วันที่ 11 กันยายน 2001 เป็นวันที่ประวัติศาสตร์การเมืองโลกมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาถูกโจมตีหัวใจของประเทศอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนจากการที่กลุ่มหัวรุนแรงยึดเครื่องบินพาณิชย์เพื่อพุ่งชนอาคารสำคัญต่าง ๆ และเริ่มยุคสมัยแห่งความหวาดกลัวและสงครามต่อต้านการก่อการร้ายไปทั่วโลกในเวลาต่อมา
ในปีนี้เนื่องในวาระครบรอบ 20 ปีเหตุการณ์ดังกล่าว เราขอกลับมาสำรวจซ้ำที่มาและที่เป็นไปผ่านหนังที่จะทำให้เข้าใจทุกแง่มุมของเหตุการณ์ 9/11 จากอดีตจนถึงปัจจุบัน
ช่วงปี 1970-2000
The Kite Runner (2007) มุมมองจากอัฟกานิสถาน
เรื่องราวผ่านหลายยุคสมัยในอัฟกานิสถาน ทั้งการล่มสลายของระบอบกษัตริย์ในช่วงปี 1970 ไปจนถึงการแทรกแซงของกองทัพโซเวียตเพื่อแผ่ขยายอิทธิพลในช่วงปี 1980 นำมาสู่การอพยพจำนวนมากของผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันไปยังประเทศอื่น เช่น ปากีสถานและสหรัฐอเมริกา จนมาถึงการเข้าสู่ยุคการปกครองของกลุ่มตอลิบานในช่วงปี 1990 ในที่สุด หนังเล่าผ่านสายตาของเด็กชายชื่ออาเมียร์และเพื่อน ๆ ของเขา
ผลงานการกำกับของ มาร์ก ฟอร์สเตอร์ (Marc Forster) จากนิยายขายดีในปี 2003 ของ คาเล็ด ฮอสเซนี (Khaled Hosseini) ลูกครึ่งอัฟกัน-อเมริกัน ที่ถ่ายทอดเรื่องราวการเปลี่ยนผ่านของอัฟกานิสถานผ่านเรื่องราวดราม่าได้อย่างแยบยลและทำให้เข้าใจความคิดวิถีชีวิตของประชาชนอัฟกันก่อนที่จะกลายมาเป็นตอลิบานและอัฟกานิสถานกลายเป็นแหล่งพักพิงของกลุ่มอัลกออิดะห์ของ โอซามา บิน ลาเดน (Osama Bin Laden) ผู้นำการก่อการร้ายมากขึ้นด้วย
Charlie Wilson’s War (2007) มุมมองจากสหรัฐอเมริกา
เรื่องราวการเข้าไปสนับสนุนกลุ่มมุสลิมในอัฟกานิสถานของสหรัฐอเมริกาเพื่อต่อต้านอิทธิพลคอมมิวนิสต์ ในช่วงสงครามโซเวียตปี 1980 ผ่านสายตาของสมาชิกสภาอย่าง ชาร์ลี วิลสัน ผู้รักสนุกแต่ได้รับโอกาสลงพื้นที่ในตะวันออกกลาง ด้วยความรู้สึกเห็นใจคนในพื้นที่จึงได้กลายเป็นผู้ผลักดันนโยบายต่างประเทศสนับสนุนอาวุธและเงินทุนการทำสงครามต้านคอมมิวนิสต์ในอัฟกานิสถานในท้ายสุด จนกลายเป็นชัยชนะครั้งแรกเหนือโซเวียตในสงครามนี้ ทว่าการสนับสนุนระบบการศึกษาและพัฒนาอัฟกานิสถานหลังสงครามของวิลสันกลับถูกปฏิเสธ และหนังได้ทิ้งเค้าลางบางอย่างไว้ว่านี่จะเป็นการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ผิดพลาดอันจะส่งผลในอนาคต
หนังเชื่อมโยงให้เห็นว่าสหรัฐอเมริกาเป็นผู้สร้างกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงทางอ้อมในช่วงยุค 1980 อย่างไร จนกลับมาทำร้ายตัวเองในภายหลัง ดูเรื่องนี้จะเข้าใจเหตุการณ์ที่มาที่ไปต่าง ๆ ได้มากขึ้น ผ่านความบันเทิงที่ลงตัวและนักแสดงคนดังมากมายทั้ง ทอม แฮงก์ส (Tom Hanks) จูเลีย โรเบิร์ตส (Julia Roberts) ฟิลิป ซีย์มัวร์ ฮอฟแมน (Philip Seymour Hoffman) และ เอมี อดัมส์ (Amy Adams) และยังเป็นผลงานการเขียนบทของยอดฝีมืออย่าง แอรอน ซอร์กิน (Aaron Sorkin) รวมถึงเป็นผลงานเรื่องสุดท้ายของผู้กำกับ ไมก์ นิโคลส์ (Mike Nichols) อีกด้วย
ช่วงปี 2001-2010
World Trade Center (2006) วันมหาวินาศมุมมองจากภาคพื้นดิน
ในวันที่ 11 กันยายน 2001 ที่อาจเรียกได้ว่าวันมหาวินาศ มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย ส่วนหนึ่งคือเรื่องจริงของตำรวจการท่าที่ถูกเรียกเข้าไปกู้ภัยในตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์หลังจากที่เครื่องบินลำแรกพุ่งชนตึก และเจ้าหน้าที่หลายนายต้องกลายเป็นผู้ประสบภัยเสียเองหลังจากตึกเริ่มถล่มลงมา พวกเขาติดอยู่ในซากอาคารรอการช่วยเหลือ พูดคุยกันในความมืดเพื่อให้กำลังใจและดูและกันและกันแม้จะรู้ว่าโอกาสรอดนั้นมีไม่มากแล้ว
คงไม่มีหนังเรื่องไหนจะเล่ามุมมองของคนที่อยู่ในตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในวันนั้นได้ดีเท่านี้อีกแล้ว ผลงานดราม่าจากผู้กำกับรุ่นใหญ่ของวงการอย่าง โอลิเวอร์ สโตน (Oliver Stone) ที่จะจับแต่ละงานต้องมีความไม่ธรรมดาทั้งนั้น เรื่องนี้ยังได้ นิโคลัส เคจ (Nicolas Cage) และ ไมเคิล พีนา (Michael Peña) มารับบทที่อิงจากบุคคลจริงอย่าง จ่าจอห์น แมกลาฟลิน (John McLoughlin) และเจ้าหน้าที่วิล จิเมโน (Will Jimeno) ด้วย
United 93 (2006) วันมหาวินาศมุมมองจากท้องฟ้า
จากพื้นดินมาดูบนท้องฟ้ากันบ้าง ในวันที่ 11 กันยายน 2001 เครื่องบินของสายการบินอเมริกัน แอร์ไลน์ส และยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส จำนวน 4 ลำ ได้ถูกกลุ่มก่อการร้ายทำการยึด 3 ลำแรกพุ่งชนเข้ากับตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ และอาคารเพนตากอนของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ลำสุดท้ายคือ ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส ไฟลต์ 93 หลังจากผู้โดยสารและลูกเรือได้รับทราบชะตากรรมของผู้โดยสารในเครื่องลำก่อนหน้าพวกเขา พวกเขาจึงตัดสินสู้แบบยอมตายเพื่อยึดเครื่องบินกลับคืนจากกลุ่มผู้ก่อการร้าย ส่งผลให้เครื่องบินลำนี้ที่เดิมอาจต้องพุ่งชนทำเนียบขาวตกลงบนพื้นที่ห่างไกลเสียก่อน แลกกับชีวิตของวีรบุรุษและวีรสตรีที่เป็นพลเมืองคนธรรมดาทั้งลำ
เรื่องราวแบบวีรกรรมที่ต้องชื่นชมของเหล่าพลเมืองคนธรรมดาที่ไม่ใช่ทหาร แต่เสียสละชีวิตเพื่อป้องกันความเสียหายขนาดใหญ่ที่จะตามมาแค่ตัวเรื่องจริงก็เป็นวัตถุดิบชั้นดีแล้ว ยิ่งได้ผู้กำกับ พอล กรีนกลาส (
Paul Greengrass) จากหนังแฟรนไชส์ ‘Bourne’ มาใช้สไตล์กล้องแฮนด์เฮลด์ตามถนัดมาขับทั้งดราม่าและธริลเลอร์ด้วยแล้วยิ่งอินเหมือนอยู่บนเครื่องด้วยเลย หนังเรื่องนี้ยังช่วยต่อภาพใหญ่ของเหตุการณ์ 9/11 ให้สมบูรณ์ขึ้นด้วย
25th Hour (2002) บรรยากาศแห่งความเงียบงัน หลังการสูญเสีย
หนังจะเรื่องราวของ มอนตี้ นักค้ายาในนิวยอร์กที่กำลังจะต้องเข้ารับโทษในเรือนจำ เขาอาศัยช่วงเวลาสุดท้ายนอกคุกในการไปพบคนรู้จักของเขาทั้งหลายพร้อมกับดอยล์สุนักข้างถนนที่เขาช่วยชีวิตเอาไว้ ไม่ว่าจะพ่ออดีตนักดับเพลิงที่ห่างเหินและติดเหล้า คนรักของเขารวมถึงเพื่อน ๆ ของเขาที่ต่างมีปมปัญหาของตนเอง และอย่างยิ่งคือตัวเขาเองที่เก็บความเกลียดชังเมืองแห่งนี้รวมถึงความเกลียดชังตัวเองไว้อย่างท่วมท้นจนแทบระเบิดออกมาที่ไม่เลือกทางสุจริตก่อนที่จะโดนจับ
แม้เนื้อหาจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับ 9/11 โดยตรง แต่หนังของผู้กำกับ สไปก์ ลี (Spike Lee) ที่ได้ เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน (Edward Norton) นำแสดงเรื่องนี้ ได้ถ่ายทำในช่วงปี 2001 และเก็บทุกบรรยากาศของเมืองในขณะนั้นเอาไว้ ถ้าเราอยากรู้ว่าความรู้สึกของผู้คนในช่วงเวลานั้นเป็นอย่างไรก็ต้องดูจากเรื่องนี้ นี่คือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าในตนเอง ถึงขนาดมีการเปรียบเปรยว่ามันมีคุณค่าไม่ต่างจาก ‘Rome, Open City’ (1945) ของ โรแบร์โต รอสเซลลินี (Roberto Rossellini) ที่ถ่ายทำหลังจากนาซีเข้ายึดครองกรุงโรมทันทีเลยด้วย นักวิจารณ์ที่มีชื่อเสียงหลายคนยกให้มันเป็นหนัง 9/11 ที่ดีที่สุดเลยด้วยซ้ำทั้งที่ไม่ได้มีเนื้อหาถึงเหตุการณ์นั้นโดยตรง
Extremely Loud and Incredibly Close (2011) แสวงหาการเยียวยาจิตใจของผู้รอดชีวิตที่อยู่ข้างหลัง
หลังจากสูญเสียคุณพ่อไปในเหตุการณ์ 9/11 ได้ราว 1 ปี ออสการ์ เด็กชายวัย 10 ขวบใช้เวลาทำใจยอมรับการสูญเสียอยู่นาน จนเขาเริ่มกลับมาทำภารกิจตามล่าสมบัติที่พ่อของเขาเคยเล่นกับเขาไปรอบ ๆ เมือง เสมือนเป็นมรดกและความทรงจำร่วมกันครั้งสุดท้าย จากคำใบ้ของพ่อ ออสการ์ได้ออกไปพบผู้คนมากมายทั่วเมือง เพื่อสุดท้ายเขาจะได้เรียนรู้และยอมรับการสูญเสีย
หนังถ่ายทอดมุมมองของผู้ที่สูญเสียคนในครอบครัวจากเหตุการณ์ 9/11 รวมถึงผลกระทบทั้งด้านชีวิตและจิตใจในช่วงเวลาไม่กี่ปีหลังจากนั้นได้อย่างละเมียดละไม โดยเฉพาะเมื่อผ่านมุมมองของเด็กชายที่ยังไม่เข้าใจเรื่องความตายอย่างถ่องแท้ หนังถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ในปีที่เข้าฉาย จากผลงานการแสดงล้ำค่าของ ทอม แฮงก์ส (Tom Hanks) และแซนดรา บูลล็อก (Sandra Bullock) ในบทคุณพ่อคุณแม่ รวมถึงนักแสดงเด็ก โธมัส ฮอร์น (Thomas Horn) ในบทออสการ์ จากฝีมือการกำกับของ สตีเฟน ดาลดรี (Stephen Daldry) ที่เคยฝากฝีมือไว้ในหนัง ‘Billy Elliot’ (2000) และ ‘The Reader’ (2008)
อีกเรื่องที่ไม่ดังมาก แต่อยากแนะนำให้ดูเพื่อเข้าใจความเจ็บปวดของคนที่เหลืออยู่คือ ‘Reign Over Me’ (2007) ผลงานการแสดงไม่ขายขำของ อดัม แซนด์เลอร์ (Adam Sandler) ประกบกับ ดอน ชีเดิล (Don Cheadle) เล่าเรื่องชายที่สูญเสียภรรยาและลูกไปใน 9/11 และไม่สามารถกอบกู้จิตใจตัวเองกลับมาได้หลังจากนั้น
Fahrenheit 9/11 (2004) การเมืองเรื่องของอำนาจ การแสวงหาความจริงท่ามกลางความโป้ปด
จริงแล้วเรื่องราวของ 9/11 นั้นก่อให้เกิดสารคดีจำนวนมาก และหลากหลายเนื้อหา แต่สารคดีที่อย่างไรก็คงไม่พูดถึงไม่ได้คงเป็นผลงานการสำรวจหลากหลายแง่มุมจากเหตุการณ์นั้นทั้งด้านการเมือง นโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จนถึงทฤษฎีต่าง ๆ ที่เป็นข้อมูลจริงบ้างและสมคบคิดกันไปเองบ้าง ผ่านสายตาของ ไมเคิล มัวร์ (Michael Moore) นับตั้งแต่วันที่เครื่องบินชนตึก จนถึงการตัดสินใจโจมตีอิรักและอัฟกานิสถานของสหรัฐอเมริกา ด้วยสำเนียงการเล่าที่สุดแสนจะแสบสัน
รางวัลปาล์มทองคำสำหรับหนังสารคดีไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ นั่นแสดงถึงความเป็นหนังแห่งยุคด้วยตัวมันเอง ที่สำคัญมันเป็นหนังสารคดีที่ดูสนุกด้วยลีลาการเล่าหลากหลายแบบฉบับของมัวร์ ถึงจะมีหลายอย่างที่อคติเอามาก ๆ แต่ก็สัมผัสได้ถึงอารมณ์อันคุกรุ่นและชวนถกเถียงในสังคมอเมริกันและสังคมโลกในห้วงเวลานั้นได้อย่างดี และอาจเชื่อมโยงให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าสงครามในอิรักและอัฟกานิสถานหลังจากนั้นเกิดขึ้นอย่างไร
The Hurt Locker (2008) จากอิรักสู่อัฟกานิสถาน สงครามแห่งความว่างเปล่า
ปฏิบัติการทางทหารในอิรักเพื่อตอบโต้สงครามการก่อการร้ายอันเป็นผลพวงจาก 9/11 ทำให้เกิดการสู้รบแบบกองโจรต่อต้านกองทัพสหรัฐอเมริกา จ่าวิลเลียม เจมส์ เป็นหัวหน้าหน่วยกู้ระเบิดคนใหม่ที่ต้องรับมือกับความหวาดระแวงและแรงกดดันในสถานการณ์ที่แยกมิตรศัตรูได้ลำบาก ทั้งความไม่เชื่อใจของลูกทีมต่อตัวเขาที่มากขึ้น นำมาสู่ปัญหาหลายครั้ง แม้เขาจะปฏิบัติงานครบกำหนดและได้กลับบ้านแต่สุดท้ายเขากลับรู้สึกว่างเปล่าและต้องการสู่สนามรบอีกครั้ง
หนังรางวัลออสการ์ที่เพิ่งถูกขึ้นทะเบียนให้อนุรักษ์เป็นสมบัติของชาติเมื่อปี 2020 ของผู้กำกับหญิงรางวัลออสการ์คนแรกอย่าง แคทริน บิเกโลว์ (Kathryn Bigelow) หนังสามารถจับหัวใจของการส่งทหารออกไปรบในอิรัก รวมถึงพื้นที่อื่น ๆ ในตะวันออกกลางได้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งมุมมองความว่างเปล่าของทหารที่ไม่รู้มาทำอะไรกันแน่ และมุมมองของทหารที่เสพติดสงคราม ผ่านสถานการณ์ที่ตื่นเต้น และเติมเต็มภาพของผลพวงหลัง 9/11 ได้อย่างดีเยี่ยม ยังเป็นผลงานการแสดงที่น่าจดจำของ เจเรมี เรนเนอร์ (Jeremy Renner) และ แอนโธนี แมกคี (Anthony Mackie) ก่อนจะไปเฉิดฉายกับหนังซูเปอร์ฮีโรมาร์เวลอีกด้วย
นอกจากนี้ยังไม่ควรพลาดหนังสงครามในอัฟกานิสถานอีกหลายเรื่องอย่าง ‘Lone Survivor’ (2013) ’12 Strong’ (2018) และ ‘The Outpost’ (2020) เพื่อเติมเต็มภาพสงครามในอัฟกานิสถานด้วย
Zero Dark Thirty (2012) ปิดฉากความแค้น 10 ปีด้วยกระสุนปืน
ปฏิบัติการไล่ล่าหาตัว โอซามา บิน ลาเดน (Osama Bin Laden) ผู้นำกลุ่มอัลกออิดะห์ที่วางแผนการก่อการร้าย 9/11 ของเหล่าหน่วยงานข่าวกรองและกองทัพสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่ปี 2003 ผ่านความล้มเหลวหลายครั้ง จนกระทั่งสามารถระบุตำแหน่งที่หลบซ่อนตัวของบิน ลาเดน นำมาสู่ปฏิบัติการบุกสังหารของหน่วยซีลทีม 6 ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2011 ในที่สุด
บางคนว่ามันคือจุดจบ บางคนว่ามันแค่จุดเปลี่ยนที่ยังไม่ใช่จุดจบ แต่ในที่สุดเรื่องราวความแค้นต่อชายที่สหรัฐอเมริกาต้องการตัวมากที่สุดก็ได้สิ้นสุดลง หลังความกลัวการก่อการร้ายที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกนานนับ 10 ปี ซ้ำยังนำมาสู่สงครามเต็มรูปแบบในอิรักและอัฟกานิสถานด้วย หนังเรื่องนี้เป็นผลงานอีกครั้งของผู้กำกับรางวัลออสการ์อย่าง แคทริน บิเกโลว์ (Kathryn Bigelow) ร่วมด้วยนักแสดงดังมากมายทั้ง เจสซิกา แชสเทน (Jessica Chastain) และ คริส แพรตต์ (Chris Pratt) เป็นต้น ถ้าพูดถึงปฏิบัติการจับตายบิน ลาเดน อย่างไรแล้วก็ต้องเป็นเรื่องนี้เท่านั้นจริง ๆ
ช่วงปี 2011 ถึงปัจจุบัน
The Mauritanian (2021) ได้เวลาสังคายนาวีรบุรุษจากตะวันตก
หลังการตายของบิน ลาเดน สังคมโลกเริ่มตั้งคำถามมากขึ้นว่าการทำสงครามหลังจากนี้มีเพื่ออะไร เมื่อศัตรูหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกาได้ตายลงแล้ว การรื้อปฏิบัติการต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรเริ่มถูกนำมาตรวจสอบอีกครั้งทั้งวิธีการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและอื่น ๆ อีกมากมาย
หนังเรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริงของนักโทษชาวมอริเตเนียในแอฟริกาที่ชื่อ โมฮัมเหม็ดดู อูลด์ ซาลาฮี (Mohamedou Ould Salahi) ซึ่งถูกทางสหรัฐอมริกาจับกุมในข้อหาร่วมก่อการร้าย 9/11 หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวเพียง 2 เดือน โดยทำการจับข้ามน้ำข้ามทะเลมากักขังไว้ที่คุกกวนตานาโมในคิวบาอันลือชื่อฉาวโฉ่ในการทรมานนักโทษให้สารภาพ โมฮัมเหม็ดเองก็ถูกบังคับให้สารภาพด้วยการถูกทรมานและล่วงละเมิดร่างกายอย่างบอบช้ำ จนกระทั่งมีทนายอเมริกันเข้าไปช่วยต่อสู้คดีให้เขาจนสุดท้ายก็สามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์สำเร็จ ศาลยกฟ้องให้หปล่อยตัวเขาในปี 2010 แต่ด้วยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาไม่ต้องการถูกตราหน้าว่าใส่ร้ายผู้บริสุทธิ์จึงทำการขออุทธรณ์คดี ทำให้แม้บิน ลาเดนจะถูกสังหารไปแล้ว สงครามในอิรักก็จบไปแล้ว แต่เขายังคงติดคุกอยู่อย่างไร้ความผิดต่อไปอีกถึง 7 ปี กว่าจะได้ออกมาเป็นอิสระในปี 2016 รวมแล้วเขาต้องติดคุกและถูกทรมานฟรีมานานถึง 14 ปีเลยทีเดียว
คุกกวนตานาโมในคิวบา เป็นประเด็นฉาวโฉ่ที่เป็นผลพวงของปฏิบัติการเอาคืนของสหรัฐอเมริกาที่กลายเป็นข่าวเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนไปทั่วโลก หนังเรื่องนี้น่าจะปิดท้ายเรื่องราว 20 ปีของ 9/11 ได้อย่างสมบูรณ์ว่าเหยื่อของ 9/11 วันนั้นมีหลากหลายมิติมากมายขนาดไหน และบางคนเองก็ต้องรอยาวนานกว่าช่วงเวลาของสงครามจริง ๆ เสียอีกจึงจะได้รับความเป็นธรรม รวมถึงพระเอกในประเด็นหนึ่งก็อาจเป็นตัวร้ายในอีกประเด็นหนึ่งได้ หนังเป็นผลงานกำกับที่รับเสียงชื่นชมของ เควิน แมกโดนัลด์ (Kevin Macdonald) จาก ‘The Last King of Scotland’ (2006) โดยได้ดาราดังอย่าง โจดี ฟอสเตอร์ (Jodie Foster) มารับบททนายความ ร่วมด้วย เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ (Benedict Cumberbatch) ในบทพันเอกของสหรัฐอเมริกา
หลังจากสงครามยาวนานในที่สุดสหรัฐอเมริกาก็หาเหตุผลที่คุ้มค่าทางการเมืองในการตั้งฐานในอัฟกานิสถานได้ยากขึ้น จนนำมาสู่นโยบายการถอทหารออกจากพื้นที่ และในปี 2021 กลุ่มตอลิบานได้กลับมาเรืองอำนาจอีกครั้ง ภายใต้การจับตามองจากชาวโลกว่าพวกเขาเปลี่ยนไปแล้วจริง ๆ ตามที่อ้าง หรือยังคงสอดไว้ความรุนแรงและเชื้อแห่งการก่อการร้ายเอาไว้เช่นเดิม
แต่ที่แน่ ๆ การใช้กฎหมายอิสลามอย่างเคร่งครัดย่อมสร้างปัญหาให้กับคนในพื้นที่ที่คุ้นชินกับอิสระเสรีอันหอมหวานที่สหรัฐอเมริกาเคยมอบให้มาเป็นสิบปี และเราไม่มีทางรู้เลยว่า สุดท้ายนี่คือการวนลูปอีกครั้งคล้ายตอนที่สหรัฐอเมริกาเดินเกมระหว่างประเทศผิดพลาดในช่วง 1980 อีกหรือไม่ วันมหาวินาศครั้งต่อไปอาจจะเกิดหรืออาจจะไม่เกิดก็ได้ ถึงตรงนี้ไม่มีใครตอบได้ทั้งสิ้น
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส