‘DEEP โปรเจกต์ลับ หลับเป็นตาย’ คือภาพยนตร์ไทยออริจินัลของ Netflix เรื่องล่าสุดที่น่าสนใจในหลาย ๆ แง่ ทั้งการเป็นหนังระทึกขวัญพล็อตแหวกที่ว่าด้วยนักศึกษาแพทย์ 4 คนที่เข้าร่วมโปรเจกต์การทดลองที่มีชื่อว่า ‘DEEP’ เพื่อเงินจำนวนมหาศาลที่เดิมพันด้วยชีวิต เพราะต้องแลกกับการห้ามนอนหลับ
รวมถึงยังเป็นโปรเจกต์แรกของ Netflix ที่ร่วมมือกับ ‘ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม’ (Transformation Films) และทีมงานกำกับ-เขียนบทรุ่นใหม่จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ภายใต้การให้คำแนะนำของ 2 กุนซือผู้เชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์ ทั้งด้านการกำกับภาพยนตร์จาก ‘อังเคิล-อดิเรก วัฏลีลา’ และด้านการเขียนบทภาพยนตร์จาก ‘วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง’
ก่อนที่ภาพยนตร์พล็อตแหวกเรื่องนี้จะเข้าฉายพร้อมกันทั่วโลกในวันที่ 16 กรกฏาคมนี้ เราได้มีโอกาสสัมภาษณ์ทั้งเมนเทอร์ ทีมงานรุ่นใหม่ และ 4 นักแสดงหน้าใหม่ที่จะมาเล่าทุกเบื้องหลัง ก่อนที่ 16 กรกฏาคมนี้ภาพยนตร์พล็อตแหวกเรื่องนี้อาจจะทำให้คุณนอนไม่หลับไปเลย!
อ่านรีวิว: [รีวิว] DEEP โปรเจกต์ลับ หลับเป็นตาย – ไอเดียตื่นดี แต่บทคงต้องขออดนอนต่ออีกนิด
สัมภาษณ์เมนเทอร์ ทีมผู้กำกับ และเขียนบท
‘อังเคิล-อดิเรก วัฏลีลา’ (เมนเทอร์ด้านการกำกับภาพยนตร์)
‘วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง’ (เมนเทอร์ด้านการเขียนบทภาพยนตร์)
‘สิตา ลิขิตวณิชกุล’ (ผู้กำกับ-เขียนบท)
‘กิตติธัช นกงาม’ (เขียนบท)
‘เจตริน รัตนเสรีเกียรติ’ (ผู้กำกับ-เขียนบท)
‘อภิรักษ์ สมุดกิจไพศาล’ (ผู้กำกับ-เขียนบท)
‘ธนบดี เอื้อวิทยา’ (ผู้กำกับ-เขียนบท)
โปรเจกต์ภาพยนตร์เรื่อง ‘DEEP โปรเจกต์ลับ หลับเป็นตาย’ และที่มาที่ไปในการร่วมงานในฐานะเมนเทอร์ของโปรเจกต์นี้
อดิเรก – เดิมที ผมสนิทกับทางค่าย ‘ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม’ อยู่แล้วเป็นปกติที่ทางค่ายจะมาหาผมเมื่อทำภาพยนตร์ ซึ่งโปรเจกต์นี้ทำโดยนักศึกษาทั้งหมด ทั้งผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ ฝ่ายตัดต่อ ผมเลยอยากช่วยเหลือ เพราะเห็นความพยายามและความตั้งใจของเด็กกลุ่มนี้ ผมดีใจที่ได้เป็นพี่เลี้ยง ได้ให้ข้อมูล และแชร์ประสบการณ์
วิศิษฏ์ – ทางค่าย ‘ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม’ ร่วมกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จัดทำโครงการให้นักศึกษาได้ส่งผลงานเข้ามาเพื่อสร้างเป็นภาพยนตร์จริง ๆ และสุดท้ายได้เรียกผมเข้าไปช่วยในการสร้างบทหนังเรื่องนี้ ซึ่งน้อง ๆ มีไอเดียที่ดีกันอยู่แล้ว ผมเองไม่ได้ทำหน้าที่เขียนบท แต่เป็นเหมือนเป็นพี่เลี้ยง ที่ช่วยวางแผนการทำงานให้เขา ช่วยในการระดมความคิด เรียกได้ว่าเป็นผลงานของน้อง ๆ แบบเต็มตัวครับ
คิดว่า ‘DEEP’ จะสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการภาพยนตร์ไทยได้อย่างไรบ้าง
วิศิษฏ์ – เรื่องการอดนอนยังไม่มีใครทำ ก็เลยเป็นที่สดใหม่ และท้าทายคนดูไปพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น อีกสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับผมคือ ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำโดยนักศึกษาทั้งหมด นักแสดงก็เป็นนักแสดงหน้าใหม่ โดยรวมทั้งหมดมันดูสดใหม่และน่าสนใจสำหรับผม ต้องขอบคุณ Netflix ที่ให้โอกาสกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งมันจะเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กที่เรียนภาพยนตร์รุ่นถัดไปได้ด้วยครับ
เล่าถึงความประทับใจที่มีต่อทีมผู้กำกับหน้าใหม่
อดิเรก – แม้จะประสบการณ์น้อย แต่ว่าใจเขามาเต็มร้อย บางวันทำงานกันอยู่ในออฟฟิศถึงตีสี่ตีห้า นอนในห้องประชุม มันต้องอย่างนี้สิครับ เพราะสมัยผมก็ทำแบบนี้เหมือนกัน ถ้าพวกเขาไม่ใจรักจริง ๆ ก็ทำไม่ได้หรอก และทีมน่ารักมาก รับฟังผม และกล้าแลกเปลี่ยนไอเดียกัน ไม่ได้คิดว่าเราโบราณหรือล้าสมัย ถ้ามีโอกาสผมอยากทำโปรเจกต์อื่น ๆ กับเขาต่อนะ
วิศิษฏ์ – คอนเซปต์มันมาจากอินไซด์ของวัยรุ่นที่อดหลับอดนอนกันเป็นปกติ และการอดนอนจะนำไปสู่อะไร มีทั้งเงิน ความสำเร็จ ชื่อเสียง สิ่งที่พวกเขาฝันไว้ ตามมามากมาย มันเป็นเหมือนด้านลึกในใจของตัวละครที่เขามีความหวัง แต่บางครั้งอาจจะไม่มีโอกาสที่จะเข้าไปถึงจุดนั้นด้วยปัจจัยต่างๆ รวมถึงเรื่องเงินทอง ตรงนี้มันก็เป็นความท้าทายของตัวละครแล้ว ว่าพวกเขาจะกล้าทำไหม
คิดอย่างไรเกี่ยวกับการทำหน้าที่ปั้นคนรุ่นใหม่ให้แจ้งเกิดในวงการบันเทิง
วิศิษฏ์ – ทีมนี้เขามีความตั้งใจเต็มร้อย ซึ่งผมมองว่าการให้โอกาสกับคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถสำคัญมาก เพราะถ้าไม่มีคนรุ่นใหม่เข้ามา ทุกอย่างก็จะล้าหลังไม่ทันกับตลาด เราต้องการเลือดใหม่ๆเข้ามาในวงการเสมอ สิ่งที่ Netflix ทำน่าจะเป็นเรือธงให้กับเด็กรุ่นใหม่ เพราะการได้ฉายทาง Netflix ถือเป็นความสำเร็จของพวกเขา คอนเทนต์ในตลาดสตรีมมิงมีความหลากหลายมาก ซึ่งมันน่าจะเป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่คนรุ่นนี้จะมุ่งตรงไป เพราะการนำภาพยนตร์เข้าโรงนั้นใช้เงินจำนวนมาก และเป็นเรื่องยาก อีกทั้งวิถีชีวิตคนมันเปลี่ยนไปแล้ว นี่อาจจะเป็นทางออกสำหรับคนรุ่นใหม่ให้เขาได้ปล่อยของ
ที่มาและแรงบันดาลใจเบื้องหลังภาพยนตร์เรื่องนี้
สิตา – มันมาจากตอนที่ไหมเรียนอยู่ปี 2 ด้วยความเป็นนักศึกษาที่เรียนภาพยนตร์ ผ่านการออกกองต่า งๆ ทำให้เราไม่ค่อยได้นอน เราก็เลยเกิดไอเดียว่า ถ้าเราอดนอนแล้วได้เงินมันจะเป็นยังไง ไอเดียตั้งต้นคือตรงนี้ พอเราเพิ่มความเข้มข้นเข้าไปว่า การอดนอนเพื่อได้เงินแต่เราต้องเดิมพันด้วยชีวิตเนี่ย มันจะเป็นยังไง เลยออกมาเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้ค่ะ
เจตริน – คำว่า “DEEP” เริ่มมาจากการที่เราอยากเล่าเรื่องของคนอดนอน ซึ่งพวกเราที่เป็นนักเรียนฟิล์ม การอดนอนเป็นเรื่องธรรมดาของเราอยู่แล้ว แต่จริงๆ มันไม่ใช่เรื่องที่ควรจะเป็นปกติ อย่างผมที่อดนอนเล่นเกม อดนอนทำหนังสั้น ขนาดไม่ได้เงินเรายังอดนอนกันเลย แล้วถ้าได้เงิน จะมีตรงไหนที่น่าสนใจบ้าง เราก็เลยหยิบประเด็นนี้มาเป็นตัวชูธงครับ
กิตติธัช – แรงบันดาลใจของภาพยนตร์เรื่องนี้มาจากสภาพแวดล้อมที่พวกผมพบเจอในปัจจุบัน ทุกวันนี้วัยรุ่น หรือวัยพวกผมอดนอนกันเป็นปกติอยู่แล้ว พวกผมก็ตั้งคำถามกันว่า ถ้าหากไม่หลับไม่นอน เราจะทำอะไรได้บ้าง รวมกับว่าเราอยู่ในยุคที่หลายๆอย่างไม่แน่นอนและเงินเป็นตัวแปรสำคัญ ตอนที่พวกผมทำภาพยนตร์เรื่องนี้ แม้ว่าเรายังเป็นนักศึกษากันอยู่ แต่พวกเราทุกคนก็ได้พบเจอปัญหาหลายๆอย่างแตกต่างกันไป เช่น การที่ครอบครัวอาจจะขัดสนไปบ้าง ยอมรับว่าการไม่มีเงินในยุคนี้มันลำบาก คำถามต่อมาคือ ถ้าเราต้องทำสิ่งที่ทำตลอดเป็นกิจวัตร คือการอดนอน แล้วได้เงินด้วย แล้วทำไมจะไม่ทำ
การร่วมงานกับเมนเทอร์มืออาชีพในโปรเจกต์นี้เป็นอย่างไรบ้าง
สิตา – ตั้งแต่ตอนพัฒนาบท เราได้พี่ ‘วิศิษฏ์’ มาคอยเป็นที่ปรึกษาให้ ไปหาทุกสัปดาห์เลย ซึ่งระหว่างสัปดาห์ ทีมผู้กำกับก็จะประชุมกัน ปรึกษากันแล้วก็เอาไปปรึกษาพี่วิศิษฏ์อีกที อะไรแบบนี้ค่ะ พอเราได้ออกกองจริง เหมือนเราได้กินยาเร่งโต เราได้รับมอบหมายให้เป็นผู้กำกับ เป็นคนสื่อสารกับทีมผู้ใหญ่หลายทีมมาก พอได้ทำงานกับผู้ใหญ่มันทำให้เราคิดเยอะขึ้น หลายมุม และรอบคอบมากขึ้นค่ะ
ธนบดี – สำหรับผมดีมากๆ ครับ ทั้งพี่วิศิษฐ์และพี่อังเคิลช่วยเราไว้มาก อย่างพี่อังเคิลเป็นคนที่ไฟแรงมาก อาจจะไฟแรงกว่าพวกผมด้วยซ้ำ เขาไวมากในเรื่องของโครงสร้างบท เขามองได้ทะลุปรุโปร่ง ส่วนพี่วิศิษฐ์ ผมประทับใจใน Mindset การทำงานของเขา และความเด็ดขาดชัดเจนในการคอมเมนต์งานของพวกผม ในขณะเดียวกัน พี่เขามีความยืดหยุ่นกับพวกผมมาก
อภิรักษ์ – ดีครับ พี่วิศิษฏ์มาเป็นเมนเทอร์ในเรื่องการเขียนบทแล้วก็ในด้านกำกับด้วย แต่สิ่งที่เมนเทอร์ให้เราจะเป็นการไกด์ไลน์กับเรามากกว่า เป็นการเสนอไอเดีย และฝึกให้เราทุกคนทำให้ทุกคนเชื่อไอเดียของตัวเอง อย่างในเรื่องนี้ที่มีผู้กำกับหลายคน ก็จะมีความยากในตอนเริ่มแรก เพราะทุกคนมีแนวทางที่ต่างกัน แต่สุดท้ายพอเราได้คุย ได้ตกลงกัน ความแตกต่างมันก็เพิ่มรสชาติให้ภาพยนตร์มีความหลากหลายมากขึ้นครับ
ความท้าทายในการกำกับและการเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้
อภิรักษ์ – การทำงานร่วมกับสตูดิโอเป็นอะไรที่ท้าทายมาก บางทีเราคิดว่าสิ่งนี้มันดีแล้ว แต่จริงๆ มันดีแล้วหรือเปล่า เราต้องให้น้ำหนักระหว่างความเห็นจากสตูดิโอและความเห็นของเราเอง เอามาคิดและก็ไปพัฒนาต่อ ตัวอย่างเช่นการแสดง สมมติฉากหนึ่งผู้กำกับอาจะมองว่าให้ยิ้มกว้างไปเลย แต่สตูดิโอบอกว่าให้ยิ้มน้อย ๆ ก็พอ หน้าที่เราที่จะต้องตัดสินใจและหาบาลานซ์ตรงกลาง ผมว่ามันท้าทายตรงนี้ครับ อีกอย่างคือ เราต้องเรียนรู้ที่จะกล้ายืนยันในความคิดของตนเอ งและทำให้คนที่ร่วมงานกับเราเชื่อในไอเดียของเราด้วยครับ
กิตติธัช – ความท้าทายคือการปั้นคอนเซปต์ที่พวกผมหลงใหลและมีแพชชัน ให้ออกมาให้เป็นรูปธรรมมากที่สุดและดีที่สุด ด้วยประสบการณ์ที่น้อยของพวกผม มันจึงเป็นสิ่งที่ท้าทาย พวกเราใช้เวลากับการเขียนบทภาพยนตร์เรืองนี้ร่วมปีครึ่ง อยู่บ้านเดียวกัน และกินนอนอยู่กับมันเพื่อเค้นสิ่งที่ดีที่สุดออกมา มีบางช่วงเวลาที่ท้อไปบ้างแต่เราก็ต้องก้าวข้ามตรงนั้นมาให้ได้ เรียกได้ว่า DEEP คือแพชชันของพวกผม และสิ่งที่ออกมามันเกินความคาดหวังของพวกผมมากๆครับ
ธนบดี – ผมคิดว่าภาพยนตร์ที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์มาผสม ท้าทายกว่าภาพยนตร์ประเภทอื่น ๆ ในการทำให้เรื่องราวน่าเชื่อถือในบริบทของสังคมไทย เป็นเรื่องที่สำคัญมาก หากมีจุดที่เป็นช่องโหว่ ผู้ชมก็จะไม่เชื่อเราทันที ในขั้นตอนเขียนบท พวกเราเลยต้องพยายามกันสุด ๆ และคิดกันหนักมากครับ
อ่านบทสัมภาษณ์ทีมนักแสดง คลิกที่นี่
อ่านบทสัมภาษณ์ทีมงานและเมนเทอร์ คลิกที่นี่
สัมภาษณ์ทีมนักแสดง
‘แคร์ ปาณิสรา ริกุลสุรกาน (รับบท’ ‘เจน’)
‘เค เลิศสิทธิชัย (รับบท’ ‘วิน’)
‘เฟิร์น ศุภนารี สุทธวิจิตรวงษ์’ (รับบท ‘ซิน’)
‘กิต กฤตย์ จีรพัฒนานุวงศ์’ (รับบท ‘พีช’)
เล่าถึงคาแรกเตอร์ในเรื่องที่ได้รับ
แคร์ – ‘เจน’ เป็นตัวละครที่เหมือนคนทั่วไป ที่พยายามถีบตัวเองขึ้นไปในจุดที่ตัวเองคิดว่าประสบความสำเร็จ เป็นเสาหลักของครอบครัว ที่มีภาระต้องดูแล ในขณะที่เป็นนักเรียนแพทย์ไปด้วย ซึ่งต่างจากบทที่เราเคยได้รับมามาก ๆ และก็ไม่เหมือนเราในชีวิตจริงเท่าไหร่ในแง่ของการสู้ชีวิต เลยต้องทำการบ้านอยู่พอสมควร
เค – ‘วิน’ เป็นนักเรียนแพทย์ที่ดูร่าเริง เป็นนักกีฬาบาสเก็ตบอลของมหาลัย เข้ากับเพื่อนง่าย รักเพื่อน แต่ถึงภายนอกจะดูสดใส แต่ภายในมีปมเรื่องครอบครัวอยู่ ด้วยความที่แม่เสียไปตอนเด็ก ๆ ก็เลยไม่ค่อยรอยกับพ่อ ทำให้เป็นคนที่มีอะไรซ่อนไว้ภายใต้บุคลิกที่ร่าเริงครับ
เฟิร์น – ซินเป็นนักเรียนหมอ ที่จริ งๆ ไม่ได้อยากเป็นหมอ แต่ด้วยความคาดหวังจากที่บ้านอยากให้เป็นก็เลยสอบติดมาเป็นนักเรียนแพทย์ค่ะ จริง ๆ แล้วซินอยากเป็นเน็ตไอดอล ก็เลยมีช่องของตัวเอง หาทางมีคนติดตามเยอะๆ เพื่อทำตามความฝันตัวเองค่ะ
กิต – พีช เป็นเด็กเนิร์ดที่ภายนอกอาจจะดูเรียบร้อย แต่ข้างในเขาเก็บกดอยู่เหมือนกัน พีชเป็น Introvert ไม่ค่อยพูดจากับใคร และไม่ค่อยกล้าสื่อสารความรู้สึกที่มีตรง ๆ อาจจะเป็นเพราะเขาไม่ค่อยเชื่อใจสังคมที่มองเขาเป็นลบ แต่จริง ๆ แล้วเขาก็ไม่ได้แตกต่างจากคนอื่นเลย
ประสบการณ์ในการทำงานกับผู้กำกับรุ่นใหม่เป็นอย่างไรบ้าง
เฟิร์น – ก็แตกต่างบ้าง แต่เราว่าเรื่องอายุไม่ค่อยเกี่ยวเท่าไร แต่การมีผู้กำกับหลายคนอาจจะแตกต่างจากที่เราเคยทำงานมาบ้าง เพราะมีการแลกเปลี่ยนไอเดียระหว่างผู้กำกับกันเยอะ แต่สุดท้ายแล้วก็เป็นไปได้ด้วยดีค่ะ ไม่มีปัญหาอะไรเลย เราว่ากลับกันมันทำให้มีตาหลายคู่คอยดูว่าตรงนี้ดีหรือยัง ทำให้การแสดงออกมาดีขึ้นค่ะ
แคร์ – แคร์รู้สึกว่าการมีผู้กำกับหลายคนมันดีมาก เพราะเราจะมีหลายมุมมอง ช่วยกันระดมไอเดีย และด้วยผู้กำกับเป็นคนรุ่นใหม่อีกเนี่ย แคร์รู้สึกว่าพวกเขาส่งมอบมุมมองในการทำงาน และบรรยากาศใหม่ๆ เวลาไปกอง แคร์รู้สึกเหมือนเราไปทำงานกับเพื่อน มันน่ารักมากๆ
เค – ผมว่าทุกคนทำงานเป็นทีม และมีความตั้งใจมาก แต่ละคนมีความมุ่งมั่นมาก ทุกคนเสนอไอเดียของตัวเอง ตอนแรกจะมีความเกรงใจหน่อยเพราะ ผู้กำกับอายุน้อยกว่าเค แต่พอเราได้เปิดใจคุยกันว่าถ้ามีปัญหาหรืออยากจะปรับอะไรตรงไหน มาบอกได้เลยไม่ต้องเกรงใจ สุดท้ายเราก็สามารถสื่อสารกันได้แบบราบรื่น น้องเขาเองก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีไฟ โดยรวมแล้วเป็นประสบการณ์ที่ดีมากครับ
เคในฐานะที่เป็นยูทูบเบอร์ในนาม ‘kayavine’ มารับงานแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นครั้งแรก รู้สึกอย่างไรบ้าง
เค – งานแสดงถือเป็นสิ่งใหม่ ๆ ที่ผมได้ลองทำครับ สำหรับผม การเป็นนักแสดงยากกว่าเยอะ เพราะคือการเอาคาแรกเตอร์และบทบาทของคนอื่นมาใส่ตัวเรา ผมมองว่าการเป็นนักแสดงทำให้รู้จักโลก รู้จักคนมากขึ้น รวมถึงนิสัยของคนที่มีหลายประเภท เมื่อก่อนเราอาจจะไม่คิดว่ามีคนแบบนี้ด้วย ไม่เข้าใจว่าทำไมบางคนถึงแสดงออกในแบบที่เขาทำ แต่งานแสดงทำให้เราเข้าใจมากขึ้นครับ
ส่วนกิตเองในฐานะนักร้องนำวง ‘Three Man Down’ การเป็นนักแสดงของคุณแตกต่างจากการเป็นนักร้อง หรือการแสดงบนเวทีบ้างไหม
กิต – เดิมทีผมได้ผ่านงานโฆษณามาบ้างแล้ว พอมารับบทนักแสดงก็ได้โอกาสพัฒนาทักษะตรงนี้ไปอีกขั้นหนึ่ง ได้ไปเรียนการแสดงเพิ่มมาและพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด โดยปรึกษาผู้กำกับและครูสอนการแสดงว่า ผมต้องทำการบ้านอะไรบ้าง ดูหนังเรื่องอะไรบ้าง เพื่อนำมาปรับใช้
ส่วนสิ่งที่แตกต่างจากการเล่นดนตรีคือ เมื่อเราอยู่ในวง ทุกคนช่วยกันสื่อสารผ่านเครื่องดนตรีของตนเองในรูปแบบของเพลง เราควบคุมความรู้สึกบนเวทีไปพร้อม ๆ กับเพื่อนของเราที่รู้จักกันมาเป็นสิบปี พอมาเป็นภาพยนตร์ สิ่งที่เราพูดขึ้นอยู่กับนักเขียนบท อารมณ์ต่างๆ และการแสดงออกนั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้กำกับ ซึ่งเราต้องรับหน้าที่ในการถ่ายทอดบทบาทของเราออกมาให้ดีที่สุด
คิดว่าคนดูจะได้อะไรบ้างจากการดูเรื่อง DEEP
แคร์ – ส่วนตัวแคร์คิดว่าคนดูจะได้เรียนรู้จากการเดินทาง การเติบโตของเจน จากเริ่มแรกที่เจนเป็นคนที่รักครอบครัวมาก มากจนเหมือนกอดครอบครัวไว้จนแน่นเกินไป จนเกิดเรื่องราวมากมายที่ทำให้เจนเรียนรู้ถึงจุดตรงกลาง จุดสมดุลของความรักและความสัมพันธ์ คิดว่าคนดูน่าจะได้เรียนรู้จากเจนมากมายค่ะ
ประทับใจซีนไหนมากที่สุด เพราะอะไร
เฟิร์น – มันมีซีนที่มีการปั๊มหัวใจเกิดขึ้น เราจะไม่สปอยล์นะคะว่าใคร (หัวเราะ) ซึ่งสำหรับเราที่ไม่เคยทำ CPR มาก่อนมันค่อนข้างยากมาก เพราะมันจะต้องหลายอย่างมาก คือหนึ่งท่าต้องถูกต้อง เพราะถ้าทำผิด ไม่ถูกวิธีก็จะไม่สมจริง ในขณะเดียวกันก็ต้องทำให้ธรรมชาติให้สมจริงถึงแม้จะไม่ได้ลงแรงไปจริงๆ อะไรแบบนี้ค่ะ แต่ทางผู้กำกับ ก็มีพี่พยาบาลมาช่วยเวิร์กชอปให้ด้วยค่ะ ถือเป็นซีนที่น่าจดจำสำหรับเฟิร์น เพราะมันยาก แต่ก็สนุกค่ะ ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เยอะมากเลย
คำถามสุดท้าย มีอะไรจะบอกกับแฟนๆ ที่รอดูภาพยนตร์เรื่องนี้ไหม
เฟิร์น – ฝากภาพยนตร์เรื่องนี้ไว้ด้วยนะคะ เฟิร์นเอง นักแสดงและก็ทีมงานทุกคนเต็มที่มาก เป็นบทที่เฟิร์นตั้งใจและทำการบ้านเยอะจริง ๆ เป็นหนังไทยแนวที่ไม่เคยดูที่ไหนแน่นอนค่ะ
กิต – ‘DEEP’ เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของผมเองครับ และเป็นโปรเจกต์ของนักศึกษาด้วย อยากให้เอาใจช่วยผู้กำกับทั้ง 4 คนเพราะพวกเขาตั้งใจทำกันมากๆ และอยากให้อุตสาหกรรมให้โอกาสและพื้นที่กับพวกเขาต่อไป ส่วนผมเอง ได้มีโอกาสเล่นบทบาทที่อยากเล่นสักครั้งในชีวิต และเป็นเรื่องที่ได้เล่นกับน้องเคด้วย เพิ่งได้เจอตัวจริงกันก็เรื่องนี้ ถ้าใครคิดว่าเคมีของผมกับเคจูนกันก็ไปดูได้ครับ ในขณะที่เฟิร์นกับแคร์เขาเป็นมืออาชีพที่เชื่อใจได้อยู่แล้ว สำหรับผมกับเคนั้น…อย่าเรียกแค่ว่าฝากติดตาม เรียกว่าน่าเป็นห่วงเลยดีกว่า เอาเป็นว่าช่วยเป็นห่วงและเอาใจช่วยพวกผมด้วยครับ
เค – อยากให้ทุกคนมาดูเรื่องราวของนักศึกษาแพทย์ ที่เอาตัวเองเข้าไปในการทดลองที่ห้ามหลับนะครับ รับรองว่าทั้งตื่นเต้น ทั้งดราม่า จัดเต็ม อยากให้ทุกคนมาดูและก็เป็นกำลังใจให้เคและก็ทีมงานทุกคนด้วยนะครับ ทีมงานและนักแสดงเต็มที่ทุกคนจริง ๆ ครับ
แคร์ – แคร์รู้สึกว่า ‘DEEP’ เป็นภาพยนตร์รูปแบบที่ยังไม่ได้เห็นบ่อยมากในไทย อยากให้ทุกคนลองดูผลงานของคนรุ่นใหม่ ที่แตกต่างจากที่เคยทำมา แคร์เองสนุกกับการทำงานในเรื่องนี้มาก เต็มที่มาก ๆ ทีมงานนักแสดงคนอื่นก็เต็มที่เหมือนกัน ฝากภาพยนตร์เรื่องนี้ที่จะฉายทาง Netflix วันที่ 16 กรกฏาคมนี้ด้วยนะคะ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส