จากปรากฏการณ์ #OscarsSoWhite ที่เกิดขึ้นในปี 2014 และ 2015 เนื่องจากต้องการโจมตีสถาบันออสการ์ หรือ Academy of Motion Picture Arts and Sciences ถึงรายชื่อผู้เข้าชิงออสการ์ในสาขานักแสดงทั้ง 4 สาขา รวม 20 คน ล้วนเป็นนักแสดงผิวขาว และเป็นเช่นนั้น 2 ปีติดกัน
นอกจากนั้นยังมี #OscarSoMale ที่วิพากษ์วิจารณ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมที่มักจะให้ความสำคัญกับผู้กำกับเพศชายมาโดยตลอด โดยจากการจัดงานมอบรางวัล 92 ครั้งที่ผ่านมามีผู้กำกับหญิงเพียง 5 คนเท่านั้นที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม และชนะไปเพียงครั้งเดียวคือ แคธรีน บิกโลว์ (Kathryn Bigelow) จากหนังเรื่อง ‘The Hurt Locker’ ในปี 2010
ในช่วง 5 ปีหลัง คนทั่วโลกเลยได้เห็นออสการ์เริ่มทำการ ‘ไถ่บาป’ ด้วยการให้ความสำคัญกับคนผิวสีทั้งคนดำและคนเอเชียมากขึ้น เห็นได้ชัดตั้งแต่กระแสหนังเรื่อง ‘Moonlight’ ซึ่งว่าด้วยเรื่องของคนดำและเกย์ชนะออสการ์หนังยอดเยี่ยมในปี 2017 สองปีถัดมาก็ให้ ‘Green Book’ หนังที่พูดถึงนักดนตรีผิวดำและคนขับรถผิวขาวก็ได้ออสการ์หนังยอดเยี่ยม และในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (2016-2020) ก็มีนักแสดงผิวดำได้เข้าชิงออสการ์ถึง 13 ครั้ง และในจำนวนนั้นชนะถึง 4 ครั้ง
นอกจากคนผิวดำแล้ว ออสการ์เริ่มปลุกกระแส ‘เอเชียน’ ให้เขย่าเวทีออสการ์ เมื่อหนังสัญชาติเกาหลีใต้เรื่อง ‘Parasite’ ของผู้กำกับ บงจุนโฮ (Bong Joon-ho) คว้าชัยไปถึง 4 รางวัล รวมทั้งรางวัลใหญ่อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม และหนังต่างประเทศยอดเยี่ยม รวมทั้งส่งเสริมสุภาพสตรีให้มีบทบาทมากขึ้นในสาขาใหญ่ ๆ ของออสการ์ อย่างการได้เข้าชิงสาขาผู้กำกับและเขียนบทของ เกรตา เกอร์วิก (Greta Gerwig) จาก ‘Lady Bird’ ในปี 2018 และต่อด้วย ‘Little Women’ ของเธอได้เข้าชิงหนังยอดเยี่ยมและเขียนบทในปี 2020
ไม่ว่าออสการ์จะต้องการเอาใจ ไถ่บาป หรือตัดสินจากตัวผลงานจริง ๆ ก็ตาม ปีนี้ 2021 กับออสการ์ครั้งที่ 93 รายชื่อผู้เข้าชิงเต็มไปด้วยคนเอเชีย คนผิวดำ และผู้หญิง เริ่มตั้งแต่ผู้เข้าชิงในสาขานักแสดงที่มีนักแสดงผิวสีมากถึง 9 คนจาก 20 คน ถือว่าเป็นจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ขณะที่สาขาผู้กำกับนั้น มีผู้หญิงได้เข้าชิงถึง 2 คน หนึ่งคือ โคลอี เจา (Chloe Zhao) จาก ‘Nomadland’ สองคือ เอเมอรัลด์ เฟนเนลล์ (Emerald Fennell) จาก ‘Promising Young Women’ (เธอได้รับรางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ออสการ์อีกเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีผู้กำกับชาวเอเชียถึง 2 คนคือ เจา และ ลี ไอแซก ชุง (Lee Isaac Chung) ผู้กำกับอเมริกัน เชื้อสายเกาหลีใต้จาก ‘Minari’
ผลรางวัลออสการ์ที่ประกาศออกมาถือว่าไม่พลิกโผ โคลอี เจา ได้รับรางวัลออสการ์ไปครองและเป็นผู้กำกับหญิงเอเชียคนแรกที่ได้รางวัลนี้ในรอบ 93 ปี แถมเธอได้ออสการ์สาขานี้ต่อจาก บงจุนโฮ ผู้กำกับชาวเกาหลีใต้เมื่อปีก่อนซึ่งเป็นผู้มอบรางวัลให้เธอ และอีกหนี่งคนที่ทุกคนพูดถึงในปีนี้ก็คือนักแสดงหญิงวัย 73 ปี ยุนยอจอง (Youn Yuh-jung) ที่ชนะรางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจาก ‘Minari’ และกลายเป็นนักแสดงหญิงชาวเกาหลีใต้คนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัลออสการ์ เช่นเดียวกับนักแสดงร่วมจอ สตีเฟน ยอน (Steven Yeun) นักแสดงอเมริกัน เชื้อสายเกาหลีใต้ ก็ได้เข้าชิงออสการ์ในสาขานักแสดงนำ ซึ่งถึงแม้จะไม่ชนะ แต่ก็ขึ้นชื่อว่าเป็นนักแสดงชายชาวเอเชียคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้เข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงนำชาย
ข้ามมาที่สาขานักแสดงสมทบชายนั้น นักแสดงผิวดำ แดเนียล คาลูยา (Daniel Kaluuya) คว้าไปครองจาก ‘Jedas and the Black Messiah’ แม้นักแสดงนำชายและหญิงจะตกเป็นของ แอนโธนี ฮอปกินส์ (Anthony Hopkins) จาก ‘The Father’ และฟรานเซส แม็กดอร์แมนด์ (Frances McDormand) จาก ‘Nomadland’ ซึ่งเป็นนักแสดงผิวขาวทั้งคู่ หลายคนยังรู้สึกกังขาที่นักแสดงผู้ล่วงลับอย่าง แชดวิก โบสแมน (Chadwick Boseman) ตัวเก็งจาก ‘Ma Rainey’s Black Bottom’ พ่ายรางวัลนี้ให้กับฮอปกินส์ แต่ถึงอย่างไรผู้ชนะในสาขานักแสดงครึ่งหนึ่งตกเป็นของคนผิวสี
อีกหนึ่งครั้งแรกของออสการ์ปีนี้ ก็คือสาขาแต่งหน้าทำผมยอดเยี่ยม ตกเป็นของ มีอา นีล (Mia Neal) และจามิกา วิลสัน (Jamika Wilson) จาก ‘Ma Rainey’s Black Bottom’ ที่เป็นผู้ชนะผิวดำสองคนแรกในสาขานี้บนเวทีออสการ์ และในปีนี้ ไทเลอร์ เพอร์รี (Tyler Perry) ผู้กำกับและนักแสดงผิวดำที่มุ่งมั่นในการรณรงค์ให้หยุดเหยียดสีผิว ยังขึ้นรับรางวัลเกียรติยศด้านมนุษยธรรม ยีน เฮอร์โซลต์ (Jean Hershoult Humanitarian Award) “ผมหวังว่าพวกเราทุกคนจะปลูกฝังลูก ๆ ของคุณให้จงหยุดความเกลียดชัง อย่าเกลียดชังคนอื่นเพียงเพราะเขาเป็นเม็กซิกัน หรือคนผิวดำ หรือคนผิวขาว หรือ LGBTQ เกลียดคนอื่นหรือเขาเป็นตำรวจ หรือเป็นเอเชียน ผมอยากให้ทุกคนหยุดความเกลียดชัง”
ไม่ว่าจะมองว่าเป็นเหตุบังเอิญที่ปีที่ผ่านมามีหนังคุณภาพที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับคนดำและคนเอเชียมากกว่าปีที่ผ่านมา หรือออสการ์เริ่มชายตามองผู้สร้างหนัง ผู้กำกับ และนักแสดงเชื้อชาติอื่น ๆ มากกว่าอเมริกันผิวขาว หรือออสการ์ต้องการสร้างกระแสและประวัติศาสตร์ จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่รางวัลตุ๊กตาทองในโลกภาพยนตร์ที่โด่งดังที่สุดในโลก ให้ความสำคัญกับความหลากหลายทั้งเพศและสีผิว โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่โลกต้องการความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากที่สุด
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส