ทีมงาน beartai Buzz ขอแสดงความอาลัยยิ่งต่อการจากไปของ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ (ทมยันตี, ลักษณวดี, กนกเรขา, โรสลาเรน, มายาวดี,วิม-ลา) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2555 นักเขียนชั้นครูผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเขียนรุ่นหลังอีกหลายต่อหลายท่าน และเป็นนักเขียนในดวงใจของนักอ่านอีกมากมาย โดยคุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2564 สิริอายุ 85 ปี
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2493 ‘ตุ๊กตายอดรัก’ เรื่องสั้นเรื่องแรกที่ลงนิตยสาร ‘ศรีสัปดาห์’ ด้วยวัยเพียง 14 ปี ถือเป็นผลงานชิ้นแรกที่บุกเบิกเส้นทางนักเขียนของคุณหญิงวิมลในครั้งนั้น 5 ปีหลังจากนั้นวงการนักเขียนและนักอ่านก็ได้มีโอกาสต้อนรับ ‘ในฝัน’ นวนิยายเรื่องแรกในนามปากกา ‘โรสลาเรน’ ก่อนจะเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในนาม ‘ทมยันตี’ ซึ่งหากจะกล่าวถึงผลงานต่าง ๆ ของ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ และเส้นทางชีวิตของนักเขียนชั้นครูท่านนี้ เราคงจะเขียนเป็นหนังสือออกมาได้เป็นเล่ม ๆ ซึ่งในสามผลงานเลื่องชื่อที่ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ก็มาพร้อม ‘วรรคทอง’ ที่จับหัวใจผู้อ่านมากมาย
ในฝัน (โรสลาเรน)
นิยายเรื่องแรกภายใต้นามปากกา โรสลาเรน นามปากกาที่นำมาจากชื่อนางเอกซึ่งเป็นนักร้องโอเปร่าในเรื่องสั้นของหลวงวิจิตรวาทการ ถูกตีพิมพ์ในนิตยสารศรีสัปดาห์ จนได้รับความนิยมจากผู้อ่านอย่างรวดเร็ว ครองความนิยมมายาวนานจนถึงปัจจุบัน และถูกสร้างเป็นละครถึง 3 เวอร์ชัน ในปี พ.ศ. 2523 ออกอากาศทางช่อง 5, ปี พ.ศ. 2535 ออกอากาศทางช่อง 3, และปี พ.ศ. 2549 ออกอากาศทาง ช่อง 9 ซึ่งในเวอร์ชันปี พ.ศ. 2549 ได้นำกลับมารีรันให้ได้ชมกันอีกครั้งในปี พ.ศ. 2559 ทาง PPTV HD36
ในฝันเป็นเรื่องราวของ ‘เจ้าชายพิรียพงศ์’ รัชทายาทแห่งแคว้นพรหมมินทร์ เดินทางมาศึกษาเล่าเรียนวิชาสำหรับกษัตริย์ที่แคว้นกุสารัฐ และได้เขียนจดหมายติดต่อกับ ‘เจ้าหญิงพรรณพิลาศ’ พี่สาวของตนเพื่อเล่าเรื่องราวทุกข์สุขต่าง ๆ ให้ฟัง เนื้อหาของเรื่องได้แรงบันดาลใจมาจากการรวมชาติของรัสเซียในอดีต รวมถึงยังหยิบเค้าโครงของประวัติศาสตร์โลกช่วงสําคัญเกี่ยวกับสนธิสัญญาแวร์ซายส์ และสนธิสัญญาตริอานอง (Traité de Trianon) นํามาสอดแทรกเอาไว้ได้อย่างกลมกลืน สำนวนการเขียนเต็มไปด้วยชั้นเชิงภาษา กลยุทธ์และมุมมองทางการทูตและมี ‘วรรคทอง’ ที่ทำให้นักอ่านจดจำตราตรึงมาถึงทุกวันนี้
“หม่อมฉันไม่มีทั้งอํานาจราชศักดิ์ ปราศจากเสน่ห์ที่จะตรึงตราตรึงใจผู้ใด ไม่มีแม้กระทั่งรูปโฉมทั้งมวล จะมีก็แต่ หัวใจรักที่ไม่เคยอ่อนลงด้วยความงามหรือความยิ่งใหญ่ของใครอื่น หัวใจที่ยังคงแน่วแน่ไม่เปลี่ยนแปลงด้วยเวลาและความเหินห่าง หัวใจดวงนั้นมีทั้งความจงรัก ที่ไม่มีผู้ใดเสมอเหมือนและภักดีที่พูดได้อย่างเต็มปากว่า ไม่มีผู้ใดเทียบเท่า หัวใจดวงนั้นได้วางไว้แทบเบื้องบาทจากครั้งเยาว์วัยตราบจนกระทั่งบัดนี้!”
ไม่น่าเชื่อว่านี่คือวรรคทองในวรรณกรรมจากปลายปากกาของนักเขียนที่มีอายุเพียง 19 ปี ในขณะนั้น
ดั่งดวงหฤทัย (ลักษณวดี)
เป็นบทประพันธ์ชิ้นเอกภายใต้นามปากกา ลักษณวดี นามปากกาที่นำชื่อมาจากนางในวรรณคดีและเป็นมเหสีของพระลอดิลกราชจากวรรณคดีเรื่อง ‘ลิลิตพระลอ’ ดั่งดวงหฤทัย ถูกนำมาสร้างเป็นละครถึง 3 ครั้งคือในปี พ.ศ. 2539 ออกอากาศทางช่อง 7, ปี พ.ศ. 2550 ออกอากาศทางช่อง 7, และปี พ.ศ. 2562 ออกอากาศทางช่อง 3
เล่าเรื่องราวของ ‘รังสิมันต์’ เจ้าหลวงแห่งแคว้นกาสิก กับ ‘เจ้าฟ้าหญิงทรรศิกา’ แห่งแคว้นพันธุรัฐ ไว้อย่างอ่อนหวาน โรแมนติกและมีวรรคทองที่ติดอยู่ในความทรงจำของผู้อ่านตลอดมา เป็นวรรคทองกินใจที่ไม่เพียงแต่นักอ่านทุกคนจะจดจำได้เท่านั้น หากแต่แฟนละครเรื่องนี้ก็จดจำวรรคทองเหล่านี้ได้ขึ้นใจ
“เธอ..มิใช่สายน้ำ แต่เธอเย็นฉ่ำชื่นหวาน เธอ..มิใช่ลำธาร แต่เธอไหลผ่านเนื้อหัวใจ ความรัก.. เสลาสลัก สวยใส
งามใดเล่างามใด เทียบได้งดงาม.. ความรัก จรดลึกในความทรงจำ ลึกล้ำย้ำรอยสลัก นิรันดรนั้น นานนัก.. แต่รักนี้นานกว่านั้น ”
คู่กรรม (ทมยันตี)
บทประพันธ์ชิ้นโบว์แดงภายใต้นามปากกา ทมยันตี ที่ถูกเขียนขึ้นมาถึง 2 ภาคด้วยกัน ทมยันตีเป็นนามปากกาที่นำมาจากชื่อของนางในวรรณคดีเรื่อง ‘พระนลคำหลวง’ พระราชนิพนธ์แปลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คุณหญิงวิมลเริ่มใช้นามปากกานี้ในการประพันธ์นวนิยายเรื่อง ‘รอยมลทิน’ เป็นเรื่องแรก แต่ผลงานที่สร้างชื่อเสียงภายใต้นามปากกานี้เห็นจะหนีไม่พ้นนวนิยายเรื่อง ‘คู่กรรม’ นวนิยายแนวโศกนาฏกรรมและวีรคติ การันตีได้จากการถูกนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ถึง 6 ครั้ง ภาพยนตร์ 4 ครั้งและละครเวที 2 ครั้ง ในคู่กรรมภาค 1 และเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ในคู่กรรมภาค 2
คู่กรรม ในครั้งที่เป็นละครโทรทัศน์ ออกอากาศทางช่อง 7 พ.ศ. 2533 ได้สร้างปรากฏการณ์ของวงการละครโทรทัศน์ขึ้นด้วยเรตติ้งสูงสุดอันดับ 1 คว้ารางวัลเมขลาและโทรทัศน์ทองคำในปีเดียวกัน และเมื่อครั้งที่ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ในปี พ.ศ. 2531 และ พ.ศ. 2538 ก็สามารถคว้ารางวัลตุ๊กตาทองในปีนั้น ๆ ไปได้อย่างไม่เกินความคาดหมาย เรียกได้ว่าไม่มีใครไม่รู้จัก ‘โกโบริ’ และ ‘อังศุมาลิน’ คู่รักที่เกิดมาเป็นคู่กรรมที่ความรักไม่มีวันสมหวังและจบลงด้วยการจากลากับวรรคทองสะเทือนใจที่ผู้อ่านไม่มีวันลืมเลือน
“โปรดไปรอ ที่ตรงโน้นบนท้องฟ้า ท่ามกลางดวงดาราในสวรรค์ ข้ามขอบฟ้าดาวระยับนับอนันต์ จะไปหาคุณบนนั้น ฉันสัญญา…”
คู่กรรมเป็นนวนิยายที่จบเศร้าและทำให้ผู้อ่านเสียน้ำตา ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าผลงานเลื่องชื่อของ คุณหญิงวิมล หรือที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในนามปากกา ทมยันตี มีมากมายเกินจะนับไหวและผู้อ่านที่เป็นแฟนคลับตัวยงที่เรียกได้ว่าเป็น ‘แฟนพันธุ์แท้ทมยันตี’ ก็จดจำวรรคทองเหล่านี้ได้ขึ้นใจ ซึ่งวรรคทองต่าง ๆ ในนวนิยายของทมยันตี บางประโยคก็นำมาจากบทกลอนในวรรณคดี หรือพระราชนิพนธ์เช่น
“แม้รักร่วมสวมใส่ไว้ติดกาย เมื่อใดวายสวาทวอดจึงถอดเอย.”…จาก อย่าลืมฉัน ในช่วงที่ ‘เขมชาติ’ ได้มอบแหวนดอกฟอร์เก็ตมีน็อตให้กับ ‘สุริยาวดี’ ซึ่งทมยันตีได้แรงบันดาลใจมาจากพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 5 ที่สลักลงบนกำไลมาศ ที่ทรงพระราชทานให้กับเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ และสลักคำกลอนเอาไว้ว่า “กำไลมาศชาตินพคุณแท้ ไม่ปรวนแปรเป็นอื่นย่อมยืนสี เหมือนใจตรงคงคำร่ำพาที จะร้ายดีขอให้เห็นเป็นเสี่ยงทาย ตาปูทองสองดอกตอกสลัก ตรึงความรักรับไว้อย่าให้หาย แม้รักร่วมสวมใส่ไว้ให้ติดกาย เมื่อใดวายสวาสดิ์วอดจึงถอดเอย”
แม้แต่ผู้เขียนเองก็จดจำวรรคทองจากนวนิยายเรื่องหนึ่งที่ชื่นชอบไว้กับเขาด้วยเหมือนกัน “ไม่ว่าความสมหวังหรือความผิดหวังต่างก็เป็นกำไรของชีวิต เว้นแต่ว่า ความสมหวังเป็นกำไรทางวัตถุในขณะที่ความผิดหวังเป็นกำไรทางจิตใจ ซึ่งจะทำให้เราเข้มแข็งขึ้นในกาลต่อไป “…จาก เพลงชีวิต
แม้ในปัจจุบันงานเขียนของทมยันตี จะไม่ปรากฏว่ามีการได้รับรางวัลสำคัญทางงานเขียนใด ๆ เพราะเธอเป็นนักเขียนที่ไม่เคยส่งผลงานเข้าประกวดและไม่ประสงค์ในรางวัลใด ๆ แต่ผลงานของเธอก็เป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง และเป็นนักเขียนที่มีสไตล์การเขียนที่หลากอรรถรสจากหลายนามปากกาที่มีผลงานและความสนุกสนานแตกต่างกันไป ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า แม้ในวันนี้จะมาถึงวาระสุดท้ายของชีวิต แต่ชื่อของทมยันตีจะอยู่ในความทรงจำของผู้อ่านไปแสนนาน
อย่าลืมฉัน…อย่าลืมวัน…เชยชิด..พิศมัย อย่าลืมวัน…อำลา..ด้วยอาลัย อย่าลืมใจ…ที่สั่งว่า…อย่าลืมกัน
…จาก ‘อย่าลืมฉัน’ ทมยันตี…
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส