30 เมษายน 2539 คือวันที่อัลบั้ม ‘โล โซไซตี้’ (Lo-Society) อัลบั้มชุดแรกของวงร็อกไทยที่เป็นหนึ่งในตำนานของวงการเพลงบ้านเราได้ออกวางจำหน่ายให้แฟน ๆ ชาวไทยได้สดับฟัง นี่คือปฐมบทแห่งตำนานของวงการเพลงร็อกไทยที่มีชื่อว่า ‘โลโซ’ และในวันนี้ ‘โล โซไซตี้’ ก็มีอายุครบเบญจเพสพอดี
‘โลโซ’ เกิดขึ้นจากการหลอมรวมกันอย่างลงตัวขั้นสุดของคนดนตรีทั้ง 3 เสก- เสกสรรค์ ศุขพิมาย (ร้องนำ, กีต้าร์) , ใหญ่ – กิตติศักดิ์ โคตรคำ (กลอง, ร้องนำ), รัฐ- อภิรัฐ สุขจิตร์ (เบส, ร้องประสาน) สมาชิกแต่ละคนล้วนแล้วแต่มีความสามารถขั้นเอกอุ ทั้งเสกที่แต่งเพลงเอง ร้องเอง อีกทั้งลีลาการเล่นกีตาร์ในเพลงเร็วก็ช่างร้อนแรงเร้าใจในเพลงช้าก็ช่างอ่อนหวานละมุนเศร้า เรียกได้ว่ามีความเป็นเอกลักษณ์อย่างโดดเด่น หาใครเทียบเทียมไม่ได้อีกแล้ว ส่วนใหญ่และรัฐก็คือหนึ่งในมือกลองและมือเบสที่ยอดเยี่ยมที่สุดของเมืองไทย การเป็นวง 3 ชิ้นนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายน้อยนักที่เราจะเห็นความลงตัวเช่นนี้
โลโซได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ ‘เสก’ เด็กหนุ่มผู้หลงใหลในดนตรีอัลเทอร์เนทีฟร็อก ได้เข้าสู่เส้นทางสายดนตรีโดยการตระเวนเล่นดนตรีตามผับในหลายจังหวัดในขณะเดียวกันก็ได้ไปเรียนงานช่างไฟฟ้าที่วิทยาลัยสารพัดช่างนครราชสีมาจึงทำให้ได้พบกับเพื่อนนักดนตรีอาชีพเดียวกันนั่นคือ ‘รัฐ’ และ ‘ใหญ่’ ความรักในเสียงดนตรีได้ผูกสัมพันธ์ทั้ง 3 เข้าด้วยกัน จนตัดสินใจฟอร์มวงดนตรี 3 ชิ้นในแบบเดียวกันกับวงดนตรีที่เป็นตำนานแห่งวงการอัลเทอร์เนทีฟร็อก ‘Nirvana’ นั่นเอง แต่พวกเขาไม่ได้จะมุ่งไปสู่นิพพาน หากแต่ตั้งใจจะเป็นตัวแทนของ ‘คนธรรมดาสามัญ’ เดินดินกินข้าวแกงที่จะใช้เสียงดนตรีเป็นกระบอกเสียงในการเล่าเรื่องราวและถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกออกมา พวกเขาเลยตัดสินใจตั้งชื่อวงดนตรีของพวกเขาว่า ‘โลโซ’
หลังจากตั้งวงแล้ว ในปลายปี พ.ศ. 2537 โลโซได้ย้ายเข้ามาเล่นดนตรีในกรุงเทพฯ และมีเหตุให้ต้องแยกย้ายกันไปช่วงหนึ่ง ก่อนที่จะกลับมารวมตัวกันใหม่เพื่อทำเดโมไปเสนอค่ายเพลงต่าง ๆ แต่ก็ถูกปฏิเสธ อาจด้วยเพราะภาพลักษณ์ที่ ‘โลโซ’ ของพวกเขาซึ่งแตกต่างจากศิลปิน ดารา นักร้องในยุคนั้น จน แท่ง – ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง ได้ชักชวนวงโลโซมาเป็นวงแบ็กอัปและได้ออกอัลบั้มเพลงชุด ‘เด็กหลังห้อง’ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2539 ภายหลังจากนั้นแท่งจึงแนะนำเสกให้เสนอเดโมกับค่ายมอร์ มิวสิกของ ‘อัสนี โชติกุล’ หนึ่งในตำนานของวงการเพลงร็อกไทย ซึ่งเป็นค่ายที่เพิ่งเปิดมาใหม่ ด้วยความแปลกใหม่และเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนวงดนตรีใดของไทยในช่วงเวลานั้น ในที่สุดโลโซก็ได้พัฒนาเดโมของพวกเขาไปสู่งานอัลบั้มชิ้นเอก ที่พิสูจน์ว่าความสามารถของพวกเขานั้นมีค่าราคาที่ ‘ไฮโซ’ เลยทีเดียว
‘โล โซไซตี้’ (Lo-Society) ใช้เวลาบันทึกเสียงประมาณ 20 วันในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 ที่ห้องบันทึกเสียงบัตเตอร์ฟลาย โดยมีพิเชษฐ์ เครือวัลย์ (Y NOT 7) เป็นโปรดิวเซอร์ร่วมกันกับวง โดยแนวดนตรีในอัลบั้มชุดนี้จะออกไปในแนวกรันจ์ให้อารมณ์แบบซีแอตเทิลซาวด์เหมือนกับวง Nirvana และก็จะมีเพลงบางเพลงในอัลบั้มที่จะโดดเด่นไปทางเฮฟวี่เมทัลจัด ๆ เลยอย่างเพลง “คน (2)” ในอัลบั้มชุดนี้เรียกได้ว่าลงตัวทั้งในส่วนของเพลงเร็วและเพลงช้า รวมไปถึงเนื้อหาของเพลง ในอัลบั้มนี้มีเพลงที่ต่อไปกลายเป็นเพลงฮิตอมตะตลอดกาลมากมายไม่ว่าจะเป็น “ฉันหรือเธอ (ที่เปลี่ยนไป)”, “ไม่ต้องห่วงฉัน”, “เราและนาย”, “ไม่ตายหรอกเธอ”, “อยากบอกว่าเสียใจ” และ “คุณเธอ” (เรียกได้ว่าฮิตเกือบทั้งอัลบั้ม) ทำให้อัลบั้มชุดนี้ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีมาก ๆ จากแฟนเพลงชาวไทยมียอดขายเกินล้านตลับจนต้องเปลี่ยนปกและทำออกมาขายอีกครั้ง (พร้อมโบนัสแทร็ก)
ความสำเร็จของโลโซนั้นมีด้วยกันหลายปัจจัย หากเป็นปัจจัยแวดล้อมก็อยู่ที่ความเฟื่องฟูของกระแสเพลงอัลเทอร์เนทีฟในไทยที่ตอนนั้นกำลังได้รับความนิยม เพราะคนไทยเริ่มเบื่อกับเพลงพอปหรือเพลงเมนสตรีมทั่วไปและเริ่มตื่นเต้นกับงานเพลงใหม่ ๆ จากศิลปินอัลเทอร์เนทีฟในยุคนั้น ส่วนปัจจัยภายในก็อยู่ที่ความสามารถและความโดดเด่นของวงเอง ที่เป็นวง 3 ชิ้นที่ซาวด์ดนตรีออกมาแน่นเข้มข้นถึงใจ สมาชิกแต่ละคนมีฝีมือขั้นเทพทำให้แต่ละรายละเอียดดนตรีมีความน่าสนใจไม่ว่าจะเพลงช้าหรือว่าเพลงเร็ว ทำให้เกิดความสนุกทั้งในฐานะผู้ฟังและคนที่ได้แกะเพลงของโลโซเล่น อย่างเพลง “คุณเธอ หรือ “I wanna love you” นี่คือความกรันจ์ร็อกในแบบไทยที่ดุเดือดเร้าใจยิ่งนัก ไม่ว่าจะริฟฟ์หรือไลน์โซโลช่างดุเดือด หรือจะเป็นเพลง “คน (2)” ก็มาในท่วงทำนองของเฮฟวีเมทัลที่เดือดดาลมาก ๆ พร้อมท่อนโซโล่ได้ใจสายปั่น
ส่วนการแต่งเพลงของเสกนั้นก็มีความเรียบง่ายทั้งในท่วงทำนองและเนื้อร้องที่เข้าถึงใจผู้ฟังทุกชั้นชน เป็นบทเพลงที่มีความเป็น “มนุษย์” อย่างถึงที่สุดและเชื่อมโยงกับคนฟังได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น “อยากบอกว่าเสียใจ” เพลงเศร้าเหงากรีดใจถ่ายทอดอารมณ์ของคนที่เคยพลั้งผิดคิดทอดทิ้งความรักแท้ไป เสียงร้องของเสกและเสียงกีตาร์พาใจเปลี่ยวเหงานัก “ไม่ตายหรอกเธอ” อารมณ์เจ็บลึกของคนโดนลวงหลอก เพลงนี้เสกร้องออกมาได้ดีมาก ๆ ท่อนร้องมาแบบนิ่ม ๆ เหงา ๆ ส่วนท่อนฮุคนั้นดันอารมณ์ได้เศร้าสุด อินเนอร์มาเต็มเสียงร้องสากแตกพร่าเจ็บปวด หรืออย่างในเพลง “เราและนาย” บทเพลงแห่งมิตรภาพอมตะนิรันดร์กาล เพลงประจำงานปัจฉิมทั่วหล้า ก็เป็นอีกเพลงหนึ่งที่อยู่ในใจแฟนเพลงตลอดมา ยิ่งในเวลาที่ทุกคนคิดถึงการกลับมารวมตัวกันอีกครั้งของโลโซยุคดั้งเดิมเพลงนี้ก็ยิ่งเป็นเหมือนสัญลักษณ์ในมิตรภาพของทั้ง 3 คน
การร้องของเสก โลโซนั้นนับว่ามีเอกลักษณ์เป็นที่จดจำอีกทั้งยังเข้าถึงอารมณ์สื่อสารหัวใจของบทเพลงออกมาได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นฝั่งเพลงเร็วที่เสกจะร้องออกมาได้อย่างกร้าวดิบเดือด ร้อนแรงเร้าใจ ส่วนในฝั่งเพลงช้าก็เหงาเศร้าร้าวรานดิ่งลึกหรืออ่อนหวานละมุนเศร้าเรียกได้ว่าไม่ว่าจะอารมณ์ไหนก็ไปสุดในอารมณ์นั้น อย่างในเพลงที่มี 2 เวอร์ชันให้ได้ฟังกันในอัลบั้มอย่าง “ฉันหรือเธอ (ที่เปลี่ยนไป) ที่มีเวอร์ชันอะคูสติก กับเวอร์ชันร็อกเร้าใจ หรือในเพลง “ไม่ต้องห่วงฉัน” ที่มีเวอร์ชันธรรมดาที่เป็นอะคูสติกเหงาๆ กับเวอร์ชันโดด ! เราก็จะเห็นเลยว่าในเพลงเดียวกันแต่มีการตีความแตกต่างกัน ถ่ายทอดอารมณ์ที่แตกต่างกัน มันก็ให้รสชาติที่อิ่มเอมแตกต่างไปในแต่ละแนวทางทำให้รู้สึกสนุกหูมากที่ได้ฟังเพลงหนึ่งเพลงที่มีการดีไซน์ให้แตกต่างกันแบบนี้ นอกจากนี้เพลงของโลโซยังมีการเรียบเรียงดนตรีที่ดีมาก กลมกล่อมลงตัว การเติมอะไรเข้ามานั่นคือมาได้แบบถูกที่ถูกทางแล้ว เช่นการเติมเสียงเครื่องสายในเพลง “ไม่ต้องห่วงฉัน” หรือ “ไม่ตายหรอกเธอ” ที่เติมมาในจังหวะที่เข้าท่าลงตัว เสริมอารมณ์เพลงได้อย่างถึงขีด
นอกจากนี้เพลงของโลโซยังมีการใช้ถ้อยคำน่าสนใจเข้าใจง่ายแต่ก็มีความคมคาย อย่างในเพลง”ขับรถให้มันตามกฏ” ซึ่งเป็นเพลงที่ไลน์เบสมีความโดดเด่นมาก เพลงนี้เสกเอาชื่อถนนและย่านต่าง ๆ ในกรุงเทพ ฯ มาร้อยเรียงกันเป็นเนื้อเพลงได้อย่างสุดครีเอทเรียกได้ว่าเอามาเกือบจะทุกที่แล้ว “รามอินทรา ประชาชื่น งามวงศ์วาน คลองเตย ลาดยาว รัชดา ลาดพร้าว สุขุมวิท เพชรบุรี อโศก ซอยเสนา สุขาภิบาล ถนนวิภาวดี ทั้ง นครชัยศรี ถึงบางกอกน้อย รถมันก็ติด ที่ไหน ก็เหมือนกัน” หรือในเพลง “ดาว” บทเพลงที่มาพร้อมไลน์กีตาร์ล่องลอย ที่โลโซถ่ายทอดอารมณ์ปรารถนาของการไขว่คว้าตามหาฝัน ก็มีการใช้ภาษาที่สวยงามคมคาย ”มองดวงดาวที่อยู่บนพื้นน้ำ มันก็เป็นแค่เงาของดาว เพียงแค่เงา ของดาว” หรือเพลง “ฉันหรือเธอ (ที่เปลี่ยนไป)” ที่พูดเรื่องที่เพลงอื่นก็เคยพูดแล้วอย่างการเลิกลากัน การเปลี่ยนใจไปจากกัน แต่ในเพลงนี้มีการดึงเอามุมมองของคนที่อยู่ในช่วงเวลานั้นที่ตั้งคำถามกับความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานว่ามันเกิดขึ้นจากอะไร “หรือฉันเองที่ผิด ที่คิดมีใจให้กับเขา หรือเธอหูเบา จึงทำให้เราบาดหมาง คิดแยกทาง กันไป” ก่อนที่จะพาเราไปสู่บทสรุปในตอนท้ายเพลงว่า “ชีวิตของลูกผู้ชาย หนึ่งคน มันสับสน เพราะใจ เธอแปรเปลี่ยน”
หากมองวง ‘โลโซ’ และอัลบั้ม ‘โล โซไซตี้’ เป็นคนหนึ่งคน ตอนนี้ก็คงเป็นหนุ่มฉกรรจ์วัย 25 ที่อยู่ในวัยเบญจเพส ซึ่งดูเหมือนว่าหนุ่มคนนี้ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวในชีวิตมาเกือบครบทุกรสชาติแล้ว ได้เอื้อมคว้าดาวที่ปรารถนาไว้ได้ดังใจ ได้เดินทางผ่านเรื่องราวต่าง ๆ มามากมายซึ่งหลายสิ่งก็อาจกลายเป็นเพียงความทรงจำ แต่ถึงอย่างนั้นการเดินทางก็ยังไม่จบสิ้นยังมีเส้นทางที่ทอดยาวไปข้างหน้าซึ่งแฟนเพลงของโลโซเองก็คงคาดหวังไว้ไม่มากก็น้อยที่จะได้พบกับข่าวดี ไม่ว่าจะเป็นการกลับมาเล่นคอนเสิร์ตด้วยกันอีกครั้งของสมาชิกโลโซทั้ง 3 หรือหากไม่หวังมากเกินไปเราก็อาจจะได้ฟังผลงานดี ๆ จากพวกเขากันอีกสักที แต่ตอนนี้ก็คงต้องขอย้อนกลับไปฟังอัลบั้ม ‘โล โซไซตี้’ ที่เป็นปฐมบทตำนานความร็อกของ ‘โลโซ’ ให้สะใจกันอีกสักครั้ง.
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส