มาทางสายรางวัลอย่างชัดเจน ด้วยเนื้อหาและการเล่าเรื่องที่ไม่เอาใจตลาด และไม่เน้นความบันเทิงเลย หนังให้รสชาติที่แตกต่างจาก Jobs เวอร์ชั่น แอชตัน คุทเชอร์ ปี 2013 อย่างมาก Steve Jobs เวอร์ชั่น ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์ กับ แดนนี่ บอยล์ หยิบเหตุการณ์ใหญ่ในชีวิตของ จอบส์ มาเล่าแบบแบ่งเป็น 3 องก์ คือตอนเปิดตัว แม็คอินทอช ปี 1984 เปิดตัว NEXT ปี 1988 และ iMac ปี 1998 หนังเล่าเหตุการณ์ตามเวลาจริงที่เกิดในช่วง 30 นาที ก่อนที่ จอบส์ จะออกไปหน้าเวที 2 ชั่วโมงของหนังเราจะได้เห็นจอบส์มีปากเสียงโต้เถียงกับลูกน้อง,ผู้ถือหุ้น และ ลูกเมีย แล้วแทรกด้วยเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในอดีต อย่างเช่นช่วงเริ่มต้นในโรงรถกับ วอซเนียค ตอนทาบทามสคัลลี่มาเป็น Ceo และตอนโดนบอร์ดโหวตให้เขาออกจากตำแหน่งประธานบริษัท
หนังเล่าเรื่องแบบให้คนรู้จัก จอบส์ อยู่แล้วดู ไม่ได้เดินเรื่องแบบหนังทั่วไป ไม่มีการแนะนำตัวละครใด ๆ ทั้งสิ้น ตลอด 2 ชั่วโมงมีแต่บทสนทนาล้วน ๆ แล้วมีการพูดถึงบุคคลที่ 3 – 4 – 5 เต็มไปหมด รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของแอปเปิ้ล พูดถึง บ๊อบ ไดแลน, เดอะ บีทเทิลส์ ไปเรื่อย เรียกว่าถ้าคนไม่มีพื้นฐานเรื่องราวของ จอบส์ หรือ แอปเปิ้ล มาก่อน เหวอแน่นอน หนังคุยกันตลอดไม่มีช่วงไหนเว้นให้เงียบได้เกิน 1 นาที เหมือนดูเรียลลิตี้ ภาพข่าว เราอยู่ในฐานะผู้สังเกตการณ์เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหลังเวทีก่อนการเปิดตัวแต่ละนวัตกรรมของ แอปเปิ้ล
ถึงแม้บทภาพยนตร์เวอร์ชั่นจากฝีมือ อารอน ซอร์กิน จะเป็นที่เชื่อมั่นจาก สตูดิโอและตัว สตีฟ วอซเนียค เพื่อนและผู้ก่อตั้งแอปเปิ้ลและเป็นที่ปรึกษาในเวอร์ชั่นนี้ แต่เรื่องราวในหนังก็ถูกเพิ่มเติมเสริมแต่งไปมากพอดู หลาย ๆ ส่วนในหนังก็เป็นเรื่องราวแปลกใหม่ที่เพิ่งได้รู้ ทางที่ดีควรดู Jobs (2013) มาก่อน แล้วพอมาดู Steve Jobs ก็จะตามเรื่องได้ทัน ฟังบทสนทนารู้เรื่อง และได้รับรู้เก็บเกี่ยวรายละเอียดลึก ๆ ที่ Jobs(2013) ไม่ได้เล่า อย่างเรื่องลูกเมียของ จอบส์ ที่ถูกหยิบมาขยายเป็นดราม่าท้ายเรื่องได้รู้สึกกินใจ และบทบาทของ โจแอนน่า ฮอฟฟ์แมน ลูกน้องคนสนิทที่รับบทโดย เคต วินสเลต ก็ดูจะมีส่วนสำคัญในชีวิตของ จอบส์ มากพอดู มีฉากระเบิดอารมณ์ที่ส่งให้ เคต วินสเลต คว้าลูกโลกทองคำและได้เข้าชิงออสการ์อีกครั้ง
ฟาสเบนเดอร์ แสดงให้เห็นได้ชัดว่าดูจริงจัง และตั้งใจกับบทสำคัญนี้มาก เป็นบทที่ยากมากแน่ ๆ ในชีวิตการแสดงของเขา กับเนื้อหาที่อัดแน่นไปกับภาระตัวละครหลักและต้องปะทะคารม ปะทะอารมณ์กับคนรอบข้างตลอด 2 ชั่วโมงของหนัง ทำให้ฟาสเบนเดอร์ กลายเป็น 1 ใน 3 ของตัวเก็งออสการ์นำชาย ที่เสียงเชียร์ปีนี้ค่อนข้างเทไปกับ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ในขณะที่ เอ็ดดี้ เรดเมย์น ก็ยังเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวและมีโอกาสไม่ด้อยไปกว่าเลย
เตือน!! ไม่ใช่หนังสนุก ไม่ใช่หนังหวังรายได้ทางการตลาด ทุน 30 ล้านได้กลับมาแค่ 28 ล้าน เป็นหนังที่มีสไตล์การเล่าเรื่องอย่างกับละครเวที เป็นหนังขายการแสดง เป็นหนังที่มีแต่บทสนทนา คุยกับแบบอ่านซับตามไม่ทัน
แถมท้ายเรื่องราวเบื้องหลังที่น่าสนใจของหนัง Steve Jobs ครับ
- หนังถ่ายทำด้วยเทคโนโลยี แตกต่างกัน 3 ระดับ ฉากปี 1984 ถ่ายด้วยฟิล์ม 16 มม. ฉากปี 1988 ถ่ายด้วยฟิล์ม 35 มม. และฉากปี 1998 ถ่ายด้วยระบบดิจิตอล เพื่อต้องการให้เห็นคุณภาพของภาพพัฒนาไปตาม เวลาในเรื่อง
-
หนังเคยอยู่กับค่ายโซนี่ มีเดวิด ฟินเชอร์ เป็นผู้กำกับ ฟินเชอร์ ดึงตัว ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ มารับบท สตีฟ จ๊อบส์ แต่ ลีโอนาร์โด ถอนตัวไปเล่น The Revenant แทน คริสเตียน เบล เข้ามาอยู่กับโปรเจ็คท์ได้ไม่นานอ่านบทแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่ตัวเขา ก็ขอถอนตัวไปอีก ขณะเดียวกัน โซนี่ ก็ไม่อยากสู้ค่าตัว เดวิด ฟินเชอร์ ที่ขอค่าแรงกำกับ 10 ล้านเหรียญ เลยตัดสินใจลอยแพโปรเจ็คท์ ยูนิเวอร์แซลเลยมารับช่วงต่อ แดนนี่ บอยล์มากำกับ และ ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์ มารับบทนำ
-
หนังแบ่งเรื่องราวออกเป็น 3 องก์ แดนนี่ บอยล์ ใช้วิธีการถ่ายทำแบบแบ่งเป็น 3 ช่วง ให้นักแสดงได้ซ้อมบทกัน 2 สัปดาห์แล้วก็ถ่ายทำ 2 สัปดาห์ เป็นแบบนี้ไปทั้ง 3 องก์ พอถึงองก์ที่ 3 ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์ ก็ซ้อมการแสดงกับนักแสดงได้แบบปากเปล่า เพราะเขาสามารถจำบทพูดได้ทั้ง 180 หน้า
-
เซ็ธ โรเจ็น ดาราตลกผู้มารับบท สตีฟ วอซเนียค ยอมรับว่าเขาไม่เคยรู้จักชื่อ สตีฟ วอซเนียค มาก่อนที่จะรับเล่นหนังเรื่องนี้เลย เขาทำการบ้านด้วยการดูคลิปบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ของวอซเนียคที่มีออนไลน์ และได้เจอ วอซเนียค ตอนที่พาเขาทัวร์ พิพิธภัณฑ์แอปเปิ้ล
-
เคต วินสเลต รู้ข่าวโปรเจ็คท์หนังเรื่องนี้จาก ช่างแต่งหน้า ตอนเขาถ่ายทำหนัง The Dressmaker เพราะช่างแต่งหน้าถูกจ้างไปเป็นทีมงานใน Steve Jobs พอ เคต รู้ว่าหนังเรื่องนี้มี แดนนี่ บอยล์ กำกับ อารอน ซอร์กิน เขียนบท และ ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์ รับบทนำ ทำให้เธอสนใจบทนำหญิงเป็นอย่างมาก เธอเลยส่งภาพตัวเองใส่วิกผมดำไปให้ แดนนี่ บอยล์ พิจารณา แล้วในที่สุดเธอก็ได้รับเลือก ทั้งที่บทนี้เกือบตกเป็นของ เจสสิกา เชสแทน
-
ฉากที่ จอบส์ ล้างเท้าในอ่างล้างหน้า เป็นเรื่องจริงที่ จอบส์ ชอบทำเพื่อให้ตัวเองผ่อนคลายลง ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์ เป็นคนออกไอเดียให้เพิ่มเติมฉากนี้ลงไปในเรื่อง
-
อารอน ซอร์กิน ผู้เขียนบท ไม่เคยเจอตัว สตีฟ จอบส์ สักครั้งเดียว เคยแค่เพียงคุยโทรศัพท์กัน 3 ครั้ง ตัวอารอน ซอร์กิน เอง อยากได้ ทอม ครุยส์ มารับทเป็น จอบส์