“’Cause this ain’t no John Hughes movie. Where the girl gets the guy. You look right through me. Every time you walk by. I keep waiting for the heartbreak music. That’s never gonna come. ‘Cause if you don’t want me. Then you’re not the one”
ท่อนคอรัสของ “John Hughes Movie” เพลงอันดับ 1 บนไอทูนส์ชาร์ตของเกาะอังกฤษ จากศิลปินสาวเมซี ปีเตอร์ส (Maisie Peters) ว่าเอาไว้ ถึงความรักของตัวละครในเพลง ที่ไม่ได้ลงเอยแบบเดียวกับตัวละครในหนังของจอห์น ฮิวส์ (John Hughes) ที่ส่วนใหญ่เป็นหนังวัยรุ่น โรแมนซ์ใส ๆ โดนใจคอหนังวัยรุ่นยุค 80s
เนื้อหาของเพลงก็คลับคลากับเรื่องในหนัง หญิงสาวไปงานปาร์ตี้ โดยหวังจะมีเรื่องหวาน ๆ กับหนุ่มที่เธอแอบปิ๊ง แต่แล้วก็ได้รู้ว่าเขาสนใจใครบางคนอยู่เมื่อเธอมาถึง ทำให้ตัวเองถูกดีดทิ้ง จมอยู่กับความเศร้าและความไม่มั่นใจในตัวเอง หากท้ายที่สุด เธอก็ตระหนักได้ว่า ต้องมองหาคนที่ชอบในสิ่งที่เธอเป็น ซึ่งไม่ใช่ตอนจบแบบเดียวกับที่เห็นในหนังของฮิวส์ และยังแสดงถึงมุมมองของปีเตอร์ส ที่มีต่อเรื่องรักดราม่าวัยรุ่นอย่างตรงไปตรงมา
หนังโรแมนติกส่วนใหญ่ที่มีตัวละครเด็กสาวกับเด็กหนุ่ม ต่อให้ฝ่ายหญิงจะแสร้งไม่รู้ หรือไม่รู้จริง ๆ ถึงความรักที่พุ่งตรงมาหาเธอ แต่ตอนท้ายเธอก็รับรู้ และ (หวังว่าจะ) มีชีวิตร่วมกันอย่างสุขสม ซึ่งทำให้ผู้ชมปลื้มปริ่ม แต่สิ่งหนึ่งที่หนังเหล่านี้ไม่สะท้อนให้เห็นในบางครั้งหรือบ่อยครั้ง ก็คือ เด็กสาวในจอไม่ใช่คนที่กำลังปลื้มกับโชคชะตาของเธอ ชีวิตไฮสคูลที่มีการเปลี่ยนแปลง, ความรักและเรื่องอกหักหยุดโลกได้ ที่อยู่ในหนังไม่ได้มีความสมจริง ปีเตอร์สทำให้ความเพ้อฝันแบบรอมคอมแตกสลาย และแบความจริงเรื่องความรักวัยรุ่นออกมาว่า “ความจริงเป็นยังไง” ทำให้คนที่กำลังผิดหวังกับชีวิตที่ไม่ได้เป็นไปอย่างในหนัง ได้รู้ว่าพวกเขาไม่ใช่รู้สึกแบบนั้นเพียงลำพัง
“ฉันแต่งเพลง John Hughes Movie ตอนอายุ 17 เป็นเรื่องงานปาร์ตี้ในบ้านที่ฉันเคยไป” ปีเตอร์ส เล่า “มันพูดถึงความสิ้นหวัง, ชีวิตวัยรุ่นที่แสนดราม่า, ความเคอะเขิน, การเมามาย และอกหักช้ำรักจากคนที่คุณจำไม่ได้แล้วในตอนนี้ หนังจอห์น ฮิวส์ จะเก็บความโรแมนติกงี่เง่าของชีวิตไฮสคูลแบบนั้นเอาไว้ แล้วก็ทุกสิ่งทุกอย่างที่ฉัน… ซึ่งเป็นเด็กสาวจากเมืองเล็ก ๆ ในอังกฤษ ที่อยากเป็นมอลลี ริงวอลด์ (Molly Ringwald) ต้องการเป็น แต่ไม่เคยได้เป็น”
ปีเตอร์สทำให้ทุกคนที่ได้ฟัง ปลดปล่อยตัวเองจากนิทานประโลมโลกย์บนจอภาพยนตร์ และหากรู้ว่าใครบางคนไม่ต้องการคุณ ก็ไม่ควรไปเสียเวลากับเขา
มิวสิกวิดีโอของ “John Hughes Movie” มีบรรยากาศแบบเดียวกับหนังจอห์น ฮิวส์ ปีเตอร์สรับบทนางเอกของเรื่อง เดินเข้ามาในปาร์ตี้แบบเศร้า ๆ ถูกเมินจากคนที่เธอปิ๊ง รอบตัวมีแต่เด็กหนุ่มที่ซังกะตายเหมือนซอมบี้ เธอยอมจำนนกับความคิดที่ว่าตัวเองเป็นคนไม่สำคัญ แต่ตอนท้ายก็กลับมาแข็งแกร่งได้อีกครั้ง และรับรู้ถึงความสำคัญของการรักและยอมรับตัวเอง
และต่อจากนี้คือเรื่องราวของจอห์น ฮิวส์ และลักษณะเด่น ๆ ในหนังของเขา John Hughes Movies
จอห์น ฮิวส์ เกิดที่มิชิแกน แต่มาโตที่ชิคาโก เขาพูดถึงตัวเองว่าเป็น เด็กเงียบๆ ที่ชอบเดอะบีเทิลส์ (The Beatles) หลังจบไฮสคูลฮิวส์มาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยแอริโซนา แต่ก็ดรอปเรียนตอนปีสาม เพื่อเป็นก็อปปี้ไรเตอร์ที่ชิคาโกช่วงยุค 70s รวมถึงคิดมุกตลกและเขียนเรื่องที่กลายเป็นหนัง ‘National Lampoon’s Vacation’ จุดเริ่มต้นของฮิวจ์สในฐานะคนทำหนังเมื่อปี 1983
โรเจอร์ อีเบิร์ต (Roger Ebert) นักวิจารณ์ภาพยนตร์คนสำคัญบอกว่า ฮิวส์เป็น “ปราชญ์แห่งวัยรุ่น” และตลอดชีวิตการทำงาน ฮิวส์ที่จากไปเมื่อปี 2009 กำกับภาพยนตร์ไว้ 8 เรื่อง กับเขียนบทอีกไม่น้อย มีอิทธิพลต่อคนทำหนังรุ่นหลังมากมาย เช่น เวส แอนเดอร์สัน (Wes Anderson) และจัดด์ อะพาโทว์ (Judd Apatow) ถึงตอนปลายยุค 80s เขาจะขยับการทำงานจากหนังวัยรุ่น ไปเป็นงานครอบครัว เช่น ‘Home Alone’ และ ‘Baby’s Day Out’ แต่เมื่อพูดถึงจอห์น ฮิวส์ก็ต้องนึกถึงหนังไฮสคูลที่มีลักษณะเฉพาะตัว ที่เหมือนเป็นแนวทางย่อยอีกแนว จากความแตกต่างที่มี และทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในผู้กำกับจากยุค 80s ที่ผู้ชม ‘รัก’
นำเสนอชีวิตวัยรุ่นที่แตกต่างไปจากที่เคยเป็น
ในโลกที่งานของฮิวส์คือมาตรฐานของหนังวัยรุ่น เป็นเรื่องง่ายที่จะลืมว่าหนังแบบนี้ในยุคบุกเบิกเป็นยังไง หนังวัยรุ่นตอนต้นยุค 80s จะเป็นหนังทะลึ่ง ๆ อย่าง ‘Porky’s’ และ ‘Fast Times at Ridgemont High’ ฮิวส์คือผู้นำไปสู่ทิศทางใหม่ ๆ โดยเน้นที่ความรู้สึกไม่มั่นคงของชีวิตวัยรุ่น หนังบางเรื่องยังนำเสนอชีวิตวัยรุ่นชนชั้นกลางอเมริกันไปพร้อม ๆ กัน แต่หากสังเกตจะพบว่าหนังขาดความหลากหลายเรื่องสีผิว ริงวอลด์ที่ได้ชื่อเป็นนางเอกขาประจำของฮิวส์ เคยบอกว่า เป็นเรื่อง “น่าอาย” มาก ๆ ที่หนังสร้างชื่อของฮิวส์ อย่าง ‘The Breakfast Club’ รวมถึงงานส่วนใหญ่ของเขามีแต่คนผิวขาว ทั้ง ๆ ที่ธีมของหนังสามารถใช้ประโยชน์จากเรื่องความหลากหลายได้ขนาดไหน
หนังของฮิวจ์สยังต่อต้านภาพลักษณ์เดิม ๆ ด้วยการสำรวจสิ่งที่ไม่เคยถูกนำเสนอบนจอมาก่อน เขาเป็นเจ้าของความคิดที่ดูง่าย ๆ แต่มีความหมายและความสำคัญที่หลาย ๆ คนมองข้าม หนังวัยรุ่นของฮิวส์จะอยู่คนละขั้วกับการสร้างภาพแบบเก่า ๆ ที่มองวัยรุ่นเป็นเด็ก ๆ และแสดงให้เห็นด้วยว่า การเติบโตเป็นเรื่องไม่ง่ายและซับซ้อนกว่าที่เห็น ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ชมไม่สามารถสรุปหนังของเขาได้จากองค์ประกอบแค่อย่างเดียว เช่น หน้าตาของหนัง อย่าง ‘Weird Science’ ที่ศูนย์กลางคือเด็กคลั่งอะไรบางอย่าง 2 คน ที่ลุกมาทำอะไรเพื่อตัวเองจะเป็นคนที่เท่ที่สุดในโรงเรียน, ‘The Breakfast Club’ แสดงให้เห็นว่าคนที่มีความแตกต่าง, มีปูมหลังที่ขัดแย้งกัน สามารถปรองดองและเป็นเพื่อนกันได้ ต่อให้มีเรื่องบรรทัดฐานทางสังคมมาเกี่ยวข้องก็ตามที
ผู้ปกครองไม่ใช่คนที่ถูกที่สุด
ฮิวส์ยังต่อต้านความคิดที่ยึดถือกันอย่างกว้างขวางในตอนนั้น ที่ว่าพ่อ-แม่หรือผู้ปกครองรู้ดีที่สุด ในหนังของเขา ผู้ปกครองหรือพวกเจ้าหน้าที่ คือคนที่สมควรถูกตำหนิสำหรับการสร้างความกดดันและสร้างเรื่องให้เด็ก ๆ ต้องหาทางแก้ไข ใน ‘The Breakfast Club’ เด็กในห้องกักตัวล้วนมีปัญหาบางอย่างกับผู้ปกครอง ที่การรับมือกับพวกเขาส่งผลในทางลบกับชีวิตของเด็ก ๆ ใน ‘Sixteen Candles’ พ่อ-แม่ของซาแมนธา ลืมวันเกิดครบอายุ 16 ปีของเธอ เพราะวุ่นกับงานแต่งงานของพี่สาว จนเธอรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสำคัญ ใน ‘Ferris Bueller’s Day Off’ ครูใหญ่กลายเป็นวายร้ายที่ดูตลก เหมือนตัวละครในหนังสือการ์ตูน กระทั่งในหนังที่มีธีมเป็นผู้ใหญ่ ฮิวส์ยังให้ตัวละครแตกต่างไปจากภาพเดิม ๆ ตัวละครใน ‘Uncle Buck’ ไม่สามารถจำกัดความได้จากการปรากฏตัวหรือความผิดพลาดที่เขาก่อ นี่คือตัวละครที่นำเสนออะไรมากกว่าที่เห็น ยิ่งไปกว่านั้นประสบการณ์ยังทำให้เขาเติบโตเพื่อเป็นคนที่ดีกว่าเดิม ซึ่งตัวละครหลักในหนัง ‘Planes, Trains and Automobiles’ ก็เช่นกัน
เรื่องราวเกิดขึ้นในแถบชานเมือง
หนังยุคแรกของฮิวส์เป็นเรื่องก้าวพ้นวัย (Coming of Age) แล้วยังเกิดขึ้นในสถานที่ซึ่งดูเหมือนน่าเบื่อที่สุดในโลก อย่าง แถบชานเมือง แต่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่มันเป็นสถานที่หลักในหนังของฮิวส์ เพราะเขาโตมาแถบนอกเมืองชิคาโก ความคุ้นเคยกับชีวิตชานเมืองเป็นแรงบันดาลใจให้หนังหลาย ๆ เรื่องของเขา แม้ไม่ใช่เขาคนเดียวที่คุ้นเคยกับชานเมือง แต่เพราะสภาพภูมิประเทศไม่น่าสนใจ ไม่ได้สวยงาม เลยมีหนังไม่กี่เรื่องที่ใช้เป็นฉากหลัง หนังของฮิวส์สร้างความน่าสนใจให้กับชุมชนและผู้คน ที่ปกติแล้วไม่เคยถูกนำเสนอในวัฒนธรรมที่เป็นที่นิยม ถึงไม่ได้ทำให้รู้สึกว่า การโตมาในแถบชานเมืองเป็นเรื่องเท่ เขาก็ทำให้เป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าสนุก หนังของฮิวส์ถ้าเรื่องไม่เกิดที่นอกเมืองชิคาโก ก็มีการพูดถึงอย่างให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในหนังที่เขาเขียนบทหรือกำกับ
ทำงานกับนักแสดงกลุ่มเดิม ๆ
ฮิวส์มักทำงานกับนักแสดงที่เรียกว่ากลุ่ม แบร็ตแพ็ก (Brat Pack) แม้จะไม่ได้มีส่วนสร้างนักแสดงกลุ่มนี้ขึ้นมาก็ตาม และทำให้ผู้ชมในยุค 80s มักจำแนกหนังของฮิวส์ได้ เพราะนักแสดงที่มาเล่น จะเป็นนักแสดงดัง และถูกเลือกมาเล่นหนังของฮิวส์ด้วยกันบ่อย ๆ
กลุ่มแบร็ตแพ็กดั้งเดิม เป็นกลุ่มนักแสดงหนุ่มที่ประกอบด้วย เอมิลิโอ เอสเทเวซ (Emilio Estevez), ร็อบ โลว์ (Rob Lowe), ทอม ครูส (Tom Cruise), ฌอน เพ็นน์ (Sean Penn), นิโคลาส เคจ (Nicholas Cage), แม็ทธิว บรอเดอริก (Matthew Broderick), แม็ตต์ ดิลลอน (Matt Dillon) และ จัดด์ เนลสัน (Judd Nelson) ที่ขยับขยายออกไปหลังความสำเร็จของหนัง 2 เรื่องในปี 1985 ‘The Breakfast Club’ ของฮิวส์ และ ‘St. Elmo Fire’ ซึ่งทำให้แบร็ตแพ็กถูกนิยามใหม่ ด้วยการรวมกลุ่มนักแสดงจากหนังทั้งสองเรื่อง เอสเทเวซ, ริงวอลด์, แอนโธนี ไมเคิล ฮอลล์ (Anthony Michael Hall), เนลสัน, โลว์, แอนดรูว์ แม็คคาร์ธี (Andrew McCarthy) และอัลลี ชีดี้ (Ally Sheedy) โดย ‘Sixteen Candles’ น่าจะเป็นหนังของฮิวส์เรื่องแรกที่ใช้บริการนักแสดงกลุ่มนี้ คือ ริงวอลด์และฮอลล์ โดยฮอลล์ได้เล่นหนังที่ฮิวส์เขียนบทหรือกำกับรวม 4 เรื่อง ส่วนริงวอลด์มี 3 เรื่อง กลุ่มแบร็ตแพ็กดั้งเดิมมาจากหนังอย่าง ‘Taps’ หรือ ‘Class’ ซึ่งไม่เหมือนหนังของฮิวส์ที่มีความสมจริงมากกว่า และเป็นตัวแทนในการท้าทายกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่โตมาในยุค 80s อีกสาเหตุหนึ่งที่หนังของฮิวส์เกี่ยวพันกับนักแสดงกลุ่มนี้เป็นพิเศษ ก็เพราะมันเข้าถึงผู้ชมและประสบความสำเร็จมากกว่า ทำให้นักแสดงกลายเป็นที่รู้จักมากกว่าในหนังเรื่องอื่น ๆ
มีสูตรสำเร็จ
หนังของฮิวส์มีสูตรสำเร็จ เขาใช้โครงสร้างและองค์ประกอบของหนังคล้ายเดิม ไม่ว่าจะเป็น ตัดภาพไปมา, ให้ตัวละครหันมาพูดกับผู้ชม, ใช้เพลงและดนตรีประกอบคล้าย ๆ กัน มีฉากตัวละครจ้องตากันแล้วถ่ายเจาะที่ดวงตา ซึ่งเป็นฉากสามัญที่หนังฮิวส์ต้องมีและนำเสนอนัยที่หลากหลาย
ถึงจะได้ชื่อเป็นมือเขียนบทที่มีพรสวรรค์และสร้างตัวละครที่น่าจดจำได้ แต่ฮิวจ์สก็มีปัญหากับการสร้างพื้นที่ใหม่ ๆ เรื่องงานโปรดักชัน ถึงกระนั้นความคล้ายคลึงกันของหนังแต่ละเรื่อง ก็เป็นเรื่องที่ดีสำหรับฮิวส์ เพราะอย่างแรก… เมื่อดูจากสิ่งที่ฮิวส์ทำในหนังแล้วทำซ้ำแล้วซ้ำอีกในตอนนั้น โดยที่ไม่ต้องมองถึงเรื่องสไตล์หรือว่าความน่าตื่นเต้น มันส่งผลกระทบและสร้างความน่าสนใจได้สำเร็จ ไม่เคยมีใครที่ทำให้ชีวิตจริง ๆ ไปปรากฏบนจอได้มากอย่างที่ฮิวส์ทำ ผู้คนรู้สึกว่าได้เห็นตัวเองในหนังมากกว่าจะมองตัวละครเหล่านั้นเป็นเพียงความบันเทิง
อย่างที่สอง.. ฮิวส์นำเสนอสิ่งเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้แฟน ๆ หวังได้เลยว่าจะมีความมหัศจรรย์บางอย่าง ที่มักจะเข้ามามีบทบาทสำคัญเพื่อนำไปสู่ตอนจบ ในหนังของฮิวส์ หนุ่มที่ใช่จะได้กับสาวที่ถูกต้อง ตัวละครจะมีโชคบางอย่างที่ทำให้ได้ชัยชนะ ปัญหาจะถูกแก้ไข ก่อนจะจบลงด้วยการที่ตัวละครโอบกอดกันและกัน ใน ‘Planes, Trains and Automobiles’ หนังจบลงตรงที่ตัวละครของสตีฟ มาร์ติน โอบกอดภรรยา, ‘Curley Sue’ หนังจบด้วยการให้ตัวละครบิลล์, เกรย์ และเคอร์ลีย์ ซู กอดกัน, ‘Uncle Buck’ มีการกอดกันหลายครั้ง และจบด้วยการมีความสุขรายรอบ ปัญหาถูกแก้ไข อนาคตดูสดใส, ‘Sixteen Candles’ อาจเป็นหนังที่จบแบบจอห์น ฮิวส์ที่โด่งดังมากที่สุด เมื่อเจกและแซมจูบกันเหนือเค้กวันเกิดของเธอ ภาพถูกแช่ไว้แล้วเครดิตก็ไหลขึ้นมา การปิดหนังด้วยการแช่ภาพเป็นเรื่องปกติของฮิวส์ ใน ‘Ferris Bueller’s Day Off’ เมื่อเฟอร์ริสเอนกายลงบนเตียง นอนหนุนแขนพร้อมรอยยิ้ม ด้วยความสบายใจ ภาพถูกหยุดไว้ก่อนจะเลือนหายกลายเป็นเครดิตของหนัง
และนี่ก็คือหนังในแบบจอห์น ฮิวส์ หนังที่เคยครองใจผู้ชมวัยรุ่นในยุค 80s ที่ยังส่งอิทธิพลมาถึงคนยุคนี้ ที่หนึ่งในนั้นก็คือเมซี ปีเตอร์ส และเพลง “John Hughes Movie” ของเธอ
อ้างอิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3 อ้างอิง 4
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส