หนังของชาว LGBTQ ส่วนใหญ่มักจะมาพร้อมตัวละครหม่น ๆ เรื่องราวทึม ๆ เน้นไปที่การต่อสู้ในเรื่องราวที่เป็นประเด็นทางสังคม จนลืมไปว่าพวกเขาก็มีเรื่องราวในแง่มุมอื่นให้นำเสนอ เล่าเรื่องได้หลากหลาย ไม่ใช่แค่งานดรามาหนัก ๆ เช่น เป็นงานโรแมนติกหรือรอม-คอม ที่นำเสนอเรื่องราวความรัก ความอ่อนไหวของตัวละคร เป็นงานก้าวพ้นวัย (Coming of Age) ซึ่งหลายเรื่องก็ทำได้ดี ไม่ว่าจะเป็นในแง่ความบันเทิง หรือว่าคุณภาพ และนี่คือหนังเหล่านั้น ที่แม้บางเรื่องอาจมีสีหม่นเจือปนบ้าง หรือความหวานชื่นเป็นเพียงช่วงหนึ่ง หากก็แสดงความสวยงามของความรัก ที่ทำให้เรามีความสุขไปกับตัวละคร และบางทีก็น้ำตาซึมไปกับชะตากรรมของพวกเขาเช่นกัน
The Way He Looks (2014)
ผู้กำกับ: แดเนียล ริไบโร (Daniel Ribeiro)
หนังบราซิลที่อยู่ในลิสต์ต้น ๆ ทั้งการจัดอันดับหนัง LGBTQ ในภาพรวม หรือเจาะจงที่งานโรแมนติก หนังเป็นเรื่องของลีโอนาร์โด (Leonardo) นักเรียนไฮสคูลตาบอดที่เฝ้ารอจูบแรกในชีวิตแบบไม่มีความหวัง จนได้พบแกเบรียล (Gabriel) นักเรียนใหม่ที่สนิทสนมกันอย่างรวดเร็ว และพบว่าความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นไกลกว่าความเป็นเพื่อน และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะบอกใคร ๆ หนังเป็นงานโรแมนติกที่มีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ น่ารัก เข้าถึงความรู้สึก ที่ยังเป็นหนังก้าวพ้นวัย โดดเด่นทั้งการเล่าเรื่องและการแสดงของกิลเฮอร์เม โลโบ (Ghilherme Lobo) และฟาบิโอ ออดิ (Fabio Audi) ที่รับบทลีโอและแกเบรียลตามลำดับ ซึ่งดูจริง ซื่อ เคมีและภาพลักษณ์ได้ หนังไม่ใช่แค่ดูสดใส แต่มีความอบอุ่น รวมถึงให้ความรู้สึกดี ๆ ตลอดทั้งเรื่อง
Love, Simon (2018)
ผู้กำกับ: เกร็ก เบอร์แลนทิ (Greg Berlanti)
งานของผู้อยู่เบื้องหลังซีรีส์ ‘Arrow’ แถมไม่ใช่หนังรักสีรุ้งตามแบบแผน ที่มักเป็นงานอินดี เพราะนี่คือหนังโรแมนซ์เกย์วัยรุ่นจากสตูดิโอใหญ่เรื่องแรก ไซมอน สเพียร์ส (Simon Spiers) ที่นิก โรบินสัน (Nick Robinson) เล่น กำลังนอยด์กับเรื่องเผยให้โลกรู้ตัวตนที่แท้จริง เขาตัดสินใจคุยกับนักเรียนที่ใช้ชื่อว่า บลู (Blue) ซึ่งโพสต์เรื่องการเป็นเกย์บนเว็บไซต์โรงเรียน พวกเขาตกหลุมรักกัน แต่ไม่รู้ตัวตนของกันและกัน ส่วนคนที่รู้ตัวตนของไซมอนก็เอาเรื่องนี้แบล็กเมล์เขา
ธีมหนังดูจริงจัง และมีตัวละครที่เกลียดคนรักร่วมเพศให้เห็นทั้งเรื่องก็จริง แต่ก็นำเสนอได้ไม่ต่างจากงานรอม-คอมวัยรุ่นที่ลงตัวเรื่องหนึ่ง บทสรุปสวยงาม ประทับใจ ให้ความหวังกับคนดู และเป็นงานก้าวพ้นวัยไปด้วย เมื่อตัวละครได้พบความรัก และเรียนรู้ที่จะเป็นตัวเองโดยปราศจากความกลัว รวมถึงมีปริศนาที่ว่าด้วย ใครคือบลู? ให้เกาะติด
But I’m a Cheerleader (1999)
ผู้กำกับ: เจมี แบ็บบิต (Jamie Babbit)
ด้วยหน้าหนัง นี่คืองานเสียดสี เมแกน (Megan) สาวรุ่นที่รับบทโดย นาทาชา ลีออนน์ (Natasha Lyonne) ถูกพ่อ-แม่สงสัยว่าเป็นเลสเบียนเลยจับส่งค่ายบำบัดทางเพศ แต่ที่นี่กลับทำให้เธอได้ค้นพบตัวเองจริง ๆ เมื่อพบรักกับเพื่อนหญิงในค่าย ซึ่งทำให้หนังมีเนื้อในเป็นงานรอม-คอม แถมขายความบันเทิงอย่างเต็มที่ โดยมีนักแสดงรุ่นเก๋า อย่าง รูพอล (RuPaul) และแคธี มอริอาร์ที (Cathy Moriarty) มาเล่นแบบเอามันในบทหัวหน้าค่าย
ความสัมพันธ์ของตัวละคร ค่อย ๆ พัฒนาจากเพื่อนเป็นความรัก อย่างมีขั้นมีตอน และเปี่ยมไปด้วยความหวัง เพราะโลกรอบ ๆ ตัวพวกเธอต่อต้านความสัมพันธ์ครั้งนี้ แต่เมื่อทั้งคู่ยังมีกันและกัน มันก็ชนะสิ่งต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะเมื่อทั้งสองคนเลือกที่จะ “ช่างมัน” กับสารพัดสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต
Boy Meet Girls (2014)
ผู้กำกับ: เอริก เชฟเฟอร์ (Eric Schaeffer)
หนังรอม-คอมสีรุ้งว่าหายาก หนังรอม-คอมคนข้ามเพศยิ่งหายากกว่า และนี่คือหนึ่งในจำนวนนั้น ริกกี (Ricky) ของมิเชลล์ เฮนด์ลีย์ (Michelle Hendley) เป็นสาวข้ามเพศที่ตกหลุมรัก ฟรานเซสกา (Francesca) ที่รับบทโดยอเล็กซานดรา เทอร์เชน (Alexandra Turshen) แต่นั่นยังไม่วุ่นพอ เพราะร็อบบี (Robby) เพื่อนสนิทของเธอและคู่หมั้นของฟรานเซสกาดันมาเกี่ยวข้องด้วย ที่นอกจากทำให้หนังซับซ้อนขึ้น ยังทำให้มี ‘ของ’ ได้เล่นเพียบ ไม่ใช่เป็นแค่หนังรอม-คอมที่คนข้ามเพศเป็นบทนำ ตัวละครยังเต็มไปด้วยสีสัน อย่าง ริกกีก็มีอารมณ์ขัน แถมเป็นพวกตลกหน้าตาย บทสนทนาก็คมคาย มีสถานการณ์ที่อบอุ่น และท่าทางเคอะเขินของตัวละคร ที่ทำให้ยิ้มได้ รวมถึงทำให้ได้รู้จักกับคนข้ามเพศมากขึ้น โดยมีตัวละครข้ามเพศอีกมากมาย ที่ทำให้ได้เห็นชีวิต และสังคมของพวกเขา
The Half of It (2020)
ผู้กำกับ: อลิซ วู (Alice Wu)
หนังเน็ตฟลิกซ์ ที่โวว่าเป็น “เรื่องราวความรักที่แตกต่าง” ซึ่งเห็นได้ชัดว่านำเรื่อง ’Cyrano de Bergerac’ มาปรับให้ทันสมัยมากขึ้น และเพิ่มเติมประเด็นที่ต่างไปจากเดิม
เอลลี ชู (Elloe Chu) สาวรุ่นเก็บตัวที่ลีอาห์ ลิวอิส (Leah Lewis) มาเล่น รับเขียนจดหมายรักให้พอล (Paul) รับบทโดย แดเนียล ไดเมอร์ (Daniel Diemer) ส่งให้แอสเทอร์ (Aster) สาวที่เขาแอบชอบซึ่งรับบทโดย อเล็กซ์ซิส เลอไมร์ (Alexxis Lemire) แต่แล้วเธอกลับตกหลุมรักแอสเทอร์ซะเอง ทำให้เกิดเรื่องราวที่น่าประทับใจและซาบซึ้ง แม้จะสัมผัสได้ถึงอิทธิพลต้นทาง แต่หนังก็เป็นเรื่องรักที่แตกต่างจริง ๆ เพราะเป็นทั้งงานก้าวพ้นวัยและรอม-คอม แล้วไม่ได้เน้นที่ความสัมพันธ์ผ่านตัวอักษรของแอสเทอร์และเอลลี หากยังมีเรื่องมิตรภาพระหว่างพอลกับเอลลี ที่เติบโตไปตามเวลาให้ติดตาม
God’s Own Country (2017)
ผู้กำกับ: ฟรานซิส ลี (Francis Lee)
ปี 2017 ไม่ได้มีแค่ ‘Call Me by Your Name’ ที่เป็นความสวยงามของความรักจากชาวสีรุ้ง แต่ยังมีหนังเรื่องนี้ที่เหตุเกิดในทิวทัศน์ที่แตกต่าง ไม่ใช่ชนบทของอิตาลี แต่เป็นชนบทตอนเหนือของอังกฤษ ที่เต็มไปด้วยฟ้าครึ้ม เนินเขาที่ปกคลุมด้วยมอสส์สีเขียว ไม่ใช่แสงอาทิตย์เจิดจ้า และพระจันทร์นวลตา ที่นี่หนุ่มยอร์กเชียร์ ที่รับบทโดยจอช โอ’คอนเนอร์ (Josh O’Connor) มีความสัมพันธ์กับคนงานโรมาเนียนอพยพ (อเล็ก เซคาเรียนู – Alec Secareanu) ที่มาทำงานในฟาร์มให้ฝายแรก ที่ต่อให้สภาพแวดล้อมจะแตกต่างจากหนังดังเรื่องนั้น แต่พลังที่ส่งออกมาก็ไม่ต่างกัน และช่วยให้หนังที่เรื่องราวแสนอบอุ่นและเปราะบาง มีธีมสวยงาม ที่ฉากหลังดูขัดแย้งกันเรื่องนี้ ก่อให้เกิดความสุขและรอยยิ้มในหัวใจไปอีกหลายวัน
Carol (2015)
ผู้กำกับ: ท็อดด์ เฮย์นส์ (Todd Haynes)
ได้รับการยืนปรบมือยาวนานถึง 10 นาที ในงานเทศกาลหนังเมืองคานส์ การแสดงของทั้งเคท แบลนเช็ตต์ (Cate Blanchett) และรูนีย์ มารา (Rooney Mara) รวมถึงการกำกับของ ท็อดด์ เฮย์นส์ ได้รับคำชมเป็นเอกฉันท์ และได้ชื่อว่าเป็นงาน ‘ต้องดู’ อีกเรื่องของปี 2015 โดยหอภาพยนตร์แห่งอังกฤษ ยกให้เป็นหนึ่งในหนัง LGBTQ ที่ดีที่สุดเลยด้วยซ้ำ
มารารับบทเป็น ธรีส (Therese) พนักงานขายของห้างใหญ่ในแมนฮัตทัน ที่ต่อให้รับมือกับสุภาพสตรีที่ร่ำรวยมากมาย แต่ไม่มีใครเหมือนแครอล (แบลนเช็ตต์) ที่เข้ามามีความสัมพันธ์กับเธอ และพยายามหาที่ทางเพื่อใช้ชีวิตคู่กับเธอ ทั้ง ๆ ที่ตัวเองแต่งงานแล้ว หนังไม่ได้แค่นำเสนอเรื่องราวความรักของทั้งสองคนได้อย่างสวยงาม แต่ฉากหลังที่เป็นสหรัฐอเมริกาในยุค 1950 ก็ส่งให้หนังมีสไตล์ และดูดีไปทุกอย่าง
Call Me By Your Name (2017)
ผู้กำกับ: ลูกา กัวดาญีโน (Luca Guadagnino)
เอลิโอ (Elio) รับบทโดยทิโมธี ชาลาเมต์ (Timothée Chalamet) เด็กหนุ่มวัย 17 ได้พบโอลิเวอร์ (Oliver) ของอาร์มี แฮมเมอร์ (Armie Hammer) ที่มาช่วยพ่อของเขาทำงานในวิลลาทางตอนเหนือของอิตาลี และก่อให้เกิดเรื่องราวสุดแสนโรแมนติก ท่ามกลางแสงแดดหน้าร้อนแถบเมดิเตอเรเนียน ที่ผู้ชมตกเป็นพยานในการพบรักและสูญเสียวัยเยาว์ของตัวละคร หนังนำเสนอเรื่องความรักของพวกเขาไม่ต่างไปจากความรักของหนุ่ม-สาวทั่วไป ที่อาจทำให้หลายคนนึกถึงเรื่องความรักของตัวเองในช่วงวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็นชาวสีรุ้งหรือไม่ก็ตาม
และนั่นก็คือเหตุผลที่ทำให้ใคร ๆ ก็พูดถึงหนังเรื่องนี้ เพราะนี่คือหนังอีกเรื่องที่พูดถึงความสัมพันธ์แสนบริสุทธิ์ ลึกซึ้ง ที่บางคนอาจจะเคยมี หรือเคยฝันว่าจะมีประสบการณ์แบบนี้สักครั้งในชีวิต ที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไม่เคยลบหายไปจากความทรงจำ
Maurice (1987)
ผู้กำกับ: เจมส์ ไอวอรี (James Ivory)
ก่อนเขียนบท ‘Call Me By Your Name’ ไอวอรีก็คือผู้กำกับ/ เขียนบทหนังโรแมนติกชาวสีรุ้ง ที่สร้างจากหนังสือของอี.เอ็ม. ฟอสเตอร์ (E.M. Foster) เมื่อปี 1914 ที่เซอร์ไพรส์มาก ๆ ถ้าดูจากยุคสมัยที่เขียนและบทสรุปของเรื่อง มัวริซ ฮอลล์ (Maurice Hall) ที่เข้าเรียนในแคมบริดจ์ ได้พบกับไคลฟ์ เดอร์แฮม (Clive Durham) หนุ่มหน้าตาดีที่มาบอกรักเขา ตอนแรกมัวริซรู้สึกกลัว ก่อนจะพบว่าตัวเองมีใจให้ไคลฟ์เช่นกัน ความรักของทั้งคู่ดำเนินต่อมาจนเรียนจบ เลิกรา และพบรักอีกครั้ง ในบรรยากาศของอังกฤษยุคเอ็ดเวิร์ด งานด้านภาพที่สวยงาม การเล่าเรื่องที่ค่อย ๆ ให้ซึมซับความเป็นไปของตัวละคร ที่รับบทโดยนักแสดงหนุ่มมากเสน่ห์ ฮิว แกรนต์ (Hugh Grant) – ไคลฟ์, เจมส์ วิลบี (James Wilby) – มัวริซ และรูเพิร์ต เกรฟส์ (Rupert Graves) ที่รับบทตัวละครสำคัญอีกคนของหนัง
Brokeback Mountain (2005)
ผู้กำกับ: อังลี (Ang Lee)
หนังที่ต้องมีอยู่ในลิสต์ งานที่ได้ชื่อว่าเป็นหนังรักในตำนานทั้งในโลกของชาวสีรุ้ง หรือคนทั่วไป เมื่อสามารถทำให้คนทุกเพศหลั่งน้ำตาให้กับความรักของสองคาวบอยหนุ่ม ที่รับบทโดย เจก กิลเลนฮอล (Jake Gyllenhaal) และฮีธ เล็ดเจอร์ (Heath Ledger) ที่มาทำงานด้วยกันในพื้นที่อันห่างไกล ท่ามกลางขุนเขาในไวโอมิง ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ต้องห้าม ที่ดำเนินต่อมาเรื่อย ๆ แม้พวกเขาจะอยู่ในสหรัฐอเมริกายุค 1960 ที่รักร่วมเพศถูกต่อต้าน แถมยังแต่งงานแต่งการกับหญิงสาว ซึ่งทำให้หนังมีประเด็นเรื่องความรักที่ถูกทรยศของสองสาวเข้ามาสร้างความสะเทือนใจ
หนังได้ชื่อว่าพางานโรแมนติกเกย์เข้าถึงผู้ชมในวงกว้าง และสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับหนังในแนวทางนี้ที่สูงมาก
Moonlight (2016)
ผู้กำกับ: แบร์รี เจนคินส์ (Barry Jenkins)
คนส่วนใหญ่อาจจะจำได้ว่าเป็นหนังออสการ์ยอดเยี่ยมในปีที่ประกาศรางวัลผิด แต่ตัวหนังเองมีอะไรที่น่าจดจำมากกว่านั้น กับเรื่องราวในสามช่วงชีวิตของชิรอน (Chiron) ซึ่งเปลี่ยนจากเด็กชายในครอบครัวที่มีปัญหาไปเป็นเกย์หนุ่มผิวดำ พร้อม ๆ กับนำเสนอการเติบโตของความรักระหว่างเขากับเควิน (Kevin) เพื่อนในวัยเด็ก และคนรักในเวลาต่อมา ซึ่งรับบทโดยแอนเดร ฮอลแลนด์ (Andre Holland) ที่อาจจะเป็นความสวยงามเดียวในชีวิตของเขา ที่ไม่ได้มีความสุขไปซะทุกเรื่อง
หนังยังเป็นงานก้าวพ้นวัย ทั้งในแง่ของรสนิยมทางเพศและตัวตนของตัวละคร ที่ขยับจากวัยเยาว์ ไปเป็นวัยรุ่น และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งเล่าเรื่องได้สดใหม่ ให้ความรู้สึกอบอุ่น สวยงามราวบทกวี มองโลกในแง่บวกให้ความหวัง เช่นเดียวกับแสงจันทร์ในยามที่ท้องฟ้ามืดมิด
Blue is the Warmest Color (2017)
ผู้กำกับ: อับเดลลาทิฟ เคชิเช (Abdellatif Kechiche)
หนังฝรั่งเศสที่สร้างเสียงฮือฮาจากฉากเซ็กซ์ที่ดุเดือดและยืดยาว ของสองตัวละครหลัก อเดล (Adele) ที่รับบทโดยอเดล เอ็กซาร์โชปูลอส (Adèle Exarchopoulos) และเอ็มมา (Emma) ของลีอา เซย์ดูก์ซ (Lea Seydoux) โดยตลอดเวลา 3 ชั่วโมง จะเป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ ที่เริ่มจากความรักครั้งแรก แล้วกลายเป็นความสูญเสียครั้งแรก ที่นำเสนอได้อย่างลึกซึ้ง
“หนังนำเสนอเรื่องความรักที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งทำให้เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นพยาน ความรักที่ลึกซึ้งและความผิดหวังจากความรักที่จมลึก ซึ่งวิวัฒนาการอย่างช้า ๆ จากจุดเริ่มต้น ผู้กำกับไม่ตีกรอบตัวเองในการเล่าเรื่อง และเราก็ยังต้องมนต์สะกดจากการแสดงของสองนักแสดงหญิง โดยเฉพาะการที่ผู้กำกับเฝ้าดูความเป็นไปของตัวละคร และปล่อยให้พวกเขามีชีวิตขึ้นมาบนจอภาพยนตร์” สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) ประธานกรรมการสายประกวดของเทศกาลหนังเมืองคานส์พูดถึงหนัง
นอกจากทั้ง 12 เรื่องที่ว่ามาแล้ว ยังมีหนังโรแมนติกสีรุ้งเรื่องเด่น ๆ อีกไม่น้อย ที่ถูกกล่าวถึงเป็นประจำ และน่าจะลองหามาชมกัน ไม่ว่าจะเป็น ‘Boys’ หรือ ‘Jongens’, ‘Weekend’, Imagine Me and You’, ‘Jeffrey’, ‘Saving Face’ หรือกระทั่ง ‘Happy Together’
อ้างอิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3
อ้างอิง 4 อ้างอิง 5 อ้างอิง 6
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส