“เจ้าชายฟิลิปเป็นผู้ชายคนเดียวในโลกที่ปฏิบัติตัวต่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ประหนึ่งคนธรรมดา เขาเป็นผู้ชายคนเดียวที่ทำได้” ราชเลขานุการส่วนพระองค์เคยกล่าวไว้เช่นนั้น 

เดือนกรกฎาคม ปี 1939 คือครั้งแรกที่ทั้งสองพบกัน ตอนนั้นเจ้าหญิงเอลิซาเบธ หรือ ‘ลิลิเบธ’ (Lilibeth – พระนามลำลอง) พระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 (King George VI) มีพระชนมายุเพียง 13 พรรษา ออกเดินทางพร้อมเจ้าหญิงมาร์กาเรต (Princess Margaret) พระขนิษฐา และครอบครัวไปยังมหาวิทยาลัย Britannia Royal Naval College ที่เมืองดาร์ตเมาธ์ ที่นั่นลิลิเบธได้พบกับเจ้าชายฟิลิป (Prince Philip) แห่งกรีซและเดนมาร์กที่มีพระชนมายุ 18 พรรษา ซึ่งทรงเข้าเป็นนักเรียนนายเรือในราชนาวีอังกฤษเป็นปีแรก พระองค์ทรงมีพระโฉมหล่อเหลา กิริยาท่าทางและรูปร่างผึ่งผายสมชายชาติทหาร

ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นญาติชั้นที่หนึ่งของกันและกัน ผ่านทางสายพระโลหิตของพระเจ้าคริสเตียนที่ 9 แห่งเดนมาร์ก (Christian IX of Denmark) และทรงเป็นพระญาติชั้นที่สาม ผ่านทางสายพระโลหิตของสมเด็จพระราชินินาถวิกตอเรีย (Queen Victoria) ในวันนั้นเจ้าชายฟิลิปได้ทรงทำหน้าที่เป็นผู้นำเสด็จเจ้าหญิงทั้งสองพระองค์ทอดพระเนตรทั่วบริเวณมหาวิทยาลัย รวมทั้งสร้างความประทับพระทัยด้วยการกระโดดข้ามคอร์ตเทนนิส แมเรียน ครอว์ฟอร์ด ผู้ดูแลเจ้าหญิงเอลิซาเบธกล่าวย้อนถึงเหตุการณ์นั้นว่า “ฉันว่าพระองค์โชว์ลีลาออกมาได้ดีเชียวล่ะ”

‘เจ้าหญิงเอลิซาเบธ’ ตกหลุมรัก ‘เจ้าชายฟิลิป’ นับตั้งแต่นาทีนั้น และเขียนจดหมายรักถึงกันเรื่อยมา กระทั่งช่วงซัมเมอร์ปี 1946 เจ้าชายฟิลิปได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 เพื่ออภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธ ที่มีพระชนมายุ 21 พรรษา (จากบทความในนิตยสาร Time ระบุว่าในตอนแรก สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ไม่ยอมรับในตัวของเจ้าชายฟิลิป เพราะไม่อยากให้เจ้าหญิงเอลิซาเบธมีพระสวามีเป็นเจ้าชายกรีก เกรงจะไม่เป็นที่ยอมรับในอังกฤษ) โดยเจ้าชายฟิลิปทรงสละสิทธิ์ในสายการสืบราชสกุลของเดนมาร์ก เพื่อทรงเข้าเป็นสามัญชนของสหราชอาณาจักร โดยพระองค์เปลี่ยนมาใช้นามสกุล ‘เมาต์แบ็ตเทน’ (Mountbatten) ซึ่งเป็นนามสกุลใหม่ที่เปลี่ยนมาจาก ‘แบตเทนเบิร์ก’ (ฺBattenberg) โดยลอร์ด หลุยส์ เมาต์แบ็ตเทน (Louis Mountbatten) จากนั้นพระเจ้าจอร์จที่ 6 ได้พระราชทานยศสมเด็จเจ้าฟ้า (His Royal Highness) และทรงแต่งตั้งให้เป็นดยุกแห่งเอดินบะระ (Duke of Edinburgh) เอิร์ลแห่งเมอเรียนเนธ (Earl of Merioneth) และบารอนกรีนิช (Baron Greenwich) ก่อนวันอภิเษกสมรสเพียงหนึ่งวัน

ทั้งสองพระองค์ได้เข้าพระราชพิธีอภิเษกสมรสที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 1947 ซึ่งสถานีโทรทัศน์บีบีซีถ่ายทอดสดสู่ผู้ชม 200 ล้านคนทั่วโลก ทว่าในขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่อังกฤษยังอยู่ในบรรยากาศที่หดหู่จากความบอบช้ำของสงครามโลกครั้งที่ 2 และอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับเยอรมนี ส่งผลให้พระเชษฐภคินีทั้งสามพระองค์ของเจ้าชายฟิลิปที่มีความสัมพันธ์กับเยอรมนี ไม่ได้รับเชิญให้เสด็จมาร่วมพระราชพิธีอภิเษกสมรส สองปีหลังการเสกสมรส ทั้งสองมีพระโอรสองค์แรก คือเจ้าชายชาร์ลส์ (Charles, Prince of Wales) ในปี 1949 และถัดมาอีกหนึ่งปีก็มีเจ้าหญิงแอนน์ (Anne, Princess Royal) พระราชธิดา

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1952 เมื่อสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักรเสด็จสวรรคต ส่งผลให้เจ้าหญิงเอลิซาเบธได้ขึ้นครองราชย์ขณะพระชนมายุ 25 พรรษา เป็นสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ดยุกฟิลิปก็ทรงยอมลาออกจากทหารเรือระหว่างดำรงยศนาวาโท เพื่อติดตามการเสด็จพระราชดำเนินในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะพระสวามีของพระมหากษัตริย์หญิง

ตลอดพระชนม์ชีพของเจ้าชายฟิลิป ได้ตามเสด็จฯ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มาแล้วถึง 143 ประเทศทั่วโลก ขณะที่พระองค์เองก็ทรงมีความสนพระทัยในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากถึงปีละ 300 งาน และทรงเป็นองค์ประธานอุปถัมภ์องค์กรการกุศลมากกว่า 800 องค์กร โดยเฉพาะโครงการเพื่อเยาวชนที่พระองค์ทรงให้ความสำคัญเป็นพิเศษ อย่างเช่นโครงการรางวัลดยุกแห่งเอดินบะระ ซึ่งเป็นรางวัลแห่งความสำเร็จของเยาวชนที่มีชื่อเสียงระดับโลก

ในปี 1960 ทั้งสองก็มีพระโอรสพระองค์ที่ 2 คือเจ้าชายแอนดรูว์ (Prince Andrew, Duke of York) และต่อด้วยเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด (Prince Edward, Earl of Wassex) เป็นพระองค์สุดท้องในปี 1964 สมเด็จพระราชินีนาถโปรดให้พระโอรสและพระธิดาทั้งสี่พระองค์ใช้ชื่อราชสกุล ‘วินด์เซอร์’ (Windsor) ทำให้เจ้าชายฟิลิปเสียพระทัยและเคยตรัสประชดว่า ‘พระองค์คงเป็นผู้ชายคนเดียวในประเทศที่ไม่อาจให้ลูกใช้นามสกุลของตนได้’ 

“สัญชาติ พระราชอิสริยศักดิ์เดิม ยศทางทหาร และนามสกุล…” เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระยอมเสียสละทุกอย่างเพื่อ ‘ความรัก’ ที่มีต่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ครั้งหนึ่งพระองค์ตรัสว่า “หน้าที่ของพระองค์คือการทำให้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงครองราชย์ตราบยิ่งยืนนาน” 

ในงาน The Queen’s Golden Wedding Anniversary เนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลองการอภิเษกสมรสครบรอบ 50 ปี ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 1997 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มีพระราชดำรัสถึงพระสวามีว่า “เขาเป็นพลังอันเข้มแข็งที่ทำให้ข้าพเจ้ายืนหยัดได้ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทั้งข้าพเจ้า สมาชิกในครอบครัว ประเทศนี้ และทุก ๆ ประเทศ ต่างเป็นหนี้ต่อท่านเกินกว่าจะกล่าวอ้างหรือล่วงรู้ได้” 

เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ สิ้นพระชนม์อย่างสงบ ณ พระราชวังวินด์เซอร์ เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 9 เมษายน 2021 (ตามเวลาอังกฤษ) ขณะมีพระชนมายุ 99 พรรษา ปิดฉากชีวิตของเจ้าชายผู้เสียสละ พระสวามีอันเป็นที่รัก และเป็นสายลมประคองปีกพระมหากษัตริย์หญิงแห่งสหราชอาณาจักร ผู้เป็นรักแท้และรักเดียวของเขามาตลอด 73 ปี ทั้งสองพระองค์ถือเป็นคู่รักราชวงศ์ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ

อ่านเพิ่มเติม : 15 เรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับเจ้าชายฟิลิป

เครดิตภาพ
Royal.uk, Getty Images, US Magazine

อ้างอิง 1
อ้างอิง 2
อ้างอิง 3
อ้างอิง 4
อ้างอิง 5

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส