อาร์เอส คือ ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่แห่งวงการเพลงไทยที่สร้างสรรค์งานเพลงฮิตประดับวงการไว้มากมาย เป็นค่ายเพลงที่สร้างประวัติศาสตร์ให้กับวงการเพลงไทยและให้กำเนิดศิลปินที่ประสบความสำเร็จมากมาย อย่างน้อยในช่วงวัยรุ่นของผู้ใหญ่สักคนในวันนี้คงจะต้องเคยเติบโตมาพร้อมกับบทเพลงของอาร์เอสเป็นแน่แท้ และผู้ที่อยู่เบื้องหลังค่ายเพลงระดับตำนานค่ายนี้ก็คือ ‘สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์’ หรือที่ใคร ๆ ต่างรู้จักกันในนามว่า ‘เฮียฮ้อ’
รายการป๋าเต็ดทอล์ก EP.58 ป๋าเต็ดได้ชวน ‘เฮียฮ้อ’ มานั่งสนทนาอย่างเข้มข้นถ่ายทอดเรื่องราวเส้นทางชีวิต มุมมองความคิดของเจ้าของค่ายเพลงระดับตำนานท่านนี้ ได้รู้เรื่องราวในแง่มุมต่างๆ ของค่ายเพลงอาร์เอสที่เราไม่เคยได้รู้มาก่อน อีกทั้งยังได้เรียนรู้มุมมองทางธุรกิจที่ยิ่งกว่าไปหาอ่านจากตำราไหน ๆ เป็นตำรา ‘ไร้กรอบ’ ที่เกิดขึ้นจากการลงมือทำและเรียนรู้จากประสบการณ์
“ผมไม่เชื่อว่าเพลงมันมีเรื่องของดีไม่ดี ผมเชื่อว่าชอบหรือไม่ชอบ มันไม่มีอย่างอื่นเลย”
Passion to win หลงใหลในความสำเร็จ มุ่งมั่นเอาชนะทุกความท้าทาย
(คติประจำบริษัทอาร์เอสกรุ๊ปในปัจจุบัน)
- คตินี้เพิ่งเอามาใช้เมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา ถ่ายทอดให้เป็น motto ของพนักงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ในตัวเฮียฮ้ออยู่แล้วตั้งแต่เริ่มธุรกิจเมื่ออายุ 21
- การที่จะทำให้คนคนหนึ่งประสบความสำเร็จเรื่องทัศนคติ มายด์เซ็ต ความสามารถถือว่าเป็นสิ่งสำคัญแต่ถ้าไม่มีแพสชันมันยาก เฮียฮ้อกล่าวว่าความสามารถตามมาทีหลังมันต้องเริ่มจากแพสชันมาก่อน ถ้าแพสชันมันไม่หยุดมันสู้ไม่ถอย มันจะทำให้เราไปขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมในสิ่งที่เราขาดเอง
- เฮียฮ้อเกิดมาในครอบครัวที่ค่อนข้างยากจนมีพี่น้อง 7 คน ภายในครอบครัวคนจีนเฮียเป็นลูกคนกลางก็จะตามสูตรคือถูกมองข้าม จึงพุชตัวเองมาก ๆ และอยากมีชีวิตที่ดี เฮียจั๊วออกจากโรงเรียนแล้วมาทำงานหาเงินก่อน เฮียฮ้อจึงค่อยมาช่วยทีหลัง พออายุ 19 ก็มาบอกกับครอบครัวว่าอยากจะมาทำงานกับเฮียจั๊ว ไม่เรียนต่อแล้ว ธุรกิจแรกที่ทำคือเอาแผ่นเสียงมาใส่คาสเซ็ตต์ขาย เปรียบได้กับเพลงรวมฮิตในยุคนี้ซึ่งเป็นการเอาเพลงฮิตในแผ่นเสียงแต่ละแผ่นมารวมอยู่ในเทปหนึ่งม้วน
- เฮียฮ้อเป็นคนฟังเพลงเยอะมากตั้งแต่เด็กชอบเพลงยุค 60s ของฝรั่ง เช่น The Eagles, Bee Gees เพลงลูกทุ่ง เพลงจีน เป็นคนชอบฟังแต่ไม่ร้องเพลงหรือเล่นดนตรี
The beginning จุดเริ่มต้นของอาร์เอส
- เฮียฮ้อเริ่มตั้งค่ายเพลงอาร์เอสตั้งแต่อายุ 21
- โดยเริ่มต้นในช่วงที่ธุรกิจเพลงกำลังเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เฮียเคยทำคืออัดเพลงลงเทปนั้นกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย การทำธุรกิจตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันหลาย ๆ สิ่งมันเกิดขึ้นจากสถานการณ์และโอกาสทำให้เกิดอาจไม่ได้มาจากการวางแผน เมื่อมีกฎหมายลิขสิทธิ์เกิดขึ้นสิ่งที่เฮียฮ้อตัดสินใจจะทำก็คือ ‘การมีศิลปินเป็นของตัวเอง’
- ที่ไม่มองไปที่ธุรกิจอื่นก็เพราะเฮียเริ่มต้นมาจากจุดนี้ เลยเริ่มทำจากสิ่งที่กำลังทำอยู่แล้วขยายออกไปต่อยอดออกไป ตอนนั้นลงทุนไม่เยอะประมาณ 50,000 บาท คุณพ่อของเฮียเอาทองไปขายมาลงทุนให้ ตอนนั้นบาทละประมาณ 2-3 พันบาท ก็ไม่ประสบความสำเร็จตั้งแต่ทีแรกล้มลุกคลุกคลานอยู่
- วง ‘อินทนิล’ เป็นวงแรกของค่ายอาร์เอส ซึ่งเฮียเจอด้วยวิธีการเดินตามหาตามห้องซ้อมดนตรี เพราะในยุคนั้นไม่ได้มีเวทีประกวด จะมีอยู่ 2 ที่คือไม่ห้องซ้อมดนตรีก็ตามผับ เฮียเลือกไปห้องซ้อมเพราะว่าเฮียเป็นวัยรุ่นการเริ่มทำอะไรจากสิ่งที่ตัวเองรู้จักและใกล้ตัวน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด วงยุคแรกของอาร์เอสเลยเป็นวงที่วัยรุ่นมากและจะเป็นวงดนตรีหมดเลยไม่ค่อยมีศิลปินเดี่ยว
- อาร์เอสในยุคแรก ๆ เป็นบริษัทเล็ก ๆ ทำงานกันอยู่ไม่กี่คน คนนึงทำทุก ๆ อย่างที่ทำได้ ช่วยกันทำก็จะมีความสนุก
- จุดที่ทำให้รู้สึกว่าค่ายกำลังเติบโตและจะไปต่อได้ดีก็คือการมีอัลบั้ม ‘รวมดาว’ ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่เอานักร้องดัง ๆ มาร้องเพลง ‘สุนทราภรณ์’ ซึ่งเกิดขึ้นจากแนวคิดของเฮียที่อยากจะขยายฐานของตลาด เพราะโอกาสที่จะให้ผู้ใหญ่มาฟังเพลงของกลุ่มวัยรุ่นนั้นมันยาก ก็เลยเอา โปรดักต์ ที่มีอยู่มาแปลงให้เป็น โปรดักต์ อีกอย่างหนึ่งโดยที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก ตอนนั้นยังไม่มีนักร้องผู้หญิงก็เลยไปยืมตัววง ‘ปุยฝ้าย’ จากค่ายเมโทร อัลบั้มนี้ประสบความสำเร็จมาก ไม่เพียงแต่จะเข้าถึงผู้ฟังกลุ่มผู้ใหญ่แล้วในหมู่วัยรุ่นเองก็ชื่นชอบงานเพลงชุดนี้ด้วยมากเหมือนกัน และทำให้วัยรุ่นได้รู้จักกับเพลงของสุนทราภรณ์กลายเป็นผลพลอยได้ที่ดีมาก ๆ จนอัลบั้มนี้มียอดขายได้เป็น 1,000,000 ตลับ
- จากจุดนี้เลยทำให้เริ่มเห็นอนาคตของธุรกิจที่กำลังทำอยู่ ซึ่งจริง ๆ แล้วธุรกิจเพลงเป็นธุรกิจที่เสี่ยงเพราะต้องลงทุนออกไปก่อนทั้งหมดและต้องรอลุ้นว่าที่ลงทุนไปนั้นมันจะออกมาดีหรือไม่ดี ซึ่งในขั้นตอนการวางขายก็ต้องลงทุนเพราะว่าต้องไปฝากร้านค้ารายย่อยต่าง ๆ ขาย เพราะฉะนั้นเทปทั้งหมดที่ขายตามร้านต่าง ๆ นั้นล้วนเป็นเงินลงทุนของค่ายทั้งหมด แม้จะเสี่ยงแต่พอประสบความสำเร็จรีเทิร์นที่ได้รับก็คุ้มค่า อีกอัลบั้มหนึ่งที่ทำเงินหลังจากนั้นก็คือ ‘อริสมันต์’ ซึ่งช่วยปลดหนี้ที่ลงทุนไปของบริษัท
- การที่เฮียฮ้อไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องดนตรีไม่ได้เป็นปัญหาอันใดกับการบริหารค่ายเพลง ยิ่งดีเสียอีกเพราะทำให้ไม่มีกรอบ “บางทีไม่มีความรู้บางเรื่องมันทำให้เราไม่มีกรอบ”
“บางทีไม่มีความรู้บางเรื่องมันก็ทำให้เราไม่มีกรอบ”
- เวลาคุยกับนักร้องนักดนตรีเก่ง ๆ อย่าง ‘ชมพู ฟรุตตี้’ หรือศิลปินเก่ง ๆ คนอื่น เฮียก็จะใช้วิธีการบอกว่าอันนี้ไม่โดน อันนี้ไปแก้หน่อยนึง เค้าจะเชื่อหรือไม่เชื่อไม่รู้ แต่ความเป็นหัวหน้าเจ้าของค่ายก็สามารถสั่งได้ แต่เฮียก็เข้าใจว่าบางทีคนทำเพลงใช้เวลาเป็นอาทิตย์เป็นเดือนแต่เฮียใช้เวลาฟังแค่ 2- 3 นาทีก็ตอบไปตรงนั้นเลย เฮียจะตอบตอนนั้นเลยโดยทันทีใช้ความรู้สึกจากครั้งแรกที่ได้ฟังเสมอ“เพลงที่มันโดนก็เหมือนกับผู้หญิงสวย เดินมาปุ๊บคนต้องเห็นเลยว่าคนนี้มันเด้งกว่าคนอื่น” เพราะฉะนั้นเพลงบิ๊กฮิตฟังครั้งแรกมันต้องโดน แต่ถ้ามันยังไม่โดนมันอาจจะเป็นเพลงที่ 2 ที่ 3 ของอัลบั้ม หากถามถึงปัจจัยของคำว่าโดนมันเป็นเรื่องที่พูดยาก บางทีก็โดนที่คำร้อง บางทีก็ที่จังหวะเพลง บางทีก็มีพลาดเหมือนกันเรื่องเพลงโดน เช่นคิดว่าเพลงนี้จะดังแต่มันกลับกลายเป็นเพลงที่ 2 ส่วนเพลงที่ไม่ได้หวังว่าจะดังมันอาจจะดังมาก่อน แต่ส่วนใหญ่จะไม่ขนาดเพลงท้ายอัลบั้มแล้วมาเป็นเพลงฮิต
“เพลงที่มันโดนก็เหมือนกับผู้หญิงสวย เดินมาปุ๊บคนต้องเห็นเลยว่าคนนี้มันเด้งกว่าคนอื่น”
- การเลือกศิลปิน เฮียจะมองจากความน่าสนใจ คาแรกเตอร์ แล้วค่อยไปดูเรื่องเสียงร้อง ซึ่งอาจจะผิดสูตรนิดนึง ที่เฮียใช้วิธีนี้เพราะมองตัวเองเหมือนเป็นตัวแทนคนฟัง ตัวแทนผู้บริโภค ตัวแทนวัยรุ่นยุค 90s ซึ่งเกือบ 90% ถือว่าถูกต้องหมดกับการใช้ gut feeling (ความรู้สึกลึก ๆ ข้างใน) นี้
- แต่ด้วยวิธีนี้ก็ทำให้โดนวิจารณ์เหมือนกันว่าศิลปินของอาร์เอสนั้นขายหน้าตา ซึ่งตลอดระยะเวลาการทำธุรกิจมาเฮียก็โดนแซวโดนปรามาสมาตลอด แต่เฮียก็ไม่ได้สนใจเพราะเฮียมีวิธีคิดว่า ‘เราต้องรู้ก่อนว่าเราทำเพลงให้ใครฟัง’ ซึ่งเฮียมีความเชื่อว่ามันไม่มีเพลงไหนหรอกที่จะทำให้คนทุกคนชอบได้หมด เพราะฉะนั้นคนที่วิพากษ์วิจารณ์ก็คือคนที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย เฮียจึงใช้วิธีบอกกับทีมว่านั่นคือเสียงส่วนน้อย เพียงแต่เป็นเสียงส่วนน้อยที่มีปากกาอ่านแล้วก็จบไม่ต้องซีเรียส แค่เชื่อมั่นรู้ชัดว่าเรากำลังทำอะไรทำให้ใครและตัวชี้วัดมันก็ชัดมากนั่นคือยอดขาย “ผมไม่เชื่อว่าเพลงมันมีเรื่องของดีไม่ดี ผมเชื่อว่าชอบหรือไม่ชอบ มันไม่มีอย่างอื่นเลย”
“ผมไม่เชื่อว่าเพลงมันมีเรื่องของดีไม่ดี ผมเชื่อว่าชอบหรือไม่ชอบ มันไม่มีอย่างอื่นเลย”
- ในบางครั้งศิลปินก็ไม่ชอบในคาแรกเตอร์ที่ค่ายวางให้ แต่ศิลปินก็เลือกที่จะทำตามเพราะอยากได้โอกาส แต่พอศิลปินเริ่มมีชื่อเสียงก็จะเริ่มมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเฮียก็จะโอเคซึ่งบางคนก็จะสามารถบาลานซ์ระหว่างความต้องการของตัวเองและความต้องการของค่ายได้ แต่บางคนบาลานซ์ไม่ได้เพราะสิ่งที่ศิลปินชอบไม่ได้ตอบโจทย์ของตลาด ศิลปินกับค่ายก็เดินร่วมกันไปไม่ได้
- ช่วงแรกทีมงานของอาร์เอสกับแกรมมี่บางส่วนทำงานร่วมกัน ตอนนั้นแกรมมี่เป็นบริษัททำมาร์เก็ตติ้ง เป็นทีมครีเอทีฟ ทำรายการทีวี อาร์เอสอยู่ในฝั่งของคนทำเพลงก็จะเจอกันพอดี อาร์เอสเป็นฝั่งโปรดักต์แกรมมี่เป็นฝั่งมีเดีย มีการแบ่งปันผลประโยชน์ทั้งในรูปของค่าจ้างและส่วนแบ่ง ชุดที่ทำร่วมกันเช่น คีรีบูนฟรุตตี้ แต่แกรมมี่มีรายการทีวีเยอะ เช่น ‘ยิ้มใส่ไข่’ ที่พี่เล็ก บุษบา ดาวเรืองเป็นพิธีกร แกรมมี่ก็เลยเริ่มเห็นโอกาสว่าทำมีเดียเองแล้วทำไมถึงไม่มีศิลปินเองบ้างล่ะ ทางอาร์เอสก็คิดว่ามีโรงงานเองมีศิลปินเองทำไมไม่มีมีเดียเองบ้างล่ะ ก็เลยเกิดเป็นสองค่าย
VS. Grammy ‘เกม’ ของอาร์เอสและแกรมมี่
- แกรมมี่มีพี่ ‘เต๋อ เรวัต’ เป็นผู้บริหารตัวพี่เต๋อเองเป็นศิลปินเมื่อทำการบริหารศิลปินในค่ายก็ใช้วิธีการคุยกันแบบศิลปิน ทุกอย่างเลยนับหนึ่งจากจุดนั้น แต่สำหรับเฮียฮ้อไม่ได้เริ่มต้นจากจุดนั้นแต่เป็นการใช้วิธีแบบนักธุรกิจคุยกับศิลปิน ก็จะมีการคิดคอนเซ็ปต์ คิดการแต่งตัวให้ ซึ่งก็มีมากเหมือนกันกับศิลปินวัยรุ่นที่ไม่อยากจะแต่งตัวแบบที่เฮียคิดให้ แต่สุดท้ายผลที่ออกมามันก็ได้พิสูจน์ว่ามันเวิร์กเพราะวัยรุ่นในยุคนั้นแต่งตัวตามศิลปินอาร์เอสกันหมดเลย
- ค่ายเพลงส่วนใหญ่จะมีกรอบในการทำงานและจะไม่ทำอะไรที่หลุดจากกรอบของตัวเองแต่อาร์เอสนั้นมีการทำงานแบบไปสุดหลุดกรอบ วัยรุ่นก็วัยรุ่นสุด ๆ พอจะมาร็อกก็ร็อกสุด ๆ เหมือนกัน เหตุที่อาร์เอสต้องไปให้สุดนั้นก็เพราะเฮียฮ้อมีวิธีการทำงานที่แข่งกับแกรมมี่ ซึ่งจะแข่งธุรกิจเพลงกับแกรมมี่ในยุคนั้นจำเป็นต้องสร้างความแตกต่าง ด้วยความที่อาร์เอสไม่มีบุคลากรอย่างพี่เต๋อ การจะต่อกรกับแกรมมี่นั้นเป็นเรื่องที่ยากมากจึงต้องสร้างความแตกต่างให้เห็นเด่นชัด
- ความสำคัญของพี่เต๋อในฐานะนักธุรกิจเพลงก็คือหนึ่งพี่เต๋อเป็นนักดนตรีที่เก่งและเป็นคนที่มีหัวทางธุรกิจและการตลาดด้วยซึ่งหายาก และยังเรียนจบด้านเศรษฐศาสตร์อีก การจะแข่งกับพี่เต๋อจำเป็นต้องหาไม้เด็ดของตัวเอง งานของอาร์เอสจึงเป็นงานที่มาร์เก็ตติ้งนำ ถ้าคิดจะเอามาตรฐานของดนตรีนำยังไงก็ทำไม่ได้หรือยังไงก็แพ้ทางแกรมมี่อยู่ดี
- เราจะสังเกตุเห็นได้ถึงการแข่งขันกันอย่างดุเดือดของทั้งสองค่าย ที่จะมีการวางศิลปินที่สามารถจับคู่กันได้เช่น ‘เจ เจตริน’ กับ ‘ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง’ หรือ ‘พี่เบิร์ด ธงไชย’ กับ’ อริสมันต์’ ‘มอส-เต๋า’ ‘ทาทา-โมเม’ เฮียให้คำอธิบายเรื่องนี้ไว้ว่าเหมือนกับแกรมมี่กับอาร์เอสกำลังแย่งเงินจากคน ๆ เดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น ร้านค้ารายย่อยที่ขายเทปให้กับทั้งสองค่ายก็มีเงินลงทุนที่จำกัด การออกสินค้าจึงเหมือนกับการแย่งเงินในกระเป๋าของเขา จึงต้องมีการออกเทปที่แชร์เงินของคู่ค้าและแชร์เงินของลูกค้าซึ่งก็ต้องแย่งกัน จึงเป็นเหตุผลว่าถ้าแนวไหนกำลังมาแรงทางอีกค่ายก็ต้องรีบส่งศิลปินในแนวนั้นเข้าไปชนกัน แข่งกันรุนแรง แข่งกันดุเดือด แต่เป็นเรื่องของธุรกิจไม่เคยคิดโกรธกันเลย ส่วนในมุมของศิลปินหรือคนทำงานก็เป็นเพื่อนกัน อาร์เอสกับแกรมมี่จึงถือว่าเป็นคู่แข่งกันแต่ไม่ได้เป็นศัตรูกัน
- ตัวอย่างคู่ที่แข่งกันสนุกที่สุดคือ ‘เต๋า-มอส’ เพราะออกมาแล้วสร้างอิมแพคทางการตลาดด้วยกันทั้งคู่และทั้งสองคนก็เป็นเพื่อนกันด้วย เติบโตมาจากพจน์ อานนท์เหมือนกัน อยู่ค่ายเพลงกันคนละค่ายแต่จับกลุ่มลูกค้าเดียวกัน ทุกอย่างแทบจะทับไลน์กันเลย จึงเป็นการแข่งขันที่บีบคนทำงานมากจะแพ้ชนะกันมันแค่นิดเดียวเท่านั้น ต้องคอยดูกลยุทธ์ของอีกฝ่ายว่าทำอย่างไรบ้าง ซึ่งอาร์เอสก็ใช้ข้อดีของตัวเองคือการทำงานเร็ว ก็จะใช้วิธีดูว่าอีกฝ่ายออกอะไรมาก็จะรีบปรับแผนและสู้กลับไป
- หากวางอัลบั้มออกไปแล้วไม่เวิร์กก็จะมีวิธีการแก้เกมโดยดูตามสถานการณ์ เฮียมักจะไม่ค่อยมีกรอบ เวลาเพลงขายดีก็จะใช้วิธีการเติมเพลงหนึ่งเพลงแล้วเปลี่ยนปกพยายามหากิมมิกเพื่อขายใหม่เอาของเก่าไปขายใหม่ ถ้าคนที่เคยซื้อ 10 เพลงไปแล้วก็จะต้องยอมควักเงินจ่ายเพื่อที่จะซื้อเพลงใหม่ปกใหม่
- จุดแข็งของแกรมมี่ถ้ามองจากมุมเฮียคือการมีระบบในแทบทุก ๆ เรื่องทุก ๆ ขั้นตอน ซึ่งมิติหนึ่งมันจะมีเสถียรภาพความนิ่งและลูปที่ไม่ค่อยจะหลุด ซึ่งพี่เต๋อน่าจะมีบทบาทสำคัญในการวางระบบนี้ อาร์เอสก็เลยต้องรบแบบหลายรูปแบบไม่มีกรอบ ซึ่งเฮียก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องถ้าไปหรือสู้ในเรื่องที่แกรมมี่เก่งกว่าจะไปหาระบบ กว่าจะสร้างรูปแบบ หานักดนตรีที่เก่งและเข้าใจเรื่องธุรกิจ มันคงจะเป็นเรื่องที่ยาก ส่วนจุดเด่นของอาร์เอสคือทำงานเร็วกว่าแกรมมี่ แต่ความเร็วก็มีข้อเสียคือเมื่อสิ่งที่ปล่อยออกไปไม่เป็นอย่างที่คิดก็ต้องใช้ความเร็วที่มีมาแก้ และต้องมีการทำงานควบคุมอย่างใกล้ชิด การแข่งขันกันกับแกรมมี่นั้นเป็นอะไรที่เหนื่อยมากซึ่งบางครั้งก็มีการกระจายงานให้ทีมทำแต่สุดท้ายเฮียก็ต้องเป็นคนที่มาตัดสินเพราะเรื่องบางเรื่องเสียเวลาคุยนานไม่ได้ อย่างเพลงนี้ท่อนฮุกไม่โดนเนื้อร้องไม่เข้าปากก็ให้ไปแก้เลย ซึ่งเป็นคำคอมเมนต์ที่ไม่ได้เป็นเรื่องดนตรีหรือทฤษฎีแต่จะเป็นเรื่องของความรู้สึกแบบไม่มีกรอบตามมิติของคนฟัง ถ้าเพลงเพราะแต่คนน่าจะจำไม่ได้ถ้าเฮียฟัง 3 ครั้งแล้วร้องตามไม่ได้ เฮียก็จะบอกว่ามันน่าจะไม่ใช่แล้วล่ะ
- เฮียฮ้อในสายตาของศิลปินและลูกน้อง ถ้าในอดีตเด็ก ๆ ก็จะกลัวเฮียหน่อย ศิลปินนักร้องมักจะกลัวเฮียเพราะเฮียไม่ค่อยได้เจอกับพวกเขา และเวลาทำงานเฮียมักจะคุยกับทีมทำงานมากกว่าแล้วให้ทีมไปถ่ายทอดกันเอง ส่วนมุมศิลปินก็จะรู้สึกว่าเฮียดุเฮียชอบออกคำสั่ง ทางคนทำงานก็จะมีสองมุม มุมหนึ่งก็จะคิดเหมือนกับศิลปิน อีกมุมบางคนก็ชอบแชร์ไอเดียกับเฮีย ส่วนใจทุกวันนี้ก็ยังคงเหมือนเดิมใครห่างหน่อยก็จะรู้สึกกลัวเฮียดุ แต่คนทำงานใกล้ ๆ ก็จะมีสองมุมเหมือนเดิม เฮียจะทำงานเร็ว สั่งไปต้องได้ฟีดแบคทันที บางคนก็ชอบเพราะเหมือนเฮียเป็นคนจุดไฟให้ตลอดเวลาขึ้นอยู่กับว่าคนทำงานคนนั้นมีมายด์เซ็ตแบบไหน
The present ปัจจุบันของอาร์เอส
- ทุกวันนี้เฮียฮ้อทำธุรกิจที่ไม่ได้โฟกัสที่วงการเพลงแล้ว นั่นเป็นเพราะมันตันแล้วหรือไม่ ? เฮียบอกว่าอย่างไรเสียเพลงก็ไม่มีวันตายวันที่เฮียเฟดตัวเองจากธุรกิจเพลงตอนนั้นคนก็ฟังเพลงมากขึ้นเรื่อย ๆ ศิลปินก็มากขึ้นเรื่อย ๆ นี่คือคำตอบว่าเพลงไม่มีวันตาย แต่มันต้องมอง 2 มิติ หากมองในมุมธุรกิจ เฮียทำธุรกิจเพลงสนุกมากแต่เมื่อใดที่ในมุมของธุรกิจมันเริ่มไม่ตอบโจทย์ก็ต้องเริ่มปรับตัว ซึ่งเฮียจับธุรกิจเพลงมาร่วม 10 ปีแล้วแต่ก็ไม่ได้ละทิ้งทั้งหมดยังมีทำอยู่แล้วก็ถือว่ากำไรดีด้วยเพียงแต่ว่าไซส์ไม่ใหญ่เป็นสเกลที่เหมาะสมและมีกำไรดี แต่จะขยายเป็นธุรกิจหลักนั้นมันต้องมองหลายเรื่องเพราะมันไม่น่าสนใจเหมือนในอดีตแต่อนาคตก็ยังไม่แน่เพราะโอกาสมันเปลี่ยนตลอดเวลาต้องคอยมองหาโอกาสและดูวิกฤตในช่วงเวลานั้น
- เฮียเคยพูดว่าในอดีตธุรกิจเพลงเป็นเรื่องของศิลปิน ในอดีตหากเด็กคนนึงอยากจะเป็นศิลปินถ้าไม่เข้าอาร์เอสก็ต้องเข้าแกรมมี่ มันเป็นตลาดที่ปิดมันถูกส่งผ่านแค่สองค่ายใหญ่นี้ แต่ในทุกวันนี้ใครอยากจะเป็นศิลปินก็สามารถทำได้เลยและต้นทุนก็ต่ำลงด้วย ได้เกิดช่องทางใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องการนายทุนอีกแล้ว และที่กล่าวว่ามันเป็นธุรกิจของศิลปินก็เพราะว่าในทุกวันนี้ศิลปินหลายคนใช้วิธีการทำตัวเองให้เป็นมีเดียซึ่งตรงจุดนี้มันไม่ได้เป็นรายได้ของค่ายแต่เป็นรายได้ของศิลปินเอง ศิลปินจะมีวิธีการมองว่าการทำเพลงของตัวเองคือการสร้างตัวตนขึ้นมาให้เป็น ‘somebody’ แล้วก็สร้างให้ตัวเองกลายเป็นมีเดีย และกลายเป็นธุรกิจของเขาในที่สุด ทำให้ความสำคัญของค่ายเพลงลดน้อยลงเพราะฉะนั้นจึงต้องหาที่ยืนให้เหมาะ
- ว่าด้วยเรื่องของลิขสิทธิ์เพลง เฮียอธิบายว่าเรื่องนี้มันเป็นพื้นฐานของแต่ละบริษัทว่าบริษัทใดจะกำหนดราคาขายเท่าไหร่ เฮียขอแก้ข่าวในเรื่องที่อาจจะยังเข้าใจผิดกันอยู่เฮียบอกว่าศิลปินอาร์เอสในอดีตร้องเพลงของตัวเองได้ไหมคำตอบคือได้ ในงานทั่ว ๆ ไปไม่ว่าจะงานแต่งงาน หรืองานในผับ แต่ถ้าเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ร้องไม่ได้ เพราะมีการมองเรื่องลิขสิทธิ์กับคอนเทนต์ออกจากกัน สมมตินักร้องคนหนึ่งมาขอเพลงของ ‘ดีทูบี’ ไปร้องอันนี้มองว่าเป็นเรื่องของลิขสิทธิ์ แต่เมื่อไหร่ที่แดนบีมจะร้องมันเป็นคอนเทนต์ใหม่ เช่น หากเพลงของ’ เจม เรืองศักดิ์’ อยู่ในปากของคนอื่นคุณค่ามันจะไม่เหมือนกับที่เจมส์ร้องเอง แต่ถ้าเพลงของเจมส์อยู่ในของเจมส์ยุคนี้ มันก็จะกลายเป็นคอนเทนต์ใหม่นั่นเอง ส่วนเรื่องราคานั้นมันจะมีอยู่ 2 ราคาซื้อเหมาก็จะได้ราคาตลาด แต่เวลาที่จะเลือกว่าจะเอาเพลงไหนไปมันก็จะราคาสูงหน่อย ไม่ว่าจะอาร์เอสแกรมมี่ที่อยู่ได้จนทุกวันนี้ก็คือ back catalog การ publishing เพลงเก่า ๆ ที่มีอยู่วันหนึ่งมูลค่ามันจะหายไปตามอายุของแฟนเพลง เช่น สมัยก่อนมูลค่าเพลงสุนทราภรณ์อย่างกับทองแต่ทุกวันนี้ได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว เพราะแฟนเพลงก็แก่ตัวลงหรือล้มหายตายจากไปมากแล้ว อย่างลิขสิทธิ์เพลงของแจ้ ดนุพลเมื่อก่อนนี้มีมูลค่ามากแต่ทุกวันนี้มูลราคาก็ลดลง เพราะฉะนั้นในวันที่ยังขายได้ราคาก็ควรจะขายเพราะอีกปีสองปีราคาก็จะไม่ได้เป็นแบบนี้แล้ว
- ตอนนี้เพลงที่แพงก็ยังเป็นเพลงในยุค 90s ของอาร์เอส เช่น เต๋า เจมส์ นุ๊ก ลิฟท์-ออย แรปเตอร์ ส่วน Kamikaze เริ่มมีคนพูดถึงเยอะขึ้น ถ้าจะจัดคอนเสิร์ตยุค 90s ในเวลานี้ค่าลิขสิทธิ์ก็จะต้องแพงเป็นธรรมดา แต่อาร์เอสก็มีนโยบายไม่ให้ผู้อื่นจัดด้วยเพราะอาร์เอสตั้งใจจะทำเอง ซึ่งปีนี้เฮียก็มีแผนที่จะทำคอนเสิร์ต 6-7 คอนเสิร์ตมาตามกระแส ‘โตมากับอาร์เอส’ ตั้งไจทำในช่วงครึ่งปีหลังที่คาดว่าสถานการณ์โควิดจะคลี่คลาย
- อาร์เอสแถลงข่าวไว้เมื่อปลายปีก่อนว่าจะกลับมาสู่ธุรกิจเพลงอีกครั้งภายใต้ 3 ค่าย ชื่อ Rose Sound Rsiam และ Kamikaze ซึ่งก็ถือว่าเป็นการกลับมาที่จริงจังแต่จริงจังบนแผนที่เฮียมีอยู่ ซึ่งจะกลับมาทำใน 2 มิติ มิติแรกคือศิลปินที่มีอยู่เดิมจะทำให้เป็นในรูปแบบ ‘Star Commerce’ สร้างศิลปินให้เป็น influencer แล้วมาเชื่อมโยงกับธุรกิจหลักก็จะวินด้วยกันทั้งคู่ ส่วนการทำเพลงนั้นจะใช้โมเดลที่ศิลปินเป็นคนลงทุนทำเองซึ่งเฮียใช้มาได้ 5 ปีแล้วซึ่งลิขสิทธิ์เป็นของอาเอส ฟังดูแล้วอาจแปลก ๆ และรู้สึกว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไรซึ่งเฮียก็บอกว่ามันเป็นกติกาที่เฮียต้องการและก็ไม่ได้มีการบังคับขึ้นอยู่กับศิลปินใครอยากทำก็มาทำ ศิลปินนั้นก็มี 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือต้องการจะทำให้ตัวเองเป็น ‘somebody’ และมียอดวิวยอดฟอลโลว์เยอะ ซึ่งศิลปินก็จ่ายเงินมาให้กับอาร์เอส อาร์เอสก็ทำให้ทั้งหมดทั้งตัวเพลง การเผยแพร่เข้าสู่โซเชียล การทำมาร์เก็ตติ้ง โปรโมตสุดท้ายมันก็จะกลับไปที่ตัวศิลปินเพราะที่ทำทั้งหมดก็คือเพื่อสร้างตัวศิลปิน ซึ่งมูลค่าที่ได้รับนั้นก็เป็นมูลค่าของศิลปินไม่ใช่มูลค่าของอาร์เอส
- เมื่อก่อนนักร้องและค่ายเพลงมองเหมือนกันคือการทำเพลงเพื่อขายแต่ในทุกวันนี้เพลงคือเครื่องมือที่จะทำให้ตัวศิลปินนั้นกลายเป็นโปรดักต์ที่มีมูลค่า ศิลปินอาร์เอสในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาถือว่าอยู่ในพื้นฐานของโมเดลนี้ทั้งหมด
- ในทุกวันนี้ใครจะดังหรือไม่ดังปัจจัยอยู่ที่อะไร ? ถ้าเป็นเมื่อก่อนปัจจัยอยู่ที่ เพลงเพราะ เพลงโดน แต่เดี๋ยวนี้อยู่ที่ใครโดดเด่นและใครแตกต่าง ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องสวยหล่อด้วย ศิลปินสามารถทำได้ด้วยตัวเองสามารถทำตัวเองให้สุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่งและให้คนพูดถึง สามารถเปลี่ยนจาก ‘nobody’ เป็น’somebody’ ภายในชั่วข้ามคืน บางคนไม่หล่อก็เอาความไม่หล่อมาเป็นจุดขาย ในทุกวันนี้ศิลปินบางคนเพลงเพราะแต่กคนกลับจำไม่ได้ แต่ถ้าศิลปินมีคาแรกเตอร์หรือทำอะไรที่แตกต่างไม่เหมือนคนอื่นนั่นแหละจะดัง
- วันนี้อาร์เอสคืออะไร ? ถ้าในมุมของภาคธุรกิจอาร์เอสคือบริษัทคอมเมิร์ซที่มีธุรกิจเอนเตอร์เทนและมีเดียอยู่ด้วย ซึ่งเฮียเรียกว่า ‘เอนเตอร์เทนคอมเมิร์ซ’ เป็นคอมเมิร์ซที่มีความเป็นครีเอทีฟ มีความเป็นมีเดียและบันเทิงผสมผสานอยู่
- ในทุกวันนี้ธุรกิจของอาร์เอสมีทั้งที่เป็นโปรดักต์และแพลตฟอร์ม อันที่เป็นแพลตฟอร์มเรียกว่า ‘อาร์เอสมอลล์’ เป็นห้างสรรพสินค้าออนไลน์ และมีการออนแอร์ด้วย ในส่วนของโปรดักต์ก็จะมีอาหารเสริมและเริ่มทำอาหารสัตว์ด้วยและจะมีการขยับขยายเรื่อย ๆ และเพิ่มช่องทางการขายไปยังร้านสะดวกซื้อ
- ในยุคคนี้เฮียฮ้อสนใจคู่ค้าลูกค้ามากกว่าคู่แข่ง เพราะการทำธุรกิจยุคใหม่คู่แข่งไม่ได้ส่งผลอะไรเยอะ ธุรกิจจะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับว่าตามลูกค้าทันหรือเปล่า มีเน็ตเวิร์คที่ดีพอไหม ทุกวันนี้มีการข้ามธุรกิจกันทำได้ง่ายอย่าง Acer ก็มาทำเครื่องดื่มยาชูกำลัง เพราะฉะนั้นที่ไหนมีปลาก็สามารถไปทำธุรกิจได้สามารถไปเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้ ไม่ใช่ที่สำหรับชาวประมงหรือคนเดินเรืออีกต่อไปแล้ว สมัยก่อนตอนทำธุรกิจเพลงเหมือนแย่งปลาในบ่อเดียวกันแต่ในทุกวันนี้มันไม่ใช่อย่างนั้นมันใหญ่ขึ้น ยังมีปลาให้จับอีกเยอะและทุกวันนี้ผู้บริโภคยิ่งกว่าพระเจ้าเพราะทุกอย่างอยู่ในมือเขาหมดและเวลาชอบไม่ชอบอะไรสามารถพูดได้เลย
BEING ‘HEREHOR’ ความเป็น ‘เฮียฮ้อ’
- เฮียฮ้อถูกเรียกว่า ‘เฮีย’ เริ่มตั้งแต่เริ่มตั้งค่าย สมัย คีรีบูน ฟรุตตี้ เพราะว่าอายุไล่เลี่ยกัน มากกว่ากันแค่ปีสองปี แต่พอจนมารุ่น Kamikaze ก็ยังเรียกเฮียอยู่
- ตั้งแต่วันแรกจนวันนี้สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยสำหรับเฮียก็คือ ‘แพสชัน’ เวลาเฮียทำอะไรแพสชันเฮียสุด ๆ ใช้คำว่า ‘Passion to Win’ นั้นคือต้องชนะให้ได้ สิ่งที่สองคือเฮียเป็นคนชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ แล้วสนุกมองเป็นเรื่องสนุก
- เป้าของอาร์เอสในวันนี้จะเป็นตัวเลข เฮียตั้งเป้าไว้ที่มียอดขาย 10,000 ล้าน ซึ่งเฮียคาดว่าภายใน 2 ปีก็จะถึงเป้าหมายที่วางไว้
- หลายธุรกิจที่ทำไม่ได้วางแผนไว้ก่อน แต่ในขณะที่มองหาโอกาสอยู่ก็จะเจอเหมือนเช่นที่จะมาทำอาหารสุนัขหรือ funtional drink ก็ไม่ได้อยู่ในแผน แต่พอได้เริ่มทำแล้วเข้าไปอยู่ในธุรกิจก็เริ่มเห็นว่ามีปลาเยอะ การทำธุรกิจต้องเป็นคนที่หูตาไวช่างสังเกตุและเปิดโอกาส
- บทเรียนที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเฮียคือ “อยากจะทำอะไรฝันให้ไกล ๆ ไว้หน่อย ฝันให้ใหญ่ไว้หน่อยแล้วก็มุ่งมั่นทำจริงอย่างแรกคือต้องเชื่อว่าเราทำได้” ซึ่งเรื่องนี้สำคัญกว่าเรื่องความสามารถหรือศักยภาพ ซึ่งมันจะทำให้เราไปเรียนรู้เพิ่มถ้าเรารู้ว่าเราขาดอะไร ความมุ่งมั่นนั้นสำคัญและก็ต้องประกอบด้วยความเชื่อในตัวเอง
- เฮียคิดเรื่องนี้ตั้งแต่เด็ก ๆ ในวัยเด็กเฮียมักชอบมองตึกสูง ๆ แล้วฝันไว้ในใจว่าวันนึงเราจะมีของเราให้ได้ ซึ่งมันไกลมากแต่มันไม่เคยออกจากใจของเฮีย ทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไรนั่นคือวิธีคิดของเฮีย ไม่ว่าเราจะอายุเท่าไหร่ให้กล้าฝันและทำมันต่อไปเพราะฝันของคนแต่ละวัยมันจะแตกต่างกัน ฝันให้ไกลไว้หน่อยเพื่อที่จะได้มีแรงผลักดันให้ตัวเองมีแพสชันไปให้ถึง
- ถ้าเลือกได้อยากเซ็นศิลปินของแกรมมี่คนไหนเข้ามาอยู่ในอาร์เอส ? เฮียเลือกพี่ป้อม อัสนี โชติกุลเพราะโดดเด่นมีคาแรกเตอร์ที่แตกต่างและเป็นตัวจริงของวงการ แต่ถ้ามองย้อนกลับไปต่อให้พี่ป้อมอัสนีมาทำงานที่อาร์เอสจริงเฮียก็เชื่อว่าไม่มีทางทำได้ เพราะพี่ป้อมเป็นศิลปินร้อยเปอร์เซ็นต์ส่วนเฮียก็เป็นนักธุรกิจร้อยเปอร์เซ็นต์มันมาเจอกันยาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการที่เพลงเพลงนึงจะโด่งดังติดหูคนฟังได้นั้นไม่ว่าจะอาร์เอสหรือแกรมมี่ก็ต้องมีกระบวนการขัดเกลาแก้แล้วแก้อีกหลายขั้นตอนทั้งนั้นซึ่งบางครั้งก็อาจสร้างความไม่สบายใจให้กับศิลปินแต่เมื่อผลลัพธ์มันออกมาดีทุกคนก็แฮปปี้ แต่ถ้าพี่ป้อมเข้ามาหาเฮียในเวลานี้ถามว่าเฮียจะอ้าแขนรับไหม เฮียก็บอกว่ามันคงไม่ใช่ในเวลานี้ (หัวเราะ)
“อยากจะทำอะไรฝันให้ไกล ๆ ไว้หน่อย ฝันให้ใหญ่ไว้หน่อยแล้วก็มุ่งมั่นทำจริงอย่างแรกคือต้องเชื่อว่าเราทำได้”