เปิดตัว Ep1 พร้อมกับเสียงกรี๊ดกร๊าดของแฟนคลับ ‘ซงคัง’ และ ‘ฮันโซฮี’ กับซีรีส์เกาหลีเรื่องใหม่ทาง NETFLIX ‘Nevertheless’ ที่สร้างจากเว็บตูนชื่อดังในชื่อเรื่องเดียวกัน จนหลายเสียงต่างชื่นชมในการแคสติ้งตัวแสดงว่าถอดแบบออกมาจากเว็บตูนไม่ผิดเพี้ยน แถมด้วยประโยคเด็ด “ไปดูผีเสื้อกันไหม” ของ ‘พัคแจออน’ (ซงคัง) พระเอกตัวดีที่ทำเอาสาว ๆ ใจละลาย เพราะเพียงแค่ส่งสายตาคู่นั้นมองมาก็ทำเอา ‘ยูนาบี’ (ฮันโซฮี) หวั่นไหว
ก็น่าจะตอบว่า ไปค่ะ ให้รู้แล้วรู้รอดกันไปเนอะ ไหน ๆ ก็รุกและอ่อยแรงเบอร์นี้แล้ว ยูนาบีไม่น่าเขินนาน ก็ถือว่าเรื่องนี้เป็นซีรีส์ที่สร้างจากเว็บตูนที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่เริ่มแรก เพราะเพียงแค่เปิดตัวตอนแรกมาเท่านั้น เสียงลือเสียงเล่าอ้างก็อึงมีกันเชียวจ้ะ
ความสุขก็เหมือนผีเสื้อ
เมื่อเมสเสจชัดเจนของเรื่องนี้คือการเปรียบเทียบความสุข ที่ถ่ายทอดผ่านที่มาของชื่อของนางเอกในขณะที่กำลังทำความรู้จักกับพระเอกครั้งแรกว่า “คุณรู้จัก แนแธเนียล ฮอว์ธอร์นไหม ป้าของฉันชอบนักเขียนคนนี้มาก เขาบอกเอาไว้ว่า ความสุขก็เหมือนผีเสื้อ เมื่อไหร่ที่เราพยายามไล่จับมันจะหนีไปเสมอ แต่เมื่อไหร่ที่เรานั่งอยู่เงียบ ๆ มันจะมาเกาะที่เราเอง ฉันเลยชื่อนาบียังไงล่ะ” *นาบี ภาษาเกาหลีแปลว่าผีเสื้อ ปรัชญาความสุขที่นางเอกกล่าวถึงอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลนี่เองค่ะ
เพียงแค่คุณหยิบหนังสือเรื่อง ‘The Scarlet Letter’ ของ ‘แนแธเนียล ฮอว์ธอร์น’ (Nathaniel Hawthorne) ขึ้นมาอ่าน ก็จะพบปรัชญาชีวิตอีกหลากหลายประโยคที่นักเขียนชื่อดังของโลกท่านนี้ได้กล่าวเอาไว้ เมื่อมีประโยคนี้ผุดขึ้นมาในซีรีส์ ก็เชื่อแน่ว่าแรงบันดาลใจของการแต่งเว็บตูนเรื่องนี้ น่าจะมีแรงบันดาลใจบางส่วนมาจาก The Scarlet Letter ไม่มากก็น้อย เพราะความรักที่ทั้งสองพระ-นางกำลังจะมีให้กัน แค่เริ่มต้นก็เห็นความซับซ้อนและส่อแวว ‘รักเป็นพิษ’ ซะแล้วละ เพราะพระเอกของเรานั้น ช่างเป็นแบดบอยสายรักสนุกแต่ไม่คิดจะผูกพัน ที่กร้าวใจซะเหลือเกิน อ่านรีวิวเว็บตูน Nevertheless ได้ที่นี่
เล่าถึง The Scarlet Letter
เนื้อเรื่องออกจะดาร์กอยู่สักหน่อย เพราะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘เฮสเตอร์ พรินน์’ (Hester Prynne) หญิงสาวที่ต้องเผชิญชะตากรรมอัปยศ ถูกประณามและประจานว่าเป็นหญิงชั่วคบชู้ ท่ามกลางสังคมที่เคร่งครัดของนิกาย ‘พิวริตัน’ (Puritans) ในปี ค.ศ. 1642 – ค.ศ. 1649 (เป็นนิกายที่สนับสนุนความเชื่อทางปรัชญาและการกระทำพิธีทางศาสนาที่บริสุทธิ์) แต่เธอก็เชิดหน้ารับตราบาปนั้นไว้แต่เพียงผู้เดียวอย่างเด็ดเดี่ยว
เรื่องราวครั้งนั้นเริ่มต้นขึ้นจากความรักที่เปิดเผยไม่ได้ของ เฮสเตอร์ พรินน์ หญิงสาวที่แต่งงานแล้วแต่สามีของเธอหายไปในทะเลไม่กลับมา แต่อยู่มาวันหนึ่งเธอตั้งท้องและการตั้งท้องในขณะที่สามีไม่อยู่บ้านเป็นเรื่องที่ทำให้เธอมีความผิดฐานคบชู้ สามีไม่อยู่หล่อนท้องได้ยังไงจ๊ะ หญิงสาวปิดปากเงียบไม่ยอมบอกว่าใครคือพ่อของเด็ก แม้ตัวเองจะถูกจองจำ ถูกตราหน้าว่าเป็นหญิงชั่ว ถูกตัดสินโทษให้ติดเครื่องหมาย ‘A’ บนหน้าอก (ย่อมาจาก Adultery) ประจานทั่วเมือง เพราะเกรงว่าชู้รักของเธอจะถูกแขวนคอ
เธอต้องเผชิญกับชะตากรรมมากมายในการมีชีวิตอยู่เพื่อเลี้ยงลูกน้อย ที่คลอดออกมาเป็นสาวน้อยน่ารักนามว่า ‘เพิร์ล’ (Pearl) ก็ยิ่งลำบากหนักเข้าไปอีกเพราะชะตากรรมที่เธอก่อส่งผลกระทบต่อลูกสาวของเธอด้วย ผู้คนยังคงด่าทอไม่หยุดหย่อนและมองว่าเธอเป็นความซวยของหมู่บ้านและพยายามจะแยกลูกสาวไปจากเธอ ‘คนบาปอย่างเธอจะสอนลูกสาวให้ดีได้ยังไง’ นี่คือความคิดของคนทั้งหมู่บ้าน
สุดท้าย เฮสเตอร์ พรินน์ ก็ไปปรึกษากับ ‘อาร์เธอร์ ดิมเมสเดล’ (Arthur Dimmesdale) นักบวชอ่อนแอ ผู้เป็นที่นับหน้าถือตาของคนทั้งตำบล “ได้โปรดเถอะคุณพ่อคะพ่อของเพิร์ลพรากชีวิตฉันไปแล้ว อย่าให้ฉันต้องถูกพรากดวงใจของฉันไปอีกเลย” สุดท้าย เฮสเตอร์ พรินน์ และอาร์เธอร์ ดิมเมสเดล ก็ตัดสินใจร่วมกันว่าจะไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยกันที่อื่น อ้าว…ไหงเป็นงั้น ก็เพราะอีตานักบวชนี่แหละที่เป็นชู้รักของหล่อนน่ะสิ
ก่อนจากไปเริ่มต้นชีวิตใหม่นักบวชผู้ขมขื่น ขึ้นไปยังจตุรัสของเมืองเพื่อสารภาพบาปทั้งหมดที่ตนเองก่อเอาไว้ ต่อหน้าธารกำนัล ก่อนจะล้มลงสิ้นใจในอ้อมกอดของเฮสเตอร์ พรินน์ บนหน้าอกของนักบวชมีรอยนาบด้วยเหล็กร้อนเป็นอักษรตัว ‘A’ ที่เชื่อว่าเขาทำรอยมลทินนี้ให้กับตัวเอง เพื่อตอกย้ำความอ่อนแอ ความผิดบาปที่เขาหลบซ่อนอย่างขลาดกลัวอยู่หลังความเด็ดเดี่ยวของเฮสเตอร์ พรินน์ มาโดยตลอด
เรื่องนี้จัดว่าเป็นวรรณกรรมเข้มข้นที่รสชาติแสบทรวง ฉบับแปลไทยมีการเรียบเรียงใหม่ในชื่อว่า ‘ตราบาปสีเลือด’ มี 136 หน้า อุดมไปด้วยรอยรักแรงแค้น และความละอายต่อบาป เบื้องลึกของจิตใจมนุษย์ในแง่ศีลธรรม ที่ไล่บี้ทั้งเฮสเตอร์และชายชู้ปริศนาที่หลบเลี่ยงอย่างละอาย ให้ไปสู่จุดจบที่แม้แต่ตัวเฮสเตอร์ พรินน์เองก็คาดไม่ถึง เรื่องนี้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาภาษาอังกฤษที่อ่านง่าย ฉบับแปลไทยสำหรับหัดอ่าน มีการแปลหน้าต่อหน้าให้เปรียบเทียบสำนวนกันชัด ๆ ส่วนฉบับภาษาอังกฤษนั้นพิมพ์ออกมาหลายปกมาก ๆ จัดเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาที่สาดใส่แง่คิดกันไม่หยุดหย่อน
ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้วและปรากฏในภาพยนตร์เรื่องอื่น
เมื่อหนังสือดัง การถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ก็ต้องตามมา โดยเรื่องนี้ได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้วเวอร์ชันแรกออกฉายในปี 1934 นำแสดงโดย คอลลีน มัวร์ และเฮนรี บี. วอลธัลล์ แต่เวอร์ชันที่โด่งดังและเป็นที่กล่าวขวัญถึงคือเวอร์ชันในปี 1995 นำแสดงโดย เดมี่ มัวร์ และแกรี โอลด์แมน หนังได้เรต R นะคะ
และพบกับบทวิจารณ์เชิงลบอย่างท่วมท้น ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแรสป์เบร์รีทองคำ (Golden Raspberry Awards) ถึง 7 รางวัล และคว้ารางวัล ‘ภาพยนตร์รีเมกที่แย่ที่สุด’ (Worst Remake or Sequel) มาครอง จนได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่แย่ที่สุดที่เคยสร้างมา
แต่อย่างไรก็ตามหนังสืออ่านนอกเวลาเล่มนี้ของ แนแธเนียล ฮอว์ธอร์น ก็ตอกย้ำให้รับรู้ถึงความโด่งดังและเป็นที่สนใจของผู้สร้างมากขนาดไหน เมื่อมาปรากฏอยู่ในฉากหนึ่งของ ‘The maid’ ภาพยนตร์ไทยที่ฉายทาง NETFLIX อีกครั้ง ตัวละคร ‘อุมา’ ภรรยาของเจ้าของบ้านกำลังนั่งอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างตั้งใจซะด้วยสิ แล้วไหนจะประโยคที่บอกว่า Happiness is like a butterfly which, when pursued, is always beyond our grasp, but, if you will sit down quietly, may alight upon you.
‘ความสุขก็เหมือนผีเสื้อ เมื่อไหร่ที่เราพยายามไล่จับมันจะหนีไปเสมอ แต่เมื่อไหร่ที่เรานั่งอยู่เงียบ ๆ มันจะมาเกาะที่เราเอง’ ซึ่งเป็นประโยคกินใจใน ‘Nevertheless’ อีกล่ะ