เวลาเราเหน็ดเหนื่อยเมื่อล้า อยากผ่อนคลายผ่อนใจหรือมองหาแรงบันดาลใจ เพลงแจ๊ซคือแนวดนตรีที่ดีที่จะช่วยมอบพลังบวกให้กับเรา ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้เริ่มต้นฟังเพลงแจ๊ซหรือคนที่หลงใหลในดนตรีแนวนี้อยู่แล้ว 10 อัลบั้มต่อไปนี้จะเป็นอัลบั้มที่จะทำให้คุณหลงรักดนตรีแจ๊ซและได้รับความสุขใจเมื่อได้ท่องไปในท่วงทำนองของบทเพลงเหล่านี้อย่างแน่นอน
Charlie Parker with Strings – “The Master Takes” (1950)
ชาร์ลี ปาร์กเกอร์ (Charlie Parker) คือหนึ่งในปูชนียบุคคลแห่งวงการดนตรีแจ๊ซผู้เปิดพรมแดนอันอิสระให้แก่ดนตรีแจ๊ซด้วยการเป็นผู้ริเริ่มการเล่นแบบ Improvise และเป็นผู้บุกเบิกดนตรีสไตล์บีบ็อบ และเขาผู้นี้แหละคือตำนานที่คุณครูเฟลชเชอร์จอมโหดได้เล่าให้พ่อหนุ่มแอนดรู นีแมนฟังในภาพยนตร์ที่เปี่ยมไปด้วยความหลงใหลในเสน่ห์แห่งแจ๊ซ ‘Whiplash’
ด้วยความสนใจในดนตรีคลาสสิกอย่างลึกซึ้งโดยมี สตราวินสกี, บราห์มส์ และ บาร์ท็อก เป็นแรงบันดาลใจ ทำให้ปาร์กเกอร์มีความใฝ่ฝันมายาวนานที่จะทำการบันทึกเสียงกับวงดนตรีออร์เคสตรา และในที่สุดความฝันนี้ก็เป็นจริงในปี 1949 เมื่อเขาได้ทำอัลบั้ม ‘Charlie Parker with Strings’ ร่วมกับกลุ่มเครื่องสาย พิณฮาร์ป ผนวกกับนักเป่าโอโบ มิช มิลเลอร์ และเครื่องดนตรีริทึ่มแจ๊ซตามแบบมาตรฐาน
ท่ามกลางการบรรเลงผสานอันงดงาม ชาร์ลี ‘เบิร์ด’ ปาร์กเกอร์ ได้โบยบินอย่างสง่าสมฉายา ‘เบิร์ด’ ลอยเด่นด้วยการบรรเลงโซโล่อันพลิ้วไหว ไพเราะ และชวนเคลิบเคลิ้ม ล่องไหลไปในบทเพลงสแตนดาร์ดคัดสรรอันไพเราะ และหลังจากที่เวอร์ชันแรกประสบความสำเร็จทางด้านยอดขายในปีต่อมาก็เลยมีการบันทึกเสียงครั้งที่ 2 และออกมาเป็นฉบับ “Master Takes”
เพลงในอัลบั้มนี้ฟังเพลินทุกเพลง อย่างเพลง “Everything Happens To Me” ก็หวานหูมาก ๆ และเชื่อว่าทุกคนคงฮัมตามและจดจำได้เป็นอย่างดีกับเมโลดี้หลักของเพลงนี้ หรือจะเป็นแทร็กเปิดอัลบั้ม “Just Friends” ที่ปาร์กเกอร์โชว์เดี่ยวอัลโตแซ็กโซโฟนในจังหวะแบบดับเบิลไทม์สวิงได้อย่างชวนว้าว
Thelonious Monk – “Genius of Modern Music : Volume 1” (1952)
หากจัดลิสต์อัลบั้มยอดเยี่ยมแล้วไม่มีผลงานของ ‘ธีโลเนียส มังก์’ (Thelonious Monk) มือเปียโนผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งของวงการแจ๊ซผู้บุกเบิกดนตรีสไตล์บีบ็อบแล้วล่ะก็มันก็คงจะไม่ได้
และอัลบั้มที่เราเลือกมาแนะนำก็คือหนึ่งในงานเพลงชั้นเลิศของมังก์ “Genius of Modern Music” ที่เป็นอัลบั้มรวมบทเพลงของมังก์ที่ออกกับทางค่ายระดับตำนานของวงการเพลงแจ๊ซ ‘Blue Note’ ระหว่างกลางทศวรรษที่ 1940s – 1950s ซึ่งถึงแม้จะเป็นงานในยุคแรกของมังก์ แต่สามารถกล่าวได้เลยว่าเป็นผลงานระดับ ‘มาสเตอร์พีซ’ เลยทีเดียว เพราะหน้าที่มังก์จะออกผลงานด้วยชื่อของตัวเอง เขาก็ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์มาอย่างโชกโชนทำให้เกิดความสุกงอมทางดนตรีเป็นที่เรียบร้อย นอกจากลีลาการโซโลเปียโนที่น่าทึ่งแล้ว ทีมประสม 6 ชิ้นที่มี มังก์ – เปียโน, ไอเดรส ซูไลมาน – ทรัมเป็ต, แดนนี ควีเบ็ค เวสต์ – อัลโตแซ็กโซโฟน, บิลลี สมิธ – เทเนอร์แซ็กโซโฟน, จีน รามีย์ – เบส และ อาร์ต แบล็กกีย์ – กลอง ก็เป็นอะไรที่โดดเด่นและเข้าขากันเป็นอย่างดี
อัลบั้มนี้มีการรวมเอาบทเพลงยอดฮิตและไพเราะของมังก์ไว้มากมายที่โดดเด่นสุด ๆ เลยก็คือ “Round Midnight” ซึ่งเป็นเพลงที่โด่งดังที่สุดของเขา เพลงนี้มังก์เป็นคนแต่งเอง เป็นบทเพลงท่วงทำนองแปลกหูแต่ฟัง ๆ ดูแล้วกลับเพลินใช่เล่น “In Walked Bud” เพลงที่มังก์แต่งอุทิศให้กับบัด พาวล์ นักเปียโนรุ่นหลังที่ได้รับอิทธิพลการเล่นจากมังก์นำเสนอแนวทางของการเดินคอร์ดที่แปลกใหม่ตามแบบฉบับของบัด พาวล์ รวมไปถึง “Epistrophy”, “I Mean You” และ “Misterioso” 3 บทเพลงที่บรรเลงกับมิลท์ แจ๊กสัน นักไวบราโฟนชื่อดังอันเป็นบทเพลงที่สะท้อนถึงพัฒนาการด้านจังหวะและแนวประสานเสียงที่ทวีความซับซ้อนขึ้น
หากจะฟังงานของ ธีโลเนียส มังก์ “Genius of Modern Music : Volume 1” เป็นอัลบั้มที่ดีที่คุณจะเริ่มต้น ซึ่งอาจจะไม่ใช่อัลบั้มที่ฟังแล้วลื่นหูไปหมดทุกอย่าง แต่ก็เป็นอัลบั้มที่จะทำให้คุณไม่รู้สึกเบื่อและสนุกไปกับการท่องเที่ยวไปในท่วงทำนองของนักดนตรีอัจฉริยะคนนี้
Ella Fitzgerald & Louis Armstrong – “Ella and Louis” (1956)
เป็นหนึ่งในการร่วมงานกันที่สุดประทับใจของวงการแจ๊ซ เมื่อหลุยส์ อาร์มสตรองได้ร่วมงานกับเอลลา ฟิตซ์เจอรัลด์ ‘สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งวงการเพลงแจ๊ซ’ และเป็นหนึ่งในนักร้องแจ๊ซที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล เมื่อปี 1956 กับอัลบั้ม “Ella and Louis”
เหมือนความงามและความสมดุลตามหลักหยินหยางเมื่อสองความต่างได้มาผสานกันระหว่างเสียงร้องอันดิบลึกของอาร์มสตรองกับเสียงสะอาดใสของฟิตซ์เจอรัลด์เมื่อนั้นความชิลระดับสุดจึงได้บังเกิดต่อหูของเราทั้งคู่เติมเต็มซึ่งกันและกันอย่างสมบูรณ์แบบบนท่วงทำนองของบทเพลงแจ๊ซคลาสสิกที่เข้าถึงได้ง่าย
คุณจะพบบทเพลงสุดไพเราะมากมายภายใต้เสียงร้องของทั้งคู่ อาทิ “Can’t we be friends?” , “Moonlight in Vermont”, “They can’t take that away from me” ,“ April in Paris” และอีกมากมาย
อัลบั้มนี้คืออัลบั้มเหนือกาลเวลาที่คุณสามารถหยิบมาฟังซ้ำแล้วซ้ำอีกได้ไม่รู้เบื่อเลยล่ะ
Miles Davis – “Kind of Blue” (1959)
Kind of Blue (1959) เป็นอัลบั้มแจ๊ซที่ได้รับยกย่องว่าเป็นอัลบั้มอันยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาลและยังเป็นอัลบั้มแจ๊ซที่ขายดีที่สุดตลอดกาลเป็นอัลบั้มแจ๊ซสามัญประจำบ้านเลยก็ว่าได้ เป็นอัลบั้มที่คอแจ๊ซควรต้องมีและเป็นอัลบั้มสำหรับคนที่ไม่ใช่คอแจ๊ซควรได้ลิ้มลอง
“Kind of Blue” ออกวางจำหน่ายในปี 1959 กับทางค่าย โคลัมเบีย เรคคอร์ด เรียกได้ว่าเป็นงานรวมเหล่า “เบญจเทพ” คือเทพทั้งห้าคนในวงการ ซึ่งเราเรียกวง 5 ชิ้นนี้ว่า ควินเท็ต อันประกอบไปด้วย ไมล์ส เดวิส มือทรัมเป็ต ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าวง บิล อีแวนส์ มือเปียโนเทพขวัญใจคอแจ๊ซ จิมมี คอปป์ มือกลอง พอล แชมเบอรส์ มือเบส จอห์น โคลเทรน มือแซ็กโซโฟนเทพขวัญใจมหาชนคนแจ๊ซ และ จูเลียน “แคนนอนบอลล์” แอดเดอร์ลีย์ อีกหนึ่งมือแซ็กโซโฟนฝีมือฉมัง
“Kind of Blue” เป็นอัลบั้มที่ขึ้นหิ้งคลาสสิก ด้วยการโซโล่ที่น่าประทับใจของสมาชิกแต่ละคน การเรียบเรียงที่เป็นมาตราฐานใหม่ในวงการเพลงแจ๊ซและอารมณ์อันรุ่มรวยที่หลั่งไหลออกมาเมื่อเราได้ฟัง ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ทำให้เรามิอาจลืมอัลบั้มนี้ไปจากใจได้เลย ไม่ว่าจะเป็น “’So What” ที่ไมล์ส เดวิสได้ทดลองทำในสิ่งที่เป็นการต่อยอดจากทฤษฎีโหมดของจอร์จ รัสเซลซึ่งริเริ่มมาแล้วส่วนหนึ่งในอัลบั้ม Milestones (1958) นั่นก็คือการโซโลด้นสด (Improvisation) ที่ไม่ได้จำกัดอยู่ที่สเกลในคีย์เพลงเพียงสเกลเดียวเท่านั้น หากแต่ลื่นไหลไปอย่างอิสระตามตัวโน้ตต่างๆที่ออกมาจากใจ นำไปสู่การใช้การเรียงลำดับของโน๊ตในสเกลไดอะโทนิคใหม่ทั้งหมดในอัลบั้มนี้ ซึ่งนับว่าแตกต่างจากงานดนตรีช่วงแรกของเขาที่ยึดสไตล์การเล่นแจ๊ซแบบฮาร์ดบ็อบอย่างสิ้นเชิง
หรือจะเป็น “Blue In Green” ที่บิล อีแวนส์ได้มอบสัมผัสที่อันนุ่มนวลชวนครุ่นคิดและน่าประทับใจบนท่วงทำนองของเพลงบัลลาดอันงดงาม ในขณะที่จอห์น โคลเทรนและแคนนอนบอลล์ แอดเดอร์ลีย์ก็ปลดปล่อยสำเนียงเสียงที่ตัดกันบนเทเนอร์และอัลโตแซกโซโฟนได้อย่างลุ่มลึก อีกทั้งยังมี “Freddie Freeloader” ที่มีการบรรเลงเปียโนจากวินตัน เคลลีที่มารับบทมือเปียโนแทนอีแวนส์ในเพลงนี้เพียงแค่เพลงเดียว
“Kind of Blue” ได้รับการยกย่องให้เป็นงานระดับมาสเตอร์พีซของไมล์ส เดวิส และเป็นอัลบั้มแจ๊ซที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา เป็นหนึ่งในอัลบั้มที่ดีที่สุดตลอดกาล ไม่เพียงแต่ในวงการแจ๊ซหากแต่เป็นวงการดนตรีของโลกใบนี้
Chet Baker – “Sings” (1958)
เช็ต เบเกอร์ (Chet Baker) มือทรัมเป็ตผู้มาพร้อมสำเนียงเสียงเป่าและเสียงร้องที่อ่อนหวาน อ่อนไหว ละล่องไปในร่องรอยของความเศร้า คือหนึ่งในหนึ่งในผู้นำของแนวดนตรี “คูล”แจ๊ซซึ่งมีสุ้มเสียงของความกลมกล่อม ผ่อนคลายและไพเราะซึ่งแตกต่างจากความหวือหวาและโชว์ลีลาชั้นเชิงของบีบ็อบและฮาร์ดบ็อบ
“Chet Baker Sings” เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีที่สุดของสิ่งที่ทำให้เบเกอร์โดดเด่นเป็นสง่าในช่วงกลางทศวรรษที่ 50 ทั้งเสียงทรัมเป็ตและเสียงร้องของเขานั้นมีความละเอียดอ่อน นุ่มนวล แผ่วเบาซึ่งแตกต่างจากนักดนตรีคนอื่น ๆ ใครที่ได้สัมผัสกับการร้องเพลงและการเล่นของเขานั้นจะรู้สึกเหมือนกันว่ามันราวกับว่าเขากำลังสื่อสารโดยตรงกับเรา บางทีรู้สึกเหมือนกำลังกระซิบอยู่ที่หูเลยด้วยซ้ำ เบเกอร์ไม่เคยใช้เสียงร้องขึ้นสูงลงต่ำหรือแสดงพลังหวือหวา ต่างจากนักร้องแจ๊ซคนอื่น ๆ ในยุคนั้น เช่น แฟรงก์ ซินาตรา หรือว่า บิง ครอสบี แม้แต่ในเพลงที่มีอารมณ์อ่อนไหวอย่าง “But Not For Me” และ “There Will Never Be Another You” เบเกอร์ก็เปล่งเสียงของเขาออกมาได้อย่างนุ่มนวลน่าอัศจรรย์ ทำให้ช่วงไคลแม็กซ์ของท่วงทำนองเป็นช่วงเวลาที่นุ่มนวลและไพเราะที่สุด
สิ่งที่ดึงดูดใจของอัลบั้มนี้คือเพลงบัลลาดอันไพเราะมากมาย เช่น “Time After Time” “My Funny Valentine” และ “The Thrill Is Gone” ที่เบเกอร์เล่นดูเอ็ตเป็นสองไลน์ด้วยตัวเอง ซึ่งบทเพลงทั้งหมดต่างเป็นตัวแทนสุ้มเสียงอัน “คูลเคล้าเศร้า” ในแบบฉบับของเช็ต เบเกอร์ที่แสนจะมินิมอลแต่เต็มอิ่มไปด้วยอารมณ์เสียงอันสั่นสะเทือนพลิ้วไหวเพียงบางเบาแต่เข้าไปถึงจิตใจทั้งจากเสียงทรัมเป็ตและเสียงร้องของเขา
และนี่ก็คือในอัลบั้มแจ๊ซที่นุ่มนวลชวนผ่อนคลายที่สุด ที่ไม่ว่าคุณจะเป็นคอดนตรีแนวไหนก็จะต้องตกหลุมรักในท่วงทำนองของเช็ต เบเกอร์อย่างแน่นอน
Charles Mingus – “Mingus Ah Um” (1959)
ชาลส์ มิงกัส (Charles Mingus) คือ นักดับเบิลเบสแจ๊ซชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงในฐานะนักดนตรี นักแต่งเพลง หัวหน้าวง และนักต่อสู้เพื่อต่อต้านการแบ่งแยกสีผิว เป็นแบบฉบับของคนดนตรีแจ๊ซที่น่ายกย่องและเป็นที่เลื่องลือกันว่ามิงกัสนั้นเป็นคน “หัวร้อน” เพราะมักจะหยุดเล่นกลางคันหากผู้ฟังไม่ตั้งใจฟังและคุยกันเสียงดังหรือแม้แต่เพื่อนร่วมวงหากเล่นไม่ดีพี่ก็จะไล่ลงเวที ณ เดี๋ยวนั้นเลย
“ Mingus Ah Um” เป็นอัลบั้มที่คุณไม่ควรพลาดของมิงกัส ซึ่งรวมไว้ด้วยเพลงฮิตสุดคลาสสิคของเขาไม่ว่าจะเป็น “Better Git It In Your Soul” “Goodbye Pork Pie Hat” “Fables of Faubus” และ “Jelly Roll”
อัลบั้มนี้เปรียบเสมือนสายธารที่ถูกส่งต่อมาจากต้นน้ำอันชุ่มชื่น ทุกบทเพลงในอัลบั้มนี้ล้วนแล้วแต่มีแรงบันดาลใจต้นทางไม่ว่าจะเป็น “Better Git It In Your Soul” ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการร้องเพลงแบบกอสเปลที่มิงกัสได้ยินมาแต่เด็ก “Goodbye Pork Pie Hat” ที่อุทิศให้แก่เลสเตอร์ ยังมือแซ็กโซโฟนตำนานเพลงแจ๊ซและเพื่อนรักของมิงกัส ผู้ซึ่งล่วงลับไปไม่นานหลังจากที่ได้มีการบันทึกเสียงอัลบั้มนี้ “Boogie Stop Shuffle” บทเพลงบลูส์สิบสองบาร์ที่มีสี่ธีมและการเล่นเบสแบบบูกี้เคลื่อนล้อไปเรื่อย ๆ เปรียบดั่งการสะท้อนตัวตนและเรื่องราวของชีวิตภายในออกมา “Self-Portrait in Three Colors” จริง ๆ แล้วเพลงนี้ถูกเขียนขึ้นเพื่อใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่องแรกที่จอห์น แคสซาเวเตส ((John Cassavetes)กำกับนั่นคือ “Shadows” แต่ต่อมาไม่ได้ถูกนำมาใช้ “Open Letter to Duke” เขียนขึ้นเพื่ออุทิศแด่ดุ๊ก เอลลิงตัน “Jelly Roll” อุทิศแด่เจลลี โรล มอร์ตันมือเปียโนแจ๊ซผู้แผ้วถางทางแห่งวงการ แต่กลับเพลง “Bird Calls” ที่ดูจากชื่อแล้วดูเหมือนว่า แต่งขึ้นเพื่ออุทิศแก่ ชาลี ปาร์คเกอร์เจ้าของฉายา “เบิร์ด” แต่มิงกัสบอกว่าที่ตั้งชื่อว่า “Bird Calls” ก็เพราะว่าเพลงนี้มันเสียงเหมือนนกร้องนั่นเอง (แป่ววว) นอกจากนี้ยังมี “Fables of Faubus” ที่เขียนขึ้นเพื่อต่อต้านการเหยียดผิวจากผู้ว่าการรัฐอาร์คันซอ Orval E.Faubus ด้วยกลัวมีปัญหาทางค่ายโคลัมเบียเลยไม่ให้มิงกัสร้องเนื้อร้อง เพลงนี้เลยกลายเป็นเวอร์ชั่นบรรเลงด้วยประการฉะนี้
“Mingus Ah Um” คืออัลบั้มที่เป็นเสมือนบทสรุปของจิตวิญญาณในการเขียนเพลงและการเล่นดนตรีของเขาได้ดีที่สุด และเป็นหมุดหมายสำคัญอันทรงอิทธิพลของเขาในฐานะนักดนตรีแจ๊ซผู้ยิ่งใหญ่
Dave Brubeck Quartet – “Time Out” (1959)
“Time Out” ผลงานระดับเยี่ยมจากปี 1959 ของ เดฟ บรูเบค (Dave Brubeck) นักเปียโนแจ๊ซที่ได้รับอิทธิพลจากดนตรีคลาสสิก ที่มีชื่อเสียงโด่งดังตั้งแต่ยังหนุ่มและเป็นนักดนตรีแจ๊ซคนที่สองรองจากหลุยส์ อาร์มสตรองส์ที่ได้ขึ้นปกนิตยสาร Time (สมกับที่มีอัลบั้มดังชื่อว่า “Time Out”)
“Time Out” เป็นอัลบั้มเพลงแจ๊ซชั้นเลิศที่มีส่วนผสมของคูลแจ๊ซและแจ๊ซทางฝั่งเวสต์โคสท์ที่ลงตัว ซึ่งมีบทเพลงอันลือชื่อคือ “Take Five” ซึ่งเขียนขึ้นโดยมืออัลโตแซ็กโซโฟนเจ้าของฉายา “dry-martini toned” พอล เดสมอนด์และถือเป็นความแปลกใหม่อย่างมากในยุคนั้นเพราะมีการทดลองใช้ time signature แปลก ๆ มากมายในบทเพลงของอัลบั้มนี้ที่แต่ละแทร็กมีสีสันและลูกเล่นลีลาอันเร้าใจแตกต่างกัน อาทิ “Blue Rondo à la Turk” ที่มีการใช้ time signature แบบ 9/8 ขณะที่ “Pick Up Sticks” ใช้ 6/4 ซึ่งทั้ง 2 เพลงได้รับแรงบันดาลใจมาจาก time signature ของดนตรีพื้นบ้านฝั่งตุรกีและอินเดีย งานเพลงในอัลบั้มนี้จึงช่วยเปิดโลกทัศน์ทางดนตรีได้เป็นอย่างดียิ่ง
“Take Five” เพลงเด่นจากอัลบั้มนี้เป็นซิงเกิลเพลงแจ๊ซเพลงแรกที่มียอดขายหลักล้าน ทำให้มันเป็นซิงเกิลแรกที่ได้ทั้งเงินได้ทั้งกล่อง เป็นอัลบั้มแจ๊ซชุดแรกที่ขายได้มากกว่า 1 ล้านชุด และด้วยความนิยมที่ยืนยงทำให้อัลบั้มนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง Grammy Hall of Fame ในปี 2009 ด้วยเหตุนี้ “Time Out” จึงกลายเป็นอัลบั้มเพลงแจ๊ซที่ไม่ได้เพียงแต่ประสบความสำเร็จในการนำพาผู้ฟังไปสู่พรมแดนทางดนตรีใหม่ๆ ทางแต่ยังประสบความสำเร็จทางด้านยอดขาย ทะลายข้อจำกัดที่ว่าเพลงแจ๊ซนั้นไม่น่าจะทำเงินลงไปได้
“Time Out” จึงเป็นอัลบั้มแจ๊ซสุด “คูล” ที่ซับซ้อนแต่เข้าถึงได้ง่ายและควรค่าแก่การเสพย์ซึ้งให้ถึงอารมณ์แจ๊ซจริง ๆ
Bill Evans – “Waltz for Debby” (1961)
หากใครชอบเพลงแจ๊ซที่มีความไพเราะนุ่มนวลแต่เจือไว้ด้วยความเศร้าหน่อย ๆ แล้วล่ะก็รับรองคุณจะต้องประทับใจกับผลงานของมือเปียโนนาม บิล อีแวนส์ (Bill Evans) อย่างแน่แท้ และ “Waltz for Debby” ก็คืออัลบั้มที่บรรจุไว้ด้วยบทเพลงเพราะ ๆ ของอีแวนส์ที่ควรต้องฟังอย่างน้อยสักครั้งในชีวิต (และเมื่อได้ฟังครั้งแรกย่อมต้องมีครั้งที่ 2 ตามมาอย่างแน่นอน)
อาจกล่าวได้ว่า บิล อีแวนส์ เป็นหนึ่งในมือเปียโนแจ๊ซที่ผู้ฟังรักและชื่นชอบมากที่สุด ด้วยท่วงทำนองอันอ่อนหวาน พลิ้วไหว ไหลลื่น นุ่มนวล ชวนละมุน ซึ่งง่ายนักที่จะโดนใจใครหลายๆคน แต่ในขณะเดียวมันก็มีความซับซ้อน ซ่อนเร้น ชวนค้นหาอยู่ในกระแสเสียงนั้นด้วย จุดเด่นในงานของบิล อีแวนส์คือการเล่นเป็นวงเปียโนทรีโอ โดยอีแวนส์รับบทเปียโนและจะมีนักดนตรีคนอื่นเข้ามาสวมบทบาทของมือเบสและมือกลอง โดยเสน่ห์ของวงทรีโอตามแบบฉบับของบิล อีแวนส์ก็คือการเปิดพื้นที่อันอิสระให้เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นได้โชว์ลีลาความสามารถและคีตปฏิภาณ improvisation ตามแบบฉบับของตัวเองเสมือนบทเพลงของอีแวนส์คือพื้นที่อันเป็นประชาธิปไตยที่เปิดให้แต่ละคนแต่ละเครื่องได้ถ่ายทอดสื่อสารความคิดของตัวเองออกมาอย่างอิสระ และชุดนักดนตรีทรีโอที่โดดเด่นและคลาสสิกที่สุดของอีแวนส์ก็คือ สก็อต ลาฟาโร (Scott LaFaro) ในตำแหน่งเบสและ พอล โมเชียน (Paul Motian) ในตำแหน่งกลอง แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ทั้งสามได้เล่นด้วยกันไม่กี่อัลบั้ม หลักจากนั้นลาฟาโรก็เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เป็นการสิ้นสุดยุคคลาสสิกทรีโอไปอย่างน่าเสียดาย โดยมีอัลบั้มการแสดงสดสุดคลาสสิค The Bill Evans Trio at the Village Vanguard, 1961 เป็นอัลบั้มชิ้นสุดท้ายของคลาสสิกทรีโอนี้
ทั้งสามคนเล่นเข้าขากันมาก ในทุกบทเพลงของอัลบั้มนี้ล้วนฟังได้อย่างเพลิดเพลิน นุ่มนวลไพเราะ ลุ่มลึกและเข้าถึงอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็น “My Foolish Heart” บัลลาดอันละมุนเศร้าผลงานของเน็ด วอชิงตันและวิกเตอร์ ยังอันเป็นบทเพลงที่อีแวนส์บรรเลงครั้งแล้วครั้งเล่าจนกลายเป็นเสมือนเพลงประจำตัวเพลงหนึ่ง การย่างนิ้วลงไปบนคีย์เปียโนของอีแวนส์มีสัมผัสของการครุ่นคิดและเปิดเผยความรู้สึกราวกับคนที่สรรหาคำพูดอันเหมาะสมมาบรรยายความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง “Waltz for Debby” บทเพลงไพเราะหวานละมุนหูแต่มีลีลาเคลื่อนไหวน่าสนใจ ชื่อ “เด็บบี” นี้มีที่มาจากชื่อหลานสาวคนหนึ่งของอีแวนส์ “Some Other Time” ผลงานของลีโอนาร์ด เบิร์นสไตน์ที่มาในท่วงทำนองเนิบนิ่งชวนผ่อนคลาย พูดง่าย ๆ เลยคือทุกแทร็กในอัลบั้มที่ล้วนเป็นเพลงที่ฟังได้กี่ครั้งก็ไม่เบื่อเลย ทำให้ “Waltz for Debby” เป็นหนึ่งในอัลบั้มเพลงแจ๊ซในดวงใจของใคร ๆ หลายคนเลยล่ะ
Stan Getz & Joao Gilberto – “Getz/Gilberto” (1963)
“Getz/Gilberto” จุดบรรจบของงานดนตรีบอสซาโนวาแซมบาจากบราซิลและแจ๊ซจากอเมริกาที่ “Getz/Gilberto (1964)” สแตน เก็ตซ์ (Stan Getz) มือเทเนอร์แซ็กระดับเทพ เจ้าของฉายา “The Sound” ได้โคจรมาพบกันเป็นครั้งแรกกับ ชูเอา ชิลเบร์ตู (João Gilberto) ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งบอสซาโนวา” (The Father of Bossa Nova) จนก่อเกิดเป็นผลงานระดับตำนาน นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งนักดนตรีระดับตำนานที่มาร่วมงานด้วยนั่นคือ อังโตนีอู การ์ลูช โชบิง (Antônio Carlos Jobim) หรือ ทอม โชบิง อีกหนึ่งคนดนตรีบราซิลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งบอสซาโนวา” เคียงคู่กันกับชิลเบร์ตู เมื่อท่วงทำนองของบอสซาโนวา แซมบา และแจ๊ซ ถูกบรรเลงไปบนเปียโนละมุนจากอังโตนีอู การ์ลูช โชบิง เคล้าเสียงกีตาร์และเสียงร้องชวนผ่อนคลายสบาย ๆ จากชูเอา ชิลเบร์ตูพร้อมเสียงเทเนอร์แซ็กโซโฟนอันไพเราะพลิ้วไหวของสแตน เก็ตซ์นี่แหละคือสวรรค์ของนักฟังเพลง !
นอกจากทั้ง 3 แล้วยังมีเซบาสติโอ เนโตเล่นเบส (มีเรื่องดราม่าชวนสับสนเล็กน้อย เพราะหากอ่านใน เครดิตจะพบว่าชื่อคนเล่นเบสเป็นทอมมี วิลเลียมมือเบสขาประจำของเก็ตซ์ เนื่องด้วยเนโตติดสัญญากับทาง Audio Fidelity ทำให้ต้องใช้ชื่อคนอื่นในเครดิตแทน) และมิลตัน บานาน่า (หรือ อังโตนิอู เดอ ซูซ่า) เล่นกลอง โดยมี อัสตรุด ชิลเบร์ตู (Astrud Gilberto) ภรรยาสาววัย 23 ปีของชูเอา ชิลเบร์ตูผู้มีความใฝ่ฝันจะเป็นนักร้องมาโดยตลอด แต่ยังไม่มีโอกาสจนกระทั่งโอกาสที่เธอไม่เคยคาดคิดก็ได้มาถึงในที่สุด เธอฝากเสียงร้องเองไว้ในอัลบั้ม “Getz/Gilberto” ถึง 2 เพลงด้วยกันนั่นคือ “The Girl from Ipanema” และ “Corcovado (Quiet Nights of Quiet Stars)” แม้ว่าเธอจะไม่เคยร้องเพลงอย่างมืออาชีพมาก่อน แต่ด้วยวิธีการร้องที่นุ่มนวลของเธอ ทำให้เข้ากับการเรียบเรียงและการบรรเลงของวงได้อย่างลงตัว และทำให้ “The Girl from Ipanema” กลายเป็นหนึ่งในเพลงที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ของแจ๊ซ
อัลบั้มชุดนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากได้ทั้งเงินได้ทั้งกล่อง และสุดท้ายก็ได้รับรางวัลแกรมมีในสาขาอัลบั้มยอดเยี่ยมแห่งปีเอาชนะแนวดนตรีอื่น ๆ จนทำให้มันได้กลายเป็นอัลบั้มเพลงแจ๊ซ-บอสซาโนว่า อัลบั้มแรกในประวัติศาสตร์ดนตรีที่ได้รับรางวัลนี้
Kenny Burrell – “Midnight Blue” (1963)
“Midnight Blue” คืออัลบั้มเพลงแจ๊ซในห้วงอารมณ์ของดนตรีบลูส์ผลงานของมือกีตาร์จากเมืองดีทรอยต์ผู้มากประสบการณ์ เคนนี เบอร์เรลล์ (Kenny Burrell) ซี่งเคยฝึกวรยุทธอย่างโชกโชนมากับนักดนตรีชื่อก้องมากมายไม่ว่าจะเป็น ดิซซี กิลเลสปี, จอห์น โคลเทรน, ทอมมี ฟลานาแกน และ ออสการ์ พีเทอร์สัน
งานเพลงส่วนใหญ่ใน “Midnight Blue” แต่งขึ้นโดยเบอร์เรลล์เองทั้งหมด แนวทางการเล่นดนตรีของเขานั้นได้รับการซึมซับอิทธิพลแจ๊ซจากสไตล์ของชาร์ลี คริสเชียน และ จังโก ไรน์ฮาร์ดต์ ส่วนห้วงอารมณ์ของดนตรีบลูส์นั้นเบอร์เรลล์ได้สะท้อนให้เห็นผ่านทางการวอยซิงของเขา โดยเฉพาะอิทธิพลจาก ที-โบน วอล์กเกอร์ และมัดดี วอร์เตอร์ส โดยบรรเลงออกมาในรูปแบบของวงควินเท็ต 5 ชิ้นที่ไม่มีเปียโน กีตาร์เลยลอยเด่นออกมาเต็มที่ เบอร์เรลล์ได้แสดงสำเนียงเสียงให้บลูส์ได้อย่างลุ่มลึก ชวนเคลิบเคลิ้มผ่านลีลาการโซโล่กีตาร์แบบซิงเกิลโน้ตที่เปี่ยมไปด้วยความงดงามและความลุ่มลึกทางดนตรีเหมาะแก่การสดับรับฟังยามค่ำคืน (สมกับชื่ออัลบั้ม)
เรียกได้ว่าอัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มที่ฟังได้เพลิน ๆ ได้ทั้งอัลบั้ม ไม่ว่าจะเป็น “Chitlins Con Carne” แทร็กเปิดอัลบั้มที่มาในท่วงทำนองของฟังกี้ผสมละตินชวนขยับไปเบา ๆ กับท่วงทำนอง “Mule” บทเพลงในสไตล์บลูส์ที่มีท่วงทำนองอันสง่างาม น้ำเสียงสำเนียงกีตาร์ที่เบอร์เรลล์เปล่งออกมานี่ได้อารมณ์จริง ๆ หรือจะเป็น “ Midnight Blue” ไตเติลแทร็กที่มาในลีลาสนุก ๆ เป็นความกลมกล่อมที่ลงตัวระหว่างเครื่องดนตรีทุกชิ้นที่ผสานกันได้อย่างไพเราะเสนาะหูและมีจังหวะลีลาที่เพลิดเพลินได้ที่
นี่คืออัลบั้มที่โดดเด่นในแนวทางของตัวเอง หากใครที่ชื่นชอบทั้งดนตรีแจ๊ซและดนตรีบลูส์แล้วล่ะก็ไม่ต้องรักพี่เสียดายน้องเลยฟังอัลบั้มนี้ทีเดียวจบครบทุกอารมณ์
Source
อนันต์ ลือประดิษฐ์.(2550). 100 Jazz Albums Review.กรุงเทพ ฯ : เนชันบุ๊คส์.
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส