ทุกวันนี้ถ้าเราไปร้านกาแฟในประเทศไทยก็มักจะเห็นผู้คนถ่ายรูปคู่กับแก้วกาแฟ วิว หรือวัตถุต่าง ๆ ภายในร้านเหมือนกับกลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้วเรียบร้อย แต่วัฒนธรรมที่ว่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับร้านกาแฟเพียงที่เดียว หากแต่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ร้านทั่วประเทศเลยทีเดียว
ใคร ๆ ก็คงจะคิดว่าบรรยากาศการถ่ายรูปที่แสนจริงจังแบบนี้น่าจะเกิดขึ้นแค่ในสตูดิโอเท่านั้น แต่ความจริงแล้วนี่คือบรรยากาศของคาเฟ่ในหลาย ๆ ที่ อย่างคาเฟ่เปิดใหม่แห่งหนึ่งในกรุงเทพที่ชื่อว่า ‘Panita’ เป็นร้านที่นำชื่อมาจากชื่อกำแพงของบ้านเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 200 ปี ในย่านเมืองเก่าของกรุงเทพ ที่ร้านก็ขายกาแฟเหมือนกับร้านคาเฟ่ปกติ แต่นั่นไม่ใช่สาเหตุที่คาเฟ่นี้มีคนแวะเวียนมาถ่ายรูปอย่างมากมายทุกสัปดาห์ หากคุณลองค้นหาตำแหน่งของร้านใน Instagram ก็จะเห็นภาพวัยรุ่นที่โพสต์ท่ากับเฟอร์นิเจอร์สไตล์วินเทจหรือโพสต์ท่าใต้โคมไฟอย่างเป็นธรรมชาติ
ฉากแบบนี้อาจพบได้ในร้านกาแฟหลาย ๆ ร้าน แต่ที่ร้าน Panita ดึงดูดให้ลูกค้าอดไม่ได้ที่จะยืนโพสต์ท่าโดยมีกราฟิตี (Graffiti – ภาพเขียนผนัง) ที่อยู่บริเวณทางเดินเข้าร้านเป็นฉากหลัง หลังจากที่แต่งภาพและโพสต์ลง Instagram เพื่อที่จะได้รับคอมเมนต์และยอดไลก์ อันที่จริงพวกเขาก็จะดื่มกาแฟและหาร้านกาแฟร้านใหม่ ๆ เพื่อถ่ายรูปลง Instagram อีก
แต่ก่อนการหาร้านกาแฟในประเทศไทยเป็นอะไรที่ยากมาก แต่ในตอนนี้เราสามารถพบร้านกาแฟได้ทั่วไปและร้านกาแฟใหม่ ๆ ก็เกิดขึ้นมาแทบจะทุกอาทิตย์ คลาสเวิร์กช็อปเกี่ยวกับการทำกาแฟก็เกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก วัตถุดิบในการชงกาแฟที่หายากก็สามารถหาได้ทั่วไปไม่ต่างจากกาแฟสำเร็จรูป นอกจากนี้กาแฟที่ปลูกในประเทศก็ยังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ฟาร์มขนาดเล็กในพื้นที่ภูเขาทางภาคเหนือของประเทศไทยก็มีร้านกาแฟเกิดขึ้นใหม่ด้วย
ปัจจุบันมีคำใหม่ที่ถูกเรียกว่า ‘Cafehopping’ มันไม่ใช่แค่ชื่อแฮชแท็กใน Instagram แต่เป็นคำที่ใช้เรียกนักถ่ายภาพมือสมัครเล่นที่มักจะพกขาตั้งกล้องและอุปกรณ์กล้องไปที่ร้านกาแฟเพื่อถ่ายภาพกับป้ายร้าน ขนม กาแฟ และสถานที่ตกแต่งต่าง ๆ ภายในร้าน
คนบางคนไปร้านกาแฟเกือบ 6 ร้านในวันเดียวเพื่อที่จะเช็กอินที่ร้านที่กำลังดัง เหมือนกับเป็นการแข่งสะสมการ์ดหรือแข่งกันหาร้านใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีใครเคยไป คนกลุ่มนี้ได้สร้างช่องทางในการติดตามและกลายเป็นผู้มีอิทธิพลเกี่ยวกับร้านกาแฟบนโลกอินเทอร์เน็ตทำให้ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามบน Instagram หรือสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ ทำให้ร้านกาแฟหลาย ๆ ร้าน มุ่งทำร้านเพื่อแข่งขันในด้านการตกแต่งมากกว่ารสชาติของกาแฟ ร้านกาแฟในกรุงเทพมีการตกแต่งด้วยดอกไม้และเฟอร์นิเจอร์เพื่อให้ได้มุมถ่ายรูปที่สวยงาม โฆษณามุมถ่ายรูป รวมถึงช่วงเวลาที่ควรถ่ายภาพเพื่อให้ได้ภาพที่สวยงามลงในโซเชียลมีเดีย ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ช่วยดึงดูดคนให้เข้าร้านได้ดีขึ้นด้วย
จากจำนวนของลูกค้าที่หลั่งไหลเข้ามาเป็นตัวตัดสินได้แล้วว่ากลยุทธิ์นี้ดูจะเป็นอะไรที่ได้ผลมาก เอริก ชาน (Eric Chan) เจ้าของร่วมของร้านกาแฟ Sarnies cafe ที่ได้รับความนิยมมากในถนนเจริญรุ่งกรุงเทพมหานครกล่าวว่า “การเผยแพร่รูปหรือบรรยากาศในร้านสู่สาธารณะเป็นอะไรที่ดีมากเนื่องจากมันจะทำให้ผู้คนเข้าถึงร้านของเราได้มากขึ้น Cafehopping ค่อนข้างให้ความสำคัญในการเลือกร้าน เนื่องจากผู้ติดตามของพวกเขา (บุคคลที่ถ่ายรูปลงโซเชียล) จะสนใจและมั่นใจในร้านที่พวกเขาเลือก”
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่คิดแบบนั้น เมื่อถามเจ้าของร้านกาแฟว่าพวกเขาคิดอย่างไรกับมุมถ่ายรูปและการตกแต่งพวกนี้เขาได้แสดงความคิดเห็นว่า “หลังจากเปิดร้านไม่นานผู้คนก็หลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก” ณัฐรุจา ตรีคุณวัฒนา ผู้จัดการร้าน เดอะสมชาย ย่านทองหล่อซึ่งเป็นย่านที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพ กล่าว “บางคนจะนำกระเป๋าเดินทางพร้อมกับเสื้อผ้าเพื่อเปลี่ยนชุดในห้องน้ำ มันเป็นอะไรที่ยากที่จะจัดการ และเราจะไม่มีโต๊ะสำหรับแขกใหม่ด้วยซ้ำ หลังจากนั้นเราก็ตัดสินใจที่จะห้ามไม่ให้ถ่ายภาพสักระยะหนึ่ง”
ซึ่งก็น่าจะเป็นการถ่ายรูปเสื้อผ้าเพื่อทำการโฆษณาหรือค้าขายนั่นล่ะครับ
นอกจากนี้ สตีเว่น ลิม (Steven Lim) เจ้าของร่วมของลูก้าคาเฟ่ ในสาทรซึ่งเป็นย่านแฟชั่นอีกแห่งหนึ่ง กล่าวว่า “เราพบว่ามีเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ที่มาพร้อมกับรถตู้และนางแบบ พวกเขาจะสั่งกาแฟแค่ 1 แก้ว และแอบถ่ายรูปสินค้า เครื่องประดับและเปลี่ยนชุดหลายครั้ง”
วัฒนธรรมคาเฟ่ของประเทศไทยกําลังเฟื่องฟูอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่สําหรับวัยรุ่นจํานวนมาก การทานกาแฟดูจะเป็นเรื่องรองจากการหาสถานที่สวย ๆ ที่ใช้ถ่ายรูปลงโซเชียลเพื่อเรียกยอดไลค์เสียมากกว่า แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะ พวกเขาก็ยังคงสนใจในการถ่ายรูปและไม่ได้แตะแก้วของตัวเองเลย
อ้างอิง Nikkei
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส