29 พฤษภาคมที่ผ่านมา เชลซี (Chelsea) เอาชนะ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (Manchester City) ไปได้ 1 – 0 ทำให้สามารถคว้าแชมป์ ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก (UEFA Champions League) ประจำฤดูกาล 2020/2021 ไปครอง เบื้องหลังภาพความสำเร็จแสนสวยงามที่เราเห็นผ่านตาบนหน้าฟีดโซเชียล เน็ตเวิร์ก ตลอด 2 วันที่ผ่านมา… มีหนึ่งสิ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญจนทำให้เชลซีคว้าแชมป์รายการนี้มาครองได้ นั่นก็คือการเปลี่ยนโค้ชกลางฤดูกาล จากแฟรงก์ แลมพาร์ด (Frank Lampard ) สู่ โทมัช ทูเคิล (Thomas Tuchel) แล้วอะไรละ ที่แลมพาร์ดฝากไว้เพื่อให้เชลซีครองถ้วยยุโรปใบใหญ่สมัยที่ 2 ของสโมสรได้สำเร็จ เราไปแบไต๋กันเลยครับ

เชลซี ผู้ชนะเลิศการแข่งขันยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ประจำฤดูกาล 2020/2021

ก่อนอื่นเราต้องเกริ่นก่อนว่าแฟรงก์ แลมพาร์ด ก่อนหน้าที่จะมาเป็นโค้ชเชลซี เขาเคยเป็นนักเตะระดับตำนานของสโมสรเชลซีมาก่อน เป็นผู้เล่นในตำแหน่งกองกลางที่ยิงประตูมากที่สุดตลอดกาลเหนือกองหน้า หรือคนอื่น ๆ ในสโมสร รวมทั้งพาเชลซีคว้าทุกถ้วยใหญ่ในทุกรายการที่ลงเล่นมาหมดแล้ว และด้วยวัยเพียง 40 ปีในวันที่เข้ารับตำแหน่งโค้ชเชลซีเมื่อปี 2019 (ปัจจุบันเขาอายุ 42 ปี) ถือว่ายังหนุ่มมาก ๆ เพราะตัวเขาเองก็ไม่ได้มีผลงานในฐานะโค้ชที่ประสบความสำเร็จหรือเป็นชิ้นเป็นอันเท่าไร ทำให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อยู่มากเกี่ยวกับการแต่งตั้งแลมพาร์ดเป็นโค้ชในครั้งนี้

แฟรงก์ แลมพาร์ด กับการกลับมาสู่ทีมอีกครั้งในฐานะโค้ช

แล้วทำไมสโมสรถึงเลือกแลมพาร์ดละ

แม้ตอนนั้นสโมสรจะเพิ่งคว้าถ้วยยุโรปใบเล็กอย่าง ยูฟ่า ยูโรปา ลีก (UEFA Europa League) มาได้ แต่สถานการณ์ภายในนั้นถือว่าย่ำแย่ สปิริตทีมเริ่มแตก เนื่องจากโค้ชตอนนั้นอย่าง เมาริโอ ซาร์รี่ (Maurizio Sarri) มีการถ่ายเลือดใหม่ ขาใหญ่ในทีมโดนลดบทบาท, แผนการเล่นที่จำเจ, สตาร์ของทีมอย่าง เอเดน อาซาร์ (Eden Hazard) กำลังจะย้ายออก รวมไปถึงมีนักเตะออกมาให้สัมภาษณ์ว่ารูปแบบการซ้อมของซาร์รี่ค่อนข้างน่าเบื่อด้วย ทำให้สุดท้ายจบลงด้วยการแยกทางกัน ส่วนภายนอกนั้นด้วยการผิดกฎเกี่ยวกับการซื้อขายผู้เล่นที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่ฟีฟ่ากำหนด ทำให้โดนแบนจากการเข้าร่วมกิจกรรมซื้อขายผู้เล่นในตลาด 2 ปี

เชลซีกับการคว้าแชมป์ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก 2018/2019

จากสิ่งที่พูดมาทั้งหมดทำให้ไม่มีโค้ชคนไหนกล้ามารับงานเผือกร้อนแทบไหม้ของเชลซีในครั้งนี้ แต่ด้วยความรักในสโมสรที่แฟรงก์ แลมพาร์ด มีเขาเลยตัดสินใจมารับงานนี้ในที่สุด โดยสโมสรตอนนั้นก็หวังว่าแลมพาร์ดจะทำให้บรรยากาศของสโมสรกลับมาสู่ทางที่ดีอีกครั้ง ส่วนเรื่องผลงานในสนามค่อยว่ากันอีกที ซึ่งผลงานของเขาในฤดูกาลแรกถือว่าสอบผ่าน สามารถพาทีมเข้าชิง FA Cup ได้แม้จะพ่ายต่ออาร์เซน่อลไป 1-2 รวมทั้งพาทีมจบท็อปโฟร์ได้อีกครั้ง แต่ฤดูกาลที่ 2 นั้นดูเหมือนทุกอย่างจะเริ่มไม่เข้าที่เข้าทาง เขาไม่สามารถพาทีมทำผลงานได้อย่างที่หวัง จนสุดท้ายก็แยกทางจากสโมสรที่เขารักในที่สุด

“แฟรงก์ ทำสถิติอันน่าทึ่งในรอบแบ่งกลุ่ม ยูฟา แชมเปียนส์ ลีก และยังชนะทุกเกมใน เอฟเอ คัพ เขาจึงเป็นคนที่วางรากฐานที่ทำให้เรามาถึงรอบชิงชนะเลิศ ผมไม่รู้สึกละอายใจหรือกลัวที่จะพูดออกมา ผมรู้สึกเช่นนั้นตั้งแต่วันแรก และผมพยายามที่จะสานต่องานที่เขาเริ่มต้นไว้ให้เรียบร้อย”

นี่คือสิ่งที่โค้ชคนใหม่ของเชลซีอย่าง โทมัช ทูเคิล กล่าวไว้ งั้นอะไรที่แลมพาร์ดฝากไว้บ้าง

โทมัช ทูเคิล โค้ชชาวเยอรมันที่เข้ามารับตำแหน่งต่อจากแฟรงก์ แลมพาร์ด

1.การซื้อตัวผู้เล่นที่เฉียบขาด

ช่วงซัมเมอร์ 2020 เชลซี และแลมพาร์ดได้สร้างความฮือฮาในตลาดนักเตะด้วยการทุ่มเงินเสริมทัพครั้งใหญ่ที่สุดในสโมสร หรือเป็นหนึ่งในครั้งที่ใหญ่ที่สุดสำหรับตลาดเดียว ด้วยตัวเลขกว่า 200 ล้านปอนด์ แบ่งเป็น

  • ไค ฮาแวตซ์ (Kai Havertz) – 71 ล้านปอนด์
  • ติโม แวเนอร์ (Timo Werner) – 47.5 ล้านปอนด์
  • ฮาคิม ซิเยค (Hakim Ziyech) – 38 ล้านปอนด์
  • เบน ชีเวล (Ben Chilwell) – 50 ล้านปอนด์
  • ติอาโก ซิลวา (Thiago Silva) – ฟรี
  • เอดูอาร์ เมนดี้ (Edouard Mendy) – 22 ล้านปอนด์

ผู้เล่น 6 คนนี้ถือเป็นคีย์แมนสำคัญที่พาเชลซีเถลิงบัลลังก์ถ้วยยุโรปอีกครั้งได้สำเร็จ ถ้าพูดให้เห็นภาพก็คือ ไค ฮาแวตซ์ ยิงประตูชัยในนัดชิงได้, แวเนอร์ แอสซิสต์ ให้ ซิเยค ยิงแอตฯ มาดริด จนเป็นส่วนสำคัญให้ทีมเข้าชิง, เบนชิเวล และติอาโก ซิลวา 2 แนวรับที่ฟอร์มดีสม่ำเสมอ ลงสนามอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการได้ลงเล่นในนัดชิงชนะเลิศด้วย โดยเฉพาะการเซ็นสัญญากับเอดูอาร์ เมนดี้ ผู้รักษาประตูที่หลายคนไม่รู้จัก แต่กลับสร้างสถิติคลีนชีตสูงสุดใน UCL ด้วยการลงเล่น 12 นัด เก็บคลีนชีตได้ถึง 9 นัด โดยเฉพาะนัดชิงชนะเลิศ… ตรงนี้แม้จะมีหลายคนค่อนขอดว่าใช้เงินซื้อความสำเร็จ แต่อย่าลืมว่าหลาย ๆ ทีมก็ใช้เงินซื้อเหมือนกัน แค่ยังไม่สำเร็จเท่านั้นเอง ดังนั้นการจะไม่ให้เครดิตการเลือกซื้อตัวผู้เล่นของโค้ชและสโมสรก็ดูจะใจร้ายเกินไปหน่อย

ไค ฮาแวตซ์ ในวันที่เซ็นสัญญากับเชลซี

2. การผลักดันผู้เล่นดาวรุ่ง

ปกติแล้วโค้ชของเชลซีมักจะไม่ค่อยใช้ผู้เล่นดาวรุ่งจากอคาเดมี่ของสโมสรสักเท่าไร เนื่องด้วยพวกเขาถูกจ้างเข้ามาด้วยความคาดหวังสูง การจะให้โอกาสผู้เล่นดาวรุ่ง หรือรอดาวจรัสแสงอาจจะไม่ทันการ ทำให้ต้องซื้อผู้เล่นบิ๊กเนมเข้ามาเสียเป็นส่วนใหญ่ แม้แลมพ์จะใช้เงินในปีที่ 2 ของการคุมทีมเช่นกัน แต่ในปีแรกที่คุมทีม การโดนแบนจากตลาดซื้อขายทำให้เขาตัดสินใจใช้งานดาวรุ่งแววดีของสโมสร ไม่ว่าจะเป็น เมสัน เมาน์ต (Mason Mount) 22 ปี, รีซ เจมส์ (Reece James) 21 ปี , คาลัม ฮัดสัน โอดอย (Callum Hudson-Odoi) 20 ปี, บิลลี่ กิลมัวร์ (Billy Gilmour) 19 ปี แทมมี่ อบราฮัม (Tammy Abraham) 23 ปี ซึ่งพวกเขาเป็นส่วนสำคัญในการคว้าแชมป์ UCL มาก ๆ ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ เมาน์ต แอสซิสต์ ให้ ไค ฮาแวตซ์ ยิงประตูชัยในนัดชิงได้ ซึ่งก่อนหน้านี้เมาน์ต เคยโดนคนล้อว่าเป็นลูกรักแฟรงก์ แลมพาร์ด เพราะมักจะได้ลงสนามอย่างสม่ำเสมอ แต่วันนี้เขาพิสูจน์แล้วว่าแลมพ์ไม่ได้ตัดสินใจผิด และเขาเองก็ไม่ใช่ลูกรัก แต่เขาคือนักเตะที่ควรค่าแก่การได้ลงสนามจริง ๆ

เหล่าผู้เล่นดาวรุ่งจากอคาเดมี่เชลซี

3. การกู้คืนสปิริตทีม

สิ่งที่แลมพาร์ดแตกต่างจากโค้ชเชลซีในยุคหลัง ๆ คือเขาเป็นตำนานสโมสร แม้อาจจะไม่ใช่ดาวรุ่งที่อยู่กับทีมมาตั้งแต่เด็ก แต่ตอนที่เขาย้ายมาจากเวส์แฮมก็มีอายุแค่เพียง 23 ปีเท่านั้น ก่อนจะช่วยทีมคว้าแชมป์มากมาย แถมเขาเองก็ไม่ค่อยมีข่าวเสียหายถึงสโมสร ทำให้เป็นที่รักของแฟนบอล เรียกว่าการมาของแฟรงก์ ทำให้บรรยากาศของสโมสรที่กำลังจะแตกเป็นเสี่ยง ๆ ลำเลียงกลับมาเป็นปึกแผ่นได้อีกครั้ง แต่แน่นอนว่าบทบาทในฐานะโค้ช มีอะไรมากกว่าเรื่องของบารมี ฝีมือก็เป็นสิ่งสำคัญ สุดท้ายด้วยผลงานที่ตกลงก็ต้องแยกทางกันไป

แลมพาร์ดกับเชลซี

แต่เดี๋ยวก่อน! ในฤดูกาลสุดท้ายของเขากับเชลซี แม้เขาจะพาเชลซีหล่นไปอยู่กลางตาราง แต่ในรอบแบ่งกลุ่ม UCL แลมพาร์ดทำสถิติไม่แพ้ใครด้วยการลงเล่น 6 นัด ชนะ 4 เสมอ 2 แถมใน FA Cup ก็ไม่แพ้ใคร ทำให้ทูเคิลโค้ชคนใหม่เข้าสานต่อจนถึงแชมป์ในที่สุด ซึ่งในวันที่ทูเคิลเข้ารับตำแหน่ง แลมพาร์ดก็ได้ส่งข้อความมาอวยพรด้วย

ทูเคิลกับเชลซี

จังหวะที่เหมาะสม อาจเป็นส่วนผสมที่สำคัญของความสำเร็จ ถ้าทูเคิลมาเร็วกว่านี้ เชลซีอาจจะยังไม่ถึงแชมป์ เพราะทีมยังไม่พร้อม ไม่เป็นปึกแผ่นมากพอ หรือถ้าแลมพาร์ดอยู่ต่อนานกว่านี้ เชลซีก็อาจไม่ถึงแชมป์เช่นกัน เพราะด้วยประสบการณ์ที่ยังไม่แกร่งกล้าพอ ดังนั้นความพอเหมาะ พอเจาะ พอดี คือสิ่งสำคัญที่ทำให้เชลซีไปถึงแชมป์ยุโรปในที่สุด

ภาพที่แลมพาร์ดส่งไปให้ติอาโก้ ซิลวา เพื่อโน้มน้าวให้เขาย้ายมาร่วมทีมเชลซี พิสูจน์ให้เห็นเขาใส่ใจและจำติอาโกได้จริง ๆ

“อย่างไรก็ตามผมต้องขอบคุณ แฟรงก์ แลมพาร์ด เพราะถ้าไม่มีเขาที่คอยโน้มน้าว และมีส่วนทำให้ผมย้ายมาที่นี่ ผมก็คงจะไม่ได้อยู่ในที่แห่งนี้ วันนี้พวกเรามีความสุขมาก ๆ และผมก็หวังว่าเขาจะมีความสุขด้วยเช่นกัน”

ติอาโก ซิลวา กองหลังระดับโลกที่ฝันอยากได้ถ้วยนี้มาตลอดโพสต์ขอบคุณแลมพาร์ด ที่พาเข้ามาที่นี่ และทำให้ฝันของเขาเป็นจริง

ปัจจุบันแฟรงก์ แลมพาร์ดยังว่างงานอยู่ แต่ด้วยความสามารถที่เขามี สมัยเป็นนักฟุตบอลเคยมีข่าวว่าเขาเป็นหนึ่งในนักฟุตบอลที่ IQ สูงที่สุดถึง 150 ก็น่าสนใจว่าเขาจะไปคุมทีมไหนต่อ หรือจะผันตัวไปเป็นนักวิเคราะห์เกมแบบที่อดีตดาวดังหลายคนชอบทำ แต่ไม่ว่าจะเลือกทางไหน เราก็ขออวยพรให้เขาประสบความสำเร็จครับ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส