ประวัติของเซอร์ แอนโธนี ฮอปกินส์ (Sir Anthony Hopkins)
- ท่านเซอร์ ฟิลิป แอนโธนี ฮอปกินส์ (Sir Philip Anthony Hopkins) เกิดวันที่ 31 ธันวาคม 1937 ที่ราชรัฐ เวลส์ (Wales) ในประเทศสหราชอาณาจักรอังกฤษ ปัจจุบันท่านเซอร์มีอายุ 83 ปีและยังอาศัยที่บ้านเกิดเช่นเดิมแม้กระทั่งในคืนประกาศผลรางวัลออสการ์ก็ให้ ฮวาคิน ฟีนิกซ์ (Joaquin Phoenix) เจ้าของรางวัลสาขานักแสดงนำชายปีก่อนขึ้นรับรางวัลแทน
- ท่านเซอร์ฮอปกินส์เริ่มงานแสดงจากวงการละครเวทีและเริ่มงานหน้ากล้องกับหนังสั้นเรื่อง ‘Changes’ ของผู้กำกับ ดริว เฮนลีย์ (Drewe Henley) ในปี 1964 ก่อนจะได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนักแสดงสมทบชายครั้งแรกบนเวที บาฟตา (BAFTA) จากบท ริชาร์ดใจสิงห์ ใน ‘The Lion in Winter’ ในปี 1968
- ก่อนจะได้รับรางวัลออสการ์ตัวแรก ท่านเซอร์ฮอปกินส์เคยร่วมแสดงบทสมทบในหนังที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ถึง 2 เรื่องได้แก่ ‘A Bridge Too Far’ ในปี 1977 และ ‘The Elephant Man’ ในปี 1980
- ปี 1993 ท่านเซอร์ฮอปกินส์ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัศวินโดยสมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 2 พระราชินีแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษ
สิ้นสุดเสียงประกาศให้ เซอร์ แอนโธนี ฮอปกินส์ (Sir Anthony Hopkins) คว้ารางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากงานประกาศรางวัลอคาเดมีอวอร์ดครั้งที่ 93 (ออสการ์) ก็ทำให้ท่านเซอร์ฮอปกินส์ได้สร้างสถิติใหม่ให้ตัวเองด้วยการเป็นนักแสดงที่อายุมากที่สุดคือ 83 ปีที่คว้ารางวัลสาขานี้มาได้ และแน่นอนว่าตลอดอายุเกือบหนึ่งศตวรรษของท่านเซอร์ย่อมมีผลงานที่น่าจดจำมากมาย Beartai Buzz ขอพาทุกท่านย้อนกลับไปดู 10 บทบาทเด่นที่ท่านเซอร์ฝากการแสดงอันน่าจดจำไว้
1. Dr. Hannibal Lecter จาก ‘The Silence of the Lambs’ (1991)
ไม่อาจมีใครปฏิเสธบทบาท ด็อกเตอร์ ฮันนิบาล เลคเตอร์ อัจฉริยะอำมหิตจากนิยายชุดของ โธมัส แฮริส (Thomas Harris) ได้ว่าเป็นบทบาทที่น่าสะพรึงกลัวและเต็มไปด้วยความซับซ้อนเกินคาดเดา และอันที่จริงท่านเซอร์ฮอปกินส์ก็ไม่ได้เป็นคนแรกที่สวมบทบาทนี้ด้วยซ้ำ เพราะย้อนกลับไปในปี 1986 หรือ 5 ปีก่อนจะมี ‘The Silence of the Lambs’ นิยายเรื่อง ‘Red Dragon’ ของแฮร์ริสเองก็เคยถูกผู้กำกับ ไมเคิล มานน์ (Michael Mann) หยิบมาดัดแปลงทำเป็นหนังเรื่อง ‘Manhunter’ และได้ ไบรอัน ค็อกซ์ (Brian Cox) รับบทเลคเตอร์
แต่หลังจากหนัง ‘The Silence of the Lambs’ ออกฉายในปี 1991 เซอร์แอนโธนี ฮอปกินส์ ได้ทำให้ภาพของด็อกเตอร์ ฮันนิบาล เลคเตอร์หลอกหลอนคนดูจนได้รับเสียงชื่นชมทันทีที่ออกฉายและหนังทริลเลอร์ที่เต็มไปด้วยบทสนทนาเฉียบคมเรื่องนี้ก็ทำเงินไปกว่า 270 ล้านเหรียญ รวมถึงความสำเร็จบนเวทีออสการ์ที่เซอร์ฮอปกินส์จะได้ครองรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมตัวแรกคู่กับโจดี ฟอสเตอร์ (Jodie Foster)ในสาขานักแสดงนำหญิง ซึ่ีงมีการบันทึกไว้ว่าบทเลคเตอร์ของเซอร์ฮอปกินส์ติดหนึ่งในการแสดงบนจอที่สั้นที่สุดที่ได้ออสการ์เพียงแค่ 16 นาทีเท่านั้น นอกจากนี้หนังยังกวาดรางวัลทั้งบทดัดแปลงยอดเยี่ยม โจนาธาน เดมมี (Jonathan Demme)ได้ผู้กำกับยอดเยี่ยมรวมถึงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอีกด้วย
และความอำมหิตของฮันนิบาล เลคเตอร์ยังไม่จบแค่หนังภาคเดียวโดยเซอร์ฮอปกินส์ได้กลับมารับบทเดิมในหนังอีก 2 เรื่องได้แก่ ‘Hannibal’ ที่กำกับโดย ริดลีย์ สก็อตต์ (Ridley Scott) ในปี 2001 และ ‘Red Dragon’ กำกับโดย เบรต แรตเนอร์ (Brett Ratner) ในปี2002 พร้อมอัปค่าเหนื่อยเป็นเงินถึง 15 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเรื่อง แต่หลังจากนั้นท่านเซอร์ก็ขอปฏิเสธที่จะกลับมาในภาคปฐมบท (Prequel) ใน ‘Hannibal Rising’ ปี 2007 ซึ่งโดนนักวิจารณ์โขกสับและปิดตำนาน “อำมหิตไม่เงียบ” บนจอเงิน (แต่ได้ไปต่อในฉบับซีรีส์ ‘Hannibal’)
2. James Stevens จาก ‘The Remains of the Day’ (1993)
บทพ่อบ้าน เจมส์ สตีเวน ใน ‘The Remains of the Day’ อาจดูหวือหวาน้อยกว่าบทอัจฉริยะอำมหิตอย่างด็อกเตอร์ ฮันนิบาล เลคเตอร์ แต่กระนั้นมันก็ยังห่างไกลจากความจืดชืดไร้ชีวิตชีวาเมื่อได้ท่านเซอร์ แอนโธนี ฮอปกินส์มาใส่สูทบัตเลอร์คอยรับใช้ตระกูลสูงศักดิ์ของอังกฤษอย่างดาร์ลิงตันที่ถูกกล่าวหาว่าคบค้ากับพวกนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่่ 2
ท่านเซอร์ฮอปกินส์ถอดวิญญาณรับบท พ่อบ้านสตีเวนส์แบบตีบทแตกกระจุยทั้งความซื่อสัตย์ความเยือกเย็นตลอดจนการให้บทเรียนคนดูถึงความไม่จีรังยั่งยืนของสรรพสิ่งอันเป็นอนิจจังซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เขียนนิยายอย่าง คาซูโอะ อิชิกูโร (Kazuo Ishiguro)ได้จรดปากกาแต่งไว้จนได้รับรางวัลเดอะบุ๊กเกอร์ไพรซ์ (The Booker Prize)
ความยอดเยี่ยมของ ‘The Remains of the Day’ ยังส่งผลให้หนังเข้าชิงรางวัลใหญ่ครบถ้วนทั้งภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (เอ็มมา ธอมป์สัน Emma Thompson) รวมถึงการส่งให้เซอร์แอนโธนี ฮอปกินส์ ได้เข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงนำชายอีกครั้ง ซึ้งแม่คราวนี้จะไม่ได้ออสการ์แต่ก็ยังได้รับรางวัลบาฟตาในสาขานักแสดงนำชายอยู่ดี
3. Professor Abraham Van Helsing จาก ‘Bram Stoker’s Dracula’ (1992)
ขอคั่นด้วยบทบาทเด่นจากหนังที่เน้นความบันเทิงกันบ้าง ‘Bram Stoker’s Dracula’ หนังของผู้กำกับระดับตำนานอย่าง ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา (Francis Ford Coppola) ที่หลังจากสิ้นสุดกับไตรภาค ‘The Godfather’ ก็ได้ฤกษ์มาหยิบจับนิยายคลาสสิกอย่างแดร็กคิวลาของยอดนักเขียน บราม สโตเกอร์ (Bram Stoker) มาปัดฝุ่นใหม่เพิ่มความโรแมนติกและสยองขวัญ
พร้อมทีมนักแสดงรุ่นใหม่พร้อมแจ้งเกิดทั้ง แกรี โอลด์แมน (Gary Oldman) ในบทท่านเคานต์แดร็กคิวลาที่ทั้งมีเสน่ห์และดูน่าสะพรึงกลัว วิโนนา ไรเดอร์ (Winona Ryder) ในบทนีนาโฉมงามแฟนหนุ่มของ โจนาธาน ฮาร์เกอร์ ที่รับบทโดย คีอานู รีฟส์ (Keanu Reeves) ที่พยายามหาทางช่วยแฟนสาวจากอำนาจมนตราของท่านเคานต์ผีดิบ
สำหรับท่านเซอร์ฮอปกินส์ก็ได้รับบทบาทสำคัญคือ เป็นศาสตราจารย์ เอบราฮัม แวน เฮลซิง นักปราบผีดิบผู้มุ่งมั่น แม้บทนี้จะไม่ได้ทำให้ท่านเซอร์ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์แต่งานศิลปกรรมของหนังก็โดดเด่นมากจนคว้ารางวัลด้านแต่งหน้าทำผม ออกแบบเครื่องแต่งกายและซาวด์เอฟเฟกต์ยอดเยี่ยม
4. Richard Nixon จาก ‘Nixon’ (1995)
หนึ่งในความสามารถอันเอกอุด้านการแสดงของเซอร์ฮอปกินส์คือการเป็นเปลี่ยนสำเนียงได้ราวกิ้งก่าเปลี่ยนสีที่ครั้งหนึ่งท่านเซอร์ฮอปกินส์เคยพากย์เสียง ลอว์เรนซ์ โอลิเวียร์ (Lawrence Olivier) ที่หายไปจากหนัง ‘Spartacus’ ที่มีการบูรณะใหม่ในปี 1991 แต่ความท้าทายสำคัญในการเปลี่ยนสำเนียงพูดแบบพลิกหลายตลบก็ได้รับการพิสูจน์ผ่านบทบาทหนึ่งในประธานาธิบดีคนสำคัญอย่างริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ในหนังทริลเลอร์กึ่งอัตชีวประวัติของ โอลิเวอร์ สโตน (Oliver Stone) ผู้กำกับที่มักทำหนังเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์อเมริกัน
โดยอย่างที่ทราบกันดีว่าริชาร์ด นิกสันเป็นชาวแคลิฟอร์เนียที่มีสำเนียงเป็นเอกลักษณ์แต่เซอร์ฮอปกินส์ก็ตีบทแตกกระจุยพูดภาษาอังกฤษสำเนียงอเมริกันแบบแคลิฟอร์เนียได้อย่างลื่นไหลไม่มีผิดเพี้ยนควบคู่ไปกับการถ่ายทอดชีวิตประธานาธิบดีที่ดำรงตำแหน่งด้วยนโยบายสีเทาจนไปถึงวาระสุดท้ายของการกุมอำนาจได้อย่างยอดเยี่ยมจนส่งผลให้ท่านเซอร์ฮอปกินส์ได้เข้าชิงออสการ์เป็นครั้งที่ 3
5. John Quincy Adams จาก Amistad (1997)
ในที่สุดท่านเซอร์ฮอปกินส์ก็ได้มีโอกาสโคจรมาร่วมงานกับ สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) พ่อมดฮอลลีวูดใน Amistad เจ้าของชื่อไทย “หัวใจทาสสะท้านโลก” หนังสร้างความสะเทือนใจให้คนดูทันทีที่มันออกฉายและประสบความสำเร็จด้านรายได้เป็นอย่างดีสมยี่ห้อสปีลเบิร์กที่ไม่ว่าจะทำหนังแนวไหนก็มีคนดู
โดยเซอร์ฮอปกินส์ได้รับบท จอห์น ควินซี อดัมส์ อดีตประธานาธิบดีคนที่ 6 ที่ได้ช่วยเป็นทีมทนายให้ โรเจอร์ เชอร์แมน บาลด์วิน ที่รับบท แมตธิว แม็กคอนาเฮย์ (Matthew McConaughey)ในการช่วยเหลือด้านคดีความให้แก่ทาสที่ก่อกบฎบนเรือเลอเอมิสตาดซึ่งนำโดยโจเซฟ ซินเกว ที่ส่งให้ชื่ออดีตนายแบบคาลวิน ไคล์นผิวสีอย่าง จิมอน ฮอนซู (Djimon Hounsou) เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม
ส่วนท่านเซอร์ฮอปกินส์แม้จะเป็นบทสมทบแต่ความยอดเยี่ยมก็ยังทำให้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์อยู่ดี
ยังมีบทบาทน่าสนใจอีก 5 บท คลิกอ่านต่อหน้าถัดไปได้เลย
6. Don Diego de la Vega / Zorro จาก The Mask of Zorro (1998)
ก่อนถึงยุคของหนังซูเปอร์ฮีโรครองเมืองทั้งค่ายดีซีหรือมาร์เวล ช่วยปลายยุค 90s เชื่อมต่อยุค 2000 ฮอลลีวูดก็มีเทรนด์ในการนำซีรีส์ผจญภัยในอดีตมาดัดแปลงเป็นหนังฟอร์มยักษ์ และ ‘The Mask of Zorro’ ก็ได้ มาร์ติน แคมป์เบล (Martin Campbell) ผู้กำกับที่เคยปลุกชีพแนะนำเพียซ บรอสแนน (Pierce Brosnan) ในบทเจมส์ บอนด์คนใหม่จาก ‘Goldeneye’ เมื่อปี 1995 มาทำหน้าที่ปั้นแอนโทนิโอ แบนเดอราส (Antonio Banderas) พระเอกจากแดนกระทิงดุสเปนพลิกบทบาทจากหนังดรามาขายฝีมือสู่การสวมบทฮีโรนามซอร์โร
และในภาคแรกของหนัง ‘The Mask of Zorro’ ก็เป็นการเล่าที่มาของหน้ากากซอร์โรและความแค้นที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นเมื่อบ้านเมืองถูกปกครองด้วยคนพาลหน้ากากซอร์โรและเครื่องหมายตัว Z จะมาทวงความยุติธรรมและบทบาทที่ท่านเซอร์ฮอปกินส์ได้รับก็คือบท ดอน ดิเอโก เดอ ลา เวกา หรือหน้ากากซอร์โรคนแรกในหนังที่มาถ่ายทอดวิทยายุทธให้กับอเลฮานโดร มัวเรตตา ที่รับบทโดยแบนเดอราสให้กลายเป็นหน้ากากซอร์โรผู้ผดุงความยุติธรรมและช่วยเหลือ เอเลนา ลูกสาวของท่านดอนที่ถูกขโมยไปซึ่งรับบทโดยแคตเธอรีน ซีตา โจนส์ (Catherine Zeta-Jones) สาวสวยตาคมขวัญใจหนุ่ม ๆ ยุค90s
7. บท Ted Crawford จาก ‘Fracture’ (2007)
บท เท็ด ครอว์ฟอร์ด ทำให้ท่านเซอร์ฮอปกินส์หวนสู่บทผู้ร้ายอัจฉริยะอีกครั้งในหนังทริลเลอร์สืบสวนสอบสวนสุดเข้มข้น ที่ท่านเซอร์รับบทเศรษฐีที่ฆ่าภรรยาตัวเองที่ไปคบชู้กับตำรวจแต่ด้วยความอัจฉริยะที่แม้ตัวจะอยู่ในคุกแต่กฎหมายก็ยังไม่อาจลงโทษเขาได้และในเกมชิงความยุติธรรมก็มีอัยการหนุ่มไฟแรงที่มาท้าขอหาหลักฐานมาพิสูจน์ความผิดของฆาตกรอัจฉริยะรายนี้
เข้าสู่ทศวรรษแรกของปี 2000 แม้ท่านเซอร์จะยังรับงานแสดงภาพยนตร์อยู่ไม่ขาดสายแต่ก็มักได้รับบทบุคคลจริงในประวัติศาสตร์หรือชายชราใจดีอยู่เรื่อย ๆ จนกระทั้ง ‘Fracture’ หนังทริลเลอร์ทำเงินถล่มทลายได้เปิดโอกาสให้เซอร์ฮอปกินส์มารับบทร้าย ๆ ให้แฟน ๆ หายคิดถึงและยังฟาดฟันบทบาทกับ ไรอัน กอสลิง (Ryan Gosling) นักแสดงหนุ่มไฟแรงตอนนั้นได้อย่างถึงพริกถึงขิง
8. Odin ใน THOR (2011)
ต้องยอมรับว่าตั้งแต่มาร์เวล สตูดิโอ (Marvel Studio) สร้างจักรวาลภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโรมาตั้งแต่ปี 2008 กับ ‘Ironman’ และ ‘The Incredible Hulk’ ฮอลลีวูดก็เข้าสู่ยุคของอุตสาหกรรมหนังซูเปอร์ฮีโรอย่างเต็มตัวแบบที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนและมันยังเป็นโอกาสให้ผู้กำกับและนักแสดงระดับตำนานได้ก้าวเท้าเข้าสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ยุคใหม่อย่างแท้จริง
และ ‘THOR’ ก็เป็นการยืนยันได้อย่างดีตั้งแต่การเลือก เคนเนธ บรานาฮ์ (Kenneth Branagh) ผู้กำกับที่คร่ำหวอดกับการทำหนังจากนิยายเช็กสเปียร์มาเล่าปฐมบทของเทพเจ้าสายฟ้าฆ้อนมหากาฬอย่าง “ธอร์” และแน่นอนว่าในเมื่อแอสการ์ดก็แทบนำเสนอไม่ต่างจากยุคโรมันโบราณใครจะเหมาะรับบทพระราชาใจหินผู้ยึดฆ้อนจากฮีโร่สุดล่ำของเราได้ดีไปกว่าท่านเซอร์ฮอปกินส์
ซึ่งต้องยอมรับเลยว่า ‘THOR’ และหนังในจักรวาลมาร์เวลช่วยให้ชื่อของท่านเซอร์แอนโธนี ฮอปกินส์ไม่ได้หายไปจากการรับรู้ของคอหนังยุคใหม่ได้ดีเลยทีเดียวและยังกลับมารับบทเดิมใน ‘THOR : Dark World’ ปี 2013 และ ‘THOR Ragnarok’ ปี 2017 ซึ่งนอกจากบทฮานนิบาล เลคเตอร์แล้วก็มี เทพโอดินนี่แหละที่ท่านเซอร์รับบทเดิมจนครบไตรภาค
9. Cardinal Ratzinger / Pope Benedict จาก The Two Popes (2019)
หนึ่งในบทบาทหรืออาชีพที่ไม่ค่อยมีใครนำมาเสนอในหนังประเภทอื่นนอกจากสารคดีศาสนาก็คงหนีไม่พ้นบทโป๊บหรือพระสันตะปาปาและ ‘The Two Popes’ หนังดรามาของเน็ตฟลิกซ์ที่ว่าด้วยเรื่องราวการสืบทอดตำแหน่งประมุขของคริสตจักรคนใหม่ที่เต็มไปด้วยเรื่องลับในวาติกันและข่าวฉาวที่ก่อวิกฤติศรัทธาให้คริสตชน โดยหนังดัดแปลงจากบทละคร ‘The Pope’
โดยเซอร์ฮอปกินส์รับบท คาร์ดินัล แรตซิงเกอร์ หรือพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ชาวเยอรมัน ที่กำลังจะสละสมณศักดิ์ พยายามโน้มน้าวให้ พระคาร์ดินัลยอร์เฮ มาริโอ เบอร์กอกลิโอ (Cardinal Jorge Mario Bergoglio) ชาวอาร์เจนตินา รับสืบทอดสมณศักดิ์ท่ามกลางวิกฤติศรัทธาจากการรั่วไหลของเอกสารลับวาร์ติกันที่เปิดเผยเรื่องราวอื้อฉาวของพระคาร์ดินัลในวาติกัน
ด้วยความยอดเยี่ยมของหนังทำให้ ‘The Two Popes’ ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ถึง 3 สาขาได้แก่บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม โจนาธาน ไพร์ซ (Jonathan Pryce) ได้เข้าชิงสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมและเซอร์ฮอปกินส์ก็ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมเป็นครั้งที่ 2 ต่อจาก ‘Amistad’
10. Anthony จาก ‘The Father’ (2020)
หากเทียบสเกลหนังของ ‘The Father’ กับหนังอีก 9 เรื่องที่ผ่านมาแล้วอาจทำให้หนังที่ทำเงินทั่วโลกเพียง 4 ล้านเหรียญสหรัฐและใช้โลเคชันในห้องนอนแทบทั้งเรื่องตัวละครนำมีเพียงพ่อกับลูกสาวกลายเป็นหนังฟอร์มเล็กกระจ้อยร่อยไปเลย แต่พ้นจากรูปลักษณ์และพลอตเรียบน้อยที่เล่าเรื่องเพียงแค่พ่อที่เป็นโรคสมองเสื่อมพยายามรั้งลูกสาวไม่ให้ทิ้งเขาไปเมืองนอกแล้วคือการนำเสนอออกมาได้สร้างสรรค์และชวนใจสลายแบบใครได้ดูก็หนีไม่พ้นภาวะพังทลาย
เซอร์ฮอปกินส์รับบท แอนโธนี ชายชราที่กำลังทุกข์ทรมานจากโรคความจำเสื่อมที่โลกทั้งใบของเขาเหลือเพียงห้องอพาร์ตเมนต์พร้อมอดีตเจ็บปวดที่ถูกซ่อนอยู่ในทุกซอกมุมของบ้าน และเมื่อวันหนึ่งที่ แอนน์ ลูกสาวคนโตที่เคยดูแลเขามาตลอดพยายามโน้มน้าวเขาให้ดูแลตัวเองเพราะเธอจะย้ายไปอยู่กับสามีที่ประเทศฝรั่งเศสโลกทั้งใบของเขาก็ผิดเพี้ยนและไม่อาจแยกสิ่งที่ตัวเองคุ้นเคยกับความเป็นจริงได้อีกต่อไป
อย่างที่หลายคนคงทราบกันแล้วว่าบทแอนโธนี ชื่อตัวละครที่ซ้อนทับกับชื่อจริงของยอดนักแสดงผู้นี้ได้นำออสการ์ตัวที่ 2 ในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมมาให้ท่านเซอร์ได้แล้ว ซึ่งความยอดเยี่ยมของตัวหนังก็ทำให้หนังได้รางวัลออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงที่ ฟลอเรียน เซลเลอร์ (Florian Zeller) เจ้าของบทละครต้นฉบับรับร่วมกับ คริสโตเฟอร์ แฮมป์ตัน (Christopher Hampton) และนอกจากนี้ โอลิเวีย โคลแมน ผู้รับบทแอนน์ยังได้เข้าชิงสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม รวมถึงสาขาออกแบบงานสร้างยอดเยี่ยม ตัดต่อยอดเยี่ยมและภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอีกด้วย
โดยภาพยนตร์เรื่อง ‘The Father’ เข้าฉายที่โรงภาพยนตร์ เฮาส์ สามย่าน (ที่ สามย่านมิตรทาวน์) มาตั้งแต่วันที่ 13 เมษายนแต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด 19 ทำให้ตอนนี้โรงภาพยนตร์ปิดซึ่งหากโรงภาพยนตร์เปิดทำการอีกครั้งคาดว่าหนังจะยังมีโปรแกรมฉายอยู่
ข้อมูลประกอบการเขียน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส