เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์ nature.com ได้เผยแพร่ผลการศึกษาทดลองพฤติกรรมสัตว์จำนวนมาก ซึ่งมีความเชื่อมโยงอาการหาวในสัตว์ กับขนาดร่างกาย การมีกระดูกสันหลัง ขนาดความใหญ่ของสมอง และจำนวนเซลล์ประสาท อธิบายง่าย ๆ ก็คือ สัตว์ที่มีขนาดตัวและขนาดสมองใหญ่กว่าจะหาวยาว หาวนานกว่าสัตว์ขนาดเล็ก หรือสัตว์ที่มีสมองขนาดเล็ก
โดยนักวิจัยได้ทำการรวบรวมข้อมูลการหาวของสัตว์ชนิดต่าง ๆ กว่า 1,291 ตัวอย่างภายในสวนสัตว์หลายแห่งในประเทศเนเธอร์แลนด์ ทั้งจากการสังเกตการณ์ หรือจากการสังเกตในคลิปวิดีโอที่มีการถ่ายสัตว์ภายในสวนสัตว์กำลังหาวเอาไว้ โดยแบ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 55 ชนิด นก 46 สายพันธุ์ จนสามารถค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างความยาวในการหาวกับความใหญ่ของสมองที่ค่อนข้างเป๊ะทีเดียว
‘จอร์จ มาสเซน’ (Jorg Massen) นักพฤติกรรมวิทยาจากมหาวิทยาลัยอูเทรคต์ ประเทศเนเธอแลนด์ เจ้าของรายงานการวิจัยในครั้งนี้กล่าวว่า
“เราต้องเดินทางไปสวนสัตว์หลาย ๆ แห่ง พร้อมกับกล้องถ่ายรูป แล้วก็ต้องยืนอยู่ข้างกรงสัตว์ เพื่อจะรอให้มันอ้าปากหาว…ซึ่งก็ต้องรอกันอย่างนานเลยแหละครับ”
ในการศึกษาในครั้งนี้ได้เติมเต็มความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ของการหาว รวมถึงคำถามที่ยังคงสงสัยว่า เราหาวไปเพื่ออะไรกันแน่ รวมถึงความสงสัยที่ว่า ทำไมสัตว์บางชนิดอย่างเช่นยีราฟ ถึงไม่มีการหาวเลยแม้แต่น้อย
ในเอกสารการวิจัย จอร์จได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า
“แม้รูปแบบของการหาวจะเหมือน ๆ กัน และมีรูปแบบที่คงที่ แต่ระยะเวลาการหาวในแต่ละครั้งนี่แหละ ที่มีความแปรผันตรงกับขนาดสมองและจำนวนเซลล์ประสาท”
การทดสอบนี้ เป็นการทดสอบสมมติฐานที่ตั้งไว้ตั้งแต่ปี 2007 โดยหนึ่งในนักวิจัยที่ทำงานเกี่ยวกับการศึกษาในครั้งนี้ได้ตั้งสมมติฐานว่า การหาวอาจเป็นวิธีการทำให้อุณหภูมิของสมองลดลง หรือมันก็คือการไหลเวียนอุณหภูมิของสมองนั่นแหละ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ก็แปลว่า สัตว์ที่สมองใหญ่กว่า ย่อมมีการหาวที่ยาวกว่า เพื่อให้อุณหภูมิภายในสมองเย็นลงอย่างเหมาะสม ส่วนสัตว์ที่ตัวเล็กกว่าก็หาวสั้นกว่า
ซึ่งสมมติฐานนี้ก็ยิ่งเป็นการสนับสนุนผลการวิจัยเข้าไปอีก เพราะการวิจัยยังระบุอีกว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีความยาวในการหาวนานกว่านก ด้วยความที่ปกติแล้ว นกและสัตว์ปีกจะมีอุณหภูมิร่างกายเฉลี่ยสูงกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (ประมาณ 40 องศาเซสเซียส) ทำให้อากาศโดยรอบสรีระของมันมีความแตกต่าง ส่งผลให้นกมีช่วงการหาวที่สั้นกว่า ซึ่งนั่นก็เพียงพอที่จะทำให้อุณหภูมิลดลงได้โดยเร็ว
รวมทั้งยังมีผลสรุปที่คล้ายคลึงกันกับการวิจัยในปี 2006 ในการศึกษาการหาวของสัตว์ 205 สายพันธุ์ 24 ชนิด รวมถึงมนุษย์ด้วย พบว่าหนูมีการหาวที่สั้นที่สุดคือ 0.8 วินาที ส่วนคนที่หาวยาวที่สุดอยู่ที่ราว ๆ 6.5 วินาที
‘แอนดรูว์ กัลลัป’ (Andrew Gallup) นักพฤติกรรมวิทยาของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์กได้ให้ข้อมูลว่า การหาวจะทำให้มีการสูดอากาศเย็น และการยืดกล้ามเนื้อรอบ ๆ ช่องปากในการหาว จะเป็นการช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดที่มีอุณหภูมิเย็นกว่าไปยังสมอง เพื่อให้เกิดการควบคุมอุณหภูมิของสมองไม่ให้สูงจนเกินไป
แต่แน่นอนว่า พอพูดเรื่องจำนวนเซลล์ประสาทในสมอง ก็อาจมีข้อสงสัยว่า แล้วอย่างนี้จะมีเชื่อมโยงกับความฉลาดด้วยหรือเปล่า หรือคนที่หาวยาวแปลว่ามีความฉลาดกว่าด้วยหรือเปล่า ในการวิจัยครั้งนี้พบว่า ความฉลาดไม่ได้เกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด ความหาวเชื่อมโยงเพียงเรื่องขนาดของสมอง และจำนวนเส้นประสาทในสมองเท่านั้น รวมถึงไม่เกี่ยวข้องกันกับความถี่ในการหาวด้วย
อ้างอิง
https://bit.ly/3o8Mlao
https://go.nature.com/3uEsl25
https://bit.ly/2RDOxL3
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส