หลังจากที่เมื่อวานนี้ (28 เมษายน) เกิดกระแสฮือฮาบนโลกโซเชียลถึงร้านขนมไทยชื่อ ‘มาดามชุบ’ ในจังหวัดสมุทรสงคราม ได้ทำขนม “อาลัวพระเครื่อง” โดยจัดทำขนมอาลัวเป็นรูปพระเครื่องหลากหลายรูปแบบและสีสัน เมื่อเปิดขายในโลกออนไลน์ก็ได้รับความสนใจอย่างมากเพราะมองว่าเป็นการแสดงความคิดสร้างสรรค์ แต่ขณะเดียวกันก็เริ่มเกิดประเด็นถกเถียงว่า “การทำขนมอาลัวเป็นรูปพระเครื่อง ถือเป็นการลบหลู่ศาสนาหรือไม่?”
แน่นอนว่าหน่วยงานที่รีบออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับขนมอาลัวพระเครื่องคือ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยนายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานฯ กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและไม่สมควรกระทำ โดยได้เตรียมทำหนังสือชี้แจงร้านขนมดังกล่าวโดยให้เหตุผลว่าพระเครื่องเป็นวัตถุมงคล เครื่องสักการะบูชา เช่นเดียวกับนางสุชาดา หิรัญภัทรานันท์ วัฒนธรรมจังหวัดสมุทรสงคราม ที่เห็นว่าการทำขนมอาลัวพระเครื่องเป็นเรื่องไม่เหมาะสม
วันนี้ (29 เมษายน) เรื่องราวร้อนระอุกว่าเดิม เมื่อเจ้าหน้าที่ของสำนักงานพุทธศาสตร์จังหวัด ได้เดินทางไปที่ร้านขนมมาดามชุบ เพื่อทำการตรวจสอบโดยระบุว่ามีผู้ร้องเรียนถึงความไม่เหมาะสมและขอความร่วมมือไม่นำความเชื่อมาหากิน แม้ว่าเพจเฟซบุ๊กของขนมร้านดังกล่าวจะได้ประกาศปิดรับออร์เดอร์ขนมอาลัวพระเครื่องไปแล้วตั้งแต่วานนี้
ขณะที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นว่าไม่เหมาะสม ‘พระมหาไพรวัลย์’ กลับเห็นต่าง พร้อมตั้งคำถามว่า “สำนักงานพุทธกล้าชี้ว่า ขนมพระเครื่องไม่เหมาะสม แต่สำนักงานพุทธไม่กล้าชี้ว่า ไอ้ไข่ที่อยู่ในวัดและคนพากันไปจุดประทัดเซ่นไหว้เช่นนั้น ไม่เหมาะสม” อีกทั้งยังยกตัวอย่างถึงการบูชาราหู บูชาพญานาค การทำพิธีดูดวง เจิมหน้าผาก ลงนะหน้าทอง ครอบครู ซึ่งทำกันอยู่ในวัดชื่อดังหลายแห่ง แต่สำนักงานพระพุทธศาสนากลับไม่แสดงทีท่าอะไร
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเรื่องราวในลักษณะนี้ เมื่อสองปีก่อนเกิดกรณีภาพเขียนศิลปะพระพุทธรูปอุลตราแมน ซึ่งเป็นผลงานของนักศึกษาสาขาศิลปศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ที่โดนโจมตีอย่างหนักจากเจ้าหน้าที่สำนักพุทธศาสนา จ.นครราชสีมา ว่าเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นพุทธศาสนา และขอให้สถานศึกษาพานักศึกษาออกมาขอโทษและเข้าไปขอขมาเจ้าคณะ แต่ศิลปินแห่งชาติอย่างอาจารย์เฉลิมชัย โฆฆิตพิพัฒน์ กลับมองว่าเป็นการแสดงความคิดสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่แปลกใหม่ เช่นเดียวกับพระมหาไพรวัลย์ที่แสดงความคิดเห็นในเชิงเดียวกันว่า ดูสวยแปลกใหม่ ไม่ได้ดูเป็นเรื่องลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาแต่อย่างใด
‘ศาสนา’ ไม่ว่าจะศาสนาใด ถือเป็นหนึ่งในสถาบันหลักของชาติ ศาสนาเป็นสถาบันที่ส่งเสริมและสร้างสรรค์ศิลปะวัฒนธรรมให้แก่สังคม ศาสนาช่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข และเป็นที่พึ่งทางใจแก่คนในสังคม แต่ตัวผู้เขียนเองในฐานะพุทธศาสนิกชนคนหนึ่งรู้สึกว่า ในยุคสมัยใหม่ ศาสนาก็ควรถูกตีความใหม่ตามไปด้วย การตีความใหม่ในทีนี้ไม่ใช่การลบหลู่ดูหมิ่นหรือนำไปนำเสนอในทางที่ไม่เหมาะสม แต่เป็นการ “ดึงศาสนาให้ใกล้ตัวคนมากขึ้น” ด้วยเจตนาที่ดีและสร้างสรรค์
ทุกวันนี้มีเพจเฟซบุ๊กของพระชื่อดัง ให้เราได้อ่านคติธรรมที่จรรโลงใจ
ทุกวันนี้มีพอดแคสต์ของพระชื่อดัง ให้เราได้ฟังธรรมะช่วยเตือนสติ
ทุกวันนี้มีช่องยูทูบของพระชื่อดัง ให้เราได้ชมรายการสอนธรรมะดี ๆ
ทุกวันนี้มีพระสงฆ์เรียนจบปริญญาเอกหลายรูป เพื่อต้องการเรียนวิชาทางโลก ไม่ใช่แค่ทางธรรม
ศาสนาและธรรมะได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามยุคสมัยแล้ว
แต่หากย้อนมองแนวคิดของสำนักงานพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะผ่านไปกี่สิบปีก็ยังคงเหมือนเดิม คือตั้งศาสนาไว้สูงจนห้ามแตะต้อง ห้ามคิดต่าง ห้ามสงสัย ห้ามวิจารณ์ ในขณะเดียวกันอีกมุมหนึ่งของสังคมไทยก็ยังมีการบูชากราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์สารพัดอย่าง ตั้งแต่ไม้ตะเคียนทอง หัวปลีคล้ายพญานาค จิ้งจกสองหาง จนถึงลูกวัวสามขา และปลัดขิก ตรงนี้ผู้เขียนขอไม่ก้าวล่วง เพราะเป็นความเชื่อส่วนบุคคล
แต่เหตุใดสำนักงานพระพุทธศาสนาจึงมุ่งเน้นสอนให้ “ยึดติด” ทั้งที่จริงแล้วพระพุทธเจ้าไม่เคยให้สร้างพระพุทธรูป รูปเคารพสักการะ หรือเครื่องรางของขลังใด ๆ เพราะพระพุทธศาสนาที่แท้จริงคือพระธรรมคำสอน การนำหลักธรรมไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต
การที่หน่วยงานออกโรงปกป้องห้ามแตะต้องศาสนาขนาดนี้นี่แหละ จะยิ่งทำให้ “ศาสนาห่างไกลจากผู้คน”
ไม่ต่างจากการทำงานของกระทรวงวัฒนธรรม ที่ห้ามแตะต้องวัฒนธรรมไทย สั่งแบนท่ารำไทยในเกม
แทนที่ศาสนากับศิลปะจะช่วยจรรโลงจิตใจผู้คนและหมุนไปกับโลกที่เปลี่ยนไป
แต่แนวคิดล้าสมัยของหน่วยงานเหล่านี้นี่แหละที่ดึงให้ผู้คนจมปลักอยู่กับความเชื่อและค่านิยมเดิม ๆ ของพวกเขา
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส