หลายครั้งเรามักได้ยินประโยคที่ว่า ‘อยากมีเงินเยอะ ๆ จะได้เอาไว้ซื้อความสุข’ กับในอีกมุมหนึ่งที่บอกว่า ‘เงินซื้อความสุขไม่ได้’ ซึ่งมันจะจริงตามคำกล่าวนี้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละบุคคล บางคนมีความคิดว่าความสุขที่ได้มานั้นเกิดจากการแสวงหามาได้ด้วยเงิน มีเงินเป็นปัจจัยสำคัญของการได้มาซึ่งความสุขนั้น บางคนก็คิดว่าความสุขที่ได้มานั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับเงินเลยมาจากความสุขภายในหรือความพอใจทั้งนั้น

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีบทเพลงอยู่หลายเพลงที่พูดถึงประเด็นสำคัญประเด็นนี้เรามาดูกันดีกว่าว่ามีเพลงไหนบ้างและแต่ละเพลงพูดถึงเรื่องนี้ไว้ยังไงกันบ้าง เผื่อจะทำให้เราได้คำตอบว่าเงินนั้นซื้อความสุขได้จริงรึเปล่า ?

“เงินล้าน” – Moderndog

เรามาเริ่มจากเพลงไทยกันก่อนด้วยเพลง ‘เงินล้าน’ จากวงหมาทันสมัย ‘โมเดิร์นด็อก’ จากอัลบั้ม ‘ทิงนองนอย’ ที่ขึ้นต้นประโยคด้วยคำถามที่จี๊ดใจว่า “ฉันมีเงินเป็นล้าน เพราะอะไรยังร้อนรน ยังคงสับสนข้างใน” เพลงนี้บอกกับเราว่าถึงแม้จะมีเงินเยอะขนาดเป็นล้าน ๆ แต่ก็ยังมีความทุกข์มีความสับสนอยู่และไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะค้นพบความสุขเสียที เพลงยังพูดถึงเรื่องของความต้องการไม่ว่าจะเป็นการต้องการชื่อเสียงหรือต้องการเงินทองก็ตามแต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้นำพามาซึ่งความสุขเลย ไม่ว่าเราจะมีเงินเท่าไหร่ ไม่ว่าเราจะมีชื่อเสียงมากแค่ไหนแต่คำถามที่อยู่ในใจว่าความสุขมันอยู่ตรงไหนก็ยังคงวนเวียนอยู่ในหัวอยู่ดี ถึงแม้จะได้ยินถ้อยคำชื่นชมหรือมีคนมาชื่นชอบสักเท่าไหร่แต่ความขื่นขมก็ยังอยู่ในใจอยู่ดี ในทุก ๆ เช้าที่ตื่นมาเราก็พยายามไขว่คว้าหาความสุขเมื่อคิดว่าความสุขอยู่ที่เงินอยู่ที่ชื่อเสียงก็แสวงหามันมาแต่ท้ายที่สุดแล้วเมื่อได้มาเท่าไหร่ก็ไม่พอแล้วความสุขที่แท้นั้นอยู่ที่ตรงไหนกันแน่ บทเพลงนี้ไม่ได้ให้คำตอบกับเราเพียงแต่ชวนเรามาตั้งคำถามเพื่อค้นหาต้นตอแห่งความสุขที่แท้จริงว่าแท้ที่จริงแล้วความสุขนั้นมันอยู่ที่ใด บทเพลงนี้ถ่ายทอดจากมุมมองของคนที่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านชื่อเสียงและเงินทองซึ่งกำลังบอกให้เรารู้ผ่านบทเพลงว่าเงินและชื่อเสียงนั้นไม่ได้นำมาซึ่งความสุขและความพอใจในชีวิต ‘เงินล้าน’ ถือเป็นหนึ่งในบทเพลงที่ยอดเยี่ยมของโมเดิร์นด็อกและได้รับรางวัลมากมายอาทิ รางวัลความคิดสร้างสรรค์สาขามิวสิกวิดีโอยอดเยี่ยมจาก B.A.D. Awards , รางวัลเพลงยอดเยี่ยมจาก HAMBURGER AWARDS และ รางวัลเพลงยอดเยี่ยมประจำปีจากคมชัดลึก อวอร์ดส์

https://www.youtube.com/watch?v=HWOXGV3FJiA

นอกจากเวอร์ชันต้นฉบับของโมเดิร์นด็อกแล้วเพลงนี้ยังมีเวอร์ชันคัฟเวอร์โดย Greasy Cafe’ ด้วยซึ่งเมื่อ Greasy Cafe’ เอาเพลงนี้มาทำในสไตล์ของตัวเองทำให้สารของเพลงนั้นมีความหม่นเข้มเท่เป็นอีกรสชาติหนึ่งที่ดีมาก ๆ เลย

“คนมีตังค์” – Bodyslam

มาต่อกันที่เปิดเพลงจากวงร็อกขวัญใจมหาชน Bodyslam จากอัลบั้ม ‘Save My Life’ เพลงนี้เป็นหนึ่งในเพลงของ Bodyslam ที่มีสไตล์ดนตรีและมู้ดที่แตกต่างโดดเด่นจากเพลงอื่น ‘คนมีตังค์’ มาพร้อมกับท่วงทำนองฟังกี้เล็ก ๆ สนุก ๆ กับเนื้อหาที่สะท้อนแง่คิดด้านบวกเรื่องการมีเงิน ด้วยการบอกเราว่าการมีเงินนั้นมันก็เป็นเรื่องดีเพราะพอมีเงินแล้วจะทำอะไรก็ไม่ต้องดิ้นรนจะเอานกเอาไม้จะเอาอะไรก็ชี้ อยากได้อะไรก็ได้มีคนมาคอยประคบประหงมดูแลตลอด แต่ถึงแม้ว่าเราจะไม่มีเงินเยอะมากมายจนสามารถทำอะไรได้ขนาดนั้นเราก็ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนอะไรเท่าไหร่ขอเพียงแค่หัวใจมีความพอใจและยินดีในการใช้ชีวิตทุกวันนั่นก็คือความสุขแล้ว ในท่อนฮุกของเพลงได้ให้คำตอบของการมีความสุขในชีวิตไว้อย่างสวยงามและน่ารักมาก ๆ ด้วยการบอกว่าบางวันถึงแม้จะมีเงินน้อยก็ไม่ต้องคิดมากถ้ามีเยอะก็ถือว่าเป็นกำไรชีวิต และถึงแม้จะล้วงหาเงินในกระเป๋าแล้วไม่พบแต่ถ้าควานค้นเข้าไปข้างในจิตใจก็จะพบว่าความสุขนั้นรอเราอยู่ที่ตรงนี้นี่เอง

“กระเป๋าแบนแฟนยิ้ม” – The Richman Toy

เมื่อความรักคือต้นตอของความสุขสำหรับใครหลายคนและอะไรล่ะคือต้นตอที่จะนำมาซึ่งความรัก ใช่เงินหรือเปล่านะ ? มาที่เพลงสุดโจ๊ะของวงสุดเฉี่ยว ‘กระเป๋าแบนแฟนยิ้ม’ จาก The Richman Toy ที่พูดถึงชีวิตของหนุ่มสาวคนชั้นกลางในเมืองที่เมื่อมีความรักแล้วปัจจัยต่าง ๆ ก็จะต้องตามมาไม่ว่าจะเงินเดือนค่าผ่อนคอนโด ซื้อโทรศัพท์ไว้คุยไว้แชต หรือจะไปดูหนังด้วยกัน อะไร ๆ ก็ต้องใช้เงินทั้งนั้นจึงเกิดคำถามขึ้นมาว่าเงินนั้นมีความสำคัญกับความรักมากแค่ไหน ความรักนั้นจะยิ่งใหญ่กว่าเงินในกระเป๋ารึเปล่า หากไม่มีเงินสักบาทเธอจะมาแต่งงานกับฉันไหมเนี่ย ถึงแม้เพลงจะไม่ได้ตอบคำถามเราว่าเงินซื้อความสุขได้หรือไม่ได้ แต่ที่แน่ ๆ เลยคือการผูกโยงปัจจัยด้านเงินที่เกี่ยวข้องกับความรักโดยสะท้อนความกังวลว่าถ้าไม่มีเงินแล้วความรักจะดำรงอยู่ต่อไปได้ไหม นั่นจึงนำมาซึ่งความลำบากลำบนในการดิ้นรนหาเงินมาเพื่อที่จะรักษาความรักเอาไว้ เป็นการสะท้อนภาพของคนในสังคมทุนนิยมได้อย่างเจ็บจี๊ดและสุดโจ๊ะ

“Can’t by Me Love” – The Beatles

อีกหนึ่งบทเพลงที่พูดเรื่องของเงินและความรัก หนึ่งในบทเพลงสุดคลาสสิกจากสี่เต่าทอง The Beatles ในปี 1964 จากอัลบั้ม A Hard Day’s Night ซึ่งแต่งโดยพอล แม็กคาร์ตนีย์ (Paul McCartney) เป็นเพลงในท่วงทำนองสนุก ๆ โดยเนื้อหาในเพลงถ่ายทอดจากมุมมองของคนที่มองว่าเงินนั้นไม่ได้มีความสำคัญอะไร เพราะสิ่งที่สำคัญอย่างความรักนั้นซื้อหามาด้วยเงินไม่ได้

“Money Can’t Buy Happiness” – Freddie Mercury

ต่อด้วยเพลงที่แค่เห็นชื่อเพลงก็รู้แล้วว่า “เงินซื้อความสุขไม่ได้” กับบทเพลง “Money Can’t Buy Happiness” จากเฟรดดี เมอร์คูรี (Freddie Mercury) ฟรอนต์แมนแห่งวงควีนส์ ซึ่งเป็นบทเพลงในท่วงทำนองสนุก ๆ จากผลงานเดี่ยวของเมอร์คูรีในอัลบั้ม “The Solo Collection” เพลงนี้ได้บอกเราอย่างชัดเจนตั้งแต่ชื่อจนเนื้อหาของเพลงว่าเงินนั้นซื้อหาความสุขไม่ได้

https://www.youtube.com/watch?v=rsMnybYJEu4

“Don’t Don” – Super Junior

“돈 돈! (Don’t Don)” เป็นซิงเกิลแรกจากอัลบั้มชุดที่ 2 ของบอยแบนด์จากแดนเกาหลี ‘Super Junior’ ที่ใช้ชื่ออัลบั้มเป็นชื่อเดียวกันนี้ ซึ่งคำว่า “don” (돈) เป็นภาษาเกาหลี แปลว่าเงิน ชื่อเพลง Don’t Don จึงเป็นการเล่นคำโดยมองได้ 2 ความหมายแบบแรกคือ Money, Money! แบบสองคือ Don’t Money ! เพลงนี้มาพร้อมจังหวะมันส์ ๆ ผสมผสานแนวดนตรีที่หลากหลายทั้ง R&B, ร็อก, ฮิปฮอป จัดเต็มทั้งริฟฟ์กีตาร์หนัก ๆ  จังหวะกลองเร้าใจและโซโล่ไวโอลิน เนื้อหาของเพลงเป็นการพยายามที่จะส่งเสริมให้โลกใบนี้กลับมาเป็นโลกที่ผู้คนที่มีจิตใจเอื้อเฟื้อต่อกัน โดยบอกว่าเงินนั้นทำให้คนเราเป็นคนหน้าซื่อใจคด และการเปลี่ยนแปลงของสังคมจากน้ำมือของเงินได้ทำให้โลกกลายเป็นสถานที่ที่บิดเบี้ยวและเต็มไปด้วยความโลภ

“Eat The Rich” – Aerosmith

“Eat The Rich” หรือ “แด๊กไอ้พวกคนรวยซะ” บทเพลงที่ขบกัดความรวยในสไตล์ร็อก ๆ แต่งโดย สตีเวน ไทเลอร์ (Steven Tyler) โดยเล่าถึงผู้ชายคนหนึ่งที่ตื่นขึ้นมาในเช้าวันหนึ่งพร้อมสาวสวยข้างกายที่พูดจาไม่เข้าหูไม่ว่าจะพูดดูถูกคนจน พูดถึงการใช้จ่ายเงินเพื่อไปซื้อนู่นนี่นั่นแล้วก็บ่นเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เรื่องจ่ายค่าไฟฟ้าประปาคอนโดจนเขาปวดหัวไปหมดก็เลยไปหยิบช้อนและส้อมให้และไล่ให้ไปแด๊กคนรวยมันซะเลย ! บทเพลงนี้เป็นบทเพลงที่ต้องการเสียดสีวิถีชีวิตของคนที่ฟุ่มเฟือยโดยเอาวลีฮิต ‘Eat The Rich !’ ที่ว่ากันว่า ฌ็อง-ฌัก รูโซ (Jean-Jacques Rousseau) นักคิดนักเขียนและนักทฤษฎีการเมืองชาวฝรั่งเศสผู้ยิ่งใหญ่เป็นคนกล่าวเอาไว้ ซึ่งมีประโยคเต็ม ๆ ว่า “When the poor have nothing more to eat, they will eat the rich!” อันแปลว่า “เมื่อคนจนไม่มีอันจะกิน เขาก็จะไปกินคนรวยซะ !” ซึ่งต่อมาวลีฮิต ‘Eat The Rich !’ ก็ถูกนำไปใช้ในการรณรงค์ต่อต้านกลุ่มทุนหรือผู้มีอำนาจอยู่เสมอ สำหรับเพลงนี้ก็มีหลายคนที่รู้สึกว่ามันมีความย้อนแย้งอยู่เพราะว่าถึงแม้เพลงนี้จะเป็นเพลงที่เสียดสีความร่ำรวยและชีวิตสุรุ่ยสุร่ายแต่ว่าทั้งสตีเว่น ไทเลอร์และ Aerosmith ต่างก็อยู่ในสถานะที่ร่ำรวยจากการเป็นร็อกสตาร์ การที่เขียนเพลงแบบนี้ก็เลยถูกมองว่าเหมือนกับคนที่รวยแล้วบอกว่าเงินซื้อความสุขไม่ได้นั่นแหละ

“Money” – Pink Floyd

“Money” บทเพลงจากอัลบั้มสุดคลาสสิก ‘Dark Side of the Moon’ บทเพลงที่เปิดมาด้วยเสียงกรุ๊งกริ๊งของเงินที่มาพร้อมกับงานซาวด์ดีไซน์สุดเจ๋งและจังหวะทางดนตรีอันแปลกประหลาด เพลงนี้เป็นบทเพลงที่พูดถึงด้านมืดของเงินตราได้อย่างน่าสนใจโดยมีการเปรียบเปรยเงินกับหลายสิ่งได้อย่างคมคาย เช่น เปรียบเงินเหมือนกับน้ำมันที่ต้องถือเอาไว้ให้มั่นซ่อนเอาไว้ให้มิดเพื่อเอาไว้ใช้พิชิตความปรารถนาที่ไม่เคยมีสิ้นสุดไม่ว่าจะรถคันใหม่ อาหารเลิศหรู หรือความฝันราคาแพงอย่างการซื้อทีมฟุตบอลเป็นของตัวเอง นอกจากนี้ยังบอกว่าเงินตรานั้นเป็นหลายสิ่งหลายอย่าง เงินตราเป็นทั้งทุกสิ่งทุกอย่างรวมไปถึงเป็นอาชญากรรมและเป็นบ่อเกิดแห่งความเลวร้ายทุกสิ่งสรรพอีกด้วย

“Money For Nothing” – Dire Straits

เพลงที่ดังที่สุดและสร้างชื่อเสียงให้กับไดร์สเตรตส์ (Dire Straits) จากสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 5 ของไดร์สเตรตส์ที่มีชื่อว่า ‘Brothers in Arms’ เพลงนี้เครดิตการแต่งตั้งเป็นของ มาร์ก นอฟเลอร์ (Mark Knopfler) และ Sting ซึ่งบอกว่าเขาไม่ได้ช่วยแต่งอะไรเยอะเลยแค่ช่วยในท่อนที่บอกว่า “You play the guitar on the MTV” เท่านั้น บทเพลงนี้โดดเด่นด้วยการใช้การเล่าเรื่องแบบมุมมองบุคคลที่หนึ่งโดยตัวละครเอกของเรื่องก็คือคนที่ทำงานอยู่ในร้านขายอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าแล้วก็ถ่ายทอดความรู้สึกของตัวเองออกมาเล่าไปเรื่อย ๆ ซึ่งไอเดียของเพลงนี้เกิดจากการที่วันนึงนอฟเลอร์ไปเดินซื้อของในร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าและในร้านกำลังเปิด MV เพลงของไดร์สเตรตส์พอดี พนักงงานส่งของ 2 คนก็เมาท์มอยกันว่าเออดีเนอะแค่เล่นสไลด์กีตาร์เหมือนลิงชิมแพนซีแค่นี้ก็รวยเละมีเงินทองซื้อของมากมายแถมยังมีสาว ๆ สวย ๆ เข้ามาหาอีกด้วย ได้ยินเพียงเท่านั้นแทนที่นอฟเลอร์จะวิ่งเข้าไปต่อยสองหนุ่ม เขากลับเดินไปที่เคาน์เตอร์ขอกระดาษและปากกาและเขียนเนื้อเพลงมันตรงนั้นเลย ฉากของเพลงจึงเป็นเรื่องราวในร้านและรายละเอียดของเพลงก็เป็นไปตามสิ่งที่เกิดขึ้นรวมถึงภาษาที่ใช้นอฟเลอร์ก็ใช้ภาษาพูดเพื่อสร้างความเรียล (อันเขียนขึ้นจากความรู้สึกที่เรียล ๆ จากการโดนนินทา) ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าสองหนุ่มนั้นรู้รึเปล่าว่าตัวเองเป็นที่มาของเพลงฮิตเพลงนี้ ส่วนคำว่า “Money For Nothing” นั้นก็หมายความว่าเงินนั้นเป็นสิ่งที่หามาได้ง่าย ๆ สบาย ๆ ไม่ต้องลำบากดิ้นรนอะไร เป็นเพลงที่เสียดสีคนรวยคนมีชื่อเสียงจากมุมมองของคนหาเช้ากินค่ำที่ต้องลำบากลำบนกว่าจะมีเงินมาจับจ่ายใช้สอย

“Satified Mind” – Jeff Buckley

เจฟฟ์ บั๊กลีย์ (Jeff Buckley) คือศิลปินหนุ่มเสียงเศร้าที่มาพร้อมบทเพลงอันลุ่มลึกผู้ที่ทำให้บทเพลง “Hallelujah” ของลีโอนาร์ด โคเฮน (Leonard Cohen) กลายเป็นเพลงฮิตติดหูของผู้ฟังทั่วโลกด้วยเวอร์ชันคัฟเวอร์ของเขา “Satified Mind”เป็นเพลงที่มีเนื้อหาที่ดีมากให้แง่คิดอะไรดี ๆ กับชีวิตเราได้เป็นอย่างดี พาร์ตแรกของเพลงพูดถึงประโยคที่เรามักจะได้ยินอยู่บ่อย ๆ ที่คนมักจะบอกว่าถ้าหากมีเงินก็จะทำโน้นทำนี้มากมายซึ่งเจฟฟ์ บั๊กลีย์ได้บอกกับเราไว้ว่ามีคนรวยเพียงแค่ 1 ใน 10 เท่านั้นที่มี “Satified Mind” หรือจิตใจที่อิ่มเอมหรือจิตใจที่พอเพียงนั่นเอง แล้วบั๊กลีย์ยังบอกอีกว่ามีอะไรบ้างที่เงินไม่สามารถซื้อได้ เช่น เงินไม่สามารถซื้อความเยาว์วัยของเราเมื่อเราแก่เฒ่า ไม่สามารถซื้อหามวลมิตรคนสนิทในเวลาที่เราเปล่าเปลี่ยว หรือซื้อความสงบให้กับจิตใจของเรา และให้บทสรุปกับเราอย่างคมคายว่าคนที่ร่ำรวยที่สุดในบางครั้งก็คือคนที่ยากไร้ที่สุดเมื่อเปรียบกับคนที่มีจิตใจที่อิ่มเอม “The wealthiest person is a pauper at times,Compared to the man with a satisfied mind” เพลงนี้แต่งโดย เรด เฮย์ส (Red Hayes) และ แจ็ก โรดส์ (Jack Rhodes) ซึ่งเฮย์สเคยเล่าไว้ว่าเพลงนี้เขาได้ไอเดียมาจากแม่ของเขา ทุก ๆ สิ่งในเพลงที่เขาเขียนไปเป็นสิ่งที่แม่ของเขาพูดย้ำให้เขาได้ฟังอยู่เสมอ และในขณะที่เขากำลังขบคิดถึงไอเดียที่จะแต่งเพลงนี้วันนึงพ่อของเขาก็เดินมาตั้งคำถามว่า “ใครคือคนที่รวยที่สุดในโลก” เฮย์สก็ตอบชื่อโน้นชื่อนี้ไปแล้วพ่อก็ตอบกลับมาว่า “ผิดทั้งหมดแหละคนที่รวยที่สุดในโลกก็คือคนที่มีจิตใจอันอิ่มเอม (Satified Mind) นั่นเองเฉียบ !

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส