เมื่อเอ่ยถึง ‘พระสยามเทวาธิราช’ เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ หรือแม้กระทั่งชาวต่างชาติที่มีความสนใจในเรื่องราวของประเทศไทยรู้จักกันดี ว่าเป็นเทพยดาคู่บ้านคู่เมืองที่ผู้คนต่างเคารพนับถือ อีกทั้งยังมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจอีกมากมายให้กล่าวถึง ทั้งด้านความเชื่อ การจัดสร้างพระสยามเทวาธิราชองค์จริงขึ้นในประวัติศาสตร์ไทย และองค์จำลองอีกมากมายหลายครั้ง

องค์จริง สร้างตามพระราชดำริ

เป็นที่ทราบกันดีว่า การจัดสร้างพระสยามเทวิธิราชเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ในครั้งนั้นพระองค์ทรงมีพระราชดำริให้จัดสร้างขึ้น เมื่อครั้งที่ประเทศไทย (สยามในครั้งนั้น) ได้รอดพ้นวิกฤติจากสถานการณ์ที่ต้องสูญเสียเอกราชมาได้อย่างอัศจรรย์ จนครองความเป็นเอกราชอยู่ได้ ด้วยทรงเชื่อว่าน่าจะมีเทพยดาคอยพิทักษ์รักษาประเทศอยู่ สมควรที่จะสร้างรูปสมมติของเทพยดาองค์นั้นขึ้นสักการบูชา ทรงโปรดให้พระองค์เจ้าประดิษฐ์ วรการ นายช่างเอก เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้า รับราชการในกรมช่างสิบหมู่เป็นผู้ปั้นต้นแบบขึ้น

พระสยามเทวาธิราช องค์จริง ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบรมมหาราชวัง

รูปสมมติของเทพยดาองค์นั้นทรงเครื่องต้น (เครื่องทรงอย่างกษัตริย์) ประทับยืน พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นจีบพระดรรชนีเสมอพระอุระในท่าประทานพร มีขนาดสูง 8 นิ้ว หรือ 20 เซนติเมตร เมื่อได้สัดส่วนงดงามเป็นที่พอพระราชหฤทัยแล้ว จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้นด้วยทองคำทั้งองค์ สถิตในเรือนแก้วทำด้วยไม้จันทน์แบบวิมานเก๋งจีน มีคำจารึกที่ผนังเบื้องหลังเป็นอักษรจีน หมายความได้ว่า ‘ที่สถิตแห่งเทพยดาผู้รักษาสยามประเทศ’

ถวายพระนามว่า “พระสยามเทวาธิราช” อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งทรงธรรมในหมู่พระพุทธมหามณเฑียรในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อหมู่พระที่นั่งพุทธมหามณเฑียรรวมทั้งพระที่นั่งทรงธรรม โปรดให้อัญเชิญพระสยามเทวาธิราชไปประดิษฐาน อยู่ในมุขกลางของพระวิมานไม้แกะสลักปิดทอง ตั้งอยู่เหนือลับแลบังพระทวารเทวราชมเหศวร์ ตอนกลางพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง จวบจนทุกวันนี้

พระป้ายที่สร้างจากความกตัญญู

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯ ให้สร้าง ‘พระป้าย’ สำหรับประดิษฐาน ณ พระที่นั่งมหิศปราสาท พระบรมมหาราชวัง โดยมีพระบรมรูปองค์หนึ่งประทับยืนอยู่หน้าพระป้าย และเมื่อทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังดุสิตขึ้นแล้วจึงมีรับสั่งให้เชิญพระป้ายมาประดิษฐาน ณ ห้องพระพุทธนรสีห์ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

พระบรมรูปองค์นั้นมีรูปแบบเหมือนพระสยามเทวาธิราชเกือบทุกประการ มีเพียงพระพักตร์ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้แปลงเป็นพระพักตร์ของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานในซุ้มเรือนแก้วแบบเก๋งจีน ทำด้วยไม้จันทน์ จำหลักลายปิดทองมีจารึกพระปรมาภิไธยภาษาจีน ที่พระป้ายหลังพระบรมรูป มีฉัตรทอง 7 ชั้น ตั้งเบื้องซ้ายและเบื้องขวาของพระบรมรูป กลางซุ้มมีคำจารึกเป็นภาษาจีนเอาไว้

พระบรมรูปหน้าพระป้ายของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ /Cr.appgeji

เนื่องด้วยความเชื่อของพระองค์ที่ว่า นอกจากเทพยดาอารักษ์ที่ช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤติต่าง ๆ มาได้แล้ว ยังมีเทพยาดาที่มีชีวิตอีกพระองค์หนึ่ง คือพระมหากษัตริย์ที่ช่วยให้รอดพ้นจากวิกฤติในครั้งนั้น อีกทั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมชนกนาถของพระองค์เอง จึงสร้างพระป้ายบรรพบุรุษตามขนบธรรมเนียมของชาวจีนโบราณ ที่มีการสร้างป้ายบรรพบุรุษเอาไว้ที่แท่นบูชาในศาลบรรพชน สำหรับสักการะบูชา เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีของลูกหลานที่มีต่อบรรพชน และเมื่อพระบรมรูปองค์นี้มีพระลักษณะตามอย่างพระสยามเทวาธิราช ประชาชนที่ศรัทธาจึงนิยมเรียกว่าเป็นพระสยามเทวาธิราชองค์ที่ 2 ได้อีกด้วย แต่ในความเป็นจริงแล้วคือ ‘พระบรมรูปหน้าพระป้าย’ ซึ่งจะมีการฉลองพระป้ายเป็นประจำทุกปี เฉกเช่นประชาชนทั่วไปที่เซ่นไหว้บรรพบุรุษ

องค์จำลอง สร้างเพื่อเป็นสิริมงคลและขวัญกำลังใจ

เนื่องด้วยความเชื่อที่ว่า พระบารมีของพระสยามเทวาธิราช จะช่วยปกป้องคุ้มครองจากภยันตราย ภาคประชาชนต่าง ๆ จึงได้สร้างพระสยามเทวาธิราชองค์จำลองขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างแตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่ แต่จุดมุ่งหมายก็คือ ให้เป็นที่เคารพสักการะ ด้วยความเชื้อที่ว่า ถ้าใครได้ไปกราบไหว้บูชาด้วยความศรัทธาอย่างแท้จริงก็จะเกิดแต่ผลดีต่อชีวิต มีความสุข พ้นภยันตรายต่าง ๆ เปรียบเหมือนมีเทพยดาคอยคุ้มครองปกปักรักษาอยู่ตลอดเวลา

พระสยามเทวาธิราชองค์จำลอง ด่านช่องตะโก

และอีกหนึ่งในวัตถุประสงค์ที่มีการสร้างองค์จำลองนี้ขึ้นมาก็คือ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยเท่าที่ทราบอยู่ในปัจจุบันนี้มีจำนวน 7 องค์ คือองค์ที่ 1 ประดิษฐานที่ดอยแม่สลอง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย องค์ที่ 2 ประดิษฐานที่ด่านช่องตะโก ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างอำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ กับ อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว องค์ที่ 3 ประดิษฐานที่ด่านเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรีองค์ที่ 4 ประดิษฐานที่ตำบลปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา องค์ที่ 5 ประดิษฐานที่สนามกอล์ฟนอร์ทเธินล์ ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย องค์ที่ 6 ประดิษฐานที่พิพิธภัณฑ์สักทอง วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร

พระสยามเทวาธิราช เคยเกือบถูกเปลี่ยนชื่อ

มีความเชื่อกันว่าพระสยามเทวาธิราชมีฐานะและอำนาจสูงสุดเหนือเทวดาทั้งปวง เปรียบดั่งประมุขของเทพารักษ์ที่ปกปักษ์รักษาบ้านเมือง มีเทพบริวารสำคัญ คือ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระหลักเมือง ไม่ใช่พระพุทธรูปในศาสนาพุทธ และไม่ใช่เทวดาในศาสนาพราหมณ์ แต่เป็นเทพยดาในนิมิตความเชื่อของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าที่บ้านเมืองพ้นภัยมาได้ อาจมีเทวดาอารักษ์ไว้อยู่

พระองค์ทรงสักการะบูชาและถวายเครื่องสังเวยเป็นประจำทุกวัน และมีการบวงสรวงประจำปีในวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 หรือวันปีใหม่ไทยในทางจันทรคติ  แต่ทว่าเป็นพระราชพิธีภายในไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมพระราชพิธีดังกล่าว และช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทย  ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หารือกับทางสำนักพระราชวังเรื่องการเปลี่ยนนาม พระสยามเทวาธิราช เป็น พระไทยเทวาธิราช  ในครั้งนั้นกรมศิลปากรมีความเห็นว่า

พระสยามเทวาธิราช (ด้านขวา) ประดิษฐานภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบรมมหาราชวัง

ให้คงชื่อเดิมไว้ แต่ยกเลิกการสังเวยประจำปีหรืองานพิธีอื่น ๆ เกี่ยวกับพระสยามเทวาธิราชแต่ถ้าไม่สามารถยกเลิกพิธีการที่เกี่ยวข้อง กรมศิลปากรก็มีข้อเสนอให้ 2 แนวทางคือ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘พระไทยเทวาธิราช’ หรือสร้าง พระไทยเทวาธิราชขึ้นมาอีกองค์ ในที่สุดคณะรัฐมนตรีลงความเห็นว่า ให้คงไว้ตามเดิมเพราะ พระสยามเทวาธิราชไม่ได้มีการทำพิธีเป็นทางการแต่อย่างใด

อัญเชิญพระสยามเทวาธิราชออกจากพระมหามณเฑียรในพระบรมมหาราชวัง เนื่องในพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี

ครั้นเมื่อถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งขึ้นครองราชเป็นรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงสักการะพระสยามเทวาธิราชเป็นอันดับแรก จากปูชนียวัตถุศักดิ์สิทธิ์สำคัญในพระบรมมหาราชวังทั้งหมด 13 แห่ง และในเวลาต่อมาทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการรื้อฟื้นการบวงสรวงเป็นประจำอีกครั้ง โดยทำการสักการะและถวายเครื่องสังเวยทุกวันอังคารและวันเสาร์ เป็นพระราชพิธีที่จัดขึ้นในราชสำนักฝ่ายในเท่านั้น ต่อมาในพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดพระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราชในท้ายพระราชพิธี และเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้สักการบูชาเป็นครั้งแรก

พระสยามเทวาธิราช / Cr.Nitipong Honark 

และเมื่อถึงรัชปัจจุบัน ในช่วงงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ได้มีการถ่ายทอดสดให้ประชาชนได้เห็นพระราชพิธีต่าง ๆ อย่างมากมาย โดยมีช่วงหนึ่งที่กล้องได้จับภาพ พระสยามเทวาธิราช ให้ได้เห็นอย่างชัดเจนอีกครั้ง

อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส