4 กันยายน 2515 หรือถ้าเป็นปีในทางคริสต์ศักราช ตรงกับปี 1972 รายการเกมโชว์รายการหนึ่งได้ถือกำเนิดขึ้น สร้างความสนุกสนานผ่านทางหน้าจอทีวีในสหรัฐอเมริกา และไม่มีใครคาดคิดเลยว่า รายการดังกล่าวนี้ จะอยู่ยั้งยืนยงคงตระหง่านออกอากาศมาจนถึงบัจจุบัน สิริรวมเวลานานถึง 50 ปี รายการเกมโชว์ที่เล่นง่ายที่สุดกับคอนเซ็ปต์ที่ว่า “เพียงแค่ทายราคาให้ถูก ก็ได้รางวัลกลับบ้านไป” ใช่แล้วครับ รายการเกมโชว์ที่ว่านี้คือ “The Price Is Right” นั่นเอง

กับ 50 ปี ที่ออกอากาศผ่านทางหน้าจอโทรทัศน์ในอเมริกา วันนี้เราคัดเรื่องเด็ด ๆ เด่น ๆ และเรื่องที่น่ารู้ มาเพียง 8 เรื่อง ที่ทำให้เห็นภาพและเข้าใจได้ว่า ทำไม The Price Is Right ยังเป็นรายการเกมโชว์ที่ยังคงมีการผลิตและออกอากาศมาจนถึงปัจจุบัน ไม่มีวันเสื่อมความนิยมลงไปเลย

1. แต่ก่อนเป็นแค่เกมโชว์ประมูลของเท่านั้นแหละ

The Price Is Right ที่ออกอากาศผ่านทางหน้าจอในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่เวอร์ชันแรกสุดที่มีการผลิตออกทางหน้าจอ แต่แรกสุดของ The Price Is Right นั้น เกิดขึ้นในปี 1956 ออกอากาศครั้งแรกทางสถานีโทรทัศน์ NBC (National Broadcasting Company) ผลิตโดย Mark Goodson – Bill Todman Production รูปแบบการเล่นเกมก็ง่ายแสนง่าย คือให้ผู้เข้าแข่งขันในห้องส่ง ดูสินค้า หรือของรางวัล ฟังสรรพคุณต่าง ๆ แล้วทายว่าราคาเท่าไหร่ โดยทายให้ใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จะทำได้ รูปแบบการทายแทบไม่ต่างจากสหการประมูลในบ้านเราเลย แต่ละผู้เล่นสามารถทายได้ถึง 3 ครั้ง ใครทายได้ใกล้เคียงที่สุด ได้ของรางวัลชิ้นดังกล่าวไป บางชิ้นบางอันอาจมีของรางวัลเซอร์ไพรส์ให้เพิ่มเติมก็เป็นได้ เมื่อจบรายการ ใครก็ตามที่มีรางวัลสะสมเยอะสุด จะได้เป็นผู้ชนะ และได้กลับมาแข่งขันใหม่ในวันถัดไป จนกว่าจะมีผู้เล่นหน้าใหม่ที่สามารถล้มแชมป์ลงได้

ดูเป็นกติกาที่ง่ายแสนง่าย และเหมือนกับว่ารายการนี้ไม่น่ามีความน่าสนใจเท่าไหร่เลย แต่ทว่า The Price Is Right ในแบบสหการประมูลที่ว่านี้ สามารถยืนระยะการออกอากาศผ่านทางหน้าจอมาได้ถึงเกือบ 10 ปี โดยออกอากาศผ่านทางสถานีโทรทัศน์ NBC ในช่วงปี 1956 ถึงปี 1963 และย้ายไปออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ABC (American Broadcasting Company) ในปี 1963 ถึงปี 1965

สิ่งที่น่าสนใจกับ The Price Is Right ในเวอร์ชันแรกสุดนี้ คือการออกอากาศในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ “Game Show Scandal” ความผิดพลาดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในรายการเกมโชว์ กับสารพัดวิธีในการปั้นดินให้เป็นดาว หรือการเตี๊ยมแผนต่าง ๆ เพื่อให้เรตติ้งรายการเทมาอยู่ที่รายการตัวเอง จนทำให้รายการเกมโชว์หลายต่อหลายรายการต่างถูกจับไต๋ ตีแผ่ และเปิดโปงแผนอุบาทว์ออกมา จากรายการที่พีกสุดฉุดเรตติ้งไม่อยู่ กลายเป็นรายการที่ร้างสายตาคนดูและเลิกรากันไป บางรายการที่ไม่ได้ทำอะไรในทางผิดๆ ก็พลอยโดนร่างแหจากวิกฤติศรัทธาของคุณผู้ชมจากทางบ้าน จนต้องล้มหายตายจากประกาศลาจอกันไป เว้นแต่เพียงว่า The Price Is Right เป็นเพียงรายการเกมโชว์ในไม่กี่รายการ ที่ยังฝ่ากระแส ยังคงออกอากาศ จนพ้นช่วงเวลาอันเลวร้ายของวงการรายการเกมโชว์อเมริกาไปได้

2. เกิดใหม่อีกครั้งในปี 1972

จากการสิ้นสุดการออกอากาศในปี 1963 ทำให้ The Price Is Right ห่างหายไปจากหน้าจอ จนล่วงเวลามาถึงปี 1972 The Price Is Right ที่หายไปจากหน้าจอได้กลับมาออกอากาศอีกครั้ง และการกลับมาที่ว่านี้ ไม่ได้เหมือนเดิมที่เป็นเกมโชว์แนวสหการประมูลเพียงอย่างเดียว Mark Goodson ได้ทำเทปเสนอขาย (Pitch Film) ออกมาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของปีนั้น เป็นการแสนอแผนการนำ The Price Is Right กลับมาทำใหม่อีกครั้ง เรียกชื่อว่า “The New Price Is Right” โดยเทปเสนอขายดังกล่าวนั้นเป็นการสาธิตการเล่นเกมทายราคาสินค้า รวมไปถึงได้ทำเทปตัวอย่าง (Test Tape, Pilot Tape) ให้เห็นภาพว่าการเล่นการแข่งขันเป็นอย่างไร

และเวอร์ชันรีบูตใหม่นี้ได้เกิดขึ้นจริง ออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 กันยายน 1972 ทางสถานีโทรทัศน์ CBS โดยใช้ชื่อในช่วงปีแรก ๆ ของการกลับมาสู่หน้าจอทีวีอีกครั้งในชื่อ “The New Price Is Right” ดำเนินรายการโดยพิธีกรและนักแสดงที่มากความสามารถในยุคนั้น อย่าง บ๊อบ บาร์เคอร์ (Bob Barker) กับเกมที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมทางบ้านมาร่วมเล่นเกมได้ง่ายกว่าเดิม โดยมาเป็นทั้งผู้ชม และผู้เข้าแข่งขัน ซึ่งตัวคุณไม่มีทางที่ล่วงรู้ได้เลยว่าจะถูกเรียกขึ้นมาร่วมสนุกในตอนไหน

The New Price Is Right เทปแรก ออกอากาศเมื่อวันที่ 4 กันยายน 1972

ส่วนเกมการแข่งขันในรายการ เรียกได้ว่าเปลี่ยนไปจากเดิมพอสมควร แต่ยังคงมีเกมที่คุ้นเคยจากเวอร์ชันยุค 50s อย่างการประมูลสินค้า เพียงแต่ว่าปรับกติกาใหม่เป็นการประมูลเพียงแค่ครั้งเดียว (One Bid) โดยที่ต้องทายราคาสินค้าให้ใกล้เคียงที่สุดและห้ามเกินจากราคาจำหน่ายจริง เป็นการคัดผู้เล่นที่จะได้ขึ้นมาบนเวที หลังจากที่ได้ผู้เล่นแล้ว ผู้เล่นจะต้องเล่นเกมที่ทางรายการได้กำหนดไว้ เพื่อรับของรางวัลกลับบ้านไป อาทิ เงินสด, เครื่องใช้ไฟฟ้า, ของใช้ในครัวเรือน ไปจนถึงเที่ยวบิน, เรือใบ, รถจักรยานยนต์ และของรางวัลที่ใหญ่สุดในรายการอย่างรถยนต์

Chevrolet Vega รุ่นปี 1972 คือรถยนต์คันแรกที่มีการมอบให้เป็นรางวัลในรายการ กับราคาขาย ณ ขณะนั้น 2,746 เหรียญสหรัฐ

ซึ่งแต่ละเกมที่ปรากฎในช่วงแรก ๆ ของรายการ เป็นเกมที่มีกติกาไม่ได้ยากเย็นและซับซ้อนมากเท่าไหร่นัก แต่ก็สามารถแจกรางวัลให้กับผู้เข้าแข่งขันไปอย่างมากมาย อย่างเช่น ให้ทายว่าราคาที่แท้จริงนั้น มากกว่าหรือน้อยกว่าราคาที่รายการได้ตั้งไว้ หรือ ให้ใส่ตัวเลข 0 – 9 ลงในตำแหน่งต่าง ๆ ถ้าใส่ได้ครบ จะได้ของรางวัลไป

สิ่งหนึ่งที่เพิ่มขึ้นมาจากเกมการเล่นที่หลากหลายแล้วนั้น คือในช่วงท้ายรายการ แจกแหลก แจกเยอะ แจกเป็นเซต ขอแค่ทายราคารวมให้ได้ใกล้เคียงที่สุด แล้วคว้ารางวัลกลับบ้านไปเลย

นอกจากการได้เล่นเกมทายราคาสินค้าและรับกลับบ้านไปนั้น ในฝั่งของเจ้าของสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ยังได้ผลพลอยได้จากการนำสินค้าและผลิตภัณฑ์มาออกรายการ ในรูปแบบของโจทย์ปริศนา หรือในรูปแบบผู้สนับสนุนของรางวัล คือการประชาสัมพันธ์สินค้าเหล่านั้นออกทีวี เรียกว่าเป็น Win – Win Situation เลยก็ว่าได้

จากการออกอากาศในช่วงปีแรก ๆ ที่มีเวลาในการออกอากาศเพียงแค่ 30 นาทีต่อวัน สู่การเพิ่มการออกอากาศที่หลากหลายกว่าเดิม เช่น การออกอากาศในช่วง Nighttime ในสถานีอื่น หรือการได้รับการจัดสรรเวลาเพิ่ม จาก 30 นาทีต่อวัน เป็นวันละ 60 นาที ในปี 1975 ในวาระที่ The New Price Is Right ออกอากาศผ่านทางหน้าจอครบ 3 ปี ย่างเข้าสู่ปีที่ 4 ของรายการ ซึ่งในปีดังกล่าวนี้เอง คำว่า “New” ที่ปรากฎในชื่อรายการ ได้ถูกถอดออกไป คงเหลือไว้ชื่อ The Price Is Right ที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน

3. No Fur Coat

ชุดขนมิงก์ (Mink Coat) หนึ่งในของรางวัลที่ The Price Is Right เคยจัดให้เป็นของรางวัลแก่ผู้เข้าแข่งขัน

ในบรรดาเกมโชว์หลายต่อหลายรายการในยุคนั้น ต้องมีการแจกชุดขนสัตว์ (Fur Coat) หรือเสื้อคลุมที่ทำมาจากหนังสัตว์หลายหลากมากชนิด ถือเป็นของรางวัลที่มีมูลค่าสูงประมาณหนึ่ง กับ The Price Is Right เอง ก็มีการแจกชุดขนสัตว์ด้วย เพียงแต่ว่าในช่วงปีแรก ๆ ของการทำรายการ จนมาถึงปีที่ 11 ของรายการ Bob Barker ที่ในช่วงเวลานั้น เริ่มหันมาทำหน้าที่เป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสัตว์และสิ่งแวดล้อม และทำหน้าที่ Executive Producers ให้กับ The Price Is Right นอกเหนือจากการทำหน้าทีพิธีกรประจำรายการ ได้ออกไอเดียในการเลิกแจกชุดขนสัตว์และเสื้อคลุมที่ทำมาจากหนังสัตว์ หลังจากนั้นเป็นต้นมา บรรดาชุดที่กล่าวมานี้ก็ไม่มีให้เห็นใน The Price Is Right อีกเลย ส่วนที่เกิดขึ้นไปก่อนหน้านั้น ก็ถือว่า “ให้มันแล้ว ๆ ไป” แบบที่อิทธิ พลางกูร เคยขับร้องไว้

แพงขนาดไหน ถามใจเธอดู…

นอกเหนือจากการเลิกมอบของรางวัลอย่างชุดขนสัตว์หรือเสื้อคลุมที่ทำมาจากหนังสัตว์แล้วนั้น ในปี 1982 ตัวของบ๊อบได้ริเริ่มการกล่าวประโยคปิดรายการด้วยประโยคที่ว่า…


“…Reminding you to help control the pet population — have your pets spayed or neutered.”

รวมไปถึงเป็นตัวตั้งตัวตีในการเสนอให้กองประกวดนางงามสหรัฐ (Miss USA) เลิกการมอบชุดขนสัตว์ (Fur Coat) เป็นรางวัลประจำตำแหน่งนางงามชนะเลิศ แต่ผลลัพธ์ไม่ได้เป็นไปตามนั้น เมื่อโปรดิวเซอร์ของกองประกวดไม่ยอมรับข้อเสนอดังกล่าว ตัวของบ๊อบได้ตัดสินใจยุติการทำหน้าที่เป็นพิธีกรประจำเวทีประกวด ไม่ใช่แค่เวที Miss USA เพียงเวทีเดียวที่เลือกยุติการทำหน้าที่ แต่รวมไปถึงเวที Miss Universe อีกด้วย ซึ่งทำหน้าที่มานานถึง 21 ปี นับตั้งแต่ปี 1967 จนถึงปี 1987 อันเป็นปีสุดท้ายที่ได้ทำหน้าที่นี้ และกองประกวดได้ส่งไม้ต่อให้แก่ อลัน ธิก (Alan Thicke) ผู้เป็นพ่อของศิลปินชื่อดัง โรบิน ธิก (Robin Thicke) มาทำหน้าที่นี้ต่อจากบ๊อบ (ซึ่งทำหน้าที่เพียงแค่ปีเดียวเท่านั้นเอง คือปี 1988 ปีที่คุณปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก คว้าตำแหน่งนางงามจักรวาลในปีนั้นไปครอง)

4. คัดผู้เล่นก่อนถ่ายทำไม่กี่ชั่วโมง

ไม่ว่าจะเป็นเกมโชว์ในประเทศไทย หรือประเทศไหน ๆ ก็แล้วแต่ ถ้ามีผู้สนใจอยากมาร่วมรายการ อยากเป็นผู้เข้าแข่งขัน มาคว้าเงินคว้ารางวัลกลับบ้านไป ก็ต้องส่งรูปถ่ายพร้อมประวัติเข้ามาให้ทีมงานรายการได้คัดเลือกและเรียกตัวมาทดสอบก่อนเข้าร่วมรายการเสมอ แต่กับ The Price Is Right หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ รูปแบบการรับสมัครนั้นง่ายแสนง่าย แค่เพียงส่งประวัติ แล้วรอเรียกตัวไปในวันบันทึกเทปเลย

อ่านดูเผิน ๆ ก็เหมือนวิธีการปกติทั่วไปที่รายการเกมโชว์ทั้งหลายมักใช้กัน แต่ต่างกันตรงที่ว่า เมื่อทุกคนที่ได้รับการนัดหมายให้มาเข้าสตูดิโอในวันถ่ายทำรายการ จะมีเจ้าหน้าที่เดินเข้ามาสอบถามข้อมูลเล็กน้อยและขอถ่ายรูปไว้ ซึ่งนั่นคือวิธีการสัมภาษณ์ผู้ที่สนใจอยากเล่นเกมในรายการ หลังจากนั้น ทีมงานจะนำรูปภาพและประวัติของผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด เข้าสู่ห้องประชุมทีมงาน เพื่อเลือกว่าจะให้ใครได้มาร่วมเล่นเกมในรายการ ซึ่งในแต่ละเทป จะมีผู้ที่ถูกเลือกให้มาร่วมเล่นเกมถึง 9 คน แต่จะมีผู้ที่ได้เล่นเกมแล้วรับของรางวัลจริง ๆ แค่เพียง 6 คนเท่านั้น ตามกติกาการเล่นเกมที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น

ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน ในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ในสหรัฐอเมริกา ภาพของการรวมตัวผู้ชมในห้องส่งแล้วรอเรียกขานชื่อขึ้นมาเป็นอันต้องหายไปแบบชั่วคราว รายการได้ปรับรูปแบบการถ่ายทำใหม่หมด โดยทีมงานจะเลือกผู้เล่นไว้ล่วงหน้า แล้วทำการติดต่อให้ผู้เล่นที่ผ่านการคัดเลือก เดินทางมาที่สตูดิโอ แล้วรอเรียกตัวเข้ารายการ

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าใครจะได้มาร่วมเล่นเกมในรายการ

เมื่อถึงเวลาในการถ่ายทำรายการ จะมีผู้ประกาศประจำรายการ (Announcer) ประกาศชื่อพร้อมทั้งเรียกให้ก้าวออกมาจากเก้าอี้ที่ตัวเองนั่ง โดยการเรียกชื่อผู้เล่น แล้วต่อด้วยวลี “Come On Down!” ซึ่งเป็นวลีที่อยู่คู่กับรายการนี้มานาถึง 50 ปี

นอกจากการคัดเลือกผู้เล่นก่อนถ่ายทำไม่กี่ชั่วโมง การเลือกเกมที่จะเล่นในแต่ละเทปนั้นก็ทำด้วยวิธีคล้าย ๆ กัน แต่ต่างกันตรงที่ ทีมงานฝ่ายผลิตทุกคนจะต้องมาตั้งแต่เช้า เข้าห้องประชุม วางแผน จัดลำดับเกม จัดคิวถ่าย แล้วถึงจะเริ่มให้ผู้ที่สมัครทั้งสมัครมาชมและสมัครมาเล่นเกมเข้าสู่ด้านในสตูดิโอ

5. พิธีกร (Host) ผู้มากความสามารถ

จากซ้ายมือ: ฺBob Barker พิธีกรที่ทำหน้าที่ช่วงระหว่างปี 1972 – 2007, Drew Carey พิธีกรที่ทำหน้าที่ตั้งแต่ปี 2007 – ปัจจุบัน

นับตั้งแต่วันแรกของการออกอากาศ The New Price Is Right ในปี 1972 มาจนถึงปัจจุบัน รายการได้มีพิธีกรถึง 2 ท่าน ที่ทำหน้าที่ดำเนินรายการ และเอ็นเทอร์เทนผู้ชม โดยคนแรกก็คือ บ๊อบ บาร์เคอร์ พิธีกรและนักแสดงผู้มากความสามารถ ซึ่งก่อนที่จะมาเป็นพิธีกรใน The Price Is Right นั้น ตัวของบ๊อบได้ทำหน้าที่พิธีกรในรายการ Truth or Consequences ในช่วงระหว่างปี 1956 ถึงปี 1975 การที่บ๊อบได้มาเป็นพิธีกรให้ The Price Is Right ได้นั้น ไม่ได้มาจากไอเดียของ มาร์ก กูดสัน (Mark Goodson) ผู้เป็นเจ้าของรายการ แต่เป็นความต้องการของสถานีโทรทัศน์ CBS เอง ที่อยากได้ตัวบ๊อบมาเป็นพิธีกร และความคิดของ CBS ไม่ใช่ความคิดที่ผิดพลาดเลย The Price Is Right ที่กลับมาออกอากาศใหม่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ตัวของบ๊อบเองได้อยู่คู่กับรายการดังกล่าวมาอย่างยาวนานมากถึง 35 ปี และลงจากตำแหน่งพิธีกรประจำรายการเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2007

สิ่งหนึ่งที่บ๊อบได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการสื่อ และเป็นภาพจำที่ไม่มีวันลืม คือการที่ตัวของบ๊อบดำเนินรายการพร้อมเส้นผมสีดอกเลา ซึ่งสื่อถึงการเข้าสู่วัยชรา (เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเดือนตุลาคมของปี 1987) ถือเป็นคนแรก ๆ ที่ออกสื่อด้วยเส้นผมสีดังกล่าว ในขณะที่ผู้คนในวงการบันเทิง ณ ขณะนั้น ต่างเลือกย้อมสีผมเพื่อกลบเกลื่อนอายุอานามที่มีมากขึ้นตามตัว (หากบุคคลผู้นั้นไม่ได้มีสีผมที่เป็นสีเทาหรือสีขาวมาตั้งแต่กำเนิด)

Bob Barker กับการทำหน้าที่พิธีกรพร้อมผมสีดอกเลาเป็นครั้งแรก

เมื่อบ๊อบลงจากตำแหน่ง ก็ต้องมีการหาพิธีกรหน้าใหม่มาแทนที่ จนในที่สุด รายการได้ตัว ดรูว์ แครีย์ (Drew Carey) นักแสดงและพิธีกรแนวตลกขบขันมาทำหน้าที่ ซึ่งมารับช่วงต่อทันที และทำหน้าที่มาจนถึงปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่ดรูว์ได้ทำให้ The Price Is Right แตกต่างไปจากยุคสมัยของบ๊อบนั้น คือการปรับเปลี่ยนฉากใหม่ เพิ่มเกมใหม่ และมีการเล่นตามธีมตามวันสำคัญ ๆ ต่าง อย่างเช่น เปิดโอกาสให้ผู้ชมในรายการมาเป็นนายแบบและนางแบบนำเสนอสินค้า หรือแม้แต่การทำเทป April Fools’ Day ในหลากหลายแบบ ทั้งให้นางแบบมาเป็นพิธีกร หรือสลับหน้าที่พิธีกรกับพิธีกรรายการอื่น เป็นต้น

6. ซีนหลุดฉุดของพัง (Bloopers)

รายการทีวีแทบทุกรายการบนโลกใบนี้ ต่างล้วนมีการผลิตรายการที่ประณีต ไม่มีข้อผิดพลาด ไม่มีซีนหลุดให้ได้เห็น แต่กับ The Price Is Right คือตรงกันข้ามเลย แต่การตรงกันข้ามไม่ได้หมายความว่าไม่ได้มีความใส่ใจหรือพิถีพิถันในการผลิตและถ่ายทำ แต่มันเป็นเสน่ห์และเพิ่มความสนุกให้กับตัวรายการในเทปนั้น ๆ ซึ่งในยุคที่ บ๊อบ บาร์เคอร์ เป็นพิธีกร ถือได้ว่าเป็นยุคที่มีซีนหลุด หรือช็อตของพังหลายต่อหลายครั้ง ทั้งพังจากกลไลการทำงานที่ผิดพลาด และพังจากตัวพิธีกร

มีจับมัดรวมไว้ในคลิปนี้แล้ว

แม้แต่นางแบบประจำรายการก็ยังทำพลาดมาแล้ว

ในส่วนของการแก้ไขงานเฉพาะหน้านั้น ถ้าหากเกิดขึ้นระหว่างการเล่นเกม เช่น ทายราคาสินค้าหรือเล่นเกมในรอบนั้นเสร็จแล้ว แต่ไม่สามารถเฉลยได้เพราะอุปกรณ์ชำรุด ทีมงานจะเข้ามาแก้ไขทันที หรือให้เป็นภาระหน้าที่ของพิธีกรในการแก้ไขด้วยตัวเอง แต่ถ้าหากเกิดขึ้นระหว่างการนำเสนอสินค้า เช่น นำเสนอสินค้าไม่ทัน หรือเปลี่ยนสินค้าไม่ทันเวลา การถ่ายทำในช่วงนั้นจะไม่มีการสั่งหยุดระหว่างทาง แต่ทีมงานจะเลือกใช้ช่วงเวลาในการพักระหว่างการถ่ายทำ เป็นช่วงเวลาของการถ่ายซ่อม เพื่อนำช็อตดังกล่าวมาตัดต่อให้ดูเรียบเนียน เหมือนกับว่าไม่มีอะไรที่ผิดพลาดเลยในเทปนั้น

นอกจากความผิดพลาดที่ว่ามาแล้ว ความผิดพลาดที่ดูเหมือนว่าร้ายแรงที่สุด แต่กลับกลายเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการได้รับของรางวัล คือการผิดพลาดในการเฉลยราคาก่อนเล่นเกม มีหลายต่อหลายครั้งที่ผู้เล่นในรายการได้รับของรางวัลในรอบนั้นเลยโดยที่ไม่ต้องออกแรงหรือใช้สมองแม้แต่เซลล์เดียว เพียงเพราะว่าอุปกรณ์ทำงานผิดพลาด เช่น เปิดตัวเฉลยก่อนเวลา หรือเปิดตัวโจทย์ แต่กลับกลายเป็นตัวเฉลยแทน ด้วยความที่รายการถ่ายทำอย่างต่อเนื่อง แทนที่จะได้ยินเสียง “คัต!” จากโปรดิวเซอร์ ฝ่ายกำกับเวที หรือพิธีกร กลับกลายเป็นหน้าที่ของพิธีกรที่ต้องแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าด้วยการแจกของรางวัลชิ้นนั้นไปเลยแบบฟรี ๆ

แต่ครั้งที่แจกของรางวัลให้ฟรี ๆ แบบอัปยศที่สุด คือครั้งที่วัยรุ่นหนุ่มท่านหนึ่งได้ขึ้นมาเล่นเกมทายราคาสินค้า ใช้วิธีการ “มือลั่น” ทำทีว่าเผลอกดปุ่มเฉลยคำตอบ (แต่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าต้องการทำ!) เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้น จะสั่งคัตแล้วเปลี่ยนเกมก็ไม่ได้ จะไล่แห่ก็ไม่ได้ พิธีกรอย่าง บ๊อบ บาร์เคอร์ ในขณะนั้นได้ตัดสินใจยกของรางวัลในรอบนั้นให้กับวัยรุ่นหนุ่มผู้นี้ไปเลย

7. ลิขสิทธิ์ที่ไปทั่วโลก

ด้วยความนิยมที่มีอย่างมหาศาลต่อตัวรายการ The Price Is Right ทำให้มีการซื้อขายลิขสิทธิ์รายการ กระจายออกไปในหลากหลายประเทศ โดยประเทศแรก ๆ ที่ได้ซื้อลิขสิทธิ์ The Price Is Right ไปผลิตเอง คือสหราชอาณาจักร ซื้อลิขสิทธิ์และเริ่มผลิตตั้งแต่ปี 1984 หลังจากนั้น มีอีกหลากหลายประเทศที่มีการซื้อลิขสิทธิ์รายการไปผลิต อาทิ เปรู, อิตาลี, อินโดนีเซีย, สเปน และ ออสเตรเลีย

สำหรับประเทศไทย มีการซื้อลิขสิทธิ์รายการมาผลิตถึงสองครั้งด้วยกัน โดยครั้งแรก เจเอสแอลได้ซื้อลิขสิทธิ์มาผลิตภายใต้ชื่อรายการภาษาไทยว่า “ทายได้ให้เลย” ออกอากาศในช่วงระหว่างปี 2546 – 2547 ดำเนินรายการโดยคุณบ๊อบ ณัฐธีร์ โกศลพิศิษฐ์ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบก (ช่อง 5) ช่วงเวลาเย็น ๆ ของวันอาทิตย์

ครั้งที่ 2 ที่มีการซื้อลิขสิทธิ์มาผลิตในประเทศไทย ทีวีธันเดอร์เป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์การผลิต ผลิตภายใต้ชื่อรายการภาษาไทยว่า “ราคาพารวย” ซึ่งในยุคที่ทีวีธันเดอร์เป็นผู้ผลิตนั้น มีการออกอากาศอยู่ 2 ช่วงเวลาด้วยกัน กล่าวคือ ครั้งแรกของการออกอากาศ ออกอากาศในช่วงระหว่างปี 2558 ถึงต้นปี 2563 ทางสถานีโทรทัศน์ทรูโฟร์ยู (True4U) ออกอากาศทุกวันจันทร์ถึงพฤหัสบดี ช่วงเวลาประมาณ 20:00 น.

หลังจากนั้น ได้ยุติการผลิตรายการเป็นการชั่วคราว ได้ย้ายสถานีออกอากาศ จากทรูโฟร์ยู เป็นสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 (ในเครืออาร์เอส) โดยออกอากาศทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลาประมาณ 18.00 น. ภายหลังได้ย้ายเวลาและลดวันออกอากาศลง เหลือเพียงวันเสาร์และอาทิตย์ เวลาประมาณ 14.40 น. ซึ่งการย้ายสถานีการออกอากาศมายังช่อง 8 นี้ เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2563 จนล่าสุดได้ยุติการออกอากาศเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา

สำหรับเวอร์ชันที่ผลิตโดยทีวีธันเดอร์นั้น ได้ตัวน้าเน็ก เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ทำหน้าที่พิธีกรดำเนินรายการ

8. เคยแจกเงินล้านมาแล้ว!

ทุกๆ ที The Price Is Right จะแจกของรางวัลต่าง ๆ นานา ในแต่ละเทป รวมมูลค่าแล้วถือว่ามากพอสมควร ถึงแม้ในรอบแจ็กพอตของรายการ (ซึ่งรายการใช้ชื่อรอบว่า Showcase) จะแจกเยอะ แจกแหลก แจกแบบรวมมิตร ทั้งของใช้ภายในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงรถยนต์ และตั๋วเครื่องบิน แต่มันก็ยังไม่สาแก่ใจของผู้ผลิตรายการ จนเกิดช่วงเวลาสัปดาห์พิเศษที่ใช้ชื่อว่า “The Price is Right $1000000 Spectacular” ขึ้นมา เป็นการแจกเงินล้านเหรียญให้กับผู้เข้าแข่งขัน ด้วยกติกาที่ง่ายแสนง่าย (แต่บางครั้งก็ไม่ได้ง่ายดายขนาดนั้น)

ช่วงเวลา The Price is Right $1000000 Spectacular นี้ เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2003 ในยุคที่ บ๊อบ บาร์เคอร์ ทำหน้าที่พิธีกรประจำรายการ โดยกติกาการแจกเงินล้านเหรียญนั้นไม่ยากเย็นจนเกินไป คือต้องทำตามกติกาของเกมนั้น ๆ โดยจะต้องทำให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด หรือภายในจำนวนครั้งที่กำหนดไว้ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นเกมอะไร

อย่างตัวอย่างที่เห็นนี้ คือเกม Clock Game ทายราคาสินค้าทั้งสองชิ้นให้ถูกต้องภายในเวลา 30 วินาที ถึงจะชนะเกมและได้ของรางวัลกลับบ้าน แต่ถ้าต้องการเงินรางวัลพิเศษ 1 ล้านเหรียญ จะต้องทายราคาสินค้าทั้งสองชิ้นให้ถูกต้อง ภายในเวลา 10 วินาที ถ้าทำได้ทันเวลา ก็คว้าเงินล้านกลับบ้านไปได้เลย และมีผู้ที่ทำสำเร็จจริง ๆ ด้วยการทายราคาสินค้าทั้ง 2 ชิ้นเสร็จภายในเวลา 8 วินาที

ปัจจุบัน การแจกเงินล้านในช่วงเวลาสัปดาห์พิเศษแบบนี้ไม่มีให้เห็นกันแล้ว โดยครั้งสุดท้ายที่ได้เห็นรูปแบบพิเศษ The Price is Right $1000000 Spectacular คือช่วงปี 2008 ในยุคสมัยที่ ดรูว์ แครีย์ ทำหน้าที่พิธีกรดำเนินรายการ

และนี่คือ 8 เรื่องเด็ด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ The Price Is Right รายการเกมโชว์ทายราคาสินค้าที่ยังยืนหยัด ออกอากาศผ่านทางหน้าจอทีวีสหรัฐอเมริกามานานถึง 50 ปี และเพิ่งครบรอบปีที่ 50 เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา หลากหลายแง่มุม หลากหลายเรื่องราว ที่เกี่ยวข้องกับรายการระดับตำนาน หวังว่าจะทำให้คุณผู้อ่านได้ทราบในเรื่องบางเรื่องที่ยังไม่รู้ได้ไม่มากก็น้อย และหวังว่า รายการระดับตำนานรายการนี้ จะยังคงมีการผลิตให้คุณผู้ชมได้รับชมอย่างต่อเนื่องไปอีกหลาย ๆ สิบปี ตราบใดที่เรา ๆ ท่าน ๆ ยังมีลมหายใจอยู่

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส