เราอาจกล่าวได้ว่า ‘Candyman’ คืองานเพลงอัลบั้มแรกของ ซิลลี่ฟูลส์ (Silly Fools) ที่พุ่งเข้าไปอยู่ในใจของผู้ฟังชาวไทยในวงกว้าง เพราะหนึ่งอัลบั้มและหนึ่งอีพีก่อนหน้านี้เข้าถึงคนฟังได้เพียงเฉพาะคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ชอบในแนวทางนั้นจริง ๆ ส่วนหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ซิลลี่ฟูลส์ย้ายสถานะจากวงอินดี้มาสู่วงร็อกขวัญใจมหาชนได้ก็คือการได้ร่วมงานกันกับสุดยอดโปรดิวเซอร์ชาวต่างชาตินาม ไซม่อน เฮนเดอร์สัน (Simon Henderson) ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการและมีประสบการณ์มาอย่างโชกโชนทั้งในและต่างประเทศ ผู้ที่เป็นเสมือนหนึ่งในสมาชิกของวงซิลลี่ฟูลส์ในยุคนั้น และตั้งแต่ ‘Candyman’ ไปจนถึง ‘Kingsize’ อัลบั้มชุดสุดท้ายก่อนที่โตจะขอแยกตัวออกมาจากวง ไซม่อนก็ร่วมเดินไปพร้อม ๆ กับซิลลี่ฟูลส์มาโดยตลอด ตลอดระยะเวลาที่อยู่ด้วยกัน ทุกย่างก้าวที่เดินไปด้วยกันล้วนแล้วแต่เต็มไปด้วยเรื่องราว เรื่องเล่าและมุมมองในการทำงานที่น่าประทับใจ ซึ่งในวันนี้เราจะได้รับรู้มันผ่านการบอกเล่าของไซม่อนเองผ่านการสัมภาษณ์ในรายการป๋าเต็ดทอล์ก บทความนี้ได้สรุปใจความสำคัญที่น่าสนใจจากบทสัมภาษณ์ครั้งนี้มาเป็นที่เรียบร้อย ให้ทุกคนได้อ่านอย่างเพลิน ๆ หากใครสนใจฟังบทสัมภาษณ์แบบเต็ม ๆ ก็สามารถเข้าไปฟังได้ที่คลิปด้านล่างนี้เลยครับ
1.ความสัมพันธ์ระหว่างไซม่อนกับโตซิลลี่ฟูลส์
“ผมอยากให้ทุกคนรู้นะว่าผมจะไม่มีวันทำวงแบบ Silly Fools เพราะคุณทำไม่ได้ สำหรับผมน่ะคุณไม่มีวันทำได้ ถ้าไม่มี ‘โต’” …
ประโยคแรกที่เราได้ยินจากไซม่อนบอกเราได้เป็นอย่างดีว่า ‘โต’ นั้นมีความหมายกับวงซิลลี่ฟูลส์มากมายเพียงใด และไม่ใช่ว่าไซม่อนไม่ให้เกียรติวงซิลลี่ฟูลส์ในยุคต่อ ๆ มาหรือในปัจจุบันนี้ เพราะไซม่อนก็มองว่าผลงานของพวกเขานั้นมันยอดเยี่ยมแล้ว เพียงแต่ว่ามันแตกต่างกันกับยุคเริ่มต้นที่มีโตเท่านั้นเอง…
“ผมรักโต โตเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดคนหนึ่งของผม”
ไซม่อนกลั่นความรู้สึกที่อยู่ในใจออกมา และเมื่อถูกถามว่าเมื่อได้ดูเทปที่โตให้สัมภาษณ์ในรายการป๋าเต็ดทอล์กแล้วรู้สึกอย่างไร ไซม่อนก็กล่าวว่าเขารู้สึกดีใจกับโตในวันนี้
“ผมยังรู้สึกดีใจด้วยที่โตหาความสุขของเขาเจอแล้ว เพราะโตเป็นคนที่กดดันตัวเองสูงมาก”
โตในเทปป๋าเต็ดกับโตตอนทำงานด้วยกันแตกต่างกันไหม ?
“แต่ไหนแต่ไรโตจะเป็นคนที่ทุ่มเทให้กับสิ่งที่เชื่อเสมอ จริง ๆ แล้วนั่นเป็นสิ่งแรกที่ผมสัมผัสได้จากโตเลยซึ่งมันเป็นสิ่งที่ดีมาก ถ้าคุณอยากจะทำงานในวงการนี้ คุณต้องมี Passion และโตเป็นคนที่มี Passion อย่างมาก ผมยังเคยเรียกเขาว่า ‘Crazy Muslim’ (บังบ้า) เพราะโตดูจะใช้อารมณ์ไปกับทุกอย่าง ผมก็จะต้องบอกเขาให้ใจเย็น ผมเป็นเหมือนตัวระงับอารมณ์ของเขาน่ะ ผมคิดแบบนั้นนะ…แต่ผมก็รักเขาเพราะแบบนี้แหละ ผมรู้สึกว่ามันสนุกดี เพราะมันคือ ‘ความเป็นเขา’ น่ะ แล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดี เพราะผมก็เห็นว่าเขาใช้สิ่งนี้ในการหาเหตุผล ในการคิดกับทุกเรื่อง โตเขาเป็นนักคิดครับ”
แฟนคลับชอบมาขอให้ไซม่อนชวนโตกลับมาทำเพลงอีก
“ผมก็จะพูดย้ำอยู่เสมอว่ามันไม่มีวันเกิดขึ้นแน่ ๆ อย่างน้อยก็ในชาตินี้ ไม่มีวันเลยจริง ๆ“
ความรู้สึกของไซม่อนที่แฟน ๆ ซิลลี่ฟูลส์บอกว่าเขาคือสมาชิกอีกคนของวง
“ผมรู้สึกดีมาก และเป็นเกียรติมาก แต่ผมไม่ได้รู้สึกแปลกใจนะ เพราะผมเป็นโปรดิวเซอร์ประเภทที่..ค่อนข้างคลุกคลีอยู่กับวงพอสมควร”
“ความเป็นวงก็เหมือนกับการเป็นแก๊ง…โดยเฉพาะวงร็อกมันคือการใช้เวลาและใช้ชีวิตร่วมกัน”
“สำหรับผม ซิลลี่ฟูลส์ก็คือส่วนที่สำคัญมากในการทำงานที่ประเทศไทยของผม และใช่ครับผมเองก็รู้สึกว่าผมเป็นหนึ่งในสมาชิกยุคแรกของซิลลี่ฟูลส์ผมรู้สึกแบบนั้นจริง ๆ ผมเลยรู้สึกดีมาก ที่แฟน ๆ ของซิลลี่ฟูลส์ก็มองว่าผมคือส่วนหนึ่งของวงเหมือนกัน”
2. The Producer ความเป็นโปรดิวเซอร์ของไซม่อน เฮนเดอร์สัน
หน้าที่ของโปรดิวเซอร์ในแนวทางของไซม่อน
- ไซม่อนทำงานกับซิลลี่ฟูลส์ในฐานะ ‘ผู้ร่วมงาน’ เพราะไซม่อนเคยเป็นศิลปินมาก่อน เล่นเครื่องดนตรีได้หลากหลายและร้องเพลงได้
- ในตอนเริ่มต้นมาทำโปรดิวซ์ต้องเรียนรู้เรื่องพื้นฐานที่จำเป็น เช่น การทำซาวด์เอนจิเนียร์ไซม่อนเรียนรู้กับหนึ่งในโปรดิวเซอร์ชั้นยอด กัส ดัดจีออน (Gus Dudgeon) คนที่โปรดิวซ์ให้เอลตัน จอห์น (Elton John)
- ไซม่อนเป็นโปรดิวเซอร์ที่มีความเป็นศิลปิน ดึงเอาสิ่งที่ดีที่สุดของศิลปินคนนั้นออกมา “สำหรับผม บทบาทของโปรดิวเซอร์มันคือการดึงเอา ‘สิ่งที่ดีที่สุด’ ของสมาชิกแต่ละคนออกมา ทำให้ส่วนนั้นมันโดดเด่นที่สุด และเอาส่วนที่ไม่ดีทั้งหมดออกไป”
- ในการทำงานกับวงซิลลี่ฟูลส์ ไซม่อนจะไม่ใช่โปรดิวเซอร์ประเภท ‘การตัดสินใจขั้นสุดท้ายต้องเป็นฉัน’ แต่เขาจะหาสมดุลในการทำงานกับวงด้วยการให้วงทำงานเต็มที่แต่เมื่อใดที่มีความเห็นไม่ตรงกันไซม่อนก็จะเข้าไปช่วยหาออกที่ดีที่สุด
- ในช่วงแรกที่ทำงานกับซิลลี่ฟูลส์ ไซม่อนต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างมากเพราะทุกคนรู้จักเขาในฐานะโปรดิวเซอร์เพลงแดนซ์มาก่อน (เขาเคยโปรดิวซ์ให้ คริสติน่า อากีล่าร์) แถมพี่ป้อม อัสนี ยังเคยพูดกับไซม่อนตอนที่จ้างเขามาทำงานให้ซิลลี่ฟูลส์ (โดยตั้งใจจะให้ไซม่อนรู้สึกผ่อนคลาย) ว่า “สมาชิกวงนี้มันแทบจะเป็นซาวด์เอนจิเนียร์ไปแล้วอย่างน้อยสามคนนะ” ยิ่งทำให้ไซม่อนรู้สึกว่านี่มันงานหินซะแล้ว
สิ่งที่สำคัญที่สุดของบทเพลง
- นักดนตรีมักกังวลกับเรื่องเทคนิคมากเกินไป แต่ทัศนคติและความเชื่อ (Ethos) ในการทำงานของไซม่อนก็คือ “เรากำลังทำเพลงให้ ‘มนุษย์’ มันคือความสัมพันธ์ระหว่าง มนุษย์ กับ มนุษย์” ซึ่งคนมักจะลืมเรื่องสำคัญนี้ไป การที่เพลงมีองค์ประกอบที่ดีทั้งหมดแต่ทำไมถึงไม่ฮิต คำตอบของคำถามนี้ก็คือ เพราะ “มันไม่ไปถึงใจคน” นั่นเอง งานของไซม่อนก็คือการพยายามหา “จุดโดนใจ” อันนั้นให้ได้นั่นเอง
- ไซม่อนบอกว่าสำหรับโตแล้วมันไม่ยากเลยในการเขียนเพลง เพราะโตนั้นกลั่นเรื่องราวและอารมณ์ออกมาจากประสบการณ์และอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง และเขารู้ว่าจะเล่ามันออกมาได้อย่างไร แต่สิ่งที่ยากก็คือคาแรกเตอร์ของสมาชิกทั้ง 4 ที่แตกต่างกันคนละทางและมีมุมมองต่อโปรดิวเซอร์ที่ไม่เหมือนกัน เช่น ต้นเป็นคนที่เก่งและฉลาดมากแต่ก็เทคนิคจัดมาก ครั้งหนึ่งต้นเคยเอาชุดอุปกรณ์เซ็ตใหญ่เข้ามาในสตูดิโอ แต่ไซม่อนกลับบอกให้ต้นปิดมันและวางไว้มุมห้อง และถามเขากลับว่าใครคือมือกีตาร์ที่คุณชอบ เมื่อต้นตอบกลับมา ไซม่อนก็ชี้ให้เห็นว่ามือกีตาร์เหล่านั้นต่างใช้อุปกรณ์แค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้นไซม่อนก็มองว่าความรู้และความเฉลียวฉลาดของต้นนั้นคือองค์ประกอบที่สำคัญของซิลลี่ฟูลส์
เทคนิคที่สำคัญของการเป็นโปรดิวเซอร์ที่ดี
- โปรดิวเซอร์ที่ดีต้องมีความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ มีจิตวิทยาที่ดี และต้องรู้ว่าจะดึงเอา ‘ส่วนที่ดีที่สุด’ ของศิลปินออกมาได้ใน ‘เวลาไหน’ เพราะฉะนั้นจึงต้องเข้าใจในวิถีชีวิต มุมมอง ความคิด อารมณ์และความรู้สึกของศิลปิน
- ไซม่อนเรียกกระบวนการอัดเสียงร้องว่า “ภาวะตู้ปลา” (Fish Tank Effect) เพราะนักร้องจะใส่หูฟังยืนร้องอยู่ในห้องอัดเสียงและโปรดิวเซอร์อยู่ในห้องคอนโทรล นักร้องจะเห็นแค่ปากของโปรดิวเซอร์ขยับไปมาและไม่ได้ยินอะไรเลย แต่ไซม่อนมองว่าการร้องเพลงมันเป็นเรื่องของอารมณ์ เป็นความเป็นมนุษย์ การให้นักร้องอยู่ในภาวะที่แปลกแบบนั้นมันไม่โอเค เขาเลยเลือกที่จะกดปุ่ม TALKBACK ไว้ตลอดเวลาเพื่อให้นักร้องได้ยินเสียงจากห้องคอนโทรล และไซม่อนจะใช้สัญญาณมือกับซาวด์เอนจิเนียร์ว่าเทคไหนเอาไม่เอาแทนที่จะพูดออกมาเพราะว่าไม่อยากให้นักร้องได้ยินว่าเทคไหนดีไม่ดีอย่างไร มันจะส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของนักร้อง นี่คือตัวอย่างหนึ่งของการมีจิตวิทยาที่ดีของโปรดิวเซอร์
- “อาวุธของโปรดิวเซอร์คือความอดทน” ส่วนอาวุธลับสำหรับไซม่อนก็คือ ‘การสื่อสาร’ เพราะการสื่อสารมันคือทุกอย่างเลยก็ว่าได้ และ ‘การสื่อสาร’ ก็ต้องการ ‘ความอดทน’ ด้วยเช่นกัน ต้องทำให้ศิลปินรู้สึกว่าทุกความพยายาม ทุกการกระทำนั้นเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับศิลปิน
3. THE GANG : ไซม่อนและซิลลี่ฟูลส์
แรกพบ
- เมื่อแรกเข้ามาทำงานกับซิลลี่ฟูลส์ ภารกิจของไซม่อนก็คือ ‘การทำเพลงของซิลลี่ฟูลส์ให้ดัง’ ไซม่อนเข้าใจในสิ่งที่วงพยายามจะสื่อจากการที่ได้ฟังในอัลบั้ม ‘I.Q.180’ ซึ่งเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นแต่แนวทางของวงนั้นมีกลุ่มคนฟังน้อย ไซม่อนจึงต้องหาจุดตรงกลางที่เพลงในแนวของซิลลี่ฟูลส์จะเข้าถึงคนฟังในวงกว้างได้ ทำเพลงให้ commercial ขึ้นแต่ต้องไม่มากจนเกินไปต้องรักษา ‘เอกลักษณ์’ ของวงที่ไม่เหมือนใครเอาไว้ จากความพลุ่งพลานของโตและเคมีที่แตกต่างแต่ลงตัวของสมาชิกแต่ละคนที่หลอมรวมกันได้อย่างไม่เหมือนใคร
- เมื่อแรกเจอกับโตครั้งแรก ไซม่อนบอกได้ทันทีเลยว่าชายหนุ่มที่ยืนต่อหน้าเขาคนนี้จะต้องประสบความสำเร็จและโด่งดังอย่างแน่นอน “เวลาผมเจอใครสักคนนึง แล้วมองเข้าไปในตาเขา คุยกันนิดหน่อย ผมสามารถบอกได้เลยว่าคน ๆ นั้น จะประสบความสำเร็จหรือไม่” การเป็นนักร้องไม่ใช่แค่ร้องเพลงได้ ร้องเพลงดี แต่มันรวมถึงการมีพฤติกรรมและทัศนคติที่ดีด้วยซึ่งโตมีสิ่งนั้น
ไซม่อนวิเคราะห์สมาชิกแต่ละคนในวง
- ต้น (กีตาร์) : เป็นคนเทคนิคจัดมาก เป็นคนที่รู้สึกว่ายิ่งเยอะยิ่งดี ซึ่งเป็นเรื่องดีและเป็นส่วนสำคัญสำหรับวง
- ต่อ (กลอง) : เป็นคนที่มีความกระตือรืนร้นที่จะเรียนรู้ เป็นคนที่มีฝีมือและมีหัวในทางแจ๊ซ แต่สิ่งที่ขาดไป ไซม่อนมองว่าคือพลัง เขาจึงแนะนำต่อให้ตีแรงขึ้นใส่พลังไปมากขึ้น “เสียงมันจะฟังดูดีมากขึ้น เวลาที่คุณตีมันแรง ๆ มันเป็นเรื่องมิติของเสียงน่ะ” และไซม่อนยังยกย่องว่าต่อคือหนึ่งในมือกลองที่ยอดเยี่ยมที่สุดโดยเปรียบกับใหญ่โลโซ นอกจากนี้โตยังเป็นคนที่ซีเรียสเรื่องกลองมาก กลองในเพลงของซิลลี่ฟูลส์จะต้องมีความพิเศษและซับซ้อน ซึ่งต่อก็สามารถทำอย่างที่โตต้องการได้เป็นอย่างดี
- หรั่ง (เบส) : ชายหนุ่มผู้อ่อนโยน ไซม่อนเปรียบหรั่งเหมือนกับกวางเวลาโดนไฟรถส่อง หรั่งเป็นคนที่จริงจังขยันฝึกซ้อมและมักกดดันตัวเองอย่างมากเพราะกลัวว่าจะเล่นได้ไม่ดี หรั่งเป็นคนที่เขียนเพลงได้ดีมาก เช่นเพลง “คิดถึง” ที่มาพร้อมกับคอร์ดและเมโลดี้ที่สวยงาม เขาเป็นคนที่มีหัวด้านเมโลดี้มาก และเวลาที่โตร้องอะไรดี ๆ ออกมาหรั่งก็สามารถตอบสนองกับสิ่งนั้นได้เสมอ
- โต (ร้องนำ) : เป็นหัวหน้าวง คอยจัดการทุกอย่าง ชอบเดินไปที่แผนกการตลาดและเดินมาบอกเพื่อน ๆ ในวงว่า “เฮ้ยพวกเรา ! ที่เซเว่นขายแผ่นเราหมดในสิบนาทีเลยว่ะ !!” เป็นคนที่มักจะให้กำลังใจทุกคนเสมอ โตชอบถกเรื่องศาสนากับไซม่อน (ที่เป็น non-believer คือไม่ได้สังกัดความเชื่อในศาสนาไหนเลย) คุยกันไปถึงเรื่องจักรวาล และไซม่อนมักบอกโตว่าได้เวลาละหมาดแล้ว และโตก็จะกางเสื่อภาวนาตรงที่อัดเสียงเลย และมีหลายครั้งที่โตมักชอบโทรหาไซม่อนตอนเช้าก่อนเข้าสตูดิโอและพูดว่า “มันจบแล้วไซม่อน ผมพอแล้ว ผมจะออกจากซิลลี่ฟูลส์” และไซม่อนก็จะมาคุยกันกับโต เป็นแบบนี้ทุกอัลบั้ม ไซม่อนมองว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นจากความกดดันในตัวของโตในการที่จะเขียนเนื้อเพลงออกมาซึ่งความกดดันนี้ค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป ไซม่อนเคยบอกกับโตว่า “ในฐานะคนเขียนเพลง คุณไม่จำเป็นต้องเขียนจากตัวเองเสมอไป แต่คุณเขียนจากมุมมองบุคคลที่ 3 ได้ หรือคุณแค่เล่าจากสิ่งที่คุณไปเห็นก็ได้” แต่โตก็จะบอกกับไซม่อนว่า “ไม่ ไซม่อนไม่เข้าใจเพลงไทย มันต้องเป็นเพลงรัก !! หรือเป็นเรื่องอะไรพวกนี้” ซึ่งมันทำให้ไซม่อนแทบบ้าแต่ก็ทำให้ฮาได้เหมือนกัน ในตอนที่โตบอกว่าจะออกจากวง ไซม่อนไม่คิดว่าโตจะทำจริง ๆ แต่โตนั้นเป็นคนที่ตรงไปตรงมาและเด็ดขาดมากในที่สุดเขาก็ได้ตัดสินใจอย่างที่เขาคิดและรู้สึก
- ไซม่อนไม่ได้คิดเอาไว้ก่อนว่าจะโปรดิวซ์ซิลลี่ฟูลส์ไปในทิศทางไหน แต่ศึกษาแนวทางของวงจากอัลบั้ม ‘I.Q.180’ และ EP. ที่ออกกับค่ายเบเกอรี่ ซึ่งทำให้รู้ว่าพวกเขาต้องการจะไปในทางไหน หน้าที่ของไซม่อนคือพาวงไปให้ถึงจุดนั้น สุดท้ายทั้งไซม่อนและวงก็สามารถทำมันได้สำเร็จ
- ซิลลี่ฟูลส์ทำเดโมอัลบั้ม ‘Candyman’ เสร็จก่อนที่ไซม่อนจะเข้ามาร่วมงาน ไซม่อนบอกว่าตอนนั้นก็เห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว อย่างในเพลง ‘ผู้ยิ่งใหญ่’ และเสียงร้องในท่อน ‘ถึงเวลาที่ต้องไป’ ในเพลงนี้ก็เป็นเสียงของไซม่อนเอง ตอนที่ได้ฟังเดโม ไซม่อนรู้สึกงงอยู่เหมือนกันว่าวงกำลังต้องการทำอะไรเพราะมันมีกลิ่นอายของความเป็นแจ๊ซและฟังก์อยู่มากพอสมควร รวมไปถึงก็มีความเป็น synth rock อยู่มากคล้ายกับ Rob Zombie มีการใช้เสียงซินธ์ใช้ซีเควนซ์เยอะ แต่ไซม่อนก็มองว่าซิลลี่ฟูลส์นั้นเหมือนกับวง Queen ในเวอร์ชันไทย เพราะเพลงของวง Queen นั้นไม่มีเพลงไหนเหมือนกันเลย มันมีความหลากหลาย และทำไมซิลลี่ฟูลส์จะทำแบบนี้ไม่ได้ซึ่งนี่ล่ะจะทำให้วงมีความพิเศษ และหน้าที่ของไซม่อนก็คือการรักษาความเป็นซิลลี่ฟูลส์ไว้ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายของแต่ละบทเพลง
ขั้นตอนการทำงานของซิลลี่ฟูลส์
- ซิลลี่ฟูลส์จะมีขั้นตอนการทำงานเฉพาะตัว แต่ละอัลบั้มจะเริ่มต้นจากการที่ทุกคนจะเข้ามาในสตูดิโอพร้อมกับเดโมของตัวเอง หลังจากที่จบทัวร์จากอัลบั้มก่อนทุกคนจะแยกย้ายกันไปเขียนเพลงที่บ้านแล้วพอมาเจอกันก็จะเปิดเดโมของตัวเองให้เพื่อนฟังแล้วก็จะเลือกเพลงที่ชอบ ในเดโมของแต่ละคนจะไม่มีเสียงร้องและเนื้อร้องแม้กระทั่งของโตด้วยเช่นกันจะมีแค่ดนตรีอย่างเดียว ซึ่งรสนิยมของแต่ละคนนั้นก็มีความแตกต่างกัน อย่างเพลง “เหนื่อย” (จากอัลบั้ม ‘Mint’) เสียงเปียโนสไตล์นิวออร์ลีนส์นั้นก็มาจากต้น ซึ่งไซม่อนรู้สึกว้าวกับมันมากเลยตอนที่ได้ฟัง
- พอได้ฟังเดโมจนครบแล้ว จากนั้นทุกคนก็จะมาเลือกเพลงเพื่อไปทำอัลบั้มกัน แต่ไม่เคยมีครั้งไหนเลยที่จะเลือกได้ถึง 10 เพลง ไซม่อนเลยเรียกสิ่งนี้ว่า ‘อาถรรพ์ 9 เพลง’ (9 songs curse) แต่แกรมมี่อยากให้แต่ละอัลบั้มมี 10 เพลง ในอัลบั้ม ‘Candyman’ ไซม่อนก็เลยต้องเขียนเพลง “แค่คน” ขึ้นมาเอง และโตก็เป็นคนเขียนเนื้อให้ และจากนั้นก็เป็นแบบนี้ทุกอัลบั้มที่จะขาด 1 เพลงเสมอ และก็ต้องเร่งทำให้ครบ 10 เพลงเพื่อให้ทันเวลา เพลงที่ 10 เลยมักจะเป็นเพลงที่ไซม่อนไม่ชอบสักเท่าไหร่
- ขั้นตอนต่อมาหลังจากเลือกเพลงเสร็จแล้ว ก่อนที่เริ่มอัดเพลงไซม่อนก็จะทำเสียงกลองไกด์เอาไว้ จากนั้นไซม่อนก็จะเขียนรายละเอียดของแต่ละเพลงยาวเหยียดเลยว่าแต่ละเพลงนั้นควรเป็นแบบไหน แล้วจึงนำมาเล่าให้วงฟังแล้วจึงเข้าสู่กระบวนการอัดเสียง
- ในแกรมมี่หรือค่ายเพลงในประเทศไทยส่วนใหญ่จะมีเวลาในการทำอัลบั้มให้กับศิลปินประมาณ 2 เดือน (ต่างจากฝรั่งที่มีเวลา 2 ปี) ซึ่งทำให้ไซม่อนเองก็รู้สึกช็อกเหมือนกันในตอนแรก ไซม่อนเลยต้องเขียนแผนการทำอัลบั้มติดไว้บนกำแพงว่าช่วงนี้อัดกลอง ช่วงนี้อัดเบส ช่วงไหนทำอะไรเพื่อให้งานเป็นไปตามแผนและเสร็จทันเวลา ซิลลี่ฟูลส์เป็นวงที่ไม่เคยอัดสดพร้อมกันเลยเพราะพวกเขาเป็นวงที่ค่อย ๆ สร้างเพลงจากเดโมจนพัฒนาไปสู่การเป็นมาสเตอร์ซึ่งก็มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับซิลลี่ฟูลส์
- ในการเขียนเพลงโตจะไม่สามารถเขียนจากขั้นตอนที่เป็นเดโมได้เลย เพราะมันยังไม่สามารถให้แรงบันดาลใจกับเขาได้ ไซม่อนจึงต้องทำการตัดแต่งเพื่อทำท่อน drop ที่หมายถึงท่อนเพลงที่เอาส่วนต่าง ๆ ออกไปจนเหลือแค่บางสิ่งที่สามารถให้ความรู้สึกกับโตได้ แล้วโตก็จะเอาท่อนที่ไซม่อนทำให้มันเล่นวนไปมาไปฟังคนเดียวในห้องพร้อมกระดาษแผ่นนึงแล้วจึงเริ่มเขียนเนื้อเพลง จากนั้นโตก็จะร้องเมโลดี้ให้ไซม่อนฟัง 2-3 แบบที่แตกต่างกัน ไซม่อนก็จะบอกว่าชอบส่วนไหนของแบบไหน แล้วโตก็จะเอาคอมเมนต์นั้นไปปรับจนได้ร่างแรกของเมโลดี้ออกมาในที่สุด ซึ่งวิธีนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ซิลลี่ฟูลส์มีความแตกต่างจากวงร็อกวงอื่น เพราะส่วนใหญ่แล้วทำนองกับเมโลดี้มักจะมาด้วยกันแล้วจึงเขียนเนื้อ
- การทำงานในสไตล์ ‘ผู้ร่วมงาน’ ของไซม่อนเป็นส่วนสำคัญในการดึงเอาความพิเศษของแต่ละคนมาต่อยอดเป็นความพิเศษของซิลลี่ฟูลส์ และไซม่อนก็ช่วยเสริมรับกับสิ่งนั้นได้อย่างลงตัว ยกตัวอย่างเช่น ในเพลง “น้ำลาย” ในท่อนพรีฮุคที่ร้องว่า ”บ้างก็ว่า ฉันเป็นคนอย่างนั้น บ้างก็ว่าฉันเคยทำอย่างนี้…” ไซม่อนรู้สึกว่าทั้งจังหวะการร้อง การใช้คำ มันทำให้รู้สึกตลก เลยแก้ด้วยการใส่เสียง reverb เข้าไปเฉพาะคำว่า “บ้างก็ว่า” ท่อนต่อไปก็ใช้อีกแทร็กหนึ่งซึ่งเราก็จะยังได้ยินเสียงค้างจากแทร็กก่อนหน้าอยู่ และสิ่งนี้นี่เองคือตัวอย่างของการออกแบบซาวด์ของซิลลี่ฟูลส์ และก็ด้วยสิ่งนี้นี่เองที่เป็นแรงบันดาลใจให้โตเขียนเนื้อเพลงในท่อนต่อ ๆ มาได้
- ในโน้ตบุ๊กของไซม่อนจะมีคำแปลเพลงเป็นภาษาอังกฤษและมีตัวคาราโอเกะการออกเสียงตามเนื้อเพลงแต่ละคำ สิ่งที่ไซม่อนทำก็คือจะอ่านเนื้อเพลงแปลเพื่อให้เข้าใจความหมายและอารมณ์ของเพลง และด้วยความที่โตเป็นคนเขียนเนื้อเพลงเอง ไซม่อนจึงไม่จำเป็นจะต้องไกด์บอกว่าโตควรร้องออกมาด้วยอารมณ์แบบไหนเพราะเขาเองรู้ดีอยู่แล้ว อย่างในเพลง “ไหนว่าจะไม่หลอกกัน” ซึ่งไซม่อนรู้สึกประทับใจในความงดงามของเพลงนี้มาก โตแปลความหมายให้ไซม่อนฟังแบบตรงตัวและถอดความออกมาเป็นภาษาอังกฤษให้เข้าใจด้วย เช่นในท่อน “ดอกไม้นั้นที่มีเธอให้เขา..แต่ดอกไม้นั้นของเราใช่ไหม” และก็กล่าวถึงสิ่งที่เหลืออยู่ในท่อน “มีเพียงหยดน้ำตา ที่มันไม่มีแม้ค่า” ซึ่งการเขียนเพลงของโตนั้นงดงามมาก นั่นคือเหตุผลว่าทำไมคนจึงรักเนื้อเพลงของซิลลี่ฟูลส์ที่โตเขียนมันทั้งพิเศษและไม่เหมือนใคร
- ด้วยความที่เป็นฝรั่ง การฟังเพลงไทยของไซม่อนจึงฟังเป็นเมโลดี้ เป็นเสียงดนตรี ไม่ใช่ถ้อยคำ ซึ่งถือว่าเป็นข้อได้เปรียบ ไซม่อนเรียกสิ่งที่เขาฟังว่า ‘Sonic’ (ปรากฏการณ์ทางเสียง) ซึ่งมีความหมายลึกกว่าคำว่า Sound และพูดถึงการเปล่งเสียง 2 แบบคือ Plosive (เสียงที่ระเบิดหรือพุ่งออกมา) กับ Non-Plosive ยกตัวอย่างเช่น เวลาเราร้องเพลงฝรั่ง เราร้องคำว่า ‘I’ ถ้าร้องแบบกักเสียงแล้วปล่อยพุ่งออกมานี่เรียกว่าการออกเสียงแบบ Plosive ซึ่งเกี่ยวพันกับจุดที่เราหายใจด้วย เพราะถ้าเราร้องเพลงในลมหายใจเดียวก็จะให้ความรู้สึกแบบนึง ถ้าแบ่งลมหายใจ มันจะทำให้เสียง Plosive และเสียงร้องก็จะมีไดนามิกมากขึ้น เช่นการร้องของวิตนีย์ ฮุสตันในเพลง “I Will Always Love You” ซึ่งเธอร้องคำว่า ‘I’ ทั้งสองครั้งไม่เหมือนกันแล้วค่อยร้อง Will Always Love You ใน I ทั้งสองครั้งมีครั้งหนึ่งเป็นเสียงสั่น (Vibrato) ส่วน I แรกนั้นพุ่งไปเลย นี่คือการออกแบบวิธีการร้องนั่นเอง ซึ่งไซม่อนจะเป็นคนที่จริงจังกับเรื่องนี้มาก และสิ่งนี้จะส่งผลต่อเนื้อเพลงด้วย แต่การทำเพลงไทยนั้นก็มีความยากอย่างหนึ่งคือในบางจุดหากเปลี่ยนวรรณยุกต์ของเสียงก็จะทำให้ความหมายของคำเปลี่ยนไปด้วยซึ่งไซม่อนก็จะคอยถามโตอยู่เสมอว่าพอเปลี่ยนการร้องตรงนี้แล้วความหมายจะเปลี่ยนไปไหม ซึ่งพอเป็นอย่างนั้นโตก็จะขยำกระดาษทิ้งแล้วเขียนใหม่หมดเลย เพราะเขารู้สึกว่าถ้าเปลี่ยนมันก็ต้องเปลี่ยนทั้งหมดเลย เริ่มเขียนใหม่ดีกว่าเพราะเขาชอบในเมโลดี้ที่ไซม่อนปรับแล้วจึงเลือกที่จะเปลี่ยนเนื้อให้เข้ากับเมโลดี้มากกว่าที่จะเปลี่ยนเมโลดี้ให้เข้ากับเนื้อที่ตัวเองเขียน
ซิลลี่ฟูลส์เป็น ‘วงดนตรีที่ดี’ หรือไม่ในทัศนะของไซม่อน เฮนเดอร์สัน
- “โอ้ แน่นอนครับ” ไซม่อนตอบอย่างไม่ต้องคิด ไซม่อนให้เหตุผลของการกลายเป็นวงที่ดีของซิลลี่ฟูลส์ว่าเป็นเพราะเคมี สถานการณ์ และทุกอย่างที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติ แต่บางทีก็ดูเหมือนกับมีเวทมนตร์ที่ทำให้มันเป็นอย่างนั้น และสิ่งที่สำคัญคือทัศนคติและความเชื่อ ซึ่งพวกเขามีความเชื่อเดียวกัน มีเป้าหมายเดียว และพวกเขา ‘รัก’ ในสิ่งที่พวกเขาทำจริง ๆ
- “พวกเขาพิเศษมาก มันจะไม่มีวันมีวงแบบซิลลี่ฟูลส์เกิดขึ้นอีก ผมอยากให้ทุกคนรู้นะว่าผมจะไม่มีวันทำวงแบบซิลลี่ฟูลส์เพราะคุณทำไม่ได้ สำหรับผมนะคุณไม่มีวันทำได้ ถ้าไม่มี ‘โต’” ในทัศนะของไซม่อนซิลลี่ฟูลส์คือวงที่พิเศษและมีเพียงหนึ่งเดียว และไม่ใช่ว่าไซม่อนไม่ให้เกียรติวงซิลลี่ฟูลส์ ในยุคต่อ ๆ มาหรือในปัจจุบันที่ไม่มีโตเป็นสมาชิกแล้ว ไซม่อนมองว่าผลงานของพวกเขานั้นมันยอดเยี่ยมแล้ว เพียงแต่ว่ามันแตกต่างกันกับยุคเริ่มต้นที่มีโตเท่านั้นเอง
- ไซม่อนกำลังทำวงที่มีชื่อว่า ‘Dragon Attack’ ซึ่งเขาบอกว่าไม่ได้ตั้งใจให้เหมือนกับซิลลี่ฟูลส์ เพียงแต่ที่ผ่านมาเขาทำงานในฐานะ ‘ผู้ร่วมงาน’ กับซิลลี่ฟูลส์ DNA ของวงและเขาก็เลยถ่ายทอดมาสู่ผลงานเพลงของวง Dragon Attack นั่นเอง
- ถึงแม้วงจะชื่อว่า ‘Silly Fools’ ซึ่งแปลแล้วฟังดูโง่เง่า บ้าบวมมาก ๆ แต่ในการทำงานจริงวงกลับมีความซีเรียสจริงจัง แต่ถึงอย่างนั้นก็มีมุมฮา ๆ บ้า ๆ บ้าง ไซม่อนเล่าว่าอย่างต้นนั้นเป็นตัวโจ๊กของแท้ มักจะมีอะไรฮา ๆ เสมอและแม้แต่ขำในมุกที่ตัวเองเล่นก็มี เป็นคนที่ทำงานด้วยแล้วตลกมาก และเวลาที่ซิลลี่ฟูลส์คุยกัน พวกเขาจะคุยเร็วมาก ๆ จนดูเหมือนกับดูรายการตลก แต่บางครั้งโตก็จะหยุดแล้วแปลให้ไซม่อนเข้าใจไปด้วยกัน เพื่อที่ไซม่อนจะได้ร่วมวงสนทนาได้ด้วยและโตก็จะเป็นคนแปลสิ่งที่ไซม่อนพูดให้เพื่อน ๆ ฟัง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ดี มันสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน และไซม่อนก็เอาวิธีนี้ไปใช้ในการทำงานกับศิลปินคนอื่น จนทุกคนบอกว่าไม่ได้รู้สึกว่ามาทำงานเพราะมันสนุกมาก ถ้าบรรยากาศมันสนุกเราก็จะได้ ‘สิ่งที่ดีที่สุด’ จากทุกคน
- ไซม่อนบอกว่าจริง ๆ แล้วซิลลี่ฟูลส์นี่ ‘Completely Silly’ เป็นคนต๊องกันจริง ๆ ไซม่อนมักจะคอยถ่ายวิดีโอเก็บไว้เสมอ เพราะถ้าไม่บันทึกไว้ความทรงจำเหล่านั้นจะหายไปตลอดกาล (สามารถหาดูวิดีโอที่ไซม่อนถ่ายไว้ได้ในเฟซบุ๊ค simonhendersonproducer ) แถมฟุตเทจที่ถ่ายเก็บไว้ยังเคยได้ใช้ทำ MV เพลง “จิ๊จ๊ะ” ด้วย
- เวลาไซม่อนยุ่ง ๆ เขาจะเอากล้องตั้งทิ้งไว้ และสมาชิกวงก็จะเอาไปเล่นถ่ายอะไรกันทั่วแกรมมี่เหมือนกับพวกหนังเกรด B มีครั้งนึงพวกเขาจับพนักงาน More Music มัดเอาไว้ เอาหนวดปลอมติด ทำตัวเป็นมาเฟีย หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาแล้วทำเหมือนว่ากำลังลักพาตัวคนนั้นอยู่ อย่างหรั่งที่ทำผมทรงเดรดล็อกอยู่แล้วก็แต่งตัวเป็นพ่อค้ายาชาวโคลอมเบียสวมแว่นกันแดด อีกเรื่องหนึ่งคือตอนที่ทำอัลบั้ม ‘Candyman’ พวกเขาสั่งพิซซ่ามาที่ More Music ต้นเป็นคนออกไปเอาพิซซ่าแล้วเริ่มชวนพนักงานคุยถามเหมือนตัวเองจะเปลี่ยนอาชีพ ไซม่อนบอกว่ามันเป็นอะไรที่ประหลาดมากแต่มันทำให้ทุกคนขำออกมาเพราะต้นไม่ยอมปล่อยให้พนักงานกลับไปสักที (นั่นเป็นตอนที่วงยังไม่ดัง พนักงานเองก็คงไม่รู้ว่านี่คือซิลลี่ฟูลส์ แต่ตอนนี้ก็คงรู้แล้วล่ะ)
- สำหรับไซม่อนโตเป็นเพื่อนที่ดีมาก เป็นคนมีน้ำใจ ทุ่มเทให้ครอบครัว เป็นคนยุ่งตลอดเวลาทำนู่นทำนี่ตลอดเวลา และโตชอบโทรหาไซม่อนและพูดว่า “ไซม่อน คุณมาประชุมกับเราได้ไหมอีกสองอาทิตย์จะทำอัลบั้มใหม่กันแล้ว” ไซม่อนก็จะแบบ “…โต นายช่วยบอกให้เร็วกว่านี้หน่อยได้ไหม” มันขึ้นอยู่กับว่าสตูดิโอว่างตอนไหน คิวในวงว่างตอนไหน และไซม่อนก็จะเป็นคนสุดท้ายที่รู้เสมอ
ยังมีเรื่องราวอีกมากมายให้รอติดตามในตอนที่ 2 ครับ โปรดติดตามตอนต่อไป…
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส