ผมไม่ใช่คนดูละครเลย เคยเปิดผ่าน ๆ แต่ละครั้งก็ไม่เห็นพัฒนาการของละครไทยจริง ๆ นะ ผ่านมากี่สิบปี ผู้สร้างก็ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมละครไทยไว้อย่างเหนียวแน่น นางร้ายก็กรี๊ด ๆ , นางเอกใส่หนวดใส่แว่นปลอมตัว , พระเอกนางเอกล้มทับใส่กัน , ตัวละครทุกตัวเวลาคิดนึกแล้วมีเสียงวอยซ์โอเวอร์ให้ได้ยิน ถึงผมไม่ชอบแต่ก็เข้าใจแล้วไม่ต่อต้านนะ ผู้บริโภคหลักยังพอใจกับรูปแบบเดิม ๆ แบบนี้แล้วผู้สร้างจะดิ้นรนปรับปรุงไปหาสวรรค์วิมานชั้นใดกัน

จนกระทั่งเห็นกระแส ฮอร์โมน ถี่มากขึ้น โดยเฉพาะซีซัน 3 ที่เรียกว่ามากันให้เห็นตั้งแต่คืนเสาร์ ลากยาวไปอีกหลายวัน กระแสซีซัน 3 แรงกว่าซีซัน 1 เสียอีกนะ ซีซัน 1 จะพูดกันมากเรื่องสไปรท์ ซีซัน 2 นี่เงียบเลย ก็เลยเอาวะลองดูตามกระแสเสียหน่อย แล้วก็พบว่านี่คือพัฒนาการของละครไทยที่หลุดพ้นกรอบเดิม ๆ อย่างแท้จริง เรียกได้ชัดเจนว่าเป็น “ละครคุณภาพ” ถึงแม้ผู้สร้างจะเรียกว่า “ซีรี่ส์” แต่มันก็คือละครนั่นล่ะ ฮอร์โมนมีให้ครบทั้ง “สาระ” และ “ความบันเทิง” เป็นละครที่เจาะลึกแล้วหยิบยกชีวิตในโรงเรียนออกมาให้เห็นว่า สังคมวัยรุ่นวันนี้อยู่กันอย่างไร เผชิญกับอะไรบ้าง เป็นละครที่โดนใจวัยรุ่นเพราะพวกเค้าได้เห็นเรื่องราวใกล้ตัวในชีวิตประจำวันที่ตัวเองได้เผชิญ และเล่าแบบตรงและแรงจนเกือบโดนแบนไปในซีซั่น 1 จึงเป็นละครที่ผู้ใหญ่วัยพ่อแม่ควรจะดูอย่างมาก เพื่อให้ทันโลกได้เข้าใจความคิดอ่านของลูก ๆ ตัวเอง ได้เห็นได้รับรู้เรื่องราวความจริงที่พ่อแม่หลายคนน่าจะไม่เคยได้รับฟังจากปากลูกหลานตัวเอง ทั้งเรื่องเซ็กส์ในโรงเรียน เกย์-เลสเบี้ยน ที่ถูกยอมรับกันมากขึ้นแม้แต่ในโรงเรียนมัธยม เรื่องยา ปัญหาอิจฉา ริษยา หึงหวง ที่มีผลต่อสภาพจิตและผลการเรียนของลูกหลาน ส่วนเรื่องเรียนเนี่ยล่ะ ที่รู้สึกได้ว่าขาดหายไปแทบจะไม่หยิบมาพูดถึงเลยทั้งใน 13 ตอนของฮอร์โมน ซึ่งน่าจะมีสอดแทรกอยู่บ้างก็จะดีนะ

พ่อก้อย

ละครฮอร์โมนโดดเด่นในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งเรื่อง บท , การคัดเลือกตัวแสดง , การกำกับ

บท

เป็นละครที่บทแน่นมาก ตัวละครเยอะมาก สิบกว่าคนทั้งหญิงชาย แต่บทก็กระจายความสำคัญได้ใกล้เคียงกันมาก ตอนแรก ๆ ก็ฉลาดในการโยนวิกฤตปัญหาใส่ตัวละคร ให้แอบชอบกัน หึงกัน ผิดใจกัน แล้วก็ค่อยทวีปัญหาความรุนแรงให้แรงขึ้น ทำให้ชวนติดตามไปถึงจุดคลี่คลายในตอนท้าย ๆ

ชอบที่ให้เราได้รู้จักตัวตนของเด็กก่อน ตัวละครหลาย ๆ ตัวถูกสร้างสรรค์บุคลิกให้โดดเด่นมาก มีทั้งเด็กเจ้าชู้ นักกีฬา เด็กกิจกรรม เด็กเก็บกด มีปัญหา แล้วจากนั้นก็ค่อยขยับลึกไปให้เห็นพื้นฐานของครอบครัวที่มีผลต่ออุปนิสัยของเด็กแต่ละคน

ทีมงานนอกจากลงลึกกับตัวละครเด็กแล้วยังขยายไปถึงตัวละครผู้ปกครองให้หลากหลายอีกด้วย อย่างเช่น พละ ที่อยู่กับยายจอมเฮี้ยบบวกกับปัญหาเรื่องสุขภาพตัวเอง ทำให้พละ กลายเป็นเด็กที่ดูสงบเสงี่ยมและไม่ค่อยมีความมั่นใจ ตรงข้ามกับ “ซัน” ที่เป็นดาวเด่นในโรงเรียนความมั่นใจสูง เพราะที่บ้านมีสตางค์ พ่อแม่เลี้ยงแบบสปอยล์ เอารถให้ใช้ไม่กลับบ้านก็ได้ ออกจากบ้านค่ำมืดก็ได้ พ่อก็แค่เตือนว่า”ให้พกถุงนะลูก”

ส่วนด้านผู้ปกครอง บทที่ลงลึกได้เด่นมากคือ พ่อก้อย เป็นตัวละครที่น่ารักมาก ในฐานะพ่อที่เลี้ยงลูกสาวคนเดียวเอง จึงพยายามเข้าถึงกับเพื่อนลูก ๆ เวลคัมเพื่อนลูก ๆ ทุกคน กินข้าวด้วยเฮฮาด้วยได้ ให้ก้อยได้รู้สึกสบายใจที่จะพูดคุยปัญหากับพ่อได้ ดูเป็นพ่อที่ใจดีว่าง่าย แต่เมื่อถึงคราวที่ต้องว่ากล่าวจริงจังกับเรื่องซีเรียส พ่อก้อยก็กลายเป็นคนจริงจังขึ้นมาทันทีได้ เป็นตัวอย่างที่ดีนะในการเลี้ยงลูก รู้จักแบ่งรับแบ่งสู้ตอนไหนควรเฮตามน้ำ ตอนไหนควรยืนกรานไม่เอาไม่ยอม

ชื่นชมว่าทีมงานทำการบ้านดีมาก จากที่ได้ดูเบื้องหลังก็เห็นว่า บางเรื่องก็ได้มาจากการสัมภาษณ์ตัวแสดงถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่แต่ละคนพบเจอมาในโรงเรียนแล้วเอามาประยุกต์เป็นข้อมูลในการเขียนบท จึงทำให้เรื่องราวใน ฮอร์โมน จึงไม่ได้เวอร์เกินจริงไปนัก

288882-560772c655ecf

 

การคัดเลือกตัวแสดง

ชอบที่คัดบุคลิกพื้นฐานตัวแสดงได้เหมาะสมกับบทดี โดยเฉพาะ “ซัน” นี่ผมชื่นชมว่ารูปร่างหน้าตาของน้อง เจมส์ ธีรดนย์ ดูใช่มากกับบุคลิกของเด็กเจ้าชู้ การใช้สายตากรุ้มกริ่มขณะคุยกับหญิง แล้วยิ่งเรื่องเขียนให้ซันไปเป็น”เพื่อนเทียว”ก็ยิ่งโคตรตรงกับบุคลิกของซันมาก

บอส เป็นอีกตัวละครที่ผมชอบ ดูเป็นเด็กเอาจริงเอาจังกับชีวิตมาก ทั้งเรื่องไม่เห็นมันยิ้มเลย ทีมงานจับ พี สาริษฐ์ มาใส่แว่นหนาหวีผมเรียบแล้วทำให้ลุคดูเคร่งขรึมขึ้นมาทันที บอส เป็นสีสันมากในครึ่งแรก กับความเถรตรงจนถึงกับขวานผ่าซาก ยอมหักไม่ยอมงอ ความถูกต้องมาก่อน เพื่อนมาทีหลัง จนกลายเป็นคนไม่มีเพื่อน พี ถ่ายทอด บอส ออกมาให้รู้สึกได้ว่าเป็นตัวอันตราย เมื่อไหร่ บอส โผล่มาเดี๋ยวต้องมีปัญหาอะไรตามมาแน่ แต่พอพ้นจากเรื่องสภานักเรียนไปแล้ว บท บอส ยังโดนเขียนให้ “ล้น” จนกลายเป็น “เสือก” นี่เลยดูออกไปทางโรคจิตละ และทำให้บทของ บอส จะเริ่มดูแบนเพราะเห็นกันอยู่แต่ด้านจริงจัง

บอส

ส้มส้ม บทของ แพรว นฤภรกมล ใครตั้งชื่อวะเนี่ย ส้มส้ม ดูเป็นสาวดุ สาวแรง เหมาะสมกับตำแหน่งเจ้าแม่ของแก๊ง “นางฟ้าเรียกแม่” บทดุ วีน ก็ออกหน้านำลูกทีมได้เสมอ ชี้หน้าด่า คว้าคอเสื้อผู้ชายได้ ส้มส้ม ออกโรงวีนทีไรนี่ได้ใจคนดู แต่พอบทจะแบ๊วจะหวาน แพรว ก็ถ่ายทอดสายตาสีหน้าออกมาได้น่ารัก ก็ต้องบอกว่าเพราะ แพรว เนี่ยละ ที่ทำให้คู่ ส้มส้ม-พละ ได้ใจคนดูมากกลายเป็นคู่ที่คนดูเชียร์ที่สุดในซีซันนี้

บทที่ขัดตาที่สุดคือ “พี่ปั่น” กับบทคุณพ่อโมโหร้าย สบถหยาบคายแล้วทุบตีเมีย เด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่รู้สึก ไม่ใช่เพราะพี่ปั่นเล่นไม่ดี แต่เพราะผมติดกับภาพลักษณ์ผู้ชายอบอุ่นร้องเพลงรัก เลยไม่ชินกับภาพลักษณ์พี่ปั่นในบทบาทแบบนี้

ชื่นชมอีกเรื่องกับความไม่ขี้เหนียวตัวแสดง หลาย ๆ ฉาก ได้เห็นนักเรียนนับร้อยมาเข้าฉาก โดยเฉพาะงานกีฬาสี ทำให้ภาพออกมาดูบรรยากาศสมจริงว่านี่มันโรงเรียนจริง ๆ ไม่ใช่เห็นหรอมแหรมกันอยู่แค่ไม่กี่สิบคน

ส้มส้ม

การกำกับ

จากซีซัน 1 ย้ง ทรงยศ ที่เป็นผู้กำกับที่เหมาะมากกับเรื่องราวของเด็กวัยรุ่น เพราะประสบการณ์หนัง “เด็กหอ” มาถึง “ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น” ที่ล้วนประสบความสำเร็จพอมาจับเรื่องราวแบบนี้จึงดูจะเข้าทางถนัด แต่เมื่อส่งไม้ต่อมาให้ เกรียงไกร วชิรธรรมพร ที่เลื่อนขั้นมาจากหัวหน้าทีมเขียนบท ก็ไม่ได้ทำกระแสตกไปกว่าเดิมเลย ซีซัน 1 ยังออกสตาร์ทด้วยการรวมรุ่นดาราวัยรุ่น GTH มาเล่น แต่ละคนก็มีประสบการเล่นหนังมาแล้ว แต่พอมาถึงซีซัน 3นี่ ทุกคนคือดาราหน้าใหม่ทั้งสิ้น แต่กับภาพที่ออกมาแล้ว ทุกคนเล่นได้ลื่นไหลและดูเป็นธรรมชาติมาก และที่สำคัญละครอย่างฮอร์โมน นี่ต้องบอกเลยว่า “ยาก” แน่ ๆ กับเรื่องการแสดง เพราะไม่ใช่ซิทคอม แต่มันเป็นละครดราม่า ซึ่งต้องสื่อบทบาทหลากหลาย น้ำตาต้องมี มีบทรัก บทกรี๊ด โมโห สติแตก อาย เขิน ครบล่ะ แล้วซีนสำคัญ ๆ ฮอร์โมนมักจะสื่อด้วยการแสดงมากกว่าบทพูด กล้องทำหน้าที่จับสีหน้าตัวละครให้ถ่ายทอดอารมณ์ในซีนนั้น ๆ

ฉากสำคัญที่ประทับใจมากคือตอนที่ ซัน เมารั่วฟื้นขึ้นมาในโรงพัก พ่อกับแม่มารับกลับบ้าน ตลอดเรื่องเราจะเห็นว่า พ่อแม่ซันไม่ตามใจลูกมาก แต่เมื่อเกิดเหตุการแบบนี้จะทำอย่างไร ตลอดทางตั้งแต่โรงพักจนถึงบ้าน คนดูก็จะไม่เห็นพ่อแม่ซันดุว่าลูกสักคำเดียว มีเพียงสายตาพ่อที่เดินมาหยิบกุญแจรถจากถาดหน้าบ้าน พร้อมกับสายตาทอดอาลัย แสดงถึงความผิดหวังในตัวลูก ซีนสั้นๆ นี้มันเล่าเรื่องราวแทนคำตำหนิได้มากมาย แล้วตลอด 13 ตอนมีฉากการแสดงแทนคำพูดแบบนี้อยู่อีกมาก สามารถถ่ายทอดอารมณ์ได้มากกว่าละครค่ำ ที่ตัวละครนั่งนึกแล้วมีเสียงให้คนดูได้ยินกันอยู่ประจำเสียอีก

อีกจุดที่ประทับใจคือเหล่าตัวแสดงประกอบ ที่เป็นบรรดาเด็กน้อย ม.ต้น ทุกคนที่เข้าฉากมามีบทพูด ก็ยังดูเป็นธรรมชาติ ไม่ดูเป็นเด็กท่องบทเหมือนที่ผ่าน ๆ ตามาในละครไทย อีกตัวที่ชอบคือป้าลูกค้าที่มาซื้อบริการของซัน ก็คัดตัวแสดงมาได้เข้ากับบทดีมาก ป้าหน้าตาพื้น ๆ บ้าน ๆ มีตังค์แต่ขี้เหงา ป้าเล่นได้เป็นธรรมชาติดีมาก ชอบมากตอนงอนแล้วหนีออกมานอกร้านให้ ซัน ตามมาง้อแล้วบอกว่า “ต้องทำไงก่อน” นี่ผมร้อง “ฮิ้วววว” เลย กูสงสารซัน!!

จุดที่ไม่ชอบก็มี และรู้สึกว่าถูกยัดเยียดอย่างน่าเกลียด ไร้ศิลปะในการนำเสนอคือ “โฆษณา” สอดแทรกสปอนเซอร์เข้ามาในละคร เต็มไปหมด ในเรื่องต้องขี่กันแต่ฮอนด้า กินปีโป้กันตลอด ทั้งส้มส้ม และ มะลิ ใช้ครีมโฟมยี่ห้อเดียวกัน ครูซื้อไอ้ติมมาฝากลูกศิษย์ ก็มีแต่เนสท์เล่ไมโล ตอนดูหนัง GTH ก็โดนยัดเยียดแบบนี้นะ ฉากที่น่าเกลียดที่สุดคือตอนเปิดตู้แช่ในร้านเกม แล้วทั้งตู้มีแต่ ชาขาวเพียวริคุ ยี่ห้อเดียวรสเดียวเนี่ยนะ ทำให้มันสมจริงกว่านี้ได้ไม๊ว้า

สิ่งที่ผมทำบ่อยที่สุดระหว่างดูฮอร์โมน คือ หยิบมือถือตัวเองขึ้นมาดู เป็นกันมั่งไม๊? เพราะเป็นซีรี่ส์เด็กวัยรุ่น ซึ่งสื่อสารกันด้วย แชท และ SMS เดี๋ยว ๆ ก็มีเสียงข้อความเข้า เราก็หยิบมาดู อ้าว!! แม่งเสียงในละคร แต่ก็เป็นงี้อยู่ทุกตอนนะยังไม่ชิน

shortbanghair-4-1

อีกเรื่องที่รำคาญลูกตา คืออีทรงผมของอีครูลูกตาล ทีมงานคิดให้รึว่าตัว โอ๋ ฟูตอง ทำมาเอง ผมมันไม่แยงตาเหล่มั่งหรือ แล้วก็โรคกระพริบตาถี่ ๆ ของน้องขนมปังเนี่ย ดูแล้วจะกระพริบตาตาม น้องเป็นโรคอะไรต้องกระพริบตาถี่ขนาดนั้น เห็น ขนมปัง แล้วชวนให้นึกถึงหนัง The Intern ที่แอน หัตถเวช เล่นเป็น จูลส์ เธอจะไม่ชอบคนที่คุยด้วยแล้วไม่กระพริบตา ขนมปัง น่าไปสมัครงานกับ จูลส์ นะ

ชื่นชมครับ แล้วเชียร์ให้ดู เป็นละครที่ยกระดับละครไทย ให้สาระและความบันเทิง มองเห็นถึงความตั้งใจของทีมงาน