ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1928 ที่จัดขึ้น ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีเรื่องหนึ่งที่เป็นที่กล่าวขานเป็นตำนาน โดยเฉพาะเรื่องราวของ ‘เฮนรี โรเบิร์ต เพียร์ซ’ (Henry Robert Pearce) นักกีฬาเรือกรรเชียงประเภทเดี่ยวชาวออสเตรเลีย ที่ไม่ใช่เพียงแค่เพราะว่าเขาเป็นผู้ชนะในการแข่งขันเท่านั้น

7 สิงหาคม 1928 ในการแข่งขันกีฬาเรือกรรเชียงประเภทเดี่ยวรบก่อนรองชนะเลิศ ระยะทาง 2,000 เมตร ที่จัดแข่งขัน ณ คลองสโลเตน (Sloten) มีนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันจาก 15 ประเทศ ซึ่งเพียร์ซเองก็โชว์ผลงานพายเรือกรรเชียงในฐานะตัวแทนของประเทศออสเตรเลียจนเข้าสู่รอบก่อนรองชนะเลิศ โดยในการแข่งขันครั้งนี้ เขาต้องทำการแข่งขันร่วมกับนักกีฬาชาวฝรั่งเศสอย่าง ‘วิกเตอร์ เซาริน’ (Victor Saurin) ที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งตัวเก็ง เพราะมีดีกรีคว้าแชมป์ระดับประเทศถึง 9 สมัย

หลังจากที่การแข่งขันเริ่มต้นได้ครึ่งทาง เพียร์ซที่กำลังพายเรืออยู่ ได้ยินเสียงตะโกนจากกองเชียร์ที่ยืนเชียร์อยู่ริมคลอง แต่เมื่อเขาจะลงมือพายต่อ ผลปรากฏว่า มีเป็ดหนึ่งฝูงที่ประกอบไปด้วยแม่เป็ด และเหล่าลูกเป็ดตัวน้อยขนปุยที่ว่ายน้ำเป็นแถวเดี่ยวกำลังว่ายน้ำข้ามคลองสโลเตน ซึ่งให้บังเอิญว่าฝูงเป็ดฝูงนี้กำลังจะว่ายน้ำไปขวางทางเรือของเพียร์ซแบบพอดิบพอดี
จริง ๆ เพียร์ซจะใช้วิธีไล่ฝูงเป็ดออกไปจากทาง หรือจะพายหนีพวกมันไปเลยก็ได้ แต่เพียร์ซกลับทำสิ่งที่ไม่น่าเชื่อคือ เขาหยุดเรืออย่างละมุนละม่อม ปล่อยมือออกจากพาย แล้วปล่อยให้ฝูงเป็ดแม่ลูกว่ายน้ำผ่านเรือไปอย่างช้า ๆ

แน่นอนว่าเซเวอริน ที่เห็นจังหวะโอกาสที่เพียร์ซกำลังหยุดคอยฝูงเป็ดอย่างนิ่มนวล ย่อมต้องใช้จังหวะนี้ในการพยายามจะเร่งฝีพายขึ้นแซง แต่ส่ิงที่ไม่น่าเชื่อก็คือ หลังจากที่ฝูงเป็ดว่ายน้ำผ่านไป เพียร์ซค่อย ๆ เร่งฝีพายขึ้นอย่างรวดเร็ว จนสามารถพายเข้าเส้นชัยในการแข่งขัน ด้วยระยะเวลาที่แซงคู่แข่งอย่างเซเวอรินถึง 30 วินาที แถมเมื่อเทียบเวลากันแล้ว เพียร์ซก็ทำเวลาชนะคู่แข่งได้อย่างขาดลอย แม้จะบวกเวลาหยุดคอยฝูงเป็ดเข้าไปแล้วก็ตาม จนกระทั่งเขาก็สามารถผ่านเข้ารอบไปคว้าเหรียญทองให้กับทีมชาติออสเตรเลียได้อย่างสวยงาม

เพียร์ซได้เล่าความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ในหนังสือ ‘Australia and The Olympic Games’ ที่เขียนโดย ‘เฮนรี กอร์ดอน’ (Harry Gordon) ว่า “(ในการแข่งครั้งนั้น) ที่กำลังแข่งกับชาวฝรั่งเศส ผมได้ยินเสียงตะโกนของกองเชียร์จากริมฝั่งคลอง บางคนชี้ให้ผมดูอะไรบางอย่าง ผมเห็นอะไรบางอย่างที่ไม่ค่อยเข้าท่า เพราะครอบครัวเป็ดฝูงหนึ่งกำลังว่ายน้ำช้า ๆ จากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่ง ในทางเรือของผม ในขณะที่คู่แข่งกำลังจะเร่งแซงในอีก 5 เมตร ซึ่งมันก็เป็นอะไรที่ตลกดี…”

เพียร์ซกลายเป็นหนึ่งในนักกีฬาในตำนานที่เป็นสัญลักษณ์ของชาวออสเตรเลีย ถึงขั้นที่ได้รับแต่งตั้งในหอเกียรติยศกีฬาของออสเตรเลียในปี 1985 เป็นคนแรก และได้รับการยกย่องว่าเป็นนักกีฬาที่เก่งท่ีสุดก่อนยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้รับการบันทึกและยกย่องว่าเป็นนักกีฬาที่ไม่ใช่แต่เพียงเก่งกาจด้านการกีฬา แต่ยังมีความเป็นสุภาพบุรุษอย่างเต็มเปี่ยมอย่างน่าชื่นชมอีกด้วย
อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส