มีรายงานการวิจัยในวารสาร ‘Psychological Science’ ที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา พบว่า สามารถสังเกตได้ถึงพฤติกรรมบางอย่างของสุนัขที่มีความคล้ายคลึงกับมนุษย์ นั่นก็คือ พฤติกรรม ‘อิจฉา’

หรือถ้าอธิบายให้ชัดก็คือ ดูเหมือนว่า สุนัขอาจมีความสามารถที่จะถูกกระตุ้น และรับรู้ความรู้สึก ‘อิจฉา’ ของตัวมันเองได้ เพียงแค่มันเกิดจินตนาการว่า เจ้านายของมันกำลังกล่าวชมเชย หรือลูบหัว ลูบตัวน้องหมาตัวอื่นอยู่ แม้ว่าสถานการณ์นั้นอาจไม่ได้เกิดขึ้นจริง ๆ ก็ตาม

สุนัช น้องหมา

‘อะมาเลีย บาตอส’ (Amalia Bastos) นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยโอคแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ได้กล่าวถึงกรณีนี้ไว้ว่า

“มีงานวิจัยรองรับในสิ่งที่เจ้าของสุนัขหลายคนต่างรู้สึกคล้าย ๆ กัน นั่นก็คือความรู้สึกขี้อิจฉาของสุนัข เมื่อเจ้านายของมันไปมีปฏิสัมพันธ์กับสุนัขตัวอื่น ๆ ที่น่าจะเป็นคู่แข่ง”

โดยในการทดลองนี้ ผู้ทำการทดลองได้ทำการคัดเลือกสุนัขและเจ้าของ 18 คู่ จากนั้นจะทำการแยกห้องกัน สุนัขจะถูกจับแยกไปไว้ในห้องที่มีเพียงจอ ส่วนเจ้าของจะอยู่กับ “สุนัขเทียม” ที่มีลักษณะเป็นทรงกระบอกที่ทำจากขนแกะ เพื่อใช้สมมติแทนสุนัขที่เป็นคู่แข่ง

สุนัช น้องหมา

ในขณะที่เจ้าของสามารถมองเห็นเหตุการณ์ได้ทุกอย่าง แต่สุนัขจะเห็นได้เพียงเฉพาะแค่เจ้าของเท่านั้น ไม่เห็นสุนัขเทียม หลังจากนั้นเจ้าของจะ “แสดง” ความรักและความสนใจต่อสุนัขเทียม ด้วยการลูบหัวเบา ๆ และพูดชื่นชมด้วยน้ำเสียงราบเรียบว่า “เด็กดี” ราวกับว่าเป็นสุนัขจริง ๆ

สุนัช น้องหมา

ผลปรากฏว่า นักวิจัยได้สังเกตพบพฤติกรรมของสุนัข และพบว่าสุนัขเริ่มเรียกร้องความสนใจอย่างหนัก และแสดงอาการกระวนกระวายชัดเจน เช่น ส่งเสียงขู่คำราม และทำท่าทางกระวนกระวายใจ ซึ่งอาจตีความได้ว่า แม้สุนัขไม่สามารถเห็นได้ว่าเจ้าของกำลังให้ความรักและความสนใจสุนัขตัวอื่นอยู่ แต่มันก็อาจจินตนาการว่า เจ้าของกำลังให้ความรักกับสุนัขตัวอื่น แทนที่จะเป็นตัวมันเอง จนกระทั่งพัฒนากลายเป็นความ ‘อิจฉา’ ได้ในที่สุด

อะมาเลีย ยังได้กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทดลองนี้ว่า

“เราคงต้องทำการศึกษาพฤติกรรมนี้อย่างละเอียดมากขึ้น เพื่อตรวจสอบว่า สุนัขสามารถแสดงออกถึงการถูกกระตุ้นความอิจฉา แบบเดียวที่มนุษย์เป็นได้หรือไม่ ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าสุนัขมีความขี้อิจฉาเหมือนคนเราแต่สิ่งที่เห็นได้ชัดตอนนี้ก็คือ พวกมันมีการตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความรู้สีกอิจฉา แม้ว่าสถานการณ์นั้นจะไม่ได้อยู่ในสายตาพวกมันก็ตาม”

สุนัช น้องหมา

ในงานวิจัยยังกล่าวเพิ่มเติมว่า นักวิทยาศาสตร์มีความสนใจในการศึกษาความรู้สึกอิจฉาที่เกิดขึ้นในสัตว์ ไม่ใช่เพียงแค่สุนัขเท่านั้น เพราะว่าความอิจฉานั้นเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับการตระหนักรู้ในตนเอง (Self-Awareness) ซึ่งถือว่าเป็นกลไกทางสติปัญญาและจิตอันซับซ้อน ที่พบได้เฉพาะในเฉพาะมนุษย์และสัตว์ไม่กี่ชนิดในโลกเท่านั้น และนั่นก็อาจจะนำไปต่อยอดเพื่อทำความเข้าใจในความรู้สึกของสัตว์เลี้ยง เพื่อการเลี้ยงดูได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น


อ้างอิง
https://bit.ly/2Qi5aLt
https://bit.ly/2QjHHK0
https://bit.ly/32ci6oZ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส