เย็นวันอาทิตย์ที่ 25 เมษายนนี้ในสหรัฐอเมริกา หรือเช้าวันที่ 26 ตามเวลาบ้านเรา ก็จะได้ทราบกันแล้วว่า “ภาพยนตร์เรื่องใดบ้างจะได้ Academy Awards หรือรางวัลออสการ์กลับบ้าน” 

การจัดงานในปีนี้ล่าช้ากว่าปีก่อน ๆ เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้โรงภาพยนตร์ทั่วโลกต้องปิดบริการไปในช่วงหนึ่ง ภาพยนตร์จำนวนไม่น้อยก็ต้องเลื่อนฉาย หรือเปลี่ยนรูปแบบการฉายไปลงบริการสตรีมมิง ทางสถาบันศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์แห่งสหรัฐอเมริกา หรือ the Academy of Motion Picture Arts and Sciences เลยต่อเวลาให้ภาพยนตร์ที่เข้าฉายถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2021 ยังมีสิทธิ์ได้รับการพิจารณา (จากปกติที่นับแค่รอบปีปฏิทิน) และไม่จำเป็นต้องเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ที่นิวยอร์กและลอสแองเจลิสอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ รวมทั้งอนุโลมให้ภาพยนตร์ที่เข้าฉายในอีกหลายเมืองและในรูปแบบดิจิทัล แต่ต้องมีกำหนดฉายในโรงภาพยนตร์ไว้ก่อนแล้ว

ในที่สุดก็เหลือภาพยนตร์ 8 เรื่องที่ฝ่าด่านอรหันต์โควิด-19 เป็นรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของปีนี้ เรามาดูกันว่าภาพยนตร์เรื่องไหนที่มีโอกาสคว้ารางวัลใหญ่ของงาน ในปีที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์เจอวิกฤตร้ายแรงที่สุด

ภาพ: Liongate/ Mongkol Major

THE FATHER

  • ผู้กำกับ: ฟลอเรียน เซลเลอร์ (Florian Zeller)
  • นักแสดง: แอนโธนี ฮ็อปกินส์ (Anthony Hopkins), โอลิเวีย โคลแมน (Olivia Coleman), มาร์ก กาติสส์ (Mark Gatiss), รูฟัส ซีเวลล์ (Rufuss Sewell)

เข้าชิงออสการ์ 6 รางวัล และเป็นรางวัลใหญ่ถึง 4 คือ ผู้กำกับ, บทดัดแปลง, นำชาย, สมทบหญิง และหนังยอดเยี่ยม กับเรื่องราวของสาวใหญ่ (โคลแมน) ที่ต้องดูแลพ่อ (ฮ็อปกินส์) ซึ่งป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม และต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ เมื่อพบคนที่อยากใช้ชีวิตด้วย แล้วต้องโยกย้ายไปต่างแดน ทิ้งให้พ่ออยู่ในการดูแลของคนอื่น

จุดเด่น: การนำเสนอภาพชีวิตผู้ป่วยสมองเสื่อม ได้ทั้งเห็นภาพ ทั้งรู้สึกถึงสภาพจิตใจของผู้ป่วย รวมถึงผลกระทบที่มีต่อคนรอบข้าง โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของสองพ่อ-ลูกในเรื่อง ที่ถ้าไม่สัมผัสได้ถึงอารมณ์ของผู้คนที่ในสถานการณ์นั้นจริง ๆ ก็ถือว่าใกล้เคียง 

โอกาสชนะ: 5% เนื้อหาที่ดู ‘จริง’ คล้ายกับที่ Marriage Story พูดเรื่องชีวิตคู่ ไม่ใช่หนังที่กรรมการออสการ์ ‘รัก’ มากพอจะมอบรางวัลให้ แล้วคงได้ลุ้นมากกว่าในสาขานักแสดงและบท การที่หนังพลาดรางวัลสมาคมนักแสดง และผู้อำนวยการสร้าง บอกได้เลา ๆ ว่า โอกาสบนออสการ์มีไม่มาก

ภาพ: Warner Bros.

JUDAS AND THE BLACK MESSIAH

  • ผู้กำกับ: ชากา คิง (Shaka King)
  • นักแสดง: แดเนียล คาลูยา (Daniel Kaluuya), ลาคีธ สแตนฟิลด์ (Lakeith Stanfield), เจสซี เพลมอนส์ (Jesse Plemons), โดมินิกว์ ฟิชแบ็ก (Dominique Fishback) 

หนังอัตชีวประวัติของ เฟร็ด แฮมป์ตัน (คาลูยา) ประธานกลุ่มแบล็ก แพนเธอร์ (Black Panther) สาขาอิลลินอยส์ ในชิคาโก ช่วงปลายยุค 1960s ที่ถูกสายของเอฟบีไอ (แสตนฟิลด์) หักหลัง นอกจากหนังเยี่ยม คาลูยาและสแตนฟิลด์ยังเข้าชิงรางวัลสมทบชายทั้งคู่

จุดเด่น: เมื่อนักแสดงเจ้าของบทนำเข้าชิงทั้งคู่ต้องเป็นการแสดง แต่ก็พิลึกเหมือนกันที่ดันเข้าชิงในสาขาสมทบแทนที่จะเป็นนักแสดงนำ จนอดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วใครคือ ตัวละครนำของหนังเรื่องนี้? หนังยังได้รับคำชมอย่างมากจากทิศทางในการเล่าเรื่อง และธีมที่ไร้กาลเวลาของหนัง 

โอกาสชนะ: 10% นิยามหนังง่าย ๆ ว่า BlackKklansman ของปีนี้ ดีพอชิงรางวัลใหญ่ แต่ขาดรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับการเป็นหนังยอดเยี่ยม โอกาสของหนังอยู่ที่สาขานักแสดงสมทบชายที่ชิงกันเอง แม้มองได้ว่าตัดแต้มกัน แต่การเดินหน้าเข้าชิงและคว้ามาได้จากหลาย ๆ เวทีรางวัล รวมถึงของสมาคมนักแสดง คาลูยาไม่น่าพลาดออสการ์ 

ภาพ: Netflix

MANK

  • ผู้กำกับ: เดวิด ฟินเชอร์ (David Fincher)
  • นักแสดง: แกรี โอลด์แมน (Gary Oldman), อแมนดา ไซย์เฟร็ด (Amanda Seyfried), ลิลี คอลลินส์ (Lily Collins)

หนังอัตชีวประวัติ ที่ว่าด้วยความเป็นมาของบทหนัง ‘Citizen Kane’ ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนัง ‘ดี’ ที่สุดในโลกเรื่องหนึ่ง ในแบบ ‘แฉ’ ฮอลลีวูด ชื่อหนังเป็นชื่อเล่นของ เฮอร์แมน เจ. แมนคีวิกซ์ (Herman J. Mankeiwicz) มือเขียนบทที่ต่อสู้เพื่อให้ได้เครดิตในการเขียนบท ‘Kane’ 

จุดเด่น: มาทุกด้าน เห็นได้จากการเข้าชิงมากที่สุด 10 สาขา แต่บทหนังของแจ็ก ฟินเชอร์ (Jack Fincher) พ่อผู้กำกับ พลาดเฉยทั้งที่เล่าเรื่องได้อย่างคมคาย มีลูกเล่น การกำกับของลูกชายก็ทำให้หนังเข้มข้น หนักแน่น การแสดงของโอลด์แมนก็เยี่ยม แต่ที่เตะตามาก ๆ ก็คืองานโปรดักชัน ทั้งงานด้านภาพที่เป็นหนังขาวดำ, การออกแบบงานสร้าง รวมถึงเสื้อผ้าหน้าผม และดนตรีประกอบ

โอกาสชนะ: 10% ในหลายเวทีรางวัล ‘Mank’ เป็นผู้ร่วมงานยอดเยี่ยมเป็นส่วนใหญ่ในสาขาหลักจนราศีหมองไปเยอะ แต่ผ่องเหลือเกินกับงานโปรดักชัน และน่าจะได้ออสการ์จากงานด้านนี้ ปัญหาของหนังก็คือ ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนรุ่นใหม่ ๆ ของออสการ์จะมีกี่มากน้อยที่อินกับ ‘Mank’ หรืองานต้นเรื่องอย่าง ‘Citizen Kane’ หนังตั้งแต่ปี 1941

ภาพ: A24/ Mongkol Major

MINARI

  • ผู้กำกับ: ลี ไอแซ็ก ชุง (Lee Isaac Chung)
  • นักแสดง: สตีเวน ยูน (Steven Yeun), ฮันเยรี (Han Ye-ri), อลัน คิม (Alan Kim), โนล เคต โช (Noel Kate Cho), ยูนยูห์จอง (Youn Yuh-jung) 

เรื่องของครอบครัวชาวเกาหลีที่มาตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกาช่วงยุค 1980s ซึ่งเป็นเหมือนงานกึ่ง ๆ อัตชีวประวัติของตัวชุง ผู้กำกับและเขียนบทของหนังไปในคราวเดียวกัน 

จุดเด่น: การเข้าชิงในสาขาที่เป็นแกรนด์สแลมครบ ย่อมบ่งบอกได้ดีว่า หนังมาพร้อมกับคุณภาพคับแก้ว แต่การที่ติดเข้าชิงรางวัลในสายงานโปรดักชันแค่ดนตรีประกอบ ก็บอกได้อีกเช่นกันว่า หนังขาดอะไรไป และมีจุดเด่นอยู่ที่ตรงไหน ซึ่งอาจจะทำให้หนังหลุดรางวัลใหญ่ของงาน

โอกาสชนะ: 20% บางมุมมองสะกิดว่า หนังน่าจะได้แรงส่งจากกระแส ‘Parasite’ ที่ยังมีอยู่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ต่อให้ได้กระแส ‘Minari’ ก็ยังเป็นหนึ่งในหนังดีของปี 2020 อยู่ดี การเป็น 1 ใน 2 หนังชิงหนังเยี่ยมออสการ์ ที่เข้าชิงรางวัลทีมนักแสดงของสมาคมนักแสดง ก็แสดงถึงโอกาสของหนังที่มีไม่น้อย แล้วหนังได้นายทุนและผู้จัดจำหน่ายอย่าง A24 และ Plan B ที่เคยปั้นหนังส่วนตัว เน้นอารมณ์อย่าง ‘Moonlight’ ให้ถึงออสการ์แบบเซอร์ไพรส์เล็ก ๆ มาแล้ว 

ภาพ: Joshua Richards/ Searchlight Pictures

NOMADLAND

  • ผู้กำกับ: โคลอี เจา (Chloé Zhao)
  • นักแสดง: ฟรานเซส แม็กดอร์แมนด์ (Frances McDormand), เดวิด สแตรเธิร์น (David Strathairn), ลินดา เมย์ (Linda May), สแวงกี้ (Swankie)

หลังสามีเสียชีวิต และบริษัทที่ทำงานปิดตัวลง แม่ม่ายสาวใหญ่ (แม็กดอร์แมนด์) ตัดสินใจออกเดินทางข้ามประเทศ ทำให้เธอได้พบเพื่อนร่วมโลกผู้เร่ร่อน ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ในการเอาตัวรอด และความหมายของชีวิตตลอดการเดินทาง

จุดเด่น: นับตั้งแต่เปิดตัวในงานเทศกาลหนังเวนิซ ซึ่งคว้ารางวัลสิงโตทองคำกลับบ้าน หนังที่เดินสายฉาย, เข้าชิง และคว้ารางวัลเป็นระยะ ตามเทศกาลและเวทีรางวัลต่าง ๆ ได้รับการสรรญเสริญครบทุกด้าน บท, กำกับ, ตัดต่อ, งานด้านภาพ โดยเฉพาะการแสดงของแม็กดอร์แมนด์ 

โอกาสชนะ: 25% เข้าชิง 6 สาขา รวมถึง 3 สาขาหลัก หนัง, ผู้กำกับ และนักแสดงนำหญิง ที่มีโอกาสมากกับการกลับบ้านพร้อม 3 รางวัลนี้ ซึ่งเจาได้รางวัลจากสมาคมผู้กำกับไปก่อนแล้ว ส่วนแม็คดอร์แมนด์ก็ต้องวัดกับไวโอลา เดวิส (Viola Davis) จาก ‘Ma Rainey’s Black Bottom’ เท่านั้น ส่วนหนังยอดเยี่ยม ความลงตัวของหนังไม่แพ้ผู้เข้าชิงรายอื่น ๆ แต่ที่เหนือกว่าก็คือ การเข้าถึงอารมณ์ของผู้ชม ที่ไม่ได้ห่างเหินแบบ ‘Mank’ หรือไม่ได้หนักอึ้งอย่าง ‘The Trial of Chicago 7’  

ภาพ: Focus Features

PROMISING YOUNG WOMAN

  • ผู้กำกับ: เอเมอราลด์ แฟนเนลล์ (Emerald Fennell)
  • นักแสดง: แครีย์ มัลลิแกน (Carey Mulligan), โบ เบิร์นแฮม (Bo Burnham), อลิสัน บรี (Alison Brie), แคลนซี บราวน์ (Clancy Brown), เจนนิเฟอร์ คูลิดจ์ (Jennifer Coolidge)

เมื่อเพื่อนรักต้องจากไป ทำให้หญิงสาวอนาคตไกลคนหนึ่ง (มัลลิแกน) ต้องทิ้งทุกอย่าง เพื่อทวงความยุติธรรม หรือความถูกต้องให้กับเพศหญิงด้วยการเอาคืนเพศชาย ที่มองผู้หญิงเป็นของง่าย และหาทางล้างแค้นให้กับเพื่อน 

จุดเด่น: หนังเล่าเรื่องได้จัดจ้าน หวือหวามาก เมื่อเทียบกับหนังเรื่องอื่น ๆ ที่ดูเป็นผู้คงแก่เรียน หรือจริงจังเป็นส่วนใหญ่ เมื่อมีทั้งอารมณ์ขัน สถานการณ์หักมุม ที่ทำให้เซอร์ไพรส์ได้ การแสดงที่เล่นได้มันเอาเรื่องของมัลลิแกนเป็นศูนย์กลาง สารเรื่องความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ ก็นำเสนอออกมาได้คมและแข็งแรง แน่นอนว่าเป็นงานที่ดูสนุก

โอกาสชนะ: 5% แม้จะได้คำชมจากบท, การกำกับ และการแสดง ที่ชิงออสการ์ครบ แต่กับการเป็นหนังยอดเยี่ยม การเล่าเรื่องแบบนี้ ดูจะไม่ถูกจริตกรรมการออสการ์สักเท่าไหร่ นอกจากช่วยสร้างความหลากหลายให้รางวัล  

ภาพ: Amazon Studios

SOUND OF METAL

  • ผู้กำกับ: แดริอุส มาร์เดอร์ (Darius Marder)
  • นักแสดง: ริซ อาห์เม็ด (Riz Ahmed), โอลิเวีย คุก (Olivia Cooke), พอล ราซี (Paul Raci)

มือกลองวงเมทัล (อาห์เม็ด) ต้องสูญเสียประสาทสัมผัสในการได้ยิน ทำให้แฟนสาว (คุก) ที่เป็นมือกีตาร์และนักร้องนำของวง ส่งเขาไปอยู่กับชุมชนคนหูหนวกเพื่อเรียนรู้การใช้ชีวิตที่ปราศจากการได้ยิน แต่เจ้าตัวยังหวังจะได้รับรู้เสียงอีกครั้ง ผ่านการผ่าตัด แม้การใช้ชีวิตในชุมชนจะทำให้เขาได้เรียนรู้อะไรมากขึ้นก็ตาม 

จุดเด่น: การพาผู้ชมดำดิ่งไปรับรู้ความรู้สึกของคน ที่กำลังสูญเสียการได้ยิน โดยเฉพาะการดึงเอาความรู้สึกของตัวละครมาสร้างบรรยากาศเฉพาะตัวให้กับหนัง จนรู้สึกอึดอัด, หงุดหงิด, กดดัน ไม่ต่างจากตัวละคร แล้วก็อุปมาถึงภาพใหญ่ในชีวิต ถึงบางสิ่งที่เสียไปแล้วไม่มีวันหวนคืนได้อีกด้วย

โอกาสชนะ: 5% หนังมีลักษณะคล้าย ๆ ‘The Father’ ที่พาผู้ชมไปรับรู้อีกโลกหนึ่งซึ่งเต็มไปด้วยความไม่สมบูรณ์ และโอกาสคว้าหนังเยี่ยมก็ไม่น่าจะมากไปกว่ากัน ขณะที่รางวัลอื่น ๆ ที่หนังชิงมีเพียงรางวัลด้านเสียง ที่ทำให้หนังมีบรรยากาศอย่างที่เป็นอยู่ แม้อาห์เม็ดจะเล่นดีเหลือเกินก็ตามที

ภาพ: Niko Tavernise/ Netflix

THE TRIAL OF THE CHICAGO 7

  • ผู้กำกับ: แอรอน ซอร์กิน (Aaron Sorkin)
  • นักแสดง: ยาห์ยา อับดุล-มาทีน ที่สาม (Yahya Abdul-Mateen II), ซาชา บารอน โคเฮน (Sacha Baron Cohen), โจเซฟ กอร์ดอน-ลิวอิตต์ (Joseph Gordon-Levitt), ไมเคิล คีตัน (Michael Keaton), แฟรงค์ แลงเจลลา (Frank Langella), เอ็ดดี้ เรดเมย์น (Eddie Redmayne), มาร์ก ไรแลนซ์ (Mark Rylance)

งานรวมดาวของมือเขียนบทรางวัลออสการ์ ที่สร้างจากเรื่องจริง ซึ่งว่าด้วยการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนาม ระหว่างการประชุมพรรคเดโมแคร็ตเมื่อปี 1968 ที่ชิคาโก 

จุดเด่น: ไม่ต่างไปจากงานของฟินเชอร์ผู้กำกับที่เคยร่วมงานกัน หนังของซอร์กินดูหนักแน่น จริงจัง ขึงขัง บทสนทนาคมคาย และเป็นมากกว่าบทพูดที่ใช้เล่าเรื่อง เมื่อมีสัมผัสของการชิงไหวชิงพริบ แสดงลักษณะ มุมมองความคิด ตัวละคร หนังมีทีมนักแสดงชุดใหญ่ที่ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ ซึ่งคว้ารางวัลทีมนักแสดงของสมาคมนักแสดง ที่เหมือนรางวัลหนังเยี่ยมของเวทีสำเร็จ

โอกาสชนะ: 20%  ตอนแรก โอกาสไม่น่าต่างไปจาก ‘Mank’ เป็นผู้เข้าชิงยอดเยี่ยมที่ดูแข็งแรง แต่เมื่อไปคว้ารางวัลใหญ่ของสมาคมนักแสดง หนังเลยมีโอกาสมากขึ้น จนสื่อบางสำนักบอกว่า หนังยอดเยี่ยม น่าจะเป็นรางวัลเดียวที่หนังเรื่องนี้คว้ากลับบ้านได้


เห็นได้ชัดว่างานออสการ์ปีนี้หนังที่เข้าชิงหนังยอดเยี่ยมทั้ง 8 เรื่อง มาพร้อมกับความหลากหลายที่มากกว่าปีก่อน ๆ อย่างเห็นได้ชัด เช่น งานที่พูดถึงปัญหาในครอบครัว ที่ส่งผลมาจากปัญหาสุขภาพ อย่าง ‘The Father’, หนังที่ว่าด้วยการเมืองแบบ ‘The Trial of Chicago 7’, งานที่เล่าถึงวัฒนธรรมรองของผู้คนที่เหมือนอยู่ในอีกโลกหนึ่งของสังคม เช่น ‘Nomadlands’ หรือหนังตีแผ่ความเป็นไปของฮอลลีวูด ‘Mank’ ที่แต่ละเรื่องยังมีการนำเสนอที่เฉพาะตัว บ้างก็หวือหวา เช่น ‘Promising Young Woman’, บ้างก็พาผู้ชมจมดิ่ง อย่าง ‘Sound of Metal’ 

แต่ที่ไม่ต่างกันก็คือ ‘คุณภาพ’ และเป็นคุณภาพที่ผู้ชมเข้าถึงไม่ยาก ส่วนหนังเรื่องไหนจะได้รางวัลนั้น เป็นเรื่องของคณะกรรมการผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน ที่บ้านเราจะรู้ผลกันในเช้าวันที่ 26 เมษายนนี้

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส