่านแล้วแหละ แต่ด้วยความที่อยากให้มันออกมาดี ก็เลยขอทำต่อ จริง ๆ แล้วโดยเป้าหมายที่คุยกับน้อง ๆ ก็คือ อยากให้สัตว์หิมพานต์แต่ละตัวออกมาดูมีความสมจริง และจับต้องได้ ก็เลยบรีฟกับน้อง ๆ ว่า เราจะไม่ได้ทำแบบแนวลายไทยนะ แต่เราจะดึงเอาอัตลักษณ์ของตำนาน ซึ่งตรงนี้คุณกอล์ฟ (สรรัตน์ จิรบวรวิสุทธิ์) ที่เคยเขียนบท ‘นาคี’ มาก่อน ก็จะมีข้อมูลเรื่องของสัตว์ในป่าหิมพานต์มาเล่าให้ฟังว่า แต่ละตัวมีเอกลักษณ์อะไรบ้าง แล้วก็จะมาดูกันว่าอันไหนตัดได้ อันไหนผสมผสานกับอะไรได้บ้าง แล้วค่อยเอามาวางเป็นไบเบิล

ในระหว่างการออกแบบ ต้องมีการปรึกษา ชั่งน้ำหนักกันตลอด เพื่อไม่ให้มันหลุดคอนเซปต์ เพราะถ้าหลุดคอนเซปต์ มันก็จะออกมากลายเป็นสัตว์ประหลาดอะไรสักอย่างที่ไม่ใช่สัตว์หิมพานต์

พี่เต้ย

พี่อาร์ม : ในส่วนของการออกแบบไดนามิกของคาแรกเตอร์นะครับ ก็จะต้องมีการค้นคว้าข้อมูลพอสมควร ว่า เพราะว่า Process ของกล้ามเนื้อมันเป็นอะไรที่ค่อนข้างใหม่สำหรับในวงการซีจีของบ้านเรา เพราะว่าไม่ค่อยมีใครทำในไทย ส่วนมากผมก็จะไปดูจากเว็บต่างประเทศ แล้วมาปรับใช้กับสัตว์หิมพานต์ที่ได้รับโจทย์มา อย่างเช่นเหรา ซึ่งผมก็ต้องไปหา Reference ในแต่ละส่วน อย่างเช่นครีบด้านหลัง จะเป็นพังผืดไหม หรือจะเป็นแบบครีบปลา ซึ่งผมก็ต้องลองเทสต์ Dynamic กันหลายรอบมากครับ

หรืออีกตัวหนึ่งก็คือ ‘ตัวสี่หูห้าตา’ ซึ่งเป็นสัตว์หิมพานต์ที่มีขน เราก็ต้องมานั่งคิดแล้วว่าจะเอาขนจากส่วนไหนของตัวอะไรบ้างมาใส่ให้คนดูรู้สึกว่าชอบ มันน่ารัก และสวยสมจริงที่สุด และเชื่อว่ามันดูเหมือนสัตว์ที่อยู่บนโลกจริง ๆ

พิภพหิมพานต์
สี่หูห้าตา

พี่หนอด : สำหรับในพาร์ต Animation นะครับก็คือละครเรื่องอื่น ๆ เขาอาจจะไม่กล้าจัดเต็มเท่าไหร่ เพราะเขากลัวว่าทีมซีจีจะทำได้หรือเปล่า ถ้าถ่ายมาแล้วเราทำไม่ได้ก็จะลำบาก แต่กับละครเรื่องนี้ พี่เต้ยสามารถพูดกับผู้กำกับได้เลยว่าให้จัดเต็มช็อตซีจี เพราะฉะนั้น ฟุตเทจที่ได้มาก็จะยากกว่าละครเรื่องอื่น ๆ ที่เคยทำมาครับ ยากทั้งเรื่องความต่อเนื่อง การดีไซน์ช็อต คาแร็กเตอร์ที่่ต้องใช้ขั้นตอนในการทำมากกว่าปกติ

ยกตัวอย่างเช่นฉาก Long Take หนีเสือ มันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ด้วยความที่มันเป็นช็อตต่อเนื่องยาวมาก ก็กลัวว่าถ้าถ่ายลองเทกมาแล้วจะทำกันได้ไหม จะแมตช์กล้องเข้ากับฟุตเตจได้ไหม หรือมีแอนิเมชันที่ไหลลื่นไปตลอดทั้งช็อตได้ไหม ไหน ๆ พี่เต้ยกล้าจะเอาช็อตนี้มาแล้ว เป็นอะไรที่ท้าทายมาก ก็ต้องทำให้ได้ครับ

พี่เต้ย : ฉากนี้จริง ๆ ตอนไปออกกองคือแอบถ่ายมา ยังไม่ได้ปรึกษาทีม ทีมก็จะช็อกเล็กน้อย (หัวเราะ)

พี่หนอด : พอเจอช็อตนี้ก็กุมขมับเลย แล้วก็ถามว่า พี่เต้ยทำอะไรมา (หัวเราะทั้งวง)

พิภพหิมพานต์
พี่โย

พี่อั้ม : ในส่วน Lookdev ของผม ความยากก็คือเรื่องของพื้นผิวของโมเดลที่ปั้นครับ ก็ต้องหาข้อมูล อย่างตัวเหรา ก็จะมีส่วนที่เหมือนกับมังกรโคโมโด และบางส่วนที่คล้ายกับมังกร อย่างเช่นครีบหลัง หรือปากที่ได้แบบมาจากมังกรเลย ก็ต้องมาดูว่าจะต้องปรับสียังไง ดูดซับแสงยังไง ในแต่ละส่วนให้มีความดุร้ายสมจริง

ส่วนที่ยากที่สุดของผมคือ Long Take ฉากที่ตัว ‘มกร’ วิ่งไล่ทุบพระเอกนางเอก แล้วก็ทุบปราสาทในดรีมเวิลด์ ซึ่งเกิดขึ้นทั้งกลางแจ้งและในร่มไม้สลับกันไปมา ซึ่งก็ต้องมาปรับพื้นผิว ปรับแสงให้เข้ากับบรรยากาศ จำนวนเฟรมก็มหาโหดมาก เกือบ 1,000 เฟรมเลย ซึ่งเราก็ต้องสลับเลเยอร์ต่าง ๆ เพื่อให้ส่วนต่อไปทำงานง่ายขึ้น แต่ละเลเยอร์ก็ซับซ้อนมาก เพราะจะมีทั้งเงา ฝุ่น ควัน เศษดิน ค่อนข้างทำลายล้างเหมือนกัน เป็นซีนที่ยากที่สุดเท่าที่เคยทำมาแล้ว กลับบ้านดึกทุกวันเลยครับ

พิภพหิมพานต์
มกร

พี่โย : ความท้าทายของละครเรื่องนี้ก็คือความจัดเต็มของงาน ที่ีมีช็อตสวย ๆ มากว่าละครเรื่องอื่น ละครเรื่องนี้มีช็อตที่เป็นไฮไลต์มากมาย ใช้เวลาและขั้นตอนในการทำมากกว่าเรื่องอื่น ๆ ครับ

สรุปแล้วขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลานานเท่าไร

พี่เต้ย : จริง ๆ ถ้าเอาขั้นตอนซีจีอย่างเดียว ก็ประมาณปีครึ่งครับ หลังจากที่ได้ฟุตเmจที่ได้จากการตัดต่อแล้ว แต่ถ้ารวมเรื่องของ R&D การเก็บข้อมูลต่าง ๆ เช่นเรื่องกล้ามเนื้อด้วย ก็ประมาณ 2 ปีครับ อยู่กับมันมา 2 ปี แต่ฉายเดือนเดียว (หัวเราะ)

อย่างบางกระบวนการที่เราเห็นในละครแค่ 2 วินาที แต่ขั้นตอนการทำงาน จริง ๆ อาจจะนานถึง 4 เดือน ใช้คน 20 คนรุมกันทำ อะไรแบบนี้ครับ

พี่หนอด
พิภพหิมพานต์
พี่อาร์ม

ตอนที่ละครออกฉาย กระแสฟีดแบ็กดีมาก พวกคุณดีใจกันแค่ไหน

พี่เต้ย : จริง ๆ ก่อนฉาย ทุกคนก็ลุ้นกันครับ ทั้งน้อง ๆ ในทีม รวมถึงผู้จัด ผู้กำกับ ทีมละครทุกคน พอฉายแล้ว นอกจากซีจีที่ได้รับคำชม ก็รวมถึงเนื้อเรื่องที่สนุกน่าติดตามด้วย ทำให้น้อง ๆ ที่อัดงานหนักกันมาหลายเดือนก็มีกำลังใจ แต่จริง ๆ แล้วในใจของเราก็จะรู้อยู่ ด้วยข้อจำกัดเรื่องงบ ด้วยปริมาณงานต่าง ๆ งานที่ออกมามันก็คงไม่ได้เป็นซีจีที่เนียนที่สุด

เราเลยมักจะเข้าไปเช็กคำติ ที่คนบอกว่าตรงนี้มันยังไม่เนียนนะ แล้วก็เอากลับมาวิเคราะห์กัน เพื่อที่จะเอามาอุดรอยรั่วในงานชิ้นต่อไป ไม่งั้นเราจะตามเขาไม่ทัน เราตั้งเป้าว่า เราอยากจะสู้กับซีรีส์จีน หรือซีรีส์เกาหลี ที่ตอนนี้เขาไปอวกาศกันแล้ว

พี่เต้ย

พี่ลิ้ม : สำหรับผม ผมเป็น Modeler ออกแบบตัวเหรา พอผมเห็นฟีดแบ็กที่คนเขาชอบตัวเหรากัน ผมก็ดีใจครับ เพราะว่าผมเหนื่อยกับตัวเหรามากเลยครับ (หัวเราะ)

พี่หนอด : ต้องเล่าว่า พี่ลิ้มต้องนั่งขึ้นโมเดลเกล็ดของเหราทีละเกล็ด ๆ

พี่ลิ้ม : ก็เพนต์กันทีละเกล็ดเลยครับ (หัวเราะ)

พี่เต้ย : นี่มันงานหัตถกรรมชัด ๆ คือเราคงไม่สามารถมานั่งอธิบายได้ว่าแต่ละขั้นตอนมันยากยังไง สิ่งที่เราทำได้มากที่สุดก็คือ ทำให้เต็มที่ อัดเต็มที่กับมัน

พิภพหิมพานต์
กุญชรวารี

ตั้งแต่ ‘นาคี’ สิ่งที่เราเรียนรู้ก็คือ ถ้าเราเต็มที่ ใส่ใจกับมัน มันก็จะค่อย ๆ ทลายกำแพงของคนที่ยังคิดว่าซีจีไทยไม่สวย ซึ่งก็อาจจะเป็นการจุดประกายเล็ก ให้กับคนอื่น ๆ ได้

พี่เต้ย

จริง ๆ แล้วคนไทยที่เก่งด้านซีจี แต่ไปทำงานที่ House ต่างประเทศก็มีมากมายนะครับ แล้วเขาเห็นว่า ในเมืองไทยก็มีเฮาส์ซีจีที่กล้าทำตัวสัตว์ประหลาด กล้าทำตัวพญานาค เขาก็สนใจอยากจะกลับมาทำที่เมืองไทย อยากกลับมาพัฒนาวงการซีจีไทย มีออฟฟิศไหนรับบ้างไหม พอผมรู้เงินเดือนเขา ผมก็บอกเลยว่า “อ๋อ…งั้นอยู่ต่างประเทศไปก่อนก็ได้ครับ…” (หัวเราะ) ในไทยขออีกสักพักก่อนก็แล้วกัน

(อ่านหน้า 2 มุมมองเกี่ยวกับซีจีละครไทย คลิกที่นี่)

(อ่านหน้า 1 เบื้องหลังซีจีละคร ‘พิภพหิมพานต์’ คลิกที่นี่)

พิภพหิมพานต์
พี่ลิ้ม

ซีจีละครไทยในอดีต มักจะโดนล้อเรื่องคุณภาพของงาน พวกคุณคิดยังไงกับเรื่องนี้ และคิดว่าอะไรมันคือสาเหตุที่ทำให้ซีจีละครไทยเป็นแบบนั้น

พี่หนอด : อย่างแรกเลยคือ รู้สึกสงสารครับ (หัวเราะ) เพราะว่าจริง ๆ แล้ว คนทำซีจีทุกคนอยากให้งานออกมาดีหมด เพียงแต่ว่าไอ้งานที่เราทำ มันมีข้อจำกัดมากมาย ทั้งเรื่องเงิน เรื่องเวลา ฟุตเทจที่ถ่ายมา ทุกอย่างมันกดคุณภาพของซีจีให้ต่ำลงเรื่อย ๆ เวลาเราเห็นงานของคนอื่น ไม่ใช่ว่าเราจะรู้สึกว่า ทำไมออฟฟิศนี้ไม่เก่งเลย เราไม่ได้รู้สึกแบบนั้น เรารู้สึกว่าเขาต้องโดนอะไรมาเยอะแน่เลย ถึงได้ทำงานออกมาคุณภาพแบบนี้

จริง ๆ แล้ว ถ้าเฮาส์ซีจีทุกเฮาส์มีเงิน มีเวลา มีกระบวนการการถ่ายทำที่ซัปพอร์ต ก็สามารถทำงานออกมาดีได้ทุกเฮาส์ เพราะฝีมือคนไทยก็มีฝีมือเหมือนกันหมด

พี่หนอด

ก็เลยรู้สึกสงสารครับ แล้วก็สงสารตัวเองด้วย (หัวเราะทั้งวง)

พิภพหิมพานต์
พี่โย – พี่เต้ย

งานซีจีของไทย ณ เวลานี้ สู้กับต่างประเทศได้ไหม หรือยังมีอะไรที่ขาด

พี่หนอด : ด้วยความที่ในงานละคร เราอยู่ตรงปลายน้ำ แล้วเราโดนข้อจำกัด แถมยังโดนคำวิจารณ์ทุกอย่าง แต่ถ้าเป็นงานภาพยนตร์ หรือโฆษณา เขาจะมีงบประมาณ มีเวลามาให้ประมาณหนึ่ง งบประมาณเพิ่มขึ้น คนก็เพิ่มขึ้น เวลาต่อคนต่อช็อตก็เพิ่มขึ้น ทำให้ได้งานที่คุณภาพสูงขึ้นมา ถ้าลองสังเกตงานโฆษณาก็จะสวยเหมือนกันหมด ได้รางวัลในระดับสากลมากมาย

ส่วนถ้าถามว่าอะไรที่ขาด ก็เรื่องเงินนั่นแหละครับ เพราะว่าถ้ามีเงินสนับสนุน ก็สามารถทำงานที่มีคุณภาพสูงขึ้นเรื่อย ๆ ได้ ทุกวันนี้ที่เห็นว่าทำงานออกมาไม่ดี ไม่ใช่เพราะว่าเขาไม่เก่ง แต่เพราะว่าเขาไม่มีงบประมาณมาสนับสนุนให้คุณภาพสูงขึ้นได้

พิภพหิมพานต์
พี่หนอด

นอกจากเงิน คิดว่าอะไรที่จะทำให้บุคลากรที่ทำซีจี หรือวงการซีจีไทยพัฒนาได้อีกบ้าง

พี่เต้ย : ก็คงเป็นเรื่องสกิลครับ เรื่องสกิลเป็นเรื่องของการฝึกฝนและความต่อเนื่อง การเจอโจทย์ปัญหาใหม่ ๆ อยู่ตลอด อย่างฮอลลีวูดหรือหนังเกาหลี เขาทำกันเป็นอุตสาหกรรม ปี ๆ หนึ่งเขามีหนังสไตล์แบบนี้อาจจะประมาณ 100 เรื่อง แน่นอนว่าความต่อเนื่องที่ศิลปินจะได้แก้โจทย์ ได้ขัดเกลาก็มีบ่อย ทำให้บุคลากรเจอโจทย์อะไรมา เขาสามารถสร้างสรรค์ได้หมด

แต่ของไทย ปีหนึ่งอาจจะมีนายทุนที่กล้าทำโพรเจกต์แบบนี้สักปีละเรื่องก็แจ๋วแล้ว หรืออย่างหนังที่เป็นแนวแฟนตาซี แนวสัตว์ประหลาด ก็แทบจะนับเรื่องได้เลย แล้วส่วนมากจะเจ๊ง ถ้าให้ตอบตรง ๆ ก็คือ ในไทยมันไม่มีความต่อเนื่องที่จะทำให้คนทำซีจีได้ฝึกสเกลตรงนี้


พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส