ต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดของโควิด19 ได้เปลี่ยนแปลงและพลิกโฉมวงการภาพยนตร์อย่างรวดเร็วหนึ่งในนั้นคือการฉายหนังในโรงภาพยนตร์ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่าจะต้องเป็นที่แรกในการเผยแพร่ตามหลักการของธุรกิจที่มีมาร่วม 100 ปี แต่พอเกิดโรคระบาดขึ้นทำให้โรงภาพยนตร์ไม่สามารถเปิดทำการได้อย่างปกติจนเกิดผลกระทบต่อธุรกิจโรงภาพยนตร์เข้าอย่างจัง

และเพื่อทางรอดของธุรกิจแต่ละสตูดิโอในฮอลลีวูดเลยต้องพร้อมปรับตัวเข้าหาความเปลี่ยนแปลง ซึ่งตลอดปีที่ผ่านมาเราอาจคุ้นเคยกับข่าวการปรับตัวฉายหนังทั้งโรงและสตรีมมิงกันมาตลอดซึ่งในทางธุรกิจการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ช่องทางต่าง ๆ จะถูกเรียกว่า “วินโดวส์” (Windows) ซึ่งในวันนี้หลายค่ายภาพยนตร์เริ่มมีการปรับตัวและปรับเปลี่ยนช่วงเวลาเพื่อรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบันกันแล้ว

ดูคำอธิบายเพิ่มเติมของ วินโดวส์ (Windows)
หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมถึงใช้คำที่เหมือนหน้าต่างมาแทนช่องทางการจัดจำหน่าย ซึ่งคำตอบก็คือการกำหนดวินโดวส์จะเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลักคือระยะห่างของเวลาเผยแพร่เปรียบเทียบกับการเปิดหน้าต่างกว้างหรือแคบทำให้รับลมได้ต่างกันนั่นเอง โดยทั่วไปวินโดวส์หลัก ๆ จะประกอบไปด้วย

  1. โรงภาพยนตร์
  2. โฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ (Home Entertainment) เช่นแผ่น DVD และ Blu-Ray ในปัจจุบัน
  3. เคเบิิลทีวี
  4. ระบบเพย์เพอร์วิว (Pay-Per-View) และ วีดีโอออนดีมานด์ หรือ วีโอดี (Video On Demand-VOD) คือการเช่าหนังชมเป็นเรื่องทางระบบผู้ให้บริการเคเบิลทีวีและระบบสตรีมมิง
  5. โอทีที (OTT – Over-The-Top Media) หรือบริการสตรีมมิง (Streaming Service) เช่น เน็ตฟลิกซ์ ดิสนีย์พลัส ฮอตสตาร์ หรือ เอชบีโอโก
  6. ช่องโทรทัศน์ฟรีทีวี

โดยสูตรการคำนวณวินโดวส์จะนับหลังจากหนังเรื่องนั้นเริ่มฉายโรงภาพยนตร์แล้วเช่น ภาพยนตร์ ‘Black Widow’ ของมาร์เวล สตูดิโอ (Marvel Studio) หากดิสนีย์ประเทศไทยซื้อหนังมาฉายจะระบุไว้ชัดเจนว่าการฉายภาพยนตร์ที่แรกจะต้องเป็นโรงภาพยนตร์เท่านั้นหลังจากนั้นจะมีการระบุ “ระยะเวลา” หรือวินโดวส์ หลังภาพยนตร์ฉายว่าจะสามารถนำไปเผยแพร่ที่ใดต่อไปได้ อธิบายด้วยการยกตัวอย่างแบบสมมติเช่นหลังออกฉายในโรงภาพยนตร์แล้ว 1 เดือนจึงจะสามารถออกวางจำหน่ายเป็นบลูเรย์และดีวีดีได้ และหลังจากฉายแล้ว 2 เดือนจึงจะสามารถเผยแพร่ทางระบบ OTT หรือบริการสตรีมมิงได้ หลังจากฉายแล้ว 1 ปีจึงจะสามารถออกฉายทางฟรีทีวีได้เป็นต้น

ยูนิเวอร์แซล (Universal)

สตูดิโอพร้อมใจเปลี่ยน "วินโดวส์" สำหรับการฉายหนังในโรงภาพยนตร์

ในปี 2020 ที่โรงภาพยนตร์ต่างต้องปิดบริการ ยูนิเวอร์แซลตัดสินใจจำหน่ายภาพยนตร์เมเจอร์ของสตูดิโอผ่านระบบ พีวีโอดีหรือพรีเมียมวีโอดี (PVOD-Premium VOD) ทั้ง ‘The Invisible Man’ ‘Trolls: World Tour’ และ ‘Emma’ ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีโรคระบาดระบบพีวีโอดีจะจำหน่ายภาพยนตร์ก่อนการเผยแพร่ระบบสตรีมมิงและช่องทางทั่วไป 2 สัปดาห์หรือประมาณ 75 วันหลังเริ่มฉายในโรงภาพยนตร์ด้วยราคาค่าเช่าเรื่องละ 5.99 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 198 บาทซึ่งขนานกับการวางจำหน่ายภาพยนตร์ในรูปแบบดีวีดีและบลูเรย์ และผลตอบรับที่น่าพอใจก็ทำให้ยูนิเวอร์แซลมองมันเป็นแผนระยะยาว

โดยยูนิเวอร์แซลได้บรรลุข้อตกลงกับทางเครือโรงภาพยนตร์เอเอ็มซี (AMC) ในการจัดจำหน่ายหนังในระบบพีวีโอดีทันทีหลังหนังฉายได้ 17 วันเว้นแต่หนังเรื่องนั้นทำรายได้ผ่านหลัก 50 ล้านเหรียญในช่วงสุดสัปดาห์แรกของการฉายวินโดวส์จะถูกขยายเป็น 31 วันและลดค่าเช่าภาพยนตร์สำหรับโรงหนังรวมถึงให้สิทธิ์ในการนำหนังไปเผยแพร่ผ่านระบบสตรีมมิงของโรงหนังเอง

Beartai Buzz สตูดิโอเปลี่ยนนโยบายวินโดวส์

และด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่ธุรกิจสตรีมมิงกำลังเฟื่องฟูสุด ๆ ยูนิเวอร์แซลก็ได้เปิดตัวบริการสตรีมมิงชื่อพีค็อก (Peacock) โดยนำ ‘The Boss Baby : Family Business’ หนังแอนิเมชันภาคต่อมาลงฉายพร้อมโรงหนังกว่า 3,600 โรงเพื่อเรียกลูกค้าให้กับธุรกิจใหม่

Beartai Buzz สตูดิโอเปลี่ยนนโยบายวินโดวส์

และแม้แนวคิดเรื่องวินโดวส์จะเปลี่ยนไปแต่ยังคงมีข้อยกเว้น โดยมีแหล่งข่าวเผยว่าหนังเรื่อง Old ของผู้กำกับ เอ็ม ไนต์ ชยามาลาน (M.Night Shyamalan) ทางยูนิเวอร์แซลงดบริการให้เช่าหนังผ่านระบบพีวีโอดี โดยยังคงวินโดวส์ระยะเวลาปกติคือหนังต้องฉายโรงภาพยนตร์ก่อนแล้วจัดจำหน่ายผ่านโฮม เอนเตอร์เทนเมนต์ต่อไป

วอร์เนอร์ บราเธอร์ส (Warner Bros.)

Beartai Buzz สตูดิโอเปลี่ยนนโยบายวินโดวส์

ปี 2020 วอร์เนอร์ บราเธอร์ส นับเป็นสตูดิโอแรกที่ประกาศให้ ‘Wonder Woman 1984’ และหนังในโปรแกรมทั้งหมดออกฉายทางเอชบีโอ แม็กซ์ (HBO MAX) ซึ่งเป็นบริการสตรีมมิงของบริษัทวอร์เนอร์ มีัเดีย (Warner Media) นั่นหมายความว่าผู้ใช้บริการเสียค่าบริการ 15 เหรียญต่อเดือน (ประมาณ 494 บาท) ก็สามารถรับชมหนังใหม่ขนโรงได้แล้ว แต่กระนั้นก็ต้องบันทึกไว้ว่าต่อให้หนังจะฉายสตรีมมิงพร้อมโรงภาพยนตร์แต่ ‘Godzilla vs. Kong’ ก็ยังทำรายได้ผ่านหลัก 100 ล้านเหรียญจากการฉายในโรงภาพยนตร์รั้งอันดับ 4 หนังทำเงินสูงสุดปีนี้่

แต่ล่าสุดทางวอร์เนอร์ได้ทบทวนแผนการวางวินโดวส์จัดจำหน่ายหนังใหม่สำหรับปี 2022 กำหนดวินโดวส์ให้เอชบีโอ แม็กซ์ฉายหนังได้หลังจากเข้าโปรแกรมฉายโรงแล้ว 45 วัน โดยได้ซีเนเวิลด์ (Cineworld) เจ้าของเครือโรงหนังรีกัลซีนีมา (Regal Cinema) โดยในข้อตกลงได้รวมถึงการเผยแพร่สำหรับสื่อที่ส่งตรงถึงบ้านทั้งหลายและแม้จะยังมี “ข้อแม้บางประการ” แต่ตัวสััญญาก็มีผลถึงปี 2023

Beartai Buzz สตูดิโอเปลี่ยนนโยบายวินโดวส์

และสำหรับครึ่งปัีหลัง วอร์เนอร์ ก็ยังมีโปรแกรมเด็ดทั้ง ‘The Suicide Squad’ ‘Dune’ และ ‘The Matrix 4’ ให้บริการผู้ชมเอชบีโอ แม็กซ์ 2.8 ล้านบัญชีสมาชิกพร้อมกับการเข้าฉายในโรงภาพยนตร์พร้อมแผนผลิตคอนเทนต์ออริจินัลสำหรับเอชบีโอแม็กซ์ถึง 10 เรื่องในปีหน้า

ดิสนีย์ (Disney)

Beartai Buzz สตูดิโอเปลี่ยนนโยบายวินโดวส์

แม้แต่ก่อนที่ดิสนีย์จะซื้อทเวนตี เซนจูรี ฟอกซ์ (20th Century Fox) ดิสนีย์ก็ครองเป็นเจ้าบ็อกซ์ออฟฟิศหนังทำเงินอยู่แล้ว แต่อยู่ดี ๆ ดิสนีย์ก็พยายามผลักดันดิสนีย์พลัส (Disney+) บริการสตรีมมิงของตัวเองเพื่อแข่งกับเจ้าตลาดเดิมอย่างเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ด้วยการคิดแผนจัดจำหน่ายหนังเมเจอร์ของตัวเองด้วยกลไกที่ค่อนข้างซับซ้อนเกินคาดเดาโดยแบ่งออกเป็น 4 แผนดังนี้

  1. แผนแรกคือฉาย ‘Soul’ และ ‘Luca’ ให้สมาชิกชมฟรีทางดิสนีย์พลัสเท่านั้น
  2. แผนที่สองคือฉาย ‘Mulan’ โดยเก็บค่าบริการพีวีโอดีเพิ่ม 29.99 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 988 บาท) ทางดิสนีย์พลัสเท่านั้น
  3. แผนที่สามคือฉาย ‘Raya and the Last Dragon’ ‘Cruella’ ‘Black Widow’ และ ‘Jungle Cruise’ เก็บค่าบริการพีวีโอดีเพิ่ม 29.99 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 988 บาท) ทางดิสนีย์พลัส พร้อมเข้าฉายในโรงภาพยนตร์
  4. แผนที่สี่คือฉาย ‘Free Guy’ และ ‘Shang-Chi and the Legend of the Ten Rings’ ในโรงภาพยนตร์ก่อนเท่านั้น
Beartai Buzz สตูดิโอเปลี่ยนนโยบายวินโดวส์

ซึ่งเป็นไปได้ว่าการที่ดิสนีย์สุ่มโยนหินถามทางด้วยวิธีการอันหลากหลายในการจัดจำหน่ายหนังของตัวเองและไม่มีการประกาศแผนการจัดจำหน่ายหนังในอนาคตออกมาก็น่าจะเป็นหนึ่งในการพิสูจน์ว่าแผนของบริษัทได้ผลหรือไม่ โดยประจักษ์เป็นหลักฐานจากข้อกล่าวหาของสมาพันธ์เจ้าของโรงภาพยนตร์แห่งชาติหรือนาโต (NATO-National Association of Theatre Owners) ที่โทษดิสนีย์สำหรับกรณียอดจำหน่ายตั๋ว ‘Black Widow’ ตกลงว่ามาจากการให้บริการพร้อมช่องทางพีวีโอดี

พาราเมาต์ (Paramount)

Beartai Buzz สตูดิโอเปลี่ยนนโยบายวินโดวส์

หลังโรงหนังกลับมาเปิดในปี 2021 พาราเมาท์มีหนังเข้าฉายเพียงเรื่องเดียวคือ ‘A Quiet Place Part 2’ ซึ่งก่อนหน้านี้สตูดิโอเองก็ตัดใจเฉือนหนังหลายเรื่องไปลงสตรีมมิงของตัวเองในชื่อ พาราเมาต์พลัส (Paramount Plus) ซึ่ง ณ.ปัจจุบันพาราเมาต์เลือกวินโดวส์ 45 วันหลังหนังฉายเพื่อลงพาราเมาต์พลัส นั่นหมายถึงหนังที่เพิ่งฉายไปวันที่ 23 กรกฎาคมอย่าง ‘Snake Eyes’ หนังสปินออฟ (Spin-Off) ของ ‘G.I.Joe’ น่าจะลงพาราเมาต์พลัสต้นเดือนกันยายน อย่างไรก็ตามล่าสุดพาราเมาต์ได้ปรับแผนเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายหนังทางพีวีโอดีอีกช่องทางหนึ่งในวันเดียวกับที่ปล่อยลงสตรีมมิง

Beartai Buzz สตูดิโอเปลี่ยนนโยบายวินโดวส์

โซนี และ ไลออนเกต (Sony and Lionsgate)

Beartai Buzz สตูดิโอเปลี่ยนนโยบายวินโดวส์

โซนีกำหนดวินโดวจัดจำหน่ายผ่านพีวีโอดียาวนานกว่าสตูดิโออื่นทั้ง ‘Monster Hunter’ และ ‘The Unholy’ ที่ทิ้งระยะห่างถึง 7 สัปดาห์ก่อนให้บริการทางพีวีโอดี ส่วน ‘Peter Rabbit: The Runaway’ ออกฉายไปแล้วเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนในโรงภาพยนตร์เท่านั้น

ส่วนไลออนเกตจำหน่าย ‘Spiral’ หลังฉายโรงได้ 3 สัปดาห์ ‘Chaos Walking’ หลังฉายโรง 4 สัปดาห์ และ ‘The Hitman’s Wife’s Bodyguard’ หลังฉายโรง 5 สัปดาห์ ซึ่งเหมือนทัั้ง 2 สตูดิโอยังคงไม่มีแผนชัดเจนสำหรับการจัดจำหน่ายคอนเทนต์ผ่านพีวีโอดี

Beartai Buzz สตูดิโอเปลี่ยนนโยบายวินโดวส์

อ้างอิง

Indiewire

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส