ผลการสำรวจใหม่อันน่าตะลึงพบว่า ชาวอเมริกัน (โดยเฉพาะผู้ใหญ่) จำนวนเกือบครึ่ง มีความเชื่อแบบผิด ๆ ว่า ไดโนเสาร์ยังคงมีอยู่ในโลก ณ ปัจจุบัน และอาศัยอยู่ร่วมยุคกับมนุษย์ ณ มุมใดมุมหนึ่งของโลกที่ห่างไกลออกไป ราวกับว่าเหมือนในหนัง ‘Jurassic Park’ อย่างไรอย่างนั้นเลย!
เว็บไซต์ studyfinds.org เปิดเผยผลโพลล่าสุดที่จัดทำโดย ‘โบต ร็อกเกอร์ สตูดิโอ’ (Boat Rocker Studios) สตูดิโอจากเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา เจ้าของผลงาน ‘ไดโน แรนช์’ (Dino Ranch) แอนิเมชันสำหรับเด็กปฐมวัยเนื้อหาเกี่ยวกับไดโนเสาร์ที่ฉายทางสถานีโทรทัศน์ดิสนีย์ จูเนียร์ (Disney Junior) ซึ่งผลสำรวจนี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ซึ่งถือเป็น ‘วันไดโนเสาร์สากล’ (International Dinosaur Day) นั่นเอง
ซึ่งผลสำรวจผู้ใหญ่ชาวอเมริกันจำนวนกว่า 2,000 คน พบว่า 46% นั้นยังมีความเชื่อว่า สัตว์ดึกดำบรรพ์อย่างไดโนเสาร์ ไม่ได้สูญพันธุ์ไปไหน แต่ยังคงอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ ณ ที่ใดสักแห่งที่ห่างไกลจากมนุษย์ อีก 22% คิดว่า “น่าจะมีความเป็นไปได้ที่ไดโนเสาร์จะยังอยู่” ในขณะที่มีเพียง 33% เท่านั้น ที่เชื่อในหลักความเป็นจริงว่าไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปกว่า 65 ล้านปี และไม่มีเหลืออยู่แล้วในโลกปัจจุบัน
และหากลงลึกไปในรายละเอียด จะพบว่าผู้ใหญ่อเมริกันหลาย ๆ คนก็ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องของไดโนเสาร์เช่นเดียวกัน อย่างเช่นเรื่องของช่วงเวลาที่ไดโนเสาร์ยังอยู่บนโลก จากผลสำรวจ 23% คิดว่าไดโนเสาร์สูญพันธุ์ในช่วงประมาณ 2,000 ปีก่อน ประมาณช่วงยุคสัมฤทธิ์ (Bronze age) ในขณะที่ 21% เชื่อว่าไดโนเสาร์สูญพันธุ์เมื่อร้อยกว่าปีก่อน ประมาณ “สงครามโลกครั้งที่ 1” อีก 18% เชื่อว่าไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปเมื่อ 10,000 ปีก่อน (ประมาณยุคน้ำแข็ง) 13% เชื่อว่าสูญพันธุ์เมื่อสามล้านปีก่อน (ยุคเดียวกับ ‘ลูซี’ มนุษย์คนแรกของโลก)
ในส่วนที่เกี่ยวกับความรู้ด้านถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของไดโนเสาร์ 54% ของผลสำรวจคิดว่าไดโนเสาร์ทั้งหมดน่าจะอาศัยเฉพาะในทวีปแอฟริกา และในทวีปอเมริกาเหนือเท่านั้น ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ณ ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ได้ในทุกภูมิภาคของโลก และจากไดโนเสาร์นับพันชนิด ผลสำรวจยังเผยว่า ผู้ทำแบบสำรวจส่วนใหญ่สามารถจดจำชนิดของไดโนเสาร์ได้เพียง 4 พันธุ์เท่านั้น โดยพันธุ์ที่ถูกจดจำได้มากที่สุดคือ ‘ไทแรนโนซอรัส เร็กซ์’ (Tyrannosaurus rex) หรือ ‘ที-เร็กซ์’ (T-Rex) นั่นเอง
ในการทดสอบหนึ่ง ที่ให้ผู้ทำการทดสอบเลือกชื่อพันธุ์ไดโนเสาร์จากภาพ พบว่าสองในสามของผู้สำรวจไม่สามารถระบุชื่อพันธุ์ได้เป๊ะ ๆ แม้แต่พันธุ์ไตรเซอราท็อปส์ (Triceratops) ที่เด็ก ๆ ชื่นชอบมาอย่างยาวนานก็ตาม (ซึ่งแน่นอนว่า คงไม่ใช่เรื่องผิดบาปอะไร ถ้าจะจำชื่อพันธุ์ไดโนเสาร์ยาว ๆ ยาก ๆ ไม่ได้น่ะนะ-ผู้เขียน)
เรื่องที่น่าสนใจของการสำรวจในครั้งนี้คงไม่ใช่ความขันขื่นที่ว่าผู้ใหญ่เข้าใจผิดในเรื่องของไดโนเสาร์อย่างไรบ้างเพียงเท่านั้น เพราะมากกว่า 8 ใน 10 หรือ 84% จากจำนวน 42% ของผู้ใหญ่ที่ตอบแบบสอบถามทีี่เป็นผู้ปกครองของเด็ก ๆ อายุต่ำกว่า 16 ปีได้เล่าว่า ตอนนี้ลูก ๆ ของพวกเขาคุ้นเคยและรู้เรื่องราวของเกี่ยวกับไดโนเสาร์มากกว่าพวกเขา (หรือ “รุ่นของพวกเขา”) เสียอีก บางคนเรียกได้ว่าเข้าขั้น “หมกมุ่น” แต่ก็เรียกได้ว่าเป็นการหมกมุ่นที่ดี อย่างที่เรามักเห็นเด็กหลาย ๆ คนสามารถจำชื่อไดโนเสาร์ยาว ๆ ยาก ๆ ได้อย่างแม่นยำ
‘แมตต์ เฟอร์นานเดส’ (Matt Fernandes) ผู้สร้างซีรีส์ ‘ไดโน แรนช์’ ได้กล่าวเพิ่มเติมประเด็นนี้ว่า “นับว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ เลยครับ ที่ ‘ไดโน แรนช์’ ได้ช่วยผลักดันความรักที่มีต่อไดโนเสาร์ต่อเด็ก ๆ ยุคนี้ ความรู้ที่ว่าเคยมีสัตว์ยักษ์เดินอยู่บนโลกเมื่อหลายล้านปีก่อน มันช่วยจุดประกายจินตนาการให้เด็ก ๆ มีความรักและสนใจในเรื่องไดโนเสาร์อย่างแรงกล้า และทำให้สิ่งมีชีวิตอันงดงามเหล่านี้ยังมีคนสนใจอยู่”
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส