ในสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคมงานเพลงที่โดดเด่นที่เราจะมาแนะนำในวันนี้เป็นเพลงฮิปฮอปทั้ง 2 อัลบั้มเลย แต่ต่างแนวทางกัน หนึ่งเป็นงานของศิลปินไทย ‘TangBadVoice’ ที่จั่วหัวด้วยชื่ออัลบั้มก่อนแล้วว่า ‘Not A Rapper’ เพราะงานชิ้นนี้เป็นงานฮิปฮอปหรือแรปแนวใหม่ที่ผสมผสานการทดลองที่หลากหลายและโดดเด่นด้วยลีลาการใช้ภาษา การแรปที่ท้าทายทักษะ และการเล่าเรื่องตบมุกสอดอารมณ์ขัน (เชิงเสียดสีประชดปะชัน) ที่ ‘เอาอยู่’ ส่วนอีกงานหนึ่งเป็นของศิลปินอเมริกันรุ่นใหม่ที่ครองใจคนฟัง ‘Tyler, The Creator’ ที่กลับมาพร้อมความเป็น ‘Creator’ สมชื่อด้วยการสวมบทบาทเป็นตัวละครสมมติที่จะพาเราไปสัมผัสกับชีวิตของเขาท่ามกลางวิถีอเมริกันในแง่มุมต่าง ๆ ที่น่าสนใจ
‘Not A Rapper’ – TangBadVoice
อัลบั้มเต็มชุดแรกของช่างภาพหนุ่ม ‘ตั้ง ตะวันวาด วนวิทย์’ ช่างภาพหนุ่มที่ขอแยกร่างมาเอาดีด้านการทำเพลงจนโด่งดังด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ‘ตั้ง’ ตั้งชื่ออัลบั้มแรกของตัวเองว่า ‘Not A Rapper’ ซึ่งเหมาะดีแล้วเพราะงานเพลงที่มีส่วนผสมของดนตรีฮิปฮอปและการแรปของตั้งนั้นไม่ได้เป็นไปในแนวทางของงานดนตรีฮิปฮอปแบบที่เป็นมาตรฐานหากแต่เป็นงานลูกผสมที่รวมเอาเสน่ห์จากลูกเล่นลีลาอันหลากหลาย เพลงของตั้งมีเการแรปแต่ก็เป็นการแรปผสมพูดให้อารมณ์เหมือนเป็นเพลงของราชาเพลงพูด ‘เพลิน พรหมแดน’ ในบริบทของความร่วมสมัย ส่วนในเรื่องเนื้อหาเพลงของตั้งก็ไม่ได้มีหลุยส์วิตตอง บาเลนเซียกา (ที่มักอ่านกันว่าบาลองซิเอกา) หรือว่าเหล้ายาปาร์ตี้และนารี แต่กลับสะท้อนความคิดที่มีต่อชีวิตจากภายในของเขาออกมาและพูดถึงเรื่องของปัญหาต่าง ๆ นา ๆ ที่แวดล้อมอยู่ในชีวิตของเราด้วยท่าทีที่แฝงไว้ด้วยอารมณ์ขัน (เชิงประชดประชันเสียดสี) ที่จิกกัดประเด็นทางสังคมให้เราเพลิดเพลินจบแล้วก็ยังนำกลับไปขบคิดใคร่ครวญต่อได้อีก
ความสนุกและน่าติดตามในเพลงของตั้งนั้นมาจากการมีตั้งมุกตบมุกโบ๊ะบ๊ะเหมือนตลกคาเฟ่ มีการเล่าเรื่องที่สนุกสนานน่าติดตามและมีการใช้ sound design ออกแบบเสียงให้เข้ากับเรื่องราวที่เล่า หาคำที่คล้องจองลื่นไหลและสะท้อนภาพวิถีชีวิตประจำวันของคนเมืองในยุคสมัยปัจจุบันอย่างลงรายละเอียดอารมณ์คล้าย ๆ เวลาดูเดี่ยวของ ‘โน้ต อุดม’ ที่จะมีความรู้สึก ‘ร่วม’ แบบเอ้อเราก็เป็นแบบนี้คิดแบบนี้ รู้สึกแบบนี้เหมือนกันนะ อีกทั้งลีลาการแต่งเนื้อร้องและการแรปของตั้งก็ไม่ธรรมดาและยากที่จะหาใครเลียนแบบได้นั่นทำให้งานของ TangBadVoice มีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก
เริ่มด้วย “หมากแพง” เพลงที่มีแรงบันดาลใจมาจากการหมก ‘แมสก์’ ในช่วงที่โควิดระบาดหนัก และภาพการให้ข่าวของผู้มีอำนาจผ่านสื่อที่ชอบทำไม่รู้ไม่ชี้และมีวลีเด็ดอย่าง ‘ผมไม่รู้’ กับนี่มัน ‘ภาพตัดต่อ’ เป็นคำตอบมาตรฐาน ตั้งก็เลยหยิบจับเรื่องราวเหล่านี้มาจิกกัดเสียดสีแบบแสบ ๆ คัน ๆ มันส์ ๆ “หวัดหรือหวิด” สะท้อนความหวาดกลัว วิกลจริต วิตกจริต ในช่วงต้องกักตัว ‘กูติดแล้วรึยัง’ นี่คงเป็นคำถามที่ใครหลายคนต้องคอยถามตัวเองตลอดในช่วงเวลาที่ไปไหนก็ไม่ได้ งานก็ถูกแคนเซิล ต้องเที่ยวด้วยการใช้ VR กินมาม่าประทังชีวิต ดนตรีชิล ๆ สบาย ๆ เหมือนคล้ายจะได้พักผ่อน แต่ความคิดกลับวิ่งวุ่นเหมือนคนบ้า มีหักมุมตอนจบแบบตลกร้าย “ลิ้นติดไฟ” เร่าร้อนไปในดนตรีแทรปอันร้อนแรง ในเพลงนี้ตั้งจะมาสมัครพากย์เรือแข่ง จึงต้องใช้ทักษะของการ “พูดรัว พูดเร็ว พูดชัด” เพลงนี้ตั้งเลยได้โชว์ออฟเรื่องการแรปเร็วและการใช้ภาษาแบบที่คนชอบเอามาท้าเล่นกัน เช่น “ยายมอยเลี้ยงหมี และยายมีเลี้ยงหอย ส่วนนางลีขายหอย และนางมอยขายหมี” หรือ “หีบมากมายหลายหีบ ยกหีบหนี หีบมากมี หนีหีบ หนีบหนี หีบหาย” มารวมกันไว้ในเพลงนี้แบบถ้าร้องตามได้เป๊ะตามนี้นี่สอบผ่านการออกเสียงคำไทยระดับเทพ แค่โชว์ภาษาไทยยังไม่พอตั้งยังแถมภาษาอังกฤษให้อีกท่อนหนึ่งด้วย
จากนั้นก็มา “คิดไม่ออก” พักความร้อนแรงไฟลุกแล้วมาเจอะเรื่องรักในเพลงที่ตั้งได้ฟีเจอริ่งกับนักร้องหนุ่ม ‘Bilkin’ เป็นอาร์แอนด์บีพอป ๆ หวาน ๆ ที่ฟังเพลินและเข้าขากันดีจนรู้สึกว่าทั้งคู่น่าจะมาเป็นคู่ดูโอทำเพลงกันสักอัลบั้ม “จิตแพทย์” เพลงนี้ตั้งมาหาจิตแพทย์เล่าเรื่องราวของตัวเองและปัญหากับตัวตนอีกคนหนึ่งที่ชื่อว่า ‘TangBadVoice’ ซึ่งเขาสร้างขึ้นมาด้วยความสนุกแต่ไป ๆ มา ๆ มันก็แรปไม่หยุดจะหลับจะนอนก็ไม่ได้ หมอก็พยายามบอกว่ามันไม่มีอยู่จริง ตั้งก็บอกว่ามันอยู่ในตัวของผมจนเรื่องเริ่มเฮี้ยนเพี้ยนขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยการที่ TangBadVoice เข้ามาสิงในร่างของตั้งอย่างกับดูหนัง The Exorcist จากนั้นตั้งทั้ง 2 ร่างก็มา มา Battle กัน ตั้ง ตะวันวาด สู้ด้วยการเน้นเขียนเนื้อที่ฟังรอบแรกแล้วงง ส่วน TangBadVoice เน้นแรปเดือดแรปโหด ต่อด้วย “เหตุด่วน” เรื่องราวของชายหนุ่มที่มีเหตุต้องแจ้งเหตุด่วนกับ 191 เพราะมีโจรบุกบ้านแต่ทางนั้นก็ใจเย็นเหลือเกินเพราะต้อง “ทำตามขั้นตอนทำตามระบบ” เพลงนี้เป็นการเสียดสีประชดประชันความช้าไม่ทันด่วน มีเนื้อร้องแสบ ๆ คัน ๆ อย่าง “ปืนไม่ต้องแล้วฝากซื้อน้ำเอามากรวด” และในตอนครึ่งหลังของเพลงเมื่อชายผู้แจ้งเหตุบอกนามสกุล ‘ติดลมบน’ ของตัวเองซึ่งเป็นนามสกุลใหญ่ทำให้ระบบอะไร ๆ มันก็ง่ายไปหมดเลยทีนี้
“ฉันอยากได้ยิน” เปิดด้วยอินโทรกีตาร์คอร์ดสวยและซินธ์สร้างบรรยากาศให้เกิดท่วงทำนองหวานวาบชวนเคลิบเคลิ้ม ผ่านคำหวาน ๆ ของเนื้อร้อง ‘ฉันอยากได้ยินเธอบอกรักฉัน’ ปิดท้ายด้วย “บ่น” ที่ตั้งบ่นเรื่องของตัวเองให้เราฟัง บอกสิ่งที่คิดและรู้สึกจากข้างในทำให้เรารู้จัก TangBadVoice ดีมากขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องการทำหนัง การทำเพลง การใช้ชีวิต TangBadVoice เป็นคนชอบนั่งหลังค่อมเลยไม่อยากไปขึ้นคอนเสิร์ต ชอบเล่นไปเรื่อย ที่ทำทุกอย่างอยากทำเพราะความสนุกอยากทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่ได้อยากเป็นแรปเปอร์ที่มีชื่อเสียง หรือได้รับการนิยามว่าเป็นแรปเปอร์ แค่เป็นคนที่ชอบทำเพลง ทำในแนวนี้ที่ชอบผสมผสานอะไรไปเรื่อย สนุกกับมันไปเรื่อย ๆ และเราก็เชื่อว่าเขาจะมีผลงานชวนว้าวออกมาให้เราฟังกันเรื่อย ๆ แน่นอน
‘Call Me If You Get Lost’ – Tyler, the Creator
อัลบั้มเต็มชุดที่ 6 จากแรปเปอร์และโปรดิวเซอร์หนุ่มมากฝีมือ ‘Tyler, the Creator’ ที่ขนเอาเพื่อนพ้องน้องพี่นักดนตรีมาร่วมงานมากมาย อาทิ DJ Drama, 42 Dugg, YoungBoy Never Broke Again, Ty Dolla Sign, Lil Wayne, Domo Genesis, Brent Faiyaz, Lil Uzi Vert, และ Pharrell Williams หน้าปกอัลบั้มจะเป็นรูปพาสปอร์ตของตัวละครที่มีชื่อว่า ‘ไทเลอร์ โบดแลร์ (Tyler Baudelaire)’ ซึ่งมีที่มาจากยอดกวีชาวฝรั่งเศสนาม ชาร์ลส์ โบดแลร์ (Charles Baudelaire) ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการทำงานเพลงชิ้นนี้ของไทเลอร์ซึ่ง ‘โบดแลร์’ ตัวละครที่ไทเลอร์สวมบทบาทตลอดทั้งอัลบั้มเป็นตัวแทนของโลกใหม่ที่เขาเพิ่งค้นพบและยังมีความสามารถไม่เพียงพอที่จะก้าวเข้าไปสู่โลกอันสูงส่งใบนั้นที่เชื่อมโยงกับความใฝ่ฝันของเขา นักวิจารณ์หลายคนได้พยายามเชื่อมโยงความเป็นโบดแลร์กับตัวตนของไทเลอร์ อาทิ ผลงานที่โด่งดังที่สุดของ ชาร์ลส์ โบดแลร์ คือ Les Fleurs du mal ในปี ค.ศ. 1857 (แปลว่า ดอกไม้แห่งความชั่วร้าย) ถูก “แบน” เพราะมีความโจ๋งครึ่มจนเกินไปและโบดแลร์ก็ถูกดำเนินคดีในข้อหาอนาจาร ส่วนไทเลอร์นั้นก็เป็น ‘วัยรุ่นเลือดเดือด’ ที่พ่นความสกปรกใส่อย่างชวนช็อกต่อผู้ที่มีจิตใจอ่อนไหวทั้งหลาย นอกจากนี้งานของทั้งคู่ยังมีธีมที่ว่าด้วยเรื่องของการต่อสู้ระหว่างความโรแมนติกฟุ้งฝันและความเป็นจริง ความหรูหราและความรัก ความงามและความตาย เป็นต้น
เปิดมาด้วย “SIR BAUDELAIRE” ที่แนะนำให้เรารู้จักกับตัวละคร ‘ไทเลอร์ โบดแลร์ (Tyler Baudelaire)’ บนท่วงทำนองชิล ๆ ที่นำมาจากเพลง “Michael Irvin” ของ Westside Gunn ต่อด้วยแทร็กต่อมา “CORSO” คำว่าคอร์โซนั้นหมายถึงถนนคนเดินที่มักมีการจัดกิจกรรมและงานเทศกาลต่าง ๆ เพลงนี้เลยเป็นเพลงที่พูดเกี่ยวกับชีวิตทางสังคมของไทเลอร์และอิทธิพลที่เขามีต่อผู้คนรอบตัวเขา “LEMONHEAD” เพลงนี้ไทเลอร์, 42 Dugg และ Frank Ocean มาอวดร่ำอวดรวยด้วยกันบนท่วงทำนองอันดุเดือด “I don’t lean but my house do / Off the hill with the mean view (Yeah)” “WUSYANAME” เล่าเรื่องของไทเลอร์ที่กำลังตกกหลุมรักสาวที่เขาเพิ่งพบอย่างบ้าคลั่งได้เพียงไม่นานก่อนที่จะพบว่าเธอกำลังถูกพรากไปจากเขาบนท่วงทำนองโรแมนติกที่ได้ Ty Dolla $ign และ YoungBoy Never Broke Again มาแจมด้วย “LUMBERJACK” ซิงเกิลแรกจากอัลบั้มนี้ที่ไทเลอร์เล่าโชว์ความมั่งคั่งของเขาและจัดการกับบรรดาผู้ที่เกลียดชังเขาด้วยบีทเฉียบ ๆ ที่แซมเปิลมาจากเพลง “2 Cups of Blood” ของ Gravediggaz “HOT WIND BLOWS” เป็นเพลงที่มี reference มาจากเพลง “Slow Hot Wind” ของ ‘Penny Goodwin’ จากอัลบั้ม Portrait of a Gemini ในปี 1974 และเหมือนกับที่ชื่อเพลงได้บอกไว้ในเพลงนี้ไทเลอร์กำลังยั่วล้อกับบทเพลงรุ่นเก่าด้วยแนวทางใหม่กลายเป็นลมอันระอุเดือดและไม่เชื่องช้าอีกต่อไปทั้งไทเลอร์, Lil Wayne และ DJ Drama พัดพากระแสลมนี้เข้าสู่ยุคใหม่ด้วยการงานดนตรีในแนวทางของพวกเขาและเนื้อเพลงที่บรรยายถึงความหรูหราฟู่ฟ่าในชีวิตตามแบบฉบับแรปเปอร์
“MASSA” ไทเลอร์พาเราหวนกลับไปสู่ยุคของการเป็นทาสในสหรัฐอเมริกาซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี 1776 จนถึง1865 อันเป็นปีที่สิ้นสุดการมีทาสเมื่อได้มีการผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ครั้งที่ 13 (The Thirteenth Amendment) ไทเลอร์ใช้ช่วงเวลานี้เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นความแตกต่างอย่างมากระหว่างข้อจำกัดที่มีต่อชาวแอฟริกันอเมริกันในคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ 19 กับสหรัฐอเมริกาสมัยใหม่ ซึ่งเป็นยุคที่คนผิวสีอย่างไทเลอร์มีโอกาสในการที่จะสร้างความสำเร็จให้กับตนเอง แต่ถึงแม้ชีวิตของคนแอฟริกันอเมริกันจะดีขึ้นกว่าแต่ก่อนแต่แนวคิดเรื่องการเหยียดผิวก็ยังคงฝังรากลึกอยู่ในสังคมอเมริกันมาอย่างยาวนานจนเป็นปัญหาเรื้อรังอย่างที่เราได้พบเห็นกันในทุกวันนี้ คำว่า “massa” ที่ใช้ในชื่อเพลงและเนื้อร้องเป็นการอ้างอิงถึงความเป็นทาส ซึ่งไทเลอร์ใช้สิ่งนี้ในการเสียดสีเนื่องจากคำว่า “massa” เป็นการออกเสียงคำว่า “master” (นาย) ตามสำเนียงของทางผิวดำที่อาศัยอยู่ทางใต้ของอเมริกานั่นเอง ส่วนใน “RUNITUP” ไทเลอร์สะท้อนให้เห็นว่าความมั่นใจที่เขามีอยู่ในปัจจุบันในการเป็นตัวของตัวเองนั้นเกิดขึ้นมาจากการฟันฝ่าความรู้สึก “แปลกแยก” ที่เกิดขึ้นในวัยเยาว์ของเขา “MANIFESTO” ไทเลอร์แรปเกี่ยวกับข้อขัดแย้งต่าง ๆ ในอดีตและวิธีที่เขาปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานที่คนอื่นต้องการอยากจะให้เขาทำตาม รวมไปถึงวิธีที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์ได้เปลี่ยนไปเป็นศูนย์กลางของการเคลื่อนไหวทางสังคม ต่อมาใน “SWEET” ไทเลอร์ปลดปล่อยจุดสูงสุดของความหลงใหลในหญิงสาวนางหนึ่ง ในขณะที่ใน “I THOUGHT YOU WANTED TO DANCE” เป็นช่วงที่เธอมีเธอเริ่มมีความรู้สึกที่หลากหลายและในที่สุดก็ตัดสินใจเลือกคู่รักของเธอ ทำให้ไทเลอร์เกิดความรู้สึกที่ผสมผเสปนเปกัน “MOMMA TALK “ เพลงนี้ก็ตรงตามชื่อเพลงเลยเป็นเสียงของลูอิซา วิตแมน (Louisa Whitman) แม่ของไทเลอร์พูดถึงการที่เธอต้องปกป้องไทเลอร์และลูก ๆ ของเธอด้วยความรักความห่วงใย “If you fuck with my kids, I’ll beat up kids over my kid, okay?” รวมไปถึงจุดที่ต้องปะทะกันอย่างรุนแรงบ้างระหว่างแม่ลูกหากนั่นเป็นสิ่งที่จำเป็น
“RISE!” เหมือนเป็นเพลงต่อมาจากแทร็กก่อนหน้าและเปิดด้วยเสียงของลูอิซา วิตแมนที่ตอกหน้าพวกผู้ที่จงเกลียดจงชังและต่อต้านลูกชายของเธอ เธอบอกว่าจะยืนหยัดอยู่ตรงนี้เพื่อที่จะเฝ้ามองลูกชายของเธอก้าวไปสู่ความสำเร็จ จากนั้นไทเลอร์ก็มาสานต่อความตั้งใจนั้นด้วยการยืนหยัดในสิ่งที่เชื่อ “When I rise to the top / I’m tellin’ you right now” “BLESSED” เป็นอินเทอร์ลูดที่ไทเลอร์แสดงความรู้สึกขอบคุณต่อความสำเร็จและความสุขของเขา “JUGGERNAUT” มาพร้อมเสียงร้องของ DJ Drama (ที่มาแจมเกือบทุกเพลงอยู่แล้ว) รวมทั้ง Lil Uzi Vert และ Pharrell Williams ซาวด์เบสเบี้ยว ๆ บิด ๆ ในเพลงนี้ชวนให้คิดถึงเพลงก่อน ๆ ของไทเลอร์อย่าง “CHERRY BOMB” หรือ “OKRA” ต่อมาในเพลง “WILSHIRE” เพลงความยาว 8 นาทีกว่าที่ไทเลอร์อัดแบบม้วนเดียวจบเพลงนี้ไทเลอร์เล่าเรื่องความสัมพันธ์ที่ล้มเหลวตั้งแต่จุดที่เริ่มต้นพบกันสบตากันจนถึงการเลิกราในที่สุด ในเพลงนี้ไทเลอร์มีการอ้างอิงถึงสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศต่าง ๆ มากมายสอดคล้องกับธีมที่ว่าด้วยการเดินทางซึ่งเราจะเห็นได้จากปกอัลบั้มและส่วนต่าง ๆ ของบทเพลงในอัลบั้มนี้ ปิดด้วยแทร็กสุดท้าย “SAFARI” ที่พูดถึงวันหยุดพักผ่อนของไทเลอร์และการเดินทางเป็นการจบอัลบั้มด้วยการแสดงความรักในการเดินทางและค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ของไทเลอร์ “See the world, open your eyes ’til your back hurt” ยิ่งในช่วงเวลาแบบนี้ที่การเดินทางท่องเที่ยวแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย การได้เดินทางผ่านบทเพลงผ่านเรื่องเล่านั้นย่อมเป็นทางออกที่สวยงามทั้งศิลปินและคนฟังอย่างเรา ๆ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส