เมื่อเวลา 00.45 น. ของวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ครู ‘ชาลี อินทรวิจิตร’ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้ประพันธ์คำร้อง-ผู้กำกับภาพยนตร์) ประจำปี พ.ศ. 2536 ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบด้วยโรคชรา ด้วยวัย 98 ปี ท่านเป็นหนึ่งในศิลปินไทยที่ได้รังสรรค์ผลงานอันวิจิตรบรรจงเอาไว้มากมายทั้งในด้านบทเพลงและภาพยนตร์จนได้รับการเคารพยกย่องอย่างสูงมาเป็นเวลานาน การจากไปในครั้งนี้จึงนับเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญยิ่งของวงการบันเทิงและวงการศิลปะไทย
‘ชาลี อินทรวิจิตร’ มีบทบาททั้งในฐานะนักแสดง ผู้อำนวยการสร้าง ผู้กำกับภาพยนตร์ และที่สำคัญที่สุดคือการเป็นนักแต่งเพลงผู้ยิ่งใหญ่ ผู้มีผลงานประพันธ์คำร้องบทเพลงนับพันเพลง และมีบทเพลงอมตะอันเป็นที่รู้จักนับร้อย อาทิ สดุดีมหาราชา, แสนแสบ, ท่าฉลอม,เรือนแพ, หยาดเพชร, เท่านี้ก็ตรม, สาวนครชัยศรี, ทุ่งรวงทอง, มนต์รักดอกคำใต้, แม่กลอง, จำเลยรัก เป็นต้น รวมทั้งเพลงประกอบภาพยนตร์จำนวนมาก เช่นเพลงจากเรื่อง สวรรค์มืด (2501) เรือนแพ (2504) ลูกทาส (2507) ลูกเจ้าพระยา (2520) บ้านทรายทอง (2523 และอีกมากมาย ซึ่งภาพยนตร์เรื่อง “สวรรค์มืด” คือผลงานภาพยนตร์ที่เก่าแก่ที่สุดที่ ชาลี อินทรวิจิตร ได้ประพันธ์บทเพลงอมตะมอบไว้ในหนังเรื่องนี้ถึง 3 เพลง คือ สวรรค์มืด, ภาวนา และ มนต์รักดวงใจ นอกจากนี้ท่านยังฝากผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมเอาไว้อีกมากมาย อาทิ ความรักเจ้าขา (2512), ผยอง (2518) และ ชั่วฟ้าดินสลาย (2523) เป็นต้น จนได้รับรางวัลมากมายทั้งรางวัลตุ๊กตาทอง (พระสุรัสวดี) รางวัลสุพรรณหงส์ และรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ
ชาลี อินทรวิจิตร เป็นบุคคลเดียวของประเทศที่ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติถึง 2 สาขาด้วยกันคือ สาขาศิลปะการแสดง ด้าน ‘ผู้ประพันธ์คำร้อง’ และ ‘ผู้กำกับภาพยนตร์’ นอกจากนี้ท่านยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วย
ในด้านการประพันธ์เพลงนั้น ถ้อยคำในบทเพลงที่ครูชาลีได้รังสรรค์ขึ้นมาล้วนแล้วแต่มีถ้อยภาษาที่งดงามวิจิตร เมื่อสดับไปพร้อมกับท่วงทำนองและเสียงร้องอันไพเราะย่อมก่อให้เกิดความสุนทรีย์ขึ้นในจิตใจ โดยครูชาลีจะเขียนเพลงขึ้นจากอารมณ์ที่อ่อนไหวเมื่อมีสิ่งใด ๆ มากระทบหัวใจก็จะกลั่นอารมณ์นั้นออกมาเป็นบทเพลง เพลงส่วนใหญ่ของครูชาลีจึงเป็นเพลงรักที่มีอารมณ์อันละเมียดละไม
นอกจากนี้ครูชาลีจะเลือกแต่งให้เหมาะสมกับนักร้องแต่ละคน ซึ่งนักร้องที่ร้องเพลงที่แต่งโดยครูชาลีมากที่สุดก็คือ ‘สุเทพ วงศ์กำแหง’ ยกตัวอย่างเพลงดังที่ครูชาลีแต่งและร้องโดยสุเทพก็คือ “เท่านี้ก็ตรม” ซึ่งพอเนื้อร้องอันงดงามมาผสานไปกับท่วงทำนองและเสียงร้องที่นุ่มแบบ ‘เสียงขยี้แพรบนฟองเบียร์’ แล้วย่อมพาใจเคลิ้มไป เพลงนี้เป็นเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้กับครูชาลี ,ครูสมาน กาญจนะผลิน (ผู้แต่งทำนอง) และ สุเทพ วงศ์กำแหง เป็นอย่างมากและได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ครั้งที่ 4 ใน ปี พ.ศ.2523 ครูชาลีบอกว่าเพลงนี้เป็นเพลงที่ สุเทพ วงศ์กำแหง ชอบมาก เพราะประทับใจในเนื้อเพลง เขาจึงร้องออกมาอย่างใช้อารมณ์ได้ไพเราะมาก
“เท่านี้ก็ตรมไม่หายไหนจะต้องอาย แล้วยังไม่วายถวิล ต้องซมซบหน้าน้ำตาร่วงริน ไหลโลมลงดินเหมือนรินจากใจ”
นอกจากนี้ก็มีเพลง “สวรรค์มืด” บทเพลงที่ครูชาลีแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ เรื่อง “สวรรค์มืด” จากบทประพันธ์ของ รพีพร (สุวัฒน์ วรดิลก) ซึ่งเป็นภาพยนตร์ 235 ม.ม. ที่ สุเทพ วงศ์กำแหง แสดงภาพยนตร์เป็นพระเอกเรื่องแรกคู่กันกับ ‘สืบเนื่อง กันภัย’ สาวสวยจากถิ่นไทยงามเชียงใหม่ครูชาลีแต่งเนื้อร้องส่วน ‘ครูสมาน กาญจนะผลิน’ แต่งทำนอง ฉากที่สุเทพ วงศ์กำแหงร้องเพลง “สวรรค์มืด” นั้นนับเป็นหนึ่งในไฮไลต์ของภาพยนตร์เรื่องนี้เลย
“ฟ้ามืดสวรรค์มัวนึกเกรงน่ากลัว อกรัวใจสั่น ดั่งตะวันสูญสิ้น สวรรค์รำไรยามไร้จันทรา มืดฟ้ามัวดิน น้ำตาหลั่งรินกล้ำกลืน”
ถัดจากสุเทพ วงศ์กำแหงมาก็คือ ‘ชรินทร์ นันทนาคร’ ที่ได้ฝากเสียงร้องอันไพเราะไว้ในบทเพลงของครูชาลีไว้มากมายไม่ว่าจะเป็น แสนแสบ, ท่าฉลอม,สาวนครชัยศรี, และ เรือนแพ หนึ่งในบทเพลงอมตะที่ครูชาลีถ่ายทอดเนื้อหาและบรรยากาศเกี่ยวข้องกับจังหวัดสมุทรสาครอันเป็นถิ่นกำเนิดของครูและชรินทร์ร้องและถ่ายทอดอารมณ์ของเพลงออกมาได้อย่างน่าตรึงใจนั้นก็คือเพลง “ท่าฉลอม”
“พี่อยู่ไกลถึงท่าฉลอม แต่พี่ไม่ตรอม เพราะรักพะยอมยามยาก ออกทะเลจะหาปลามาฝาก แม่คุณขวัญใจคนยาก รับของฝากจากพี่ได้ไหม”
นอกจากจะมีเพลงที่เกี่ยวกับสมุทรสาครแล้ว เพลงดังของครูชาลีที่ร้องโดยชรินทร์นั้นมีหลายเพลงที่มีบรรยากาศเกี่ยวกับห้วงน้ำ ยกตัวอย่างเช่นเพลง “เรือนแพ” อันเป็นเพลงเอกจากภาพยนตร์เรื่อง “เรือนแพ” (2504) เพลงเรือนแพนี้มีที่มาจากผู้กำกับภาพยนตร์คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ได้มีรับสั่งกับครูชาลีว่า “ฉันจะให้แกแต่งเพลง เรือนแพ ให้แจ๋ว (ครูสง่า อารัมภี)แต่งทำนอง อยากให้คนรุ่นใหม่อย่างแก ใช้อาภรณ์จากธรรมชาติ ใช้อารมณ์จากห้วงน้ำ สร้างอุปรากรงานเพลงที่งดงาม เป็นภาษาดนตรีและภาษาอักษร ใช้เป็นเพลงนำในภาพยนตร์ยิ่งใหญ่ที่ฉันร่วมงานสร้างกับฮ่องกง” เพลงนี้ครูชาลีใช้เวลาแต่งค่อนคืนตั้งแต่หัวค่ำไปเสร็จยันรุ่งสาง ถึงอย่างนั้นก็ยังติดอยู่ในท่อน “หิวหรืออิ่มก็ยิ้มพอกัน” ที่ตอนนั้นครูชาลีเขียนไว้เป็น “ทุกข์หรือสุขก็คล้อยตามกัน” ซึ่งพระองค์ชายใหญ่ทรงแนะนำว่า “ตรงนี้มันง่ายไปนะชาลี คิดใหม่ คิดใหม่ ไปหาคำใหม่มาแทน” ครูชาลีก็ได้แต่งมองหน้าครูสง่าที่อยู่ด้วย ณ ตอนนั้น แต่ด้วยความหิวก็หิว ง่วงก็ง่วง ครูสง่าเองก็ได้แต่ส่งยิ้มให้กำลังใจ สุดท้ายครูชาลีก็แวบขึ้นมาว่า “หิวหรืออิ่มก็ยิ้มพอกัน” พอเขียนเสร็จก็รีบลงบันไดกลับบ้านทันที (บางเรื่องเล่าก็กล่าวว่า ครูชาลีคิดออกเพราะมองออกไปนอกหน้าต่างห้องบันทึกเสียงอัศวินแถว ๆ เฉลิมเขตร ที่เป็นซอยโรงเลี้ยงเด็กที่มีสตรีทฟู้ดดัง เช่น ข้าวมันไก่ โจ๊ก ปาท่องโก๋ ตั้งขายอยู่เลยเกิดความหิว) แต่สุดท้ายไม่ว่าจะด้วยความหิว ความง่วง หรือความวิจิตรในใจของครู สุดท้ายเพลงนี้ก็กลายเป็นหนึ่งในบทเพลงอันอมตะของชาลี อินทรวิจิตรในที่สุด
“วิมานน้อยลอยริมฝั่ง ถึงอ้างว้างเหลือใจรำพัน หิวหรืออิ่มก็ยิ้มพอกัน ชีวิตกลางน้ำสุขสันต์ โอ้สวรรค์ ใน เรือน แพ”
ส่วนในฝั่งของเพลงที่แต่งให้สุเทพ วงศ์กำแหงร้องก็มีเพลงที่ให้ภาพบรรยากาศของห้วงน้ำด้วยเช่นกันนั่นคือ เพลง “ครวญ” บทเพลงอันแสนเศร้า ถ่ายทอดอารมณ์ในช่วงเวลาอาลัยของชีวิต ผ่านภาพอันงดงามจากเนื้อร้องที่บรรจงเรียงร้อยโดยครูชาลี และทำนองละมุนจาก ครูสมาน กาญจนะผลิน ซึ่งถูกถ่ายทอดผ่านเสียงร้องของสุเทพ วงศ์กำแหง ซึ่งได้ทำให้บทเพลงนี้มีความงดงามอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ อย่างในท่อนที่ร้องว่า “ตะวันเมื่อจมแผ่นน้ำ สายชลงามดังกำมะหยี่ โอ้ว่าดาวว่าดาวดวงนี้ แสงพลันริบหรี่ คงริบหรี่เช่นเรา” ครูชาลีใช้ภาษาที่ทั้งเห็นภาพ มีการเปรียบเปรยที่งดงาม และยังได้อารมณ์เศร้าเหงาอันลึกซึ้งอีกด้วย
“ตะวันเมื่อจมแผ่นน้ำ สายชลงามดังกำมะหยี่ โอ้ว่าดาวว่าดาวดวงนี้ แสงพลันริบหรี่ คงริบหรี่เช่นเรา”
อีกหนึ่งเพลงดังที่มีบรรยากาศของห้วงน้ำก็คือเพลง “แสนแสบ” เพลงนี้ครูชาลีตั้งใจแต่งให้กับชรินทร์ นันทนาครได้ร้อง หลังจากที่ครูไม่ค่อยได้แต่งเพลงให้ชรินทร์ร้องเลยตั้งแต่ช่วงหลังปี 2500 กว่า ๆ ด้วยกลัวว่าศิษย์รักจะน้อยใจ ครูจึงตั้งใจแต่งเพลงนี้ให้พร้อมการันตีว่าจะทำให้ชรินทร์ดังแน่ ๆ และสุดท้ายมันก็เป็นเช่นนั้น “แสนแสบ” กลายเป็นบทเพลงที่ดังทะลุฟ้าและชรินทร์จะต้องร้องให้ทุกเวทีตั้งแต่อดีตมาจนถึงทุกวันนี้ และเมื่อ ‘เชิด ทรงศรี’ สร้างภาพยนตร์เรื่อง “แผลเก่า” เล่าตำนานคลองแสนแสบ ‘ขวัญ-เรียม’ ‘ไพรวัลย์ ลูกเพชร’ ก็นำเพลงนี้มาร้องจนโด่งดังไปด้วยอีกเช่นกัน
ชรินทร์ นันทนาครนั้นมีความผูกพันกับครูชาลีมาก และเคยกล่าวกับครูชาลีว่าถ้าครูชาลีแต่งเพลงขึ้นมาเมื่อใดชรินทร์ก็จะขอร้องทุกบทเพลงนั้นเลย ยกตัวอย่างอีกสักหนึ่งบทเพลงของครูชาลีที่ชรินทร์ร้องเอาไว้ได้อย่างหวานหยดย้อยเลยก็คือ “หยาดเพชร” ซึ่งครูชาลีใช้เวลาเขียนเพลงนี้แค่เพียงชั่วโมงกว่า ๆ เท่านั้น “เปรียบเธอเพชรงามน้ำหนึ่ง หวานปานน้ำผึ้งเดือนห้า หยาดเพชรเกล็ดแก้วแววฟ้า ร่วงมาจากฟ้าหรือไร” ซึ่งชรินทร์ นันทนาคร ได้เคยยกย่องการประพันธ์เพลงด้วยถ้อยภาษาอันไพเราะของครูชาลีไว้ว่า “ครูชาลีไม่เคยเรียนอักษรศาสตร์ ไม่เคยเป็นบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยใด ๆ แต่บทกวีที่มีทำนองของเขามีคุณค่ามหาศาล และเป็นอมตะตลอดมาตั้งแต่วันที่จรดปากกาเขียนอักษรตัวแรกมาจนทุกวันนี้”
“เปรียบเธอเพชรงามน้ำหนึ่ง หวานปานน้ำผึ้งเดือนห้า หยาดเพชรเกล็ดแก้วแววฟ้า ร่วงมาจากฟ้าหรือไร”
สำหรับประวัติส่วนตัวของ ครูชาลี อินทรวิจิตร นั้น ท่านเกิดเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2465 ที่ตำบลท่าฉลอม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร แต่เดิมมีชื่อว่า ‘สง่า อินทรวิจิตร’ จบการศึกษาจากโรงเรียนอำนวยศิลป์ และโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟรุ่นแรก แผนกการเดินรถ ครูชาลีเป็นคนที่รักในการร้องเพลงและร้องเพลงได้ดีมาก ท่านได้ไปสมัครเป็นนักร้องหน้าม่านของคณะละครหลายคณะที่แสดงตามเวทีของโรงละครดังในยุคก่อน ได้เรียนรู้ทั้งในด้านการร้องและการประพันธ์เพลงจนมีประสบการณ์เชี่ยวชาญและหันมาเขียนเพลงอย่างจริง ๆ จัง ๆ จนกลายเป็นนักประพันธ์เพลงที่ยิ่งใหญ่นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เอกลักษณ์ในการแต่งเพลงของครูชาลีที่ใครฟังเนื้อร้องแล้วก็แทบรู้ได้ทันทีนั้นอยู่ที่ความวิจิตรบรรจงในการใช้ภาษา เรียบง่ายแต่ว่างดงาม และเป็นบทเพลงที่เข้าถึงผู้คนโดยทั่วไปเป็นบทเพลงอันละมุนละไมที่มุ่งเข้าสู่ใจของคนฟัง
ครูชาลีได้สมรสกับนักแสดงหญิง ‘ศรินทิพย์ ศิริวรรณ’ ซึ่งหายไประหว่างการถ่ายทำเรื่อง “อีจู้กู้ปู่ป้า” ของ ‘กำธร ทัพคัลไลย’ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2530 จนถึงปัจจุบันยังไม่พบตัว ภายหลังเหตุการณ์นั้นครูชาลีได้แต่งเพลงเพื่อระลึกถึงภรรยาโดยใช้ทำนองเพลง Aubrey ของเดวิด เกตส์แห่งวงเบรด (Bread) ใช้ชื่อเพลงว่า ‘เมื่อเธอจากฉันไป’ ขับร้องโดย พรพิมล ธรรมสาร ในภายหลังท่านได้สมรสกับ ‘ธิดา อินทรวิจิตร’ และใช้ชีวิตคู่ร่วมกันมาอย่างสงบสุขตราบจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต
Source
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส