ผลงานอัลบั้มเต็มชุดแรกของสองพี่น้อง สายฟ้าและห่าฝน ‘อัสนี-วสันต์’ โชติกุล ศิลปินระดับตำนานของวงการเพลงไทย ‘บ้าหอบฟาง’ คืออัลบั้มเต็มชุดแรกของสองพี่น้องหลังจากที่ออกผลงานในนามวง ’อีสซึ่น’ มากว่า 5 อัลบั้ม
อัลบั้ม ‘บ้าหอบฟาง’ ออกมาครั้งแรกในปี พ.ศ. 2529 กับทางค่ายไนท์สปอต มีทั้งหมด 9 เพลงด้วยกัน แต่ต่อมาได้ถูกทำออกมาอีกหลายเวอร์ชัน ได้แก่เวอร์ชันปี 2530 ที่ออกกับค่ายไนท์สปอตมีการเพิ่ม backing track ไว้ในช่วงท้ายของม้วนเทปของทั้ง 2 หน้าหน้า A เป็นเพลง “เดือนเพ็ญ” และ “กาลเทศะ” หน้า B เป็นเพลง “บ้าหอบฟาง” และ “น้ำเอย น้ำใจ” เวอร์ชันปี 2541ออกกับทางจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และ มอร์ มิวสิค หลังจากได้ลิขสิทธิ์กลับมาเป็นของตัวเอง จึงออกวางจำหน่ายอีกครั้งในเวอร์ชันปกกระดาษ มีการเรียงลำดับชื่อเพลงใหม่และเพิ่มเวอร์ชัน live ของเพลง “บ้าหอบฟาง” และ “ไม่เป็นไร” เข้าไป ส่วน backing track ที่เพิ่มมาในเวอร์ชันก่อนนั้นไม่มีแล้ว ส่วนเวอร์ชันปี 2559 เป็นการจำหน่ายในรูปแบบดิจิทัลดาวน์โหลดโดยมิวสิกมูฟเอนเตอร์เทนเมนต์ มีการเรียงลำดับเพลงตามเวอร์ชันปี 2541
การเดินทางบนเส้นทางสายดนตรีของ ป้อม – อัสนี และ โต๊ะ – วสันต์ สองพี่น้องจากจังหวัดเลยเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2517 ที่ทั้งสองได้เข้ามาศึกษาต่อในกรุงเทพ ฯ และได้ร่วมเข้าประกวดวงดนตรีโฟล์คซองจนได้รับรางวัลชนะเลิศ อาจารย์ วิมล จงวิไล ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการจึงพาไปอัดเสียงและเป็นจุดกำเนิดของวงอีสซึ่น มีผลงานเพลงดังอย่าง “แม่สาวตางาม”, “พบกันหน้าสยามสแควร์” และ “หนึ่งมิตรชิดใกล้” ออกผลงานด้วยกันกับวงมา 5 อัลบั้มก่อนที่ทั้งคู่จะผันตัวมาทำงานเบื้องหลังและออกผลงานคู่กันในนาม ‘อัสนี-วสันต์’ กับอัลบั้มที่มีชื่อว่า ‘บ้าหอบฟาง’
‘บ้าหอบฟาง’ ของ ‘อัสนี-วสันต์’ คือ อัลบั้มที่อาจเรียกได้ว่ามาก่อนกาล ด้วยการทำเพลงในแนวทางที่แปลกใหม่ ด้วยการใส่อิทธิพลของดนตรีตะวันตกเข้าไปอย่างเข้มข้น แต่ก็แฝงเอาไว้ด้วยเอกลักษณ์ความเป็นไทยผ่านทางการใช้คำใช้ภาษาในเนื้อร้องและท่วงทำนองของดนตรีที่มีการเติมลวดลายและลีลาที่สะท้อนความเป็นไทยได้อย่างดี
เมื่อแรกฟัง ‘บ้าหอบฟาง’ หากใครเคยฟังอัลบั้ม ‘แดนศิวิไลซ์’ ของ ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ มาก่อน อาจจะรู้สึกว่าแนวดนตรีและซาวด์นั้นมีความคล้ายคลึงกัน เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะทั้งสองอัลบั้มต่างควบคุมการผลิตโดยศิลปินคนเดียวกันนั่นคือ ป้อม อัสนี นั่นเอง ในปี พ.ศ. 2528 อัสนีไปโปรดิวซ์อัลบั้มให้ธเนศและบันทึกเสียงกันที่อังกฤษ กลับมาถึงไทยก็หิ้วเครื่องมือเครื่องไม้พะรุงพะรัง โต๊ะ วสันต์เห็นจึงเอ่ยออกมาว่านี่มัน ‘บ้าหอบฟาง’ ชัด ๆ หนึ่งปีต่อมา ‘บ้าหอบฟาง’ ก็กลายมาเป็นบทเพลงที่คมคายและพัฒนากลายมาเป็นอัลบั้มชุดแรกและชุดมาสเตอร์พีซของสองศรีพี่น้องจากแดนเลย ‘อัสนี-วสันต์’ นั่นเอง
“บ้าหอบฟาง”
ขอเล่าถึงเพลงแต่เพลงในอัลบั้มกันสักหน่อย โดยไล่ตามการเรียงของเวอร์ชันต้นฉบับ เปิดมาแทร็กแรกด้วยไตเติลแทร็ก “บ้าหอบฟาง” เสียงกลองอินโทรขึ้นดังก้องกัมปนาท รุกเร้าใจให้ตื่นตัว ก่อนที่เสียงซินธ์จะเข้ามาอย่างโดดเด่นและจะเด่นต่อไปอีกทั้งอัลบั้ม จากนั้นกีตาร์และไลน์อื่น ๆ ก็เข้ามาเติมความสมบูรณ์ในท่วงทำนองของโปรเกรสซีฟร็อก เนื้อหาของเพลงเปรียบเปรยฟางกับเงินตราเป็นการเสียดสีระบบทุนนิยม / บริโภคนิยมที่ผู้คนกำลังลุ่มหลงในวัตถุและการสั่งสมสิ่งของที่ปองปรารถนากันอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ในบทเพลงนั้นบอกไว้ว่า ‘ฟาง’ (เงิน) จะเป็นของดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้มันอย่างไร “ฟางอาจจะเป็นของดี จะเป็นของที่พอใจ แล้วแต่ว่าอยู่ในมือใคร อยากได้อะไรในใจ”
“ไม่เป็นไร”
มาในท่วงทำนองฮาร์ดร็อกสุดเร้าใจที่ได้ ‘กีตาร์คิง’ แหลม มอร์ริสัน วาดลวดลายลีลาอันเร่าร้อนบนสายทั้ง 6 ของกีตาร์ เราเริ่มสังเกตเห็นถึงการใช้คำแบบไทย ๆ ตั้งแต่ในเพลงนี้เลย อย่างเช่นคำว่า ‘โศกา’ และมีการวางคำเหมือนกาพย์กลอนไทย ซึ่งในท่อนร้องของเพลงนี้วางแต่ละวรรคแต่ละท่อนเป็น 6 พยางค์เท่ากันหมด “ไม่เป็นไรให้เขาไป มัวเสียใจเสียเวลา เกิดมาแล้วอย่าโศกา ปัญหามาปัญญามี” เนื้อหาของเพลงเป็นการให้กำลังใจ ให้คนเราสู้ต่อไปอย่าสนใจในคำตำหนิ ติฉิน นินทา ว่าร้าย เพลงนี้ได้ ‘แอ๊ด คาราบาว’ มาร่วมแจมร้องแบบสลับท่อนกับอัสนีด้วย (และจะมาแจมอีกสองเพลงคือ “น้ำเอย น้ำใจ” และ “วันนี้ วันดี วันที่เป็นไท”)
“เดือนเพ็ญ”
จากต้นฉบับเพลง “คิดถึงบ้าน” ของ ‘นายผี’ หรือ ‘อัศนี พลจันทร’ นักประพันธ์และนักปฏิวัติชาวไทยที่เขียนเพลงนี้ไว้เมื่อครั้งต้องใช้ชีวิตห่างไกลจากถิ่นฐานบ้านเกิดเพื่อเดินตามอุดมการณ์ที่มีในหัวใจ ด้วยความรักและความคิดถึงที่มีจึงกลั่นออกมาเป็นถ้อยทำนองที่หวานละมุน แต่ก็เปลี่ยวเหงาเศร้าคว้างอยู่ในคราวเดียวกัน เมื่อฟังครั้งใดเราจะรู้สึกได้ถึงบรรยากาศของความเหน็บหนาวและค่ำคืนอันเปลี่ยวเหงาใต้เงาจันทร์ได้ในทันที ทำให้เพลงนี้กลายเป็นสุดยอดของ ‘บทเพลงเพื่อชีวิต’ เพลงนี้ถูกบันทึกเสียงครั้งแรกโดยวง ‘คาราวาน’ ในอัลบั้ม “บ้านนาสะเทือน” (2526) ต่อมา ‘คาราบาว’ ได้นำมาบันทึกเสียงอีกครั้ง มีการสลับเนื้อร้องและเปลี่ยนชื่อเป็น ‘เดือนเพ็ญ’ และอยู่ในอัลบั้ม “กัมพูชา” ท่วงทำนองของเพลงนี้จับใจถึงขนาดที่ว่า ‘โยชิกิ ฮายาชิ’ แห่งวง X Japan ต้องนำมาบรรเลงเปียโนให้ได้ฟังกันสด ๆ เมื่อครั้งมาเล่นคอนเสิร์ตในเมืองไทย
สำหรับเวอร์ชันของอัสนี-วสันต์นั้นมีความแตกต่างจาก 2 เวอร์ชันที่กล่าวมาพอสมควรทั้งความ mellow ของซาวด์ที่กลมกล่อมนุ่มนวลชวนเหงา แค่ขึ้นกีตาร์อินโทรมาก็เคลิ้มแล้ว เสียงกีตาร์กับเครื่องสายและซินธ์ลอยมาไกล ๆ ล่องระบายบรรยากาศของความคิดถึงอันอ่อนหวานฟุ้งฝันให้คลุ้งไปในท่วงทำนองแกมด้วยเสียงร้องประสานหญิง (ที่มี ‘นิ่ม สีฟ้า’ นักแต่งเพลงชื่อดังร้องอยู่ด้วย) อีกทั้งท่อนโซโลกีตาร์ที่เท่บาดใจสุด ๆ เรียกได้ว่านี่คือบทเพลงแห่งความคิดถึงอันงดงามและเหน็บหนาวที่สุด
ถึงแม้อัสนี-วสันต์จะไม่ใช่วงดนตรีเพื่อชีวิตแต่การที่มีเพลง “เดือนเพ็ญ” อยู่ในอัลบั้มนั้นถือได้ว่ามีความเหมาะเจาะเหมาะควรมาก ไม่ว่าจะด้วยท่วงทำนองที่มีความเป็นไทยเดิม และการเลือกสรรถ้อยคำที่มีความงาม ก็เข้ากันดีกับสไตล์งานของอัสนี-วสันต์มาก นับว่าเป็นเวอร์ชันที่งดงามและอีกหนึ่งแทร็กที่ถึงแม้จะไม่ได้ออริจินัลแต่ก็เป็นหนึ่งในไฮไลต์ของอัลบั้มนี้เลย
“กาละเทศะ”
อีกหนึ่งเพลงที่มีความเป็นไทยอย่างเด่นชัดทั้งในท่วงทำนองของภาษาและเนื้อหา ในภาคดนตรีนั้นมีความเป็นซินธ์ร็อกโดดเด่นด้วยไลน์ซินธ์ที่เล่นไปกับเบสและกลอง เพลงนี้ได้ ‘กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา’ แห่งตำนานวงโปรเกรสซีฟไทย ‘บัตเตอร์ฟลาย’ มาร่วมโปรดิวซ์ด้วย เนื้อหาของเพลงเหมือนเป็นการกระตุ้นเตือนให้เราระลึกถึงเรื่องสำคัญในการใช้ชีวิตนั่นคือการรู้การกระทำอันควรตามสถานที่และเวลาซึ่งก็คือรู้ ‘กาละ และ เทศะ’ นั่นเอง ในเนื้อร้องมีการใช้คำซ้อนเข้ามาสร้างสีสัน เช่น “กาละกาเล” “เทศะเทศา” “รู้เพลารู้เพลง” “วาจะวาจา” รวมไปถึงการใช้สุภาษิตคำพังเพยอย่าง “น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ” มาปรับใช้ในท่อน “วาจะวาจารู้ท่ารู้ทาง น้ำเชี่ยวเรือขวางตัวอย่างรู้กัน” พอได้เสียงร้องประสานหญิงเข้ามาทำให้โดยรวมแล้วอารมณ์เหมือนเราฟังขับเสภาหรือขับกลอนกัน
“เพลงของเขา”
เป็นเพลงช้า ๆ อารมณ์ร็อกเจือกลิ่นเศร้าเล็ก ๆ ในท่อนฮุคมีการเร้าจังหวะให้เร้าใจขึ้น เนื้อหาของเพลงสะท้อนการเดินทางต่อสู้ของคนในชนบทที่เข้ามาทำงานในเมืองกรุง ฯ พานพบกับความยากลำบากนานารวมไปถึงการเหยียดจากคนกรุงว่าเรานั้นเป็นคนบ้านนอก บทเพลงบอกไว้ให้สู้ต่อไปอย่าหลงไปเปรียบเปรยไปสนใจในคำดูถูก “รับรู้ไว้จงอย่าหลงไปเปรียบเปรย แม้ว่าเขาจะเยาะเย้ยคนถิ่นไกล รับรู้ไว้ในจิตใจ นะเพื่อนเอย เพราะสิ่งนั้นก็เลยได้แต่อดสู”
“น้ำเอย น้ำใจ”
บทเพลงที่เราได้ยินบ่อย ๆ เวลามีโครงการปันน้ำใจต่าง ๆ เป็นบทเพลงที่มาในท่วงทำนองบัลลาดอันไพเราะ มีแอ๊ด คาราบาวมาร้องในท่อนฮุค “น้ำเอยน้ำใจ ของใครให้มา เหมือนการพึ่งพา ภาษาความเข้าใจ” ทั้งเสียงร้อง เสียงประสาน เสียงกีตาร์ เสียงเครื่องดนตรีนานา และการวางถ้อยคำวางภาษาเป็นอะไรที่น่าประทับใจและชวนจดจำมาก
“วันนี้ วันดี วันที่เป็นไท”
บทเพลงปลุกใจให้รักชาติ และภาคภูมิใจในความเป็นไทย โดดเด่นด้วยเสียงกู่ร้อง “โอ…โว้ เอ๊โอ…โว้” ที่คลอไปกับเสียงสับคอร์ดและกลองหนักแน่นกับอารมณ์ดนตรีโปรเกรสซีฟ และการใช้ลูกเล่นคอร์ดเมเจอร์ต่อไมเนอร์ (Fmaj7 ต่อ F#m7) ให้บรรยากาศที่ดูเท่และลึกลับในคราวเดียวกัน แถมไลน์กีตาร์ในเพลงนี้ยังมีลีลาคล้ายลายพิณฟังแล้วได้อารมณ์
“สมชายกล้าหาญ”
มาในลีลาของซินธ์ร็อกถ่ายทอดชีวิตของชายธรรมดาสามัญคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอย่างอาจหาญและภาคภูมิ สมชื่อ ‘สมชาย’ เพลงนี้เหมือนเป็นปฐมบทของบทเพลง “สมชาย” ของเต๋า สมชาย เข็มกลัด “สมชาย นี่คือสมชาย นี่คือสมชาย สมชาย กล้าหาญ”
“บอกแล้ว”
บทเพลงสนุก ๆ ปิดท้ายด้วยท่วงทำนองของร็อกแอนด์โรล เป็นเพลงจีบสาวในลีลากวน ๆ นิด ๆ ประมาณว่าฉันบอกเธอแล้วว่าเขาไม่จริงใจ อย่าไม่มัวจริงจังเสียเวลา มาคบกับฉันสิไม่เคยลวงเคยหลอก แต่เธอก็ไม่ฟังเอาแต่ขังหัวใจเอาไว้ในความช้ำอยู่นั่นล่ะ !
‘บ้าหอบฟาง’ นับเป็นหลักหมายสำคัญของวงการดนตรีไทย ที่ในปีนี้ก็มีอายุร่วม 35 ปีแล้ว แต่ด้วยความละเมียดละไมและเอกลักษณ์ของงานชิ้นนี้ก็ยังทำให้มีความน่าสนใจ น่าสดับฟัง น่าศึกษาเรียนรู้อยู่เสมอ ทั้งในรายละเอียดของดนตรีเนื้อหาการใช้ถ้อยคำและภาษาที่เรียกได้ว่าเข้าขั้น ‘คลาสสิก’ เป็นตัวอย่างอันดีของการใช้ดนตรีตะวันตกมาผสมกับรากฐานของความเป็นไทย อัสนี-วสันต์ทำให้เราเห็นเลยว่าเพลงร็อกไทยนั้นมีลีลาและรสชาติที่น่าประทับใจเพียงใดและเอกลักษณ์ในงานเพลงชุดนี้ก็ยังคงถูกสานต่อให้ได้เห็นในอัลบั้มชุดต่อ ๆ ไปจนเป็นลายเซ็นของสองพี่น้อง ‘อัสนี-วสันต์’ ที่ได้สร้างความประทับใจให้กับแฟน ๆ ชาวไทยในที่สุด
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส