เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์ร่วมสมัย ‘OCAT Shanghai Contemporary Art Terminal’ ที่ตั้ง ณ เมืองเซียงไฮ้ ประเทศจีน ได้ทำการรื้อถอนงานนิทรรศการศิลปะของศิลปินชาวจีนที่ชื่อว่านาย ‘ซ่งต้า’ (Song Ta) ที่มีชื่อภาษาจีนว่า ‘Campus Flower’ (นางฟ้ามหาวิทยาลัย) แต่ดันมีชื่อภาษาอังกฤษแบบย้อนแย้งว่า ‘Uglier and Uglier’ (โคตรขี้เหร่และยิ่งกว่าขี้เหร่) หลังจากที่เปิดทำการแสดงไปได้เพียงวันเดียว เนื่องจากกระแสการต่อต้านต่องานศิลปะของเขาที่รุนแรงมากในโซเชียลมีเดีย
งานศิลปะที่มีชื่อว่า “Campus Flower” นี้ เป็นนิทรรศการรวมงานศิลปะ ที่นาย ‘ซ่งต้า’ ได้เริ่มต้นผลิตในปี 2013 ซึ่งเป็นผลงานศิลปะที่รวบรวมผลงานทั้งภาพนิ่งและวิดีโอเอาไว้ โดยคอนเซปต์งานศิลปะครั้งนี้คือ การจัดแสดงภาพนิ่งและวิดีโอที่เกิดจากการ “แอบถ่าย” นักศึกษาหญิงที่เดินผ่านไปผ่านมาอยู่ภายในวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยเซียงไฮ้จำนวนกว่า 5,000 คน
ก่อนที่เขาจะนำมาเรียงลำดับด้วยการให้คะแนน โดยวัดจากผู้หญิงที่เขาสวยที่สุด ไปจนถึงผู้หญิงที่เขาคิดว่าขี้เหร่ หรือไม่สวยที่สุด และนำเอาภาพทั้งหมดมาต่อกันกลายเป็นวิดีโออาร์ตความยาว 7 ชั่วโมงที่จะจัดแสดงด้วยการฉายลากยาวตั้งแต่เช้าจรดเย็น นั่นหมายความว่า ใครที่ได้มาชมงานนี้ในตอนเช้า ก็จะได้เห็นผู้หญิงที่สวย แต่ถ้าใครไปชมในช่วงค่ำ ๆ ก็จะได้เห็นแต่ผู้หญิงขึ้เหร่แทน
‘ซ่งต้า’ เจ้าของผลงานได้กล่าวถึงงานศิลปะชิ้นนี้ว่า “ถ้าหากคุณอยากจะชมนางฟ้าในมหาวิทยาลัย คุณก็ต้องมาชมงานนี้ให้ทันในช่วงเช้า เพราะถ้ารอถึงช่วงพลบค่ำ ที่นี่จะแปรเปลี่ยนกลายเป็นนรกในทันที”
แน่นอนว่า ทันทีที่เขาจัดงานแสดงศิลปะชิ้นนี้ ก็ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียจีนมากมาย ซึ่งหลายคนพุ่งเป้าไปที่พิพิธภัณฑ์ว่า พิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของจีน ยินยอมให้จัดงานศิลปะที่ด้อยค่าความเป็นผู้หญิงแบบนี้ได้อย่างไร
ในขณะที่ในโซเชียลมีเดียจีนชื่อดังอย่าง ‘เว่ยป๋อ’ (Weibo) ก็มีคนแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ต่อซ่งต้า และงานศิลปะชิ้นนี้อย่างรุนแรงว่า “นี่ไม่ใช่แค่การดูถูก แต่ยังเป็นการละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคลอีกต่างหาก เพราะพวกเธอล้วนถูกแอบถ่ายแบบไม่รู้ตัว” ส่วนอีกคนกล่าวว่า “งานศิลปะต้องทำออกมาด้วยจิตใจที่ดี ฉันคงไม่สามารถเรียกงานชิ้นนี้ว่างานศิลปะ หรือเรียกนายซ่งต้าว่าเป็นมนุษย์ได้อีกต่อไป”
เดือดร้อนถึง ‘พิพิธภัณฑ์ร่วมสมัย OCAT Shanghai’ สถานที่จัดแสดงของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ที่ต้องออกมาตอบสนองต่อคอมเมนต์ที่รุนแรงต่องานศิลปะชิ้นนี้ใน Weibo เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า “หลังจากที่ได้รับคำวิจารณ์ ทางเราได้ประเมินเนื้อหาของงานศิลปะชิ้นนี้ และคำอธิบายของศิลปิน (ที่มีต่องานชิ้นนี้) อีกครั้ง และพบว่า มันเป็นการด้อยค่าความเป็นผู้หญิง และวิธีการถ่ายทำก็มีปัญหาในเรื่องของลิขสิทธิ์ด้วย
” ในฐานะที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีจุดยืนในการสนับสนุนความหลากหลาย เราถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นคำเตือน เราจะปรับปรุงบริการของเราและปฏิบัติต่อทุกคนด้วยความเอาใจใส่” ก่อนที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะทำการ “รื้อถอน” งานศิลปะชิ้นนี้ออกไปหลังจากจัดแสดงได้เพียงวันเดียว
จริง ๆ แล้วงานศิลปะชิ้นนี้ไม่ใช่งานแรกของซ่งต้า เพราะเขาเองก็เคยจัดแสดงงานศิลปะที่มีแนวคิดในทำนองนี้ผ่านงานศิลปะในรูปแบบงานเดินแบบแฟชันที่เมืองอู่ฮั่นในปี 2013 มาแล้ว แต่แม้ว่าจะโดนวิพากษ์วิจารณ์ขนาดไหน ซ่งต้าก็ดูจะไม่สะทกสะท้านกับเสียงวิจารณ์แต่อย่างใด
เขาเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร ‘Vice’ ภาษาจีนเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เขาต้องจ้างผู้ช่วย 3 คนในการคัดแยกรูปผู้หญิงกว่า 5,000 คนอย่างเข้มงวด พวกเขาต้องตั้งโฟลเดอร์ในคอมพิวเตอร์เพื่อคัดแยกรูปภาพผู้หญิงทั้งหมด โดยรูปของผู้หญิงขี้เหร่ จะถูกโยนลงในโฟลเดอร์ที่ตั้งชื่อว่า “น่าเกลียดแบบพอรับได้” (Forgivably ugly) และโฟลเดอร์ “น่าเกลียดแบบรับไม่ไหว” (Unforgivably ugly) แถมยังประเมินความสวยของนักข่าวหญิงของนิตยสาร ‘Vice’ อยู่อันดับที่ 277 จาก 5,000 คนอีกต่างหาก
เขาอธิบายเพิ่มเติมกับ ‘Vice’ ว่า นี่ถือเป็นการประเมินความสวยและความขี้เหร่ของคนอย่างซื่อสัตย์ที่สุด แม้เขาจะรู้ตัวว่ากำลังบอกใครเขาเป็นคนน่าเกลียด แต่เขาก็เลือกที่จะไม่ประนีประนอมกับเรื่องนี้เด็ดขาด เขามองว่า “การตัดสินอย่างซื่อสัตย์นั้นถือเป็นการแสดงความเคารพอย่างหนึ่ง เพราะผมจะไม่โกหกคุณให้ดูดีกว่าที่เป็น เพราะผมถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติกัน การทำแบบนั้นมันเป็นเพียงการหลอกกันด้วยคำพูดสวยหรูเท่านั้นเอง”
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส