‘การ์ตูน’ เป็นสิ่งที่ให้ความบันเทิงกับทุก ๆ คน ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ล้วนต้องมีการ์ตูนในดวงใจกันทั้งนั้น แต่ ใครจะไปรู้ ว่าจะมีการ์ตูนบางเรื่องที่ถูกแบนด้วยเหตุผลบางอย่าง ซึ่งจะมีการ์ตูนเรื่องไหนบ้าง และด้วยเหตุผลอะไรทำไมถึงต้องแบน ไปดูกันเลยค่ะ

1. เปปป้า พิก (Peppa Pig)
ตัวการ์ตูนน้องหมูสีชมพูแสนน่ารักของใครหลายคน ถูกแบนในประเทศออสเตรเลีย โดยในเรื่องนี้ตัวละครหลักอย่างเปปป้า พิกเป็นเพื่อนและอยู่อาศัยกับแมงมุม ทั้งยังมีการสอนให้ผูกมิตรกับแมงมุมอีกด้วย ซึ่งในประเทศออสเตรเลีย แมงมุมเป็นสัตว์อันตรายที่มีมากกว่า 10,000 สายพันธุ์ (ทั้งแบบมีพิษและไม่มีพิษ) จึงเป็นเหตุผลที่ชาวออสเตรเลียต่อต้านการเป็นมิตรกับสิ่งมีชีวิต 8 ขา

2. โปเกม่อน (Pokemon)
โปเกม่อน เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าจะถูกแบนจากประเทศญี่ปุ่น โดยสาเหตุของการแบนมาจากฉากที่มีการยิงระเบิด พร้อมกับแสงสีน้ำเงินและสีแดงกะพริบสลับกัน ด้วยความถี่ 12 เฮิรตซ์ เป็นผลให้ในภายหลังเด็ก ๆ กว่า 600 คนถูกนําตัวส่งโรงพยาบาล เนื่องจากอาการอาการมึนหัว ชัก เสียสติ จนถึงสูญเสียการมองเห็น โดยเรียกตอนที่ถูกแบนและเหตุการณ์นี้ว่า ‘Pokemon Shock’ หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลให้ประเทศตุรกีและประเทศแถบอาหรับแบนการ์ตูนเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

3. วินนี เดอะ พูห์ (Winnie the Pooh)
การ์ตูนน่ารักอย่างหมีพูห์ก็เคยถูกแบนไม่ให้ฉายในประเทศจีน เนื่องจากมีคนเริ่มนำตัวหมีพูห์ไปล้อเลียนว่ามีความคล้ายคลึงกับประธานาธิบดี ‘สี จิ้นผิง’ หลังจากนั้นก็มีการเผยแพร่ออกเป็นวงกว้าง และจบลงด้วยการที่การ์ตูนหมีพูห์ถูกสั่งแบนทั้งหมด

4. โดนัลด์ ดั๊ก (Donald Duck)
โดนัลด์ ดั๊ก คือ ตัวการ์ตูนเป็ดในสังกัดดิสนีย์ที่หลายๆ คนรู้จักกันดี แต่เจ้าเป็ดตัวนี้หายไปจากประเทศฟินแลนด์ ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970 เนื่องจากมันไม่ใส่กางเกง โดยทางคณะกรรมาธิการกิจการเยาวชนของเฮลซิงกิอ้างว่า ตัวการ์ตูนได้ละเมิดศีลธรรมอันดี และสร้างนิยมผิด ๆ ให้กับเด็ก ๆ

5. เทลสปิน (Talespin)
ในตอนหนึ่ง “บาลู” ตัวเอกของเรื่อง ต้องส่งของขวัญที่มีระเบิดอยู่ข้างใน แต่กลับรอดจากบทลงโทษ เพราะไม่รู้ว่าของภายในกล่องคืออะไร จึงทำให้เด็ก ๆ ที่ดูได้รับการสอนแบบผิด ๆ นอกจากนั้นยังมีตอน Last Horizons ที่ถูกแบนชั่วคราวเพราะเนื้อหาบางส่วนเกี่ยวโยงกับโศกนาฏกรรมทางประวัติศาสตร์ ซึ่งทั้ง 2 ตอนนี้ถูกแบนจากอเมริกาและญี่ปุ่น ก่อนที่จะถูกแบนต่อไปอีกทั่วโลก

6. สพันจ์บ็อบ (SpongeBob)
ในขณะที่การ์ตูนส่วนใหญ่ควรจะสร้างค่านิยมเชิงบวกให้แก่เด็กๆ แต่สำหรับตัวการ์ตูนในสพันจ์บ็อบกลับมีพฤติกรรรมเชิงลบและไม่ได้รับโทษใด ๆ จึงทำให้ในหลาย ๆ ประเทศสั่งแบนเพราะไม่ต้องการให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ โดยการ์ตูนเรื่องนี้ได้ถูกแบนไปมากกว่า 120 ประเทศทั่วโลก เช่น ประเทศออสเตรเลียและอเมริกา

7. ทอม แอนด์ เจอร์รี (Tom and Jerry)
ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี ที่เราคุ้นหูคุ้นตากับตัวการ์ตูนหนูและแมวอย่างทอม แอนด์ เจอร์รี ซึ่งการ์ตูนที่ดูใส ๆ เรื่องนี้ถูกแบนไปมากมายหลายตอน โดยเฉพาะฉากที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก เช่น ฉากสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า สารเสพติด อีกทั้งฉากที่มีการใช้ความรุนแรงและการลงโทษอย่างไม่เหมาะสม แม้เจอร์รีจะเยาะเย้ยทอมตลอดเวลา แต่กลับไม่เคยได้รับฟีดแบ็กที่ไม่ดีจากผู้ชม เนื่องจากทุกคนมองว่าเจอร์รีคือตัวละครดีที่ทำอะไรก็ไม่ผิด

8. บีวิส แอนด์ บัตต์เฮด (Beavis and Butt – Head)
“Comedians” ตอนหนึ่งของเรื่องมีฉากที่ตัวละครหลัก พยายามหยิบสิ่งต่าง ๆ มาจุดไฟเล่นอย่างสนุกสนาน จนทำให้มีเด็กชายวัย 5 ขวบคนหนึ่งในสหรัฐอเมริกาจุดไฟเผาบ้านตัวเอง ทั้งที่ภายในบ้านยังมีน้องสาวของตัวเองอยู่ เหตุการณ์นี้เองทำให้การ์ตูนเรื่องนี้ถูกแบนจากทุกประเทศทั่วโลก

9. เดอะ ซิมป์สันส์ (The Simpsons)
บางตอนของ เดอะ ซิมป์สันส์ ถูกแบนในบางประเทศ เนื่องจากพฤติกรรมความรุนแรง การเหยียดบุคคลสาธารณะหรือประเทศบางประเทศ เช่น ตอนหนึ่งที่ต้องเดินทางไปเมืองริโอ ประเทศบราซิล แต่ผู้สร้างกลับทำให้เห็นว่าในเมืองมีแต่ป่ากับลิงที่กระโดดไปมา จนกระทรวงการท่องเที่ยวขู่จะฟ้องผู้สร้างการ์ตูนเรื่องนี้

10. ลูนีย์ตูนส์ (Looney Tunes)
ในตอน “One Beer” ตัวละครของเรื่องต้องการที่จะขโมยเบียร์ไปดื่ม จึงทำให้การ์ตูนเรื่องนี้ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความเหมาะสมด้านพฤติกรรมที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก ๆ ที่ได้ดู จนทำให้ตอนดังกล่าวถูกแบนบนทีวี

11. การผจญภัยของเพนกวินโลโล่ (The Adventures of Lolo the Penguin)
การ์ตูนชุดเรื่องนี้มีการแบนในประเทศสหรัฐอเมริกา หลายฉากถูกตัดทิ้งและบางฉากถูกเปลี่ยนให้ดูสมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้น เช่น ฉากที่คุณครูเพนกวินล้มต่อหน้านักเรียน ปฏิกิริยาของนักเรียนที่นิ่งเฉยก็ถูกเปลี่ยนเป็นเสียงหัวเราะแทน

12. แกร์วิตีฟอลส์ (Gravity Falls)
การ์ตูนจากค่ายดิสนีย์ เป็นการ์ตูนแนวผจญภัยที่ดูเผิน ๆ เหมือนจะไม่มีอะไร แต่ดันถูกประเทศรัสเซียแบน เนื่องจากพฤติกรรมของตัวละครไม่เหมาะสม มีความรุนแรงและค่อนข้างลามก จนถูกจัดให้เป็นการ์ตูนเรต 12+ ซึ่งในปัจจุบันสามารถหาดูการ์ตูนเรื่องนี้ได้ในรัสเซีย แต่เป็นแค่เพียงฉบับย่อที่ถูกตัดบางส่วนออกไป

13. เชร็ค 2 (Shrek 2)
ในเรื่องนี้ มีฉากหนึ่งที่ตัวละครได้พูดคำว่า ‘To Bobbit’ ซึ่งมีความหมายว่า ‘ตัดเจ้าโลก’ โดยคำว่า ‘บ็อบบิต’ ปรากฏขึ้นในปี 1993 หลังจากที่มีข่าว จอห์น บ็อบบิตต์ (John Bobbit) ถูกภรรยาของเขาเฉือนเจ้าโลกทิ้ง จนทำให้เวอร์ชันในประเทศอิสราเอลได้เปลี่ยนคำ ๆ นี้ เป็นมุกตลกที่เกี่ยวกับเดวิด ดิออร์ (David D’or) นักร้องที่มีเสียงสูง แต่เจ้าตัวเกิดความไม่พอใจ และทำการฟ้องศาลให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่สามารถเข้าฉายได้จนกว่าจะมีการลบชื่อของเขาออกจากภาพยนตร์
และนี่ก็เป็นการ์ตูนดังทั้ง 13 เรื่องที่โดนแบนจากประเทศต่าง ๆ แต่ละเรื่องก็มีเหตุผลที่โดนแบนแตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่ที่มีการแบนหรือการตัดฉากที่ไม่เหมาะสมออก เพื่อไม่อยากให้เด็ก ๆ ที่เข้ามาดูเกิดการจดจำและนำพฤติกรรมไม่เหมาะสมไปเลียนแบบ อย่าว่าแต่เด็กเลยผู้ใหญ่เองก็ไม่ควรทำให้เป็นตัวอย่างแก่เด็ก ๆ นะ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส