ในการแข่งขันกีฬาแทบทุกชนิด ล้วนจะเป็นจะต้องมีการควบคุม ‘สารต้องห้าม’ (Dope Drug) ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญไม่แพ้กับกฏ หรือกติกาของการแข่งกีฬาเลยก็ว่าได้ เพราะถืิอเป็นขั้นตอนที่จะช่วยสร้างความยุติธรรม สร้างมาตรฐานให้กับจริยธรรม และความปลอดภัยของนักกีฬาในการแข่งขันกีฬา เพื่อไม่ให้เกิดการโกงหรือสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขัน
ซึ่งถ้าใครที่ใช้สารต้องห้ามเพื่อเพิ่มสมรรถนะในร่างกายด้วยวิธีการกระตุ้นหรือเสพติด ไม่ว่าจะทางตรง (ผลจากฤทธิ์ของยา) หรือทางอ้อม (จากผลข้างเคียงที่ได้จากยาและสารเคมี) ก็จะถือว่าเข้าข่ายเป็น “สารต้องห้าม” ตามกฏของ ‘คณะกรรมการโอลิมปิกสากล’ (International Olympic Committee (IOC)) ซึ่งถือว่าเป็นการโกงการแข่งขัน ต้องถูกปรับแพ้ ริบรางวัลที่ได้ ตัดสิทธิ์การแข่งขัน หรือไม่ก็อาจโดนตัดสิทธิ์การเป็นนักกีฬาตลอดชีพ
แน่นอนว่า ในประวัติศาสตร์ของการแข่งขันกีฬาอันยาวนานนั้นก็มีการใช้สารต้องห้าม สารกระตุ้น หรือสารเสพติดในการแข่งขันมาตั้งนมนานแล้ว (ถ้านับเอาจริง ๆ ก็ตั้งแต่สมัยกรีกโบราณโน่นเลย) โดยเฉพาะการแข่งขัน ‘โอลิมปิก’ ที่มีการพบการใช้สารต้องห้ามในนักกีฬามาทุกยุคทุกสมัยมานับร้อยปี เพียงแต่ว่าในสมัยอดีตนั้นยังไม่มีนโยบายการตรวจหาสารต้องห้ามอย่างชัดแจ้ง
แถมสารต้องห้ามต่าง ๆ ที่นักกีฬาใช้ทั้ง ‘สตริกนิน’ (Strychnine) ‘แอมเฟตามีน’ (Amphetamines), ‘สเตรียรอยด์’ (Steroid) และ ‘ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสังเคราะห์’ (Artificial Testosterone) ที่ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในหมู่นักกีฬา และพบว่าตอนนั้นก็เริ่มมีกรณีที่นักกีฬาที่เสียชีวิตจากการใช้สารต้องห้ามเหล่านี้ด้วย
จนกระทั่งในช่วงต้นปี 1960 ไอโอซีจึงได้เริ่มพยายามที่จะเข้มงวดกับการตรวจสารต้องห้ามที่กำลังแพร่หลายมากขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุด ในการแข่งขัน ‘โอลิมปิกฤดูร้อน ปี 1968’ ณ กรุงเม็กซิโกซิตี ประเทศเม็กซิโก ถือเป็นครั้งแรกที่มีการตรวจหาสารต้องห้ามอย่างเป็นทางการ โดย ในครั้งนั้นมีนักกีฬา 667 คนที่ได้รับการตรวจหาสารต้องห้ามทางปัสสาวะ ซึ่งในจำนวนนักกีฬาทั้งหมดนั้น มีคนที่ “เกม” อยู่คนเดียว คือนักกีฬา ‘ปัญจกีฬา’* (Pentathlon) ชาวสวีเดนที่ชื่อว่า ‘ฮานส์-กันนาร์ ลิลเยนวอล’ (Hans-Gunnar Liljenwall) นั่นเอง
ฮานส์และ 2 เพื่อนนักกีฬาตัวแทนจากสวีเดน ได้ทำการแข่งขันปัญจกีฬาในโอลิมปิกครั้งนี้และสร้างผลงานได้ในระดับที่ถือว่าดีเยี่ยม จนกระทั่งสามารถครองตำแหน่งเหรียญทองแดงได้แบบแบเบอร์ แต่แล้วเมื่อถึงวันที่ 3 ที่เป็นการแข่งขันยิงปืนสั้น ด้วยความที่ก่อนแข่งเขารู้สึกกระวนกระวายและไม่มีสมาธิ เขาจึงดื่มเบียร์ย้อมใจไ 2 ขวดก่อนทำการแข่งขันยิงปืน ผลก็คือ เขาสามารถทำผลงานได้ดีมาก และคิดว่าเหรียญทองแดงคงไม่ใช่แค่ฝัน หลังจากนั้นเขาได้เข้ารับการตรวจปัสสาวะ และกลับไปพักผ่อนเพื่อรอแข่งขันว่ายน้ำฟรีสไตล์ต่อไป
ซึ่งในการแข่งขันว่ายน้ำฟรีสไตล์ ทีมนักกีฬาสวีเดนทั้งสามคนก็ยังสามารถโชว์ฟอร์มได้แบบไม่ตก จนในที่สุดพวกเขาก็สามารถคว้าเหรียญทองประเภททีมมาได้อย่างสำเร็จ แต่ดันพลิกล็อกตรงที่พบว่า ฮานส์ถูกตรวจพบแอลกอฮอล์ในระดับความเข้มข้นเกินมาตรฐานที่ไอโอซีกำหนด นั่นจึงทำให้ฮานส์ เป็นนักกีฬาคนแรกในประวัติศาสตร์โอลิมปิก ที่ถูกริบเหรียญทองแดงคืนจากการถูกตรวจพบแอลกอฮอล์ ที่ถือว่าเป็นสารต้องห้ามในเวลานั้น
แต่อย่างไรก็ตาม ในปี 2018 ‘องค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก’ (World Anti-Doping Agency – WADA) ได้ออกประกาศรายชื่อสารต้องห้าม โดยได้ทำการลบสารแอลกอฮอล์ออกจากสารบบของสารต้องห้าม โดยในการแข่งขันกีฬาจะไม่ต้องทำการตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ในนักกีฬาอีกต่อไป
*’ปัญจกีฬา’ (Pentathlon) คือกีฬาที่รวมการแข่งขัน 5 ชนิด ได้แก่ ยิงปืนสั้น ฟันดาบ ว่ายน้ำฟรีสไตล์ 200 เมตร ขี่ม้า และวิ่งกลางแจ้ง 3 กิโลเมตร ในอดีตใช้เวลาแข่งขันนานราว 4-5 วัน ปัจจุบันถูกย่อให้จบภายในวันเดียว
อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง |
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส