TangBadVoice หรือ “ตั้ง ตะวันวาด วนวิทย์” คือ ผู้กำกับภาพ ช่างภาพสายสตรีทและศิลปิน HIPHOP เจ้าของผลงาน “เปรตป่ะ” “ลิ้นติดไฟ” ที่โด่งดังด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่นจากส่วนผสมของดนตรีฮิปฮอปและการแรปที่ไม่ได้เป็นไปในแนวทางของงานดนตรีฮิปฮอปแบบที่เป็นมาตรฐานหากแต่เป็นงานลูกผสมที่รวมเอาเสน่ห์จากลูกเล่นลีลาอันหลากหลาย เพลงของตั้งมีการแรปแต่ก็เป็นการแรปผสมพูดให้อารมณ์เหมือนเป็นเพลงของราชาเพลงพูด ‘เพลิน พรหมแดน’ ในบริบทของความร่วมสมัยอีกทั้งยังสะท้อนความคิดที่มีต่อชีวิตจากภายในของเขาออกมาและพูดถึงเรื่องของปัญหาต่าง ๆ นานา ที่แวดล้อมอยู่ในชีวิตของเราด้วยท่าทีที่แฝงไว้ด้วยอารมณ์ขัน (เชิงประชดประชันเสียดสี) ที่จิกกัดประเด็นทางสังคมให้เราเพลิดเพลินจบแล้วก็ยังนำกลับไปขบคิดใคร่ครวญต่อได้อีก
เรื่องราวของศิลปินหนุ่มคนนี้มีอะไรที่น่าสนใจไม่แพ้ผลงานของเขาเลย พบกับเรื่องราวนับแต่จุดเริ่มต้นสู่การสร้าง ‘ตัวตน’ ที่เป็นในปัจจุบันกับเส้นทางแห่งการค้นหาความหมายและคำตอบแห่งการ’สร้างสรรค์’ จากการเผชิญหน้ากับความผิดพลาดสู่การเป็นศิลปินที่เต็มไปด้วยความ’บริสุทธิ์’ ในการสร้างงานของตัวเอง ผ่านการสนทนาในรายการ “ป๋าเต็ดทอล์ก” ที่เราได้ถอดและสรุปความมาให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกัน
THE IDENTITY ก่อร่างสร้างตัวตน
- ตั้งเติบโตในจังหวัดเชียงใหม่และเกิดในครอบครัวศิลปิน คุณแม่เป็นนักเขียน เป็นนักเล่าเรื่องที่เล่าเรื่องได้สนุก
- มีเรื่องหนึ่งที่แม่ชอบเล่าให้ตั้งฟังคือเหตุการณ์ในวันหนึ่งที่แม่ขับรถเต่าคันโปรดซึ่งด้วยความเก่าของมันก็จะเคลื่อนตัวไปอย่างช้า ๆ และมีตั้งในวัย 3-4 ขวบนั่งไปด้วย จู่ ๆ ก็มีรถมาขับตัดหน้า ตอนนั้นตั้งรู้สึกโกรธแทนแม่มาก ซึ่งทำให้แม่ภูมิใจที่ลูกชายมีเซนส์ที่จะปกป้องแม่แต่เด็ก แต่จากนั้นแม่ก็เล่าหักมุมว่าหลังจากที่ตั้งโกรธ ๆ แทนแม่อยู่นั้นไม่นานเขาก็ฉี่แตกบนรถเป็นเรื่องซึ้งปนฮากันไป
- คุณแม่ของตั้งมีนามปากกาว่า “วดีลดา เพียงศิริ” ผลงานสร้างชื่อคือ “ถึงเจ้าวายร้ายตัวน้อย” ซึ่งถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เรื่อง “รักแรกอุ้ม” (2531) เป็นผลงานที่แตกต่างจากงานในช่วงเวลานั้นที่มักเป็นเรื่องของวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่ เป็นผลงานที่มีความเท่และเรื่องราวน่าจะถูกถ่ายทอดจากประสบการณ์ส่วนตัวของคุณแม่และเด็กในเรื่องก็อาจเป็นพี่สาวของตั้งนั่นเอง
- ตั้งรู้ตั้งแต่เด็กว่าแม่เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียง พ่อแม่ชอบพาไปสุริวงศ์บุ๊กเซนเตอร์และชอบมีแฟนหนังสือมาทักทาย
- ตั้งอ่านหนังสือของคุณแม่บ้างและ “ถึงเจ้าวายร้ายตัวน้อย” เป็นหนังสือของคุณแม่ที่ตั้งชอบมากที่สุด เพราะตั้งรู้สึกว่าแม่ถ่ายทอดเรื่องราวของลูกได้เก่ง สไตล์การเขียนของแม่เหมือนเวลาที่แม่เล่าเรื่องต่าง ๆ ให้คนอื่นฟัง และเอาเรื่องใกล้ตัวทั้งหมดมาอยู่ในหนังสือและขายจนก่อร่างสร้างตัวได้ แต่ตั้งก็ไม่กล้าบอกแม่ว่าตัวเองอ่านงานเขียนของแม่ “ค่อนข้างพิเศษ เป็นคนที่เล่าเรื่องมันจริง ๆ
- ในการแต่งเพลงตั้งได้รับจังหวะการเล่ามาจากแม่เยอะเลยทีเดียว
- พี่สาว (ทะเลจันทร์ วนวิทย์) ตั้งเรียนทำขนมทำอาหารจากเลอ กอร์ดอง เบลอที่ฝรั่งเศส ก็จะมีความเป็นศิลปินในการดีไซน์ขนมของตัวเองขึ้นมา มีกระบวนการและความละเอียดอ่อน เป็นการผสมผสานวิทยาศาสตร์และความเป็นศิลปะเข้าด้วยกัน ร้านชื่อ Talaychan Pâtisserie
- คุณพ่อ (พิเซษฐ์ วนวิทย์) เป็นนักอ่านหนังสือตัวยง และทำอาชีพเป็นนักแปลหนังสือ มีผลงานแปลเช่น “คัมภีร์แห่งความเร้นลับ”
- การเติบโตมาท่ามกลางคนที่เป็นศิลปิน ทำให้ตั้งได้หล่อหลอมตนเองและได้นิยามตนเองว่าเป็นศิลปินด้วยเช่นกัน แม่มักสอนตั้งว่าการจะทำอะไรนั้นมันต้อง “สนุก” ถ้าไม่สนุกมันก็ไม่น่าทำเท่าไหร่ ถ้าจะยึดอะไรเป็นอาชีพมันต้องสนุกด้วยทำเงินไปด้วยมันก็จะหล่อเลี้ยงตัวเองไปได้ และให้อิสระตั้งในการเลือกทางเดินชีวิตของตัวเอง ซึ่งตั้งก็ลองทำอะไรหลายอย่างมากมาย และทุกอย่างที่ทำก็จะมีช่วงที่ไม่สนุก ตั้งก็จะล้มเลิกกลางคันบ่อยมาก อย่างเรียนเทควันโด้ พอถึงวันนึงที่รู้ว่าตัวเองไม่ชอบเตะคนก็เลยเลิกเล่น ตั้งใช้เวลาจนถึงอายุ 18 กว่าจะเจอสิ่งที่ตัวเองชอบจริง ๆ
- ที่มาของชื่อตั้ง (เพิ่งถามคุณแม่วันนี้เพราะเห็นว่าจะโดนถามเรื่องนี้ด้วย) มาจากชื่อหนังสือ “แววตะวันวาดฟ้า” ซึ่งเป็นชื่อที่แม่ชอบเพราะฟังดูโรแมนติกดี ก็เลยตั้งชื่อลูกว่า ทะเลจันทร์ ตะวันวาด (และฝาแฝดของตั้งที่เสียชีวิตไปตอนที่คลอดชื่อว่า ประดับดาว)
- จีน มหาสมุทร มีศักดิ์เป็นพี่ชายของตั้ง (จีน มหาสมุทร และพี่สาวของตั้งมีพ่อคนเดียวกัน และพี่สาวตั้งกับตั้งมีแม่คนเดียวกัน)
- ครั้งหนึ่งตั้งเคยไปจตุจักรกับแม่และพี่สาว แม่ค้าเอาจานมา 4 ที่และบอกว่าคนที่นั่งอยู่หน้าเหมือนตั้งเลย นี่เป็นเหตุการณ์เพียงครั้งเดียวในชีวิตที่ตั้งได้สัมผัสรับรู้ถึงการมีอยู่ของฝาแฝดของตน
- ตั้งเรียนอนุบาลในฐานะนักเรียนคนแรกของโรงเรียนอนุบาลทางเลือกที่คุณแม่เป็นเจ้าของชื่อ Kiddy Bear แม่ของตั้งทำหลายอาชีพพร้อมกันทั้งเขียนหนังสือและเปิดโรงเรียนอนุบาลทางเลือกที่มีปณิธานในการดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดเต็มที่ ด้วยเชื่อว่าเด็กแต่ละคนมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ในช่วงแรกที่ยังไม่ดีเด็กมาเรียนก็เลยทดลองกับลูกซะเลย ต่อมาโรงเรียนถือว่าประสบความสำเร็จมากและมีคนอยากพาลูกเข้ามาเรียนมีคิวจองยาวถึง 2 ปี แต่ทุกวันนี้โรงเรียนได้ปิดไปแล้ว เพราะแม่รู้สึกว่าอยากลองไปทำอย่างอื่นบ้าง
- ตั้งจำได้ว่าตอนเด็กชอบปีนป่ายและไม่ค่อยกลัวอะไร ในโรงเรียนจะมีไดโนเสาร์ที่แม่สร้างไว้ตั้งก็เลยชอบไปปีนเล่น พอเวลาได้คุยกับเพื่อนก็พบว่าชีวิตตัวเองได้มีโอกาสเล่นสนุกแตกต่างจากเพื่อนคนอื่น ๆ
- ตอนเด็ก ๆ ตั้งเป็นคนที่ชอบตั้งคำถาม เคยถามครูว่าทำไมต้องสวดมนต์ไม่เข้าใจ เลยโดนครูทำโทษ ตั้งกลับไปเล่าให้แม่ฟังซึ่งแม่ก็ซัปพอร์ตตั้ง และมีครั้งหนึ่งที่มีการบ้านให้วาดภาพเกษตรกรรม พอกลับมาบ้านตั้งก็ไม่วาดแต่อยากปั้นดินน้ำมันเลยปั้นเป็นสวนเกษตรขนาดใหญ่ครบวงจรเล่นใหญ่ไปเลย พอไปส่งอาจารย์ อาจารย์บอกว่าทำผิดโจทย์และเอาไปทิ้งเลยรู้สึกช็อคเพราะตนเองใช้เวลาทำหลายวัน พอกลับบ้านไปเล่าให้แม่ฟังแม่ยัวะก็เลยให้ออกจากโรงเรียนเลย
- ตอนนั้นมีโรงเรียนอินเตอร์เปิดใหม่ก็เลยได้ย้ายเข้าไปเรียนในตอน ป.5 ตอนนั้นภาษาอังกฤษตั้งไม่ได้เลย และโดนทำข้อสอบเข้าโรงเรียนเป็นภาษาอังกฤษล้วน 100 ข้อ พอทำไปได้ 50 ข้อ ก็เลยหยิบกระดาษข้อสอบและเดินไปจิ้มครูใหญ่บอกว่าเหนื่อยแล้วไม่อยากทำแล้ว ขอทำต่ออีก 50 ข้อพรุ่งนี้ ครูใหญ่เลยหันไปบอกแม่ว่ารับเลยเด็กคนนี้
- ตอนนั้นตั้งรู้สึกสนุกกับการเรียนมาก และพบเพื่อนส่วนใหญ่เป็นคนเกาหลี ญี่ปุ่น จีน อินเดียและฝรั่งเลยไม่ค่อยได้พูดภาษาไทย ตอนเด็กก็ใช้ภาษากายเป็นส่วนใหญ่ จนมีเพื่อนสนิทเป็นคนดำชื่อเด็กซ์เตอร์ชวนให้ฟัง ‘Eminem’ พอตั้งฟังก็เลยรู้สึกเฮ้ย ! เพราะเจอคำหยาบเต็มไปหมดแต่ก็ไม่กล้าพูดเพราะครูสอนว่าไม่ดี จากนั้นตั้งก็พยายามแรปตามเพราะว่ามันสนุกดี อยากแรปให้ได้เหมือน Eminem แต่พอเจอคำหยาบก็มีหยุดข้ามไป
- ตั้งเลยได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษจากเพลงแรปและชอบเพลงฮิปฮอปตั้งแต่ตอนนั้น และมักเอากระเป๋าใส่ซีดีแบกมาแลกกันฟังกับเพื่อน ที่ตั้งชอบ Eminem เพราะว่าเขาชอบเล่นกับเสียง การเปล่งเสียงที่ตั้งนิยามว่ามันเป็นแบบการ์ตูน ๆ ไม่ได้เน้นเท่อย่างเดียว แถมยังมีคำหยาบดุเดือด มันมาก สนุกมาก เลยเปิดมิติการฟังเพลงให้ตั้งได้เห็นถึงแนวทางที่แปลกใหม่ในการทำเพลง ซึ่งได้ส่งอิทธิพลต่อการทำงานเพลงของตั้งมาก ๆ
- จากประสบการณ์ส่วนตัว ตั้งมักพบว่าการเติบโตมาในบรรยากาศแบบใด สิ่งนั้นจะมีอิทธิพลต่อลูกอย่างแน่นอนเพราะความคุ้นเคยในสิ่งที่ทำกันเป็นปกติ อย่างตั้งเติบโตมาในครอบครัวนักเขียนตั้งก็จะได้รับอิทธิพลความเป็นนักเล่าเรื่องจากพ่อแม่ แต่ถ้ามีเรื่องของความกดดันและการบังคับจากพ่อแม่เข้ามาผสมก็เป็นไปได้ที่ลูกจะเดินในทางที่ต่างออกไป
- พ่อแม่เคยเล่าปรัชญาการใช้ชีวิตแบบ “อิคิไก” ให้ตั้งฟังตั้งแต่เด็ก ๆ (แต่ตอนนั้นยังไม่ได้ใช้คำนี้) พ่อแม่มักสอนตั้งให้รู้สึกสนุกและเต็มเต็มเมื่อทำสิ่ง ๆ นั้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของอิคิไก
THE PURPOSE ความฝัน ความหมาย คำตอบ
- ตอนที่ตั้งเริ่มถ่ายรูป กล้องตัวแรกคือกล้อง Tough เป็น Olympus ตัวแรก ๆ ที่ดีไซน์มาให้ถึกที่สุดทนที่สุดพ่อแม่เห็นเหมาะกับตั้งก็เลยซื้อให้ ตั้งเลยเริ่มจากการถ่ายเพื่อนถ่ายอะไรไปเรื่อย พอเข้ามหาลัยก็เปลี่ยนมาใช้ 5D MARK II มือสามสภาพค่อนข้างแย่ แต่พอเอาตัวนี้ออกไปถ่ายกลับรู้สึกไม่เบื่อเลย ทุกกิจกรรมที่เคยทำก่อนหน้านี้จะมีความรู้สึกว่าวันนึงเดี๋ยวก็เบื่อ แต่ตอนที่จับกล้องกลับรู้สึกว่าต้องไม่เบื่อแน่ ๆ
- สิ่งที่แตกต่างคือความรู้สึก “ปลอดภัย” อยากใช้สิ่งนี้หาอะไรไปเรื่อย ๆ มันเก็บและบันทึกเรื่องราวและสิ่งที่ตั้งเห็น ณ ขณะนั้นได้ ซึ่งสามารถบอกความเป็นตัวตนของเขาได้ เพราะการที่เราถ่ายสิ่งใดไว้แสดงว่าสิ่งนั้นมันเป็นสิ่งที่เราสนใจเราเลยถ่ายมันไว้ พอได้ย้อนกลับไปดูภาพที่ถ่ายเราจะเห็นอะไรบางอย่างในตัวเราเอง
- ตั้งทำงานกำกับภาพเป็นอาชีพร่วม 10 ปีแล้ว (ตอนนี้ตั้งอายุ 30 ปี) งานที่ตั้งประทับใจที่สุดคืองานซีรีส์ “แปลรักฉันด้วยใจเธอ” เพราะรู้สึกว่าทีมนั้นเหมือนเป็นเพื่อน รู้สึกดีกับทุกคนในทีมเหมือนเป็นรุ่น ๆ เดียวกัน ทุกคนมี mindset แบบไปไหนไปกันลุยให้สุดด้วยกัน อีกทั้งยังมีความเป็นอิสระจากผู้กำกับ (บอส – นฤเบส กูโน) ที่ตั้งยกย่องให้เป็นหนึ่งในผู้กำกับในดวงใจ ยิ่งทำให้ตั้งรู้สึกสนุกและได้ทดลองอะไรหลาย ๆ อย่าง
- ภาพที่ดีในความคิดของตั้งนั้นนิยามได้ยาก แต่ตั้งคิดว่ามันคงไม่แตกต่างจากงานศิลปะอื่น ๆ เช่น เพลงที่ดีสำหรับตั้งคือเพลงที่เพราะ เพลงที่จริงใจ สำหรับตั้งมันจะทำคะแนนสำหรับเขามาก และก็จะมีเพลงที่ยาก เช่นเพลง “Rap God” ของ Eminem เพราะว่าแรปได้ยากมากและการทำซ้ำนั้นก็ทำได้ยากมากเช่นกัน เพลงที่เพราะอาจจะไม่จำเป็นต้องลึกมากแต่ก็ถือว่าเป็นเพลงที่ดี เพลงที่จริงใจก็จะมีความจริงใจซึ่งเป็นสิ่งที่โดนสำหรับศิลปะทุกประเภท ภาพถ่ายก็เช่นกันภาพถ่ายที่ยากเทคนิคเยอะก็ถือว่าเป็นภาพถ่ายที่ดี ช่วงที่ตั้งบอกว่าเป็นช่วงที่ตัวเองกระหายการยอมรับสูง ๆ ก็จะเน้นการถ่ายภาพที่ยากซึ่งตอนนั้นทำไปโดยไม่รู้ตัวแต่เหมือนตัวเองกำลังตะโกนว่า “กูเก่งนะดูนี่สิ” ก็จะใช้เทคนิคที่ยากที่สุด จับจังหวะที่ยากที่สุด เหมือนกำลังตะโกนออกไปว่า “ยอมรับกูเร็ว” ส่วนภาพถ่ายที่สวยก็จะเป็นภาพถ่ายที่ดีสำหรับตั้ง เช่น ภาพถ่ายสายรุ้ง ภาพถ่ายพระอาทิตย์ตกดิน เป็นภาพที่ใครเห็นก็ต้องถ่าย ไม่ได้มีความยากความลึกซึ้งแต่สวยงาม โดยไม่ต้องใช้เทคนิคอะไรเลย และภาพถ่ายที่จริงใจสำหรับตั้งเป็นสิ่งที่ยากมากที่จะเกิดขึ้น เปรียบแล้วคงเหมือนคนที่แต่งเพลงที่จริงใจ ซึ่งตั้งคิดถึงเพลง “Your Song” ของเอลตัน จอห์น ซึ่งเราสัมผัสได้ถึงความบริสุทธิ์และความจริงใจในความรู้สึกของศิลปิน
- ช่างภาพที่ดีสำหรับตั้ง เขาแยกเป็น 2 ประเภท ถ้าเป็นช่างภาพภาพยนตร์ที่ดีคือต้องจัดการทีมได้ดีเพราะว่างานภาพยนตร์คืองานที่ทำกันเป็นทีมเช่นทีม grip ทีมไฟ โดยมีเราเป็นคนตัดสินใจในทุกกระบวนการ ซึ่งต้องมีความละเอียดอ่อนและคิดจัดการในรายละเอียดได้ดี ส่วนการเป็นช่างภาพนิ่งที่ดี (ในมุมมองของตั้งที่ทำเป็นงานอดิเรก) นั้นเกี่ยวกับการหาไปเรื่อย ๆ ให้เจอว่าอะไรคือสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ซึ่งต้องใช้เวลากว่าเรารู้จะรู้ว่าเราทำไปเพื่ออะไร ช่างภาพที่ดีคือคนที่สามารถใช้งานที่ตนเองได้สร้างขึ้นในการสะท้อนว่าสิ่งที่ตัวเองนั้นต้องการคืออะไร
- ตั้งเคยมีเป้าหมายอันยิ่งใหญ่เมื่อนานมาแล้ว ในช่วงแรก ๆ ที่เริ่มทำเพราะรู้สึกว่าตัวเองสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อยเลยฝันใหญ่อยากเข้า ASC (The American Society of Cinematographers) แต่พอทำไปทำมาแล้วเหมือนอะไรมาก็เอา เลยไม่ได้มีความคาดหวังในการถ่ายหนังและก็ยังสนุกอยู่เพียงแค่ไม่ได้คาดหวังอะไร ไม่ได้มีความกดดันว่าต้องเก่งขึ้นไปอีกอะไรอย่างนั้นอีกแล้ว แค่ได้ถ่ายอยู่ได้จัดไฟดีไซน์ช็อตมันก็ดีมาก ๆ แล้ว
- สิ่งที่ตั้งต้องการมากตอนนี้คือการถ่ายหนังออกมาให้ดี อยากมีหนังอีกสักเรื่องที่ตัวเองได้ทำสุดฝีมือ และมันสุดอยู่แค่นั้น ไม่ได้อยากทำให้มันสุดมาก ๆ เพื่อให้ได้รับการยอมรับอะไรอีกแล้ว
- ตอนนี้สิ่งที่ตั้งให้ความสำคัญที่สุดในชีวิตตอนนี้ตั้งรู้สึกว่ามีหลายสิ่งมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการได้ใช้เวลาอยู่กับแฟนมาก ๆ การได้อยู่กับคนคนนึง 24 ชั่วโมงโดยไม่มีความรำคาญทั้งที่เป็นคนต้องการอิสรภาพสูงแต่กลับอยู่ด้วยกันได้ตลอดมันเป็นสิ่งที่ยากที่จะเกิดขึ้น หรือจะเป็นเรื่องของการรักษาสภาพจิตใจซึ่งสำคัญอย่างมากสำหรับตอนนี้ เพราะมีเรื่องมากมายที่พร้อมกระชากสภาพจิตใจให้ดาวน์ดิ่ง เป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้เลยเพราะบางทีกว่าจะรู้ตัวอีกทีก็คือดิ่งไปแล้ว และกว่าจะขึ้นมาได้อีกทีนั้นช่างยากมากต้องแต่งเพลงไม่รู้อีกกี่เพลง สิ่งที่ทำให้ตั้งหัวร้อนไวมาก ๆ คือเวลาเห็นตำรวจเอาปืนไปจ่อไปยิงคน อารมณ์จะปะทุภายในเวลาอันสั้นมาก และทำให้สภาพจิตใจจมลงเร็วมาก ๆ ซึ่งตั้งฮีลตัวเองด้วยการแรปออกมาและก็เดินไปด่าให้แฟนฟัง หรือโทรไปคุยกับเพื่อน
TURNING POINT จุดเปลี่ยน
- ที่ตั้งมองว่างานภาพสตรีทเป็นงานอดิเรก (ทั้งที่ประสบความสำเร็จมาก) เพราะรู้สึกว่าถ้าต้องหาเงินกับการทำสิ่งนี้คงตายแน่ เพราะการทำเป็นอาชีพนั้นหมายความว่าไม่ว่าจะวันที่ดีหรือวันที่แย่เราก็ต้องทำสิ่งนั้นอยู่ และต้องห้ามทำให้ไม่ดีด้วย เพราะเซตสแตนดาร์ดไว้ว่าเราจะทำให้มันไม่ดีไม่ได้
- ตั้งเคยมีประเด็นใหญ่เกี่ยวกับภาพสตรีท เพราะมีคนจับได้ว่าตั้งจัดฉากถ่าย เหตุการณ์นี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของตั้ง
- ในช่วงแรก ๆ ที่ตั้งเข้าสู่วงการถ่ายภาพสตรีท เขายังไม่เข้าใจนักว่ามันคืออะไร รู้แค่ว่าชอบถ่ายคนแปลกหน้าและก็ถ่ายไปเรื่อยจนเพื่อนชวนให้ส่งภาพเข้าประกวดเลยส่งไปที่เทศกาล Miami Street Photo ลองส่งไปมั่ว ๆ แต่ดันได้เข้ารอบ Finalist ในสาขาภาพสตรีท และเพิ่งรู้ว่ารายการนี้เป็นรายการภาพสตรีทที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก็เลยรู้สึกมั่นใจว่าตัวเองน่าจะมาทางสายนี้และเป็นตัวจริงของสายนี้ได้
- การถ่ายภาพสตรีทนั้นคือการถ่ายภาพที่เกิดขึ้นตรงหน้า และเราจับฉวยช่วงเวลานั้นได้ทัน มันก็จะเป็นภาพที่มีชีวิต และหลักการสำคัญคือภาพที่ถ่ายออกมาจะต้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติไม่ได้เกิดจากการจัดฉากหรือปั้นแต่งขึ้นมา
- จากนั้นตั้งก็เริ่มออกล่ารางวัล เข้าไปอยู่ในวงการภาพสตรีทและส่งผลงานประกวดมากขึ้น ออกไปถ่ายรูปทุกวันเช้าจรดเย็น และกลับมาดูว่าได้รูปที่ดีไหม และกลับออกไปใหม่ ทำเหมือนเดิมในทุก ๆ วัน และมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ตั้งไม่ได้รูปเลย เขามีความรู้สึกว่ามันต้องมีคนรอดูรูปเขาอยู่แน่ ๆ ซึ่งมันเหมือนเป็นการที่คิดไปเอง ด้วยความรู้สึกเช่นนั้นตั้งเลยออกไปถ่ายภาพอีก จนได้พบยามในชุดยามสีฟ้าและมีรองเท้าสีฟ้า ฉากสีฟ้า รู้สึกทุกอย่างมันลงตัวและด้วยความรู้สึกอยากได้รูปในวันนี้ ตอนนี้ ตั้งจึงลืมหลักการสำคัญของการถ่ายภาพสตรีทไปจึงตัดสินใจเดินไปคุยกับยามคนนั้นและจ้างเขาเพื่อให้ได้ภาพออกมาตามที่ต้องการ และภาพนี้ก็เข้ารอบในการประกวดที่ซานฟรานซิสโก ต่อมาได้มีคนในวงการไปพบกับยามในภาพจึงจับได้ว่านี่เป็นการเซตขึ้นและถ่ายวิดีโอเพื่อเปิดเผยเรื่องนี้ ทำให้ตั้งรู้สึกว่าเหตุการณ์นี้มันทำให้ชื่อเสียงที่เขาเคยสั่งสมมาในฐานะช่างภาพสตรีทนั้นดิ่งลงไปในทันที
- ในช่วงเวลาที่ทุกคนกำลังรอคำตอบจากตั้ง ตอนนั้นมีทั้งคนที่เชื่อในตัวตั้งว่าเขาไม่ได้เซตภาพ และคนที่ไม่เชื่อและโจมตีในสิ่งที่ตั้งทำ สุดท้ายตั้งจึงได้ตัดสินใจออกมาบอกความจริงผ่านทางเฟซบุ๊กพร้อมทั้งนำภาพอื่น ๆ ที่เขาได้เซตถ่ายออกมาชี้แจงพร้อมทั้งกล่าวคำขอโทษ ด้วยความรู้สึกผิดต่อเพื่อน ๆ ที่คอยให้การสนับสนุนและเชื่อใจในตัวเขา ตั้งจึงได้หนีหายไปจากวงการถ่ายภาพในช่วงเวลานั้น
- ในช่วงเวลาที่จิตใจของตั้งอยากทะยานขึ้นไป อยากได้รับการยอมรับอย่างสูง มันทำให้เขากระหายชื่อเสียงและการยอมรับจนลืมความสัตย์ซื่อในการทำผลงาน อย่างการถ่ายภาพสตรีทซึ่งมีหลักอยู่ที่ว่าภาพที่ถ่ายนั้นจะต้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติไม่ได้เกิดจากการจัดฉากหรือปั้นแต่งขึ้นมา ตอนที่มีคนออกมาเปิดเผยเรื่องนั้นตั้งเองยังรู้สึกโกรธเสียด้วยซ้ำที่เหมือนมีคนมาดึงเขาลงมาจากการทะยานอยู่ความสำเร็จของเขา จนลืมไปว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นมันผิดจริง ๆ กว่าจะรู้สึกตัวก็เป็นตอนที่กำลังพิมพ์ขอโทษและชี้แจงความจริงทั้งหมดด้วยตัวเอง
- ในตอนที่ตั้งได้เปิดเผยความจริงออกไปเขารู้สึกโล่งใจมาก เขาเปรียบตัวเองเหมือนคนที่ป้องกันกล้องจากลมฝนและความชื้นที่เข้ามา แต่พอถึงจุดหนึ่งที่พายุฝนเทกระหน่ำจนไม่อาจป้องกันกล้องของตัวเองไว้ได้อีก ณ จุดแห่งการยอมรับความจริงนั้นมันคือการปลดปล่อยที่สบายใจที่สุดแล้ว หลังจากนั้นตั้งก็ได้ทักไปขอโทษเพื่อน ๆ ที่เชื่อในตัวของเขา ทีละคน ๆ ซึ่งส่วนใหญ่นั้นก็ยอมรับคำขอโทษและเข้าใจตั้ง แต่ก็มีบางส่วนที่รับไม่ได้ด้วยเช่นกันซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่ตั้งเข้าใจได้เพราะพวกเขาเหล่านี้มีความเชื่อในตัวของตั้งมากและการกระทำของเขาได้ทำลายความเชื่อในตัวของตั้งที่มีตลอดมา
- สำหรับคุณพ่อคุณแม่ของตั้งที่ผ่านมาตั้งก็ได้เล่าให้ฟังตลอดเวลาผลงานได้รับคัดเลือกจากเทศกาลต่าง ๆ แต่พอเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมาพ่อแม่ก็ตัดสินใจบินมาจากเชียงใหม่เพื่ออยู่ข้าง ๆ ตั้ง เพราะรู้ว่ามันคงเป็นเรื่องที่หนักหน่วงสำหรับเขาและชี้ให้ตั้งได้เห็นว่าความผิดพลาดนั้นมันเกิดขึ้นตรงไหนเพราะอะไร ชี้ให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตัวเองในขณะเดียวกันก็อยู่เป็นกำลังใจให้กับตั้ง
- ในช่วงที่ตั้งได้เริ่มทำ TangBadVoice เขารู้สึกสนุกกับการทำสิ่งนี้เหมือนกับตอนที่ถ่ายภาพแถมกระแสของการยอมรับยังแรงมากเสียด้วย ด้วยความแมสของการเป็นบทเพลงแรปทำให้ชื่อเสียงของตั้งยิ่งโด่งดังขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เหตุการณ์ในครั้งนั้นก็ได้ย้ำเตือนให้ตั้งได้มองเห็นจุดอ่อนของตัวเองที่อยากเป็นคนเก่งและต้องการได้รับการยอมรับสูง ทำให้ตั้งได้เตือนตัวเองไม่ให้ตกลงไปในหลุมพรางแห่งการกระหายการยอมรับแบบที่เคยเป็นมาอีกแล้ว และเหมือนตั้งได้มองเห็นพัฒนาการของตัวตนในแต่ละช่วงเวลา ตัวตน ณ ช่วงเวลานั้นก็คนหนึ่ง คนในวันนี้ก็อีกคนหนึ่ง ทำให้มองเห็นพัฒนาการนี้เป็นเสมือนงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่เกิดขึ้นกับตัวตนและชีวิตของเขา
BEING AUTHENTIC ความเป็น TangBadVoice
- จุดเริ่มต้นของการทำ TangBadVoice เริ่มจากการที่เวลาตั้งขับรถไปไหนไกล ๆ เขาชอบเปิดบีตเปล่าฟังและแรปไปด้วย ทำให้รู้สึกเพลิดเพลินและทำให้ระยะทางที่ไกลมันรู้สึกสั้นลงขึ้นมา และตอนนั้นตั้งมีเพื่อนเป็นช่างภาพ 2 คนด้วยความเป็นเด็กอินเตอร์เลยไม่ค่อยได้คุ้นกับมุกแบบไทย ๆ แบบพวกมุก “นั่นมัน…” (แบบที่อยู่ในเพลง “เปรตป่ะ”) จึงเป็นสิ่งที่สนุกสำหรับพวกเขาพอเจอกันทีไรก็เล่นกันตลอด เลยคิดว่าถ้าเอามาทำเป็นเพลงคงสนุกดี มันก็เลยเริ่มขึ้นจากตรงนั้น
- เวลาตั้งแต่งเพลงจะเริ่มมากจากบีท ถ้ารู้สึกว่าบีตนั้นเพราะก็จะแรปฟรีสไตล์ใส่ไปเรื่อย ๆ และก็คิดต่อว่าเริ่มยังไง แล้วพอเริ่มอย่างนี้แล้วจะไปยังไงต่อ
- เพลงกว่า 70-80% พอเขียนมาถึงกลางเพลงถ้าไม่อินก็จะเขียนต่อไม่ได้ เพลงที่เสร็จคือเพลงที่อิน
- เทคนิคการใช้คนคุยกันในเพลง (เหมือนแบบเพลงของเพลิน พรหมแดน) ตั้งเพียงรู้สึกว่ามันสนุกดี ก็เลยใช้รูปแบบนี้จนเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง
- บีตในเพลงของตั้งส่วนใหญ่ เป็นบีทซื้อเพราะเคยลองทำเองแล้วมันไม่เวิร์ก
- ตั้งแทบจะเป็นคนแรกที่ทีมงาน Big Mountain เชิญมาเล่นแล้วปฏิเสธ ซึ่งตั้งก็ปฏิเสธการแสดงบนเวทีอื่น ๆ ด้วยเหมือนกัน ที่ตั้งไม่ชอบขึ้นแสดงเพราะรู้สึกว่าเป็นที่ที่ไม่น่าขึ้นไปเลย มีคนตั้งใจดูเยอะเกินไป มีกล้องหันใส่เยอะเกินไป และเป็นที่ที่น่าจะทำให้เขารู้สึกอึดอัดมากเลยทีเดียว
- ตั้งเคยเล่นในงานปาร์ตี้เพื่อนที่มีคนฟังประมาณ 100 คน แค่นั้นตั้งก็รู้สึกว่ามันไม่สนุกแล้ว
- และอีกเหตุผลก็คือเพลงของตั้งไม่ได้ดีไซน์มาเพื่อแสดงสด และเขาก็ไม่เคยคิดมาก่อนว่าถ้าจะต้องแสดงสดเพลงตัวเองจะเล่นเพลงเหล่านั้นยังไง
- ป๋าเต็ดยกตัวอย่างการแสดงสดของวง Gorillaz ที่ใช้แอนิเมชันและกราฟิกประกอบการแสดง ซึ่งบางครั้งก็แสดงโดยไม่โชว์ตัววงเลย เพื่อให้ตั้งได้เห็นแนวทางในการแสดงสดของตัวเองซึ่งบางทีอาจจะเอาแอนิเมชันหรือกราฟิกมาใช้ และเขาก็แสดงสดอยู่หลังเวทีไป
- การได้มาทำเพลงให้ความรู้สึกแปลกใหม่กับตั้ง ตั้งชอบที่คนฟังมองเห็นถึงการทำเพลงของเขาที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยตามสถานการณ์ ทำให้ตั้งรู้สึกสนุกที่จะลองอะไรใหม่ ๆ เสมอ อย่างตอนนี้เขาเองก็ลองทำเพลงที่เป็นภาษาอังกฤษซึ่งแปลกใหม่ออกไปและก็ทำให้เขารู้สึกสนุก ซึ่งคนฟังก็จะสนุกไปกับเขาด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเพลงแรปมันส์ ๆ หรือเพลงเพราะ ๆ ตั้งก็ทำมันได้ดีทั้งหมด
- เพลง “จิตแพทย์” เป็นเพลงที่สกัดออกมาจากความจริงบางส่วนในชีวิตของตั้ง เกิดจากตอนที่ตั้งคิดคำคล้องจองไม่ได้ จนนอนไม่หลับและมีจุดที่รู้สึกหงุดหงิดและบอกกับ ”ตัวตนอีกคนหนึ่ง” ที่ไม่ชอบหลับยอมนอนมัวแต่คิด ๆ อยู่นั่นว่า “มึงให้กูนอนได้แล้ว กูไม่อยากคิดแล้ว ๆ”
- เพลง “บ่น” มีเนื้อร้องท่อนหนึ่งที่ร้องว่า “อยากทำก็ทำ อยากเลิกก็เลิก ทำให้มันบริสุทธิ์” คำว่า “บริสุทธิ์” ในที่นี้หมายความถึงการที่เราอยากทำอะไรiจริง ๆ ต้องอยากทำเพราะอยากทำ ไม่ใช่อยากทำเพราะเห็นภาพตัวเองถือถ้วยรางวัลหรือได้เงินเยอะมาก ๆ จากสิ่งนี้ ตั้งยึดในใจไว้แล้วว่าจะหาเงินจากการถ่ายหนัง และจะไม่หาเงินจากการถ่ายรูป เพราะพอมันมีเหตุผลอื่น ๆ การทำในสิ่งเหล่านี้ก็จะไม่สนุกอีก ส่วนเพลงนั้นตั้งคิดว่าได้เงินก็ดีหรือไม่ได้เงินก็ดี การได้เขียนเพลงในแบบที่อยากทำมันรู้สึกอิสระเหลือเกิน ทำให้ยังคง keep ความสนุกไว้ได้และทำให้เขารู้สึกอยากทำมันต่อไป
- ไม่ว่าจะเกิดปัญหาทางการเงินหรือเหตุที่ทำให้ตั้งไม่สามารถประกอบอาชีพด้วยการถ่ายหนังได้ อย่างไรตั้งก็จะไม่ยอมเปลี่ยนการถ่ายภาพนิ่งให้กลายเป็นอาชีพอย่างแน่นอน เพราะเขามองว่ามันเป็นสิ่งที่อ่อนไหวเปรียบเหมือนไข่ที่พร้อมแตกกระจายได้เสมอ ตั้งต้องผ่านอะไรมากลายอย่างจนถึงจุดที่ถ่ายภาพได้โดยไม่คาดหวังอะไรแล้ว หากมีอะไรมาสะกิดมันแม้เพียงนิดก็อาจทำให้เขากลับไปสู่จุดเดิมได้
- แต่สำหรับเพลงตั้งคิดว่าตัวเองเปลี่ยนเป็นอาชีพได้ และคิดว่าตัวเขาเองมีเซนส์ในการแต่งเพลงโฆษณาได้ค่อนข้างดี ถ้ามาในแนวขายตรง ๆ ตั้งจะทำได้เลย แต่ถ้าเนียน ๆ ว่าจะขายอาจจะทำไม่ค่อยได้
- ดูเหมือนว่าตั้งจะมีแนวทางที่สุดโต่งเสมอในการทำอะไรแต่ละอย่าง แต่หากคิดจะหาตรงกลางหาทางประนีประนอม ตั้งมองว่าสามารถทำได้โดยเราจะต้องรู้และมองเห็นเสียก่อนว่าเรามี ‘ความต้องการ’ อะไรผุดขึ้นมาในตัวเรา บางทีสิ่งเหล่านี้มันค่อย ๆ ก่อตัวในตัวเราจนมันตัวใหญ่คับพอง อย่างตอนที่ตั้งทำ TangBadVoice ก็มีความคิดผุดเข้ามาเสมอว่าตนเองเก่ง เจ๋ง ดี แต่ครั้งนี้ตั้งมองเห็นมันแต่ไม่พยายามผลักมันออกไป แต่กลับปล่อยให้มันเข้ามาได้แต่เขาจะดูว่าสิ่งนี้จะช่วยเขาทำอะไรได้บ้างจะทำอะไรกับเขาได้แค่ไหน และเขาจะไม่ปล่อยให้สิ่งนั้นผลักเขาไปทางนู้นทางนี้ได้อีกแต่เขาจะเป็นคนเลือกให้กับสิ่งนั้นเองว่ามันควรจะไปทางไหน
- ในเรื่องการแสดงออกทางการเมืองตั้งมองว่าไม่ใช่หน้าที่แต่เป็นสิทธิของศิลปินเองว่าจะทำหรือไม่ทำและเวลาทำหรือไม่ทำอะไรไปก็เพียงแต่รับผลจากการกระทำของตัวเอง แต่ถ้าสามารถแสดงความคิดเห็นเพื่อขับเคลื่อนให้เรื่องนี้เดินต่อไปได้นั่นจะเป็นสิ่งที่ดีเพราะมีประโยชน์ต่อคนอื่นได้เยอะมาก
- ตั้งเคยกลัวความล้มเหลว กลัวการไม่ประสบความสำเร็จ แต่ตอนนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว ตั้งเคยให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ในรายการ Wolf in Sheep แม่ของตั้งได้ดูรายการนี้และมาคุยกับตั้ง แม่กับพ่อของตั้งบอกว่าไม่เคยรู้มาก่อนว่าตั้งมีมุมความคิดแบบนี้ด้วย และบอกให้ตั้งรู้ว่าท่านทั้งสองภูมิใจในตัวเขามากแค่ไหนและไม่ต้องรู้สึกกดดันหรือพยายามทำอะไรเพื่อท่านอีก นั่นคือโมเมนต์ที่ทำให้ตั้งรู้สึกหลุดและได้ปลดปล่อยตนเองเป็นอิสระ
- บทเรียนที่สำคัญที่สุดในชีวิตของตั้งคือ “ทำอะไรแล้วต้องรับ” ต้องไม่หนีเพื่อที่เราจะได้หลุดจากความรู้สึกนั้นได้ เราต้องไม่หนีจากสิ่งที่เราทำ เช่นก่อนหน้านี้เราไปทำอะไรที่เลวร้ายมาเราต้องรับตรงนั้นเลย และต้องดูว่าเราทำตัวแย่ ๆ จริงรึเปล่าและก็เข้าไปรับ ยอมรับแบบตรง ๆ อย่างไม่เฉไฉผิดก็คือผิด และตรงนั้นจะทำให้เราเป็นอิสระจากความรู้สึกตรงนั้นจริง ๆ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส