แมลงอาจเป็นเมนูกินเล่นคุ้นปากคนไทย แต่หากพูดถึง ‘อนาคต’ ในวันที่อาหารอาจขาดแคลน ‘แมลง’ จะกลายเป็นอาหารทางเลือกที่อาจกลายเป็นอาหารหลักแห่งอนาคตในยามที่โลกเปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ทั้งจากการที่ประชากรโลกเพิ่มขึ้น เนื้อแดงขาดแคลน โลกร้อน ฯลฯ
‘บูม – อธิวัชร พงษ์ศรัทธาสิน’ และกลุ่มเพื่อน ๆ จึงได้ร่วมมือกันก่อตั้ง Exofood Thailand แล็บเลี้ยงแมลงอย่างจริงจังแห่งเดียวในไทย ที่ต้องการเป็นห้องทดลองค้นคว้าเพื่อให้แมลงกลายเป็นอาหารปัจจุบันของสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะ Exotic Pet และกลายเป็นอาหารแห่งอนาคตของมนุษย์ต่อไป
Exofood Thailand คือแล็บ หรือเป็นห้องปฏิบัติการหาค่่าแมลง หาวิธีการ หาคุณค่าทางโภชนาการของแมลง เพื่อที่จะหยิบเอามาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ทั้งในรูปแบบอาหารสัตว์และอาหารคน ก่อนหน้านี้ ผมทำธุรกิจส่วนตัวของที่บ้าน เป็นโรงงานอุตสาหกรรม แต่ว่าไม่อินกับงานที่บ้าน ก็เลยมาทำสิ่งนี้ เพราะผมมองเห็นว่า แมลงจะเป็นแหล่งโปรตีนสำหรับมนุษย์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
ในอึก 30 ปีข้างหน้า หรือในปี 2050 มีงานวิจัยที่วิเคราะห์เอาไว้แล้วว่า ประชากรโลกจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแปลว่ามันจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแน่นอน ความต้องการเข้าถึงโปรตีนเนื้อแดงจะมีเพิ่มขึ้นมาก และอาจจะเกิดสภาวะขาดแคลนอาหาร ถ้าวันนั้นโปรตีนเนื้อแดงมันขาดแคลนขึ้นมาล่ะ จะทำยังไง ก็ต้องหาโปรตีนทางเลือก ที่เราจะสามารถเตรียมตัวสำหรับอนาคตมาทดแทนในยามที่ขาดโปรตีนเนื้อแดง ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี การก่อตั้งแล็บนี้ขึ้นมาก็เลยถือว่าเป็นการศึกษา วิจัย และเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ
ตอนนี้เราก็มี Plant-Based Protein หรือโปรตีนที่สังเคราะห์จากในแล็บ และใช้ AI เข้าไปร่วมด้วยเพื่อให้กลายเป็น Future Food แต่ว่าเราสนใจในแมลง เพราะว่าเราเองชอบเลี้ยงสัตว์ เทรนด์การเลี้ยงสัตว์มีมากขึ้น เชื่อว่าในยุค Post-Pandemic (ยุคหลังการระบาดของโรคระบาด) ผมเชื่อว่าคนเราจะชินกับการอยู่บ้านมากขึ้น ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์กันมากขึ้น
และสัตว์ที่ว่าก็อาจจะไม่ใช่แค่หมา แมว แต่เป็น Exotic Pet ที่สามารถเลี้ยงในที่แคบได้ ไม่ส่งเสียงดัง ไม่รบกวนคนอื่น เลี้ยงในคอนโดมิเนียมหรือบ้านเล็ก ๆ ได้ และสัตว์ Exotic Pet ส่วนใหญ่ก็มักจะกินแมลงเป็นอาหาร จากทั้งหมดนี้ ก็เลยทำให้ผมได้เป้าหมายในการทำ Exofood ว่า หนึ่ง เราเพาะแมลงเพื่อเป็นอาหารคน สอง เพื่อเป็นอาหารสัตว์
เทรนด์การเลี้ยง Exotic Pet ในไทยเพิ่มสูงมากขึ้น เพราะหลาย ๆ คนมีข้อจำกัดที่ทำให้เลี้ยงหมา เลี้ยงแมวไม่ได้ ก็เลยหันมาเลี้ยง Exotic Pet กัน ซึ่งอย่างที่บอกว่า มันเลี้ยงในที่แคบ ๆ ได้ เพราะฉะนั้นมันก็เลยจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘Microcrimate’ (สภาพแวดล้อมในพื้นที่เฉพาะ) นอกจากจะให้อาหารแล้ว เรายังสามารถแต่งตู้ได้ เซตระบบนิเวศจำลองได้ด้วย
ไอเดียแรกในการสร้าง Exofood ไม่ได้คิดหรอกครับว่าใครสร้างมาก่อน แต่เราคิดว่าแมลงที่เป็นไพล็อตของเราทั้ง 4 ชนิด บางตัวคนไทยรู้จัก บางตัวก็ยังไม่เป็นที่รู้จัก และทัศนคติของคนไทยที่มีต่อแมลงก็ยังเป็นเพียงแค่แมลงที่ขายตามรถเข็นอยู่ แมลงหลาย ๆ ตัวอย่างเช่น ‘แมลงสาบดูเบีย’ (Dubia cockroach) หลายคนที่เห็นก็ยังรู้สึกว่ามันน่ารังเกียจ แต่เราต้องการที่จะลบภาพนั้น ต้องทำอะไรที่แตกต่างจากทัศนคติของคนส่วนใหญ่ที่มีต่อแมลง ทำกันเองบ้าง อ่านงานวิจัยจากต่างประเทศบ้าง แล้วก็เอามาต่อยอดครับ
สิ่งที่ Exofood ทำคือ การสร้างสภาพแวดล้อมในพื้นที่ปิด สร้างระบบปิดให้กับแมลง เพราะว่าเราเลี้ยงในเมือง เราไม่ต้องการให้สิ่งที่อยู่ในนี้ออกไปสู่ข้างนอก และไม่ต้องการให้สิ่งที่อยู่ข้างนอกเข้ามาข้างในนี้ ทุกคนที่เข้ามาต้องมีการเปลี่ยนรองเท้า ฉีดพ่นแอลกอฮอล์ อีกอย่างก็คือ เราศึกษาที่มาของแมลงที่เป็นไพล็อตของเราทุกตัว มีการส่งตรวจแล็บ พัฒนาสูตรอาหารโดยนักโภชนาการ แล้วเราก็เลี้ยงและทดสอบเพื่อให้ค่าต่าง ๆ สูงขึ้นไปอีก นี่แหละคือสิ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากการเลี้ยงแมลงที่เคยมีมา
แมลงตัวอย่างที่ Exofood เลี้ยงก็จะมี ‘แมลงสาบดูเบีย’ (Dubia cockroach) หรือแมลงสาบป่าอาร์เจนตินา อยู่ในทวิีปอเมริกาใต้ ตามธรรมชาติแมลงสาบดูเบียเป็นแมลงที่เป็นเหยื่อ เพราะว่าเคลื่อนไหวร่างกายช้า บินไม่ได้ ชอบกินผลไม้ แม้ว่าตัวมันเองจะเป็น Omnivore (สัตว์ที่กินทั้งพืชและสัตว์) ก็ตาม อาศัยอยู่ใต้ใบไม้ และตัวใหญ่กว่าแมลงสาบบ้านที่เรารู้จักกัน อายุอยู่ที่ประมาณ 12 – 18 เดือน ทำให้เรามองเห็นช่องทางที่จะขยายพันธุ์และเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการให้สูงขึ้นได้
ตัวที่สองคือ ‘ตัวอ่อนหนอนแมลงวันลาย’ (ฺBlack soldier Fly) เป็นแมลงวันพันธุ์หนึ่งที่หน้าตาคล้าย ๆ แมลงเม่าชอบกินผลไม้รสเปรี้ยว ตัวนี้ในวงการเกษตรกรคนเลี้ยงแมลงรู้จักกันทั่วโลก สามารถเอาไปทำเป็นอาหารให้กับปศุสัตว์ ไก่ เป็ด หมู ปลา เป็นสารเสริมในอาหารสัตว์ (Feed additives)
อย่างที่เมืองนอก มีการเลี้ยงหนอนแมลงวันลายเพื่อเป็นอาหารในฟาร์มไก่ หรือฟาร์มเลี้ยงปลา คือบนบ่อเลี้ยงปลาจะมีโรงเรือนที่เลี้ยงหนอนเอาไว้ พอหนอนฟักไข่ออกมาก็จะไต่ขึ้นที่สูง จนไปถึงจุดตก มันก็จะตกลงมาให้ปลากิน เป็นการให้อาหารตามธรรมชาติ หรือแม้แต่การเลี้ยงแยกกัน แล้วค่อยตักหนอนเอามาให้ปลากิน แล้วแมลงตัวนี้มีอยู่ในเมืองไทย ต่่างประเทศนิยมเอาหนอนแมลงวันลายจากไทยไปเพาะพันธุ์ต่อ เราเอามาวิจัยเพื่อที่จะต้องการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ ทั้งแคลเซียม โอเมกา 3, 6, และ 9
และอีกตัวที่เราสนใจคือ ‘หนอนนก’ อันนี้คนรู้จักอยู่แล้วว่าเป็นหนอนที่เอาไว้ให้นก หรือให้ปลากิน แต่ว่าในยุโรปมีการรับรองแล้วว่า สามารถเป็นอาหารคนได้ มีสารอาหารครบถ้วน และมีโปรตีนสูง ซึ่งเราเอามาพัฒนาต่อเพื่อต้องการให้หนอนนกมีไขมันต่ำ เพราะปกติหนอนนกจะมีไขมันสูง ซึ่งการเลี้ยงจะต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน คือ 1-2 เดือน กว่าที่จะเป็นตัวด้วง กว่าจะเป็นแมลง ก็เลยต้องใช้เวลาในการดูแลค่อนข้างนาน
แมลงทั้งหมด โดยเฉพาะดูเบีย จริง ๆ แล้วกินได้ครับ สำหรับผมนะ เพราะผมรู้ว่่าผมเลี้ยงมายังไง สะอาดแค่ไหน ถ้าทำให้สุกก่อนก็กินได้ แต่เราก็ไม่อยากโปรโมตในเชิงว่า แมลงสาบดูเบียกินได้ หรือเป็นอาหารคนได้ เพราะว่ามันยังมีประโยชน์อื่น ๆ ที่เราหาได้ในเชิงคุณประโยชน์ทางยา เช่น สารต้านอนุมูลอิสระ สารต้านการอักเสบ ถ้าเราพัฒนาไปในทางนี้ผมคิดว่าจะไปได้ไกลกว่า แล้วอีกอย่างคือ พอขึ้นชื่อว่าแมลงสาบ คนไทยอาจจะยังรับไม่ได้หรอก
ที่เราเอามาเลี้ยงแบบเป็นกล่อง ๆ แบบนี้ เพื่อต้องการทดลองว่า ในกล่องเดียวกัน แมลงสามารถอยู่รวมกันได้สูงสุดกี่ตัว ที่จะทำให้เจริญเติบโตได้ดีที่สุด กินอาหารได้หมดเกลี้ยง ดูแลได้ทั่วถึง อย่างเช่นดูเบีย เราจะให้อาหารคือผลไม้ปั่น ซึ่งเป็นสูตรที่นักโภชนาการคิดค้นพัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะ และเป็นความลับ ซึ่งจะทำให้ดูเบียเจริญเติบโตได้ดี มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และไม่มีกลิ่นเหม็น หรืออย่างแมลงอื่น ๆ ก็จะมีสูตรอาหารเฉพาะของแมลงแต่ละชนิดที่แตกต่างกันไป
สาเหตุที่เราเลือกทำฟาร์มแนวตั้ง (Vertical Farming) แบบนี้ อย่างแรกเลยคือ พื้นที่เรามีจำกัด อย่างที่สองคือ เราอยากทำที่นี่ให้เป็นต้นแบบ ทดลองให้เห็นว่า ระบบการจัดการ การจัดเก็บจะทั่วถึงไหม ซึ่งเราก็ค้นพบว่า การทำแบบเล็ก ๆ และควบคุมได้อย่างทั่วถึงน่าจะเป็นอะไรที่เหมาะกว่า
แมลงบางตัว เราสามารถหาข้อมูลในการศึกษาได้ แต่แมลงบางตัวก็ไม่ได้มีข้อมูลมากพอ โดยเฉพาะข้อมูลในประเทศไทย อันนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นอุปสรรคเลย ที่เราต้องเรียนรู้จากการสังเกต จดบันทึก พัฒนา ปรับสูตร แต่ว่าก็ยังดีที่สภาพแวดล้อมบ้านเราเหมาะแก่การเลี้ยงแมลงมากที่่สุด
ในแง่ของการนำเอาแมลงมาเป็น Future food แน่นอนว่าคนไทยกินแมลงทอดตามรถเข็นข้างทางอยู่แล้วแหละ แต่เรากำลังพัฒนาเพื่อให้แมลงเข้าไปอยู่ในอาหารทุกชนิด ที่คนกินแล้วไม่รู้สึกว่ามันมีแมลงอยู่ในนั้น แต่ให้คุณค่าทางอาหารจากแมลงครบถ้วน ทั้งโปรตีน แคลเซียม โอเมกา
เมืองไทยเป็นเมืองที่เหมาะกับการเลี้ยงแมลงอยู่แล้ว ทั้งสภาพอากาศ และวัตถุดิบในการเลี้ยงเราค่อนข้างพร้อม ซึ่งถ้ามีแรงสนับสนุน มีแรงกระเพื่อมมากพอ รวมถึงคนไทยมีความรู้ว่า มันไม่ใช่แมลงที่อยู่ใต้ดิน หรืออยู่ในท่อ แต่เป็นแมลงที่เลี้ยงในแล็บ ดูแล 24 ชั่วโมง เช้าให้อาหาร สายเก็บอาหารออก เพื่อไม่ให้เกิดแบคทีเรีย เชื้อโรค ความอับชื้น ผมคิดว่าเราสามารถก้าวกระโดดในเรื่องนี้ได้ ถ้าคนไทยสนับสนุนและเปิดรับมากขึ้น
ในอนาคตจะมีปัญหาการปนเปื้อนสารเคมีเหมือนแมลงในทุกวันนี้ไหม มันก็เป็นไปได้อยู่แล้วอยู่แล้วครับ ถ้าคิดถึงความเป็นไปได้ในอนาคต แต่ว่าแมลงในนี้ ถ้าได้รับสารเคมีตัวเดียว จะตายทั้งหมดเลยนะครับ คงไม่เหลือมาถึงให้มนุษย์กิน เพราะฉะนั้นก็คงอยู่ที่ผู้ประกอบการในอนาคตแล้วล่ะว่าจะมีจรรยาบรรณพอในการไม่เติมแต่งหรือใส่สารเคมีอะไรเพิ่มเติมในแมลง
ถ้าคุณรู้จักวงจรชีวิตของแมลง จริง ๆ แล้วมันมีต้นทุนต่ำมากเลยนะครับ เพราะว่าที่นิยมเลี้ยงแมลงส่วนหนึ่ง ก็เพื่อกำจัดอาหารเหลือใช้ (Food Waste) เช่น ผักหรือผลไม้ที่อยู่ในครัวเรือนนำไปให้แมลงกิน และเราก็เอาแมลงที่ได้แบ่งไว้เพาะพันธุ์ส่วนหนึ่ง และแบ่งให้สัตว์เลี้ยงกินส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้นการเลี้ยงแมลงจริง ๆ แล้วต้นทุนต่ำมาก เสียแค่ค่าน้ำค่าไฟอย่างเดียว
เป้าหมายของเรา แน่นอนว่า เราอยากให้แมลงกลายมาเป็นอาหารของมนุษย์ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มนุษย์สามารถบริโภคได้ วันนี้เราจึงพัฒนาให้อยู่ในรูปของขนมหรืออาหารต่าง ๆ เพราะจริง ๆ แล้วขนมพวกนี้มีแต่แป้ง ไขมัน น้ำตาลทั้งนั้นเลยนะ เราจึงอยากพัฒนาด้วยการเอาคุณประโยขน์จากแมลง ทั้งโปรตีน แคลเซียม ไปใส่ในขนม เช่นคุกกี มาการอง เซ็มเบ บราวนี หรือเอาไปทำเส้นพาสตา ใส่ในน้ำสลัด เพื่อให้เด็กสามารถกินได้โดยไม่เอ๊ะ แต่ยังได้รับคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน
แต่จุดสูงสุดของที่นี่จริง ๆ คือ เราต้องการที่จะมีกรณีศึกษาหลาย ๆ ตัว เพื่อที่ว่ามีเทรนด์อะไรมาในอนาคต เราจะสามารถเอากรณีศึกษาที่เราคิดค้นไว้มาจับ เพื่อให้กลายเป็นประโยชน์ต่อสังคมในอนาคต
แต่ยังไงก็ตาม ผมคงไม่สามารถทำให้คนไทยทั้งหมดเข้าใจ หรือบอกได้หรอกว่าเขาเข้าใจผิด เพราะถ้าผมเอาดูเบียให้เขาลองกิน เขาก็คงว่าผมนั่นแหละ ต่อให้เราให้ความรู้เขาแล้วก็ตาม เพราะทัศนคติของคนไทยที่มีต่อแมลงกินได้ ก็ยังอยู่ที่ 50-50 ระหว่างกล้าลอง หรือไม่ก็ไม่เอาเลย เรืื่องนี้คงต้องค่อยเป็นค่อยไป ในการให้คนใกล้ชิดกับแมลงมากขึ้น ให้คนรู้ว่าแมลงสะอาด มีคุณค่ามากขึ้น ถ้าคนรู้ว่ามันมีคุณค่ามากขึ้น ทัศนคติก็จะดีตามมาเอง
เลี้ยงแมลง เคยกินแมลงที่ตัวเองเลี้ยงไหม แน่นอนสิครับ ทดสอบกินหมดทุกตัวแล้ว แม้แต่แมลงสาบดูเบีย เอาไปทอดรสชาติเหมือนเกาลัด แต่ว่าไม่ได้แนะนำให้ไปทำตามนะครับ เพราะว่าเราเลี้ยงเองกับมือ เราจะรู้ว่ามันสะอาดแค่ไหน สังเกตได้จากนักชิมของเรา ทั้งกิ้งก่า เม่นแคระ กบ ฯลฯ อ้วนท้วนสมบูรณ์กันทั้งนั้นเลยครับ แข็งแรงมาก แทบไม่เคยหาหมอเลยนอกจากตรวจโรคประจำปี
อ่าน ‘CUTBOY’ มีดญี่ปุ่นราคาแสนห้า ที่ “คม” ด้วยจิตวิญญาณของช่างตีมีด
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส