‘ประจำเดือน’ เป็นธรรมชาติที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ของผู้หญิงทุกคน ‘ผ้าอนามัย’ จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการใช้ชีวิต ถึงอย่างนั้นผ้าอนามัยก็ยังเป็นสินค้าที่ไม่มีการจัดสรรให้ฟรีในหลายประเทศทั่วโลก แต่มีเพียง ‘ประเทศสกอตแลนด์’ เท่านั้น ที่แจกผ้าอนามัยฟรีให้แก่ประชาชน และ ‘ประเทศนิวซีแลนด์’ ที่มีนโยบายแจกผ้าอนามัยฟรีให้เด็กนักเรียนหญิง เพราะยังไม่มีรายได้เป็นของตัวเอง ส่วนประเทศอื่น ๆ ก็เริ่มมีการยกเลิกภาษีผ้าอนามัย (แต่ยังไม่ได้แจกฟรี) เช่น ประเทศอังกฤษ, ประเทศอินเดีย, ประเทศออสเตรเลีย และประเทศแคนาดา และถึงแม้ผ้าอนามัยในหลาย ๆ ประเทศจะไม่ได้มีราคาสูงจนจับต้องไม่ได้ แต่ก็เป็นภาระกับผู้หญิงไม่น้อย วันนี้เราจะพาทุกคนไปดูนโยบายเกี่ยวกับ ‘ภาษีผ้าอนามัย (Tampon Tax)’ และราคาเฉลี่ยของผ้าอนามัยในแต่ละประเทศทั่วโลกว่าจะแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน ไปดูกันเลย
เริ่มจากประเทศที่ผ้าอนามัยราคาถูกที่สุดคือ ‘ประเทศเคนยา’ และ ‘ประเทศอูกานดา’ เนื่องจากเป็นประเทศแรกของโลกที่ยกเลิกภาษีการบริโภคสำหรับผ้าอนามัย โดยยกเลิกภาษีไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ซึ่งราคาผ้าอนามัยของประเทศนี้ แบบแผ่นมีราคาประมาณ 2 บาท/ชิ้น แบบสอดราคา 4 – 5 บาท/ชิ้น ตกเดือนหนึ่งต้องใช้เงินประมาณ 30 – 175 บาทหรือมากกว่านั้น
ต่อกันที่ ‘ประเทศอินเดีย’ เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีการยกเลิกภาษีการบริโภค 12% สำหรับผ้าอนามัยเมื่อปี พ.ศ. 2561 โดยพบว่า ผ้าอนามัยแบบแผ่นมีราคาเฉลี่ย 3 บาท/ชิ้น และผ้าอนามัยแบบสอดก็มีราคาเฉลี่ย 8 บาท/ชิ้น (ใกล้เคียงกับประเทศไทย) ในขณะที่ ‘ประเทศเนปาล’ ผ้าอนามัยแบบแผ่นราคาเฉลี่ย 5 บาท/ชิ้น และแบบสอด 5.5 บาท/ชิ้น ซึ่งถือว่าราคาเฉลี่ยระหว่างสองประเภทต่างกันไม่มากนัก ส่วน ‘ประเทศไทย’ มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเหมือนสินค้าชนิดอื่น แต่ไม่ได้มีการเก็บภาษีผ้าอนามัยเพิ่ม ทำให้ผ้าอนามัยแบบสอดเฉลี่ยแล้วมีราคาประมาณ 8 – 10 บาทต่อชิ้น และผ้าอนามัยแบบธรรมดา 1 ห่อมี 7 ชิ้นราคาอยู่ที่ 16 – 40 บาทเท่านั้น ตกแผ่นละ 2 – 6 บาท ซึ่งแบบแผ่นถูกกว่าแบบสอดค่อนข้างมาก
ด้าน ‘ประเทศในสหราชอาณาจักร’ และ ‘ประเทศสวิตเซอร์แลนด์’ ได้มีการยกเลิกภาษีการบริโภค 10% สำหรับผ้าอนามัยเมื่อปี 2558 ทำให้ราคาผ้าอนามัยแบบแผ่นมีราคาเฉลี่ย 4 บาท/ชิ้น แบบสอด 6 – 7 บาท/ชิ้น (ถือว่าราคาค่อนข้างเบา) และประเทศที่พบว่าราคาผ้าอนามัยสูงกว่าประเทศอื่น ๆ คือ ‘ประเทศสหรัฐอเมริกา’ โดยผ้าอนามัยแบบแผ่นวางขายเฉลี่ยที่ราคา 6 บาท/ชิ้น แบบสอด 8 บาท/ชิ้น รวมถึง ‘ประเทศญี่ปุ่น’ ที่ขายแบบแผ่นราคาเฉลี่ย 6 บาท/ชิ้น และแบบสอดราคาเฉลี่ย 10 บาท/ชิ้น
จากสถิติทั้งหมดที่กล่าวมา อาจจะดูมีมูลค่าไม่มาก สามารถจ่ายได้ แต่ในความเป็นจริง ประจำเดือนเป็นกลไกทางร่างกายที่ผู้หญิงเลือกไม่ได้ และผ้าอนามัยก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากต่อการใช้ชีวิตของผู้หญิงทุกคน ดังนั้นควรมีมาตรการควบคุมราคาผ้าอนามัย การยกเลิกภาษีผ้าอนามัย รวมถึงการแจกผ้าอนามัยให้กับผู้หญิงทั่วโลก เพื่อไม่ให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นจากสิ่งที่พวกเธอทั้งหลายไม่ได้เลือก
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส