สำนักงานโบราณวัตถุแห่งอิสราเอล (IAA) ได้เปิดเผยว่า คณะนักโบราณคดีชาวอิสราเอลค้นพบซากมหาวิหารโรมันเก่าแก่อายุกว่า 2,000 ปี ที่งดงามและหายาก ในเมืองอัชเคลอนทางตะวันตกเฉียงใต้
การค้นพบนี้เกิดขึ้นที่ ‘อุทยานแห่งชาติอัชเคลอน’ ซึ่งขึ้นชื่อด้านทัศนียภาพอันงดงามและซากปรักหักพังโบราณ ตามรายงานของสำนักงานโบราณวัตถุแห่งอิสราเอล อุทยานแห่งนี้เพิ่งได้รับการปรับปรุงครั้งใหญ่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเผยให้เห็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ซ่อนอยู่ รวมถึงมหาวิหารโบราณแห่งนี้ด้วย
หลังคาของมหาวิหารแห่งนี้ถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน โดยมีห้องโถงกลางขนาบข้างด้วยห้องโถงสองด้าน ในส่วนของห้องโถงนั้น ล้อมรอบด้วยเสาหินอ่อนและมียอดเสาเรียงกันเป็นแถว สูงประมาณ 13 เมตร ทำหน้าที่รองรับหลังคา ทั้งพื้นและผนังสร้างด้วยหินอ่อนซึ่งนำเข้าจากเอเชียไมเนอร์
สำนักงานโบราณวัตถุแห่งอิสราเอล ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในการค้นพบซากมหาวิหารในครั้งนี้ พบวัตถุโบราณที่เป็นหินอ่อนกว่า 200 ชิ้น โดยเมื่อนำมารวมกันแล้วทำให้ที่มีน้ำหนักกว่าหลายร้อยตันเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังพบโรงละครโบราณ ประติมากรรม และเหรียญโรมันอีกด้วย ซึ่งในบรรดาสิ่งของเหล่านี้ มีการค้นพบเสาหลักหลายสิบเสาที่มีลวดลายรูปพืช บางแห่งมีนกอินทรี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจักรวรรดิโรมัน
ดร.เรเชล บาร์-นาธาน (Dr. Rachel Bar-Natan), ซาร์ กานอร์ (Saar Gano) และ เฟเดริโก้ โคบริน (Federico Kobrin) ผู้อำนวยการขุดค้นในนามของ IAA กล่าวว่า “อาคารขนาดใหญ่นี้มีขนาด 115 x 34 เมตร ได้รับการจัดตั้งขึ้นในใจกลางของ ‘อัชเคลอน’ โดยเฮโรดมหาราช (Herod The Great) กษัตริย์โรมันแห่งแคว้นยูเดีย”
ในช่วงราชวงศ์โรมันเซเวรัน ในศตวรรษที่สองและสามของซีอี อาคารแห่งนี้ได้รับการปรับปรุงใหม่ มีการนำลักษณะทางสถาปัตยกรรมหินอ่อนมาที่ไซต์ และมีการเพิ่มโรงละครขนาดเล็ก เหรียญเฮโรเดียนที่ค้นพบในฐานของพื้นโบราณของโครงสร้างแสดงให้เห็นว่ามันถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาของหนึ่งในผู้สร้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยอาศัยอยู่ในประเทศ
โครงสร้างของมหาวิหารแห่งนี้ ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในอิสราเอลในปี 363 โดยผลกระทบของคลื่นสั่นสะเทือนสามารถมองเห็นได้ชัดเจนจากพื้นของอาคาร
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส