ทุกครั้งที่เกิดอุทกภัย นักวิชาการทั้งไทยและเทศต่างประเทศมักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไปศึกษาระบบจัดการน้ำของเนเธอร์แลนด์สิ” เหตุใดประเทศทางยุโรปตะวันตกแห่งนี้ ถึงได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศต้นแบบในเรื่องของระบบการจัดการน้ำ วันนี้เราไปหาคำตอบพร้อม ๆ กัน

เนเธอร์แลนด์ มีลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม แผ่นดินกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ของประเทศอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล โดยเฉพาะเมืองท่าใหญ่ ๆ อย่างรอตเตอร์ดัมและแอนต์เวิร์ปถือเป็นสถานที่ที่เกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง หากพูดถึงอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดของเนเธอร์แลนด์เกิดขึ้นในปี 1953 เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 คน มีพื้นที่จมอยู่ใต้น้ำคิดเป็น 9 เปอร์เซ็นต์ ของทั้งประเทศ บ้านเรือนมากกว่า 3,000 หลังคาเรือนเสียหายอย่างหนัก 

หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ภาครัฐและเอกชนร่วมกันจัดตั้งหน่วยงานที่ดูแลเรื่องน้ำท่วมโดยเฉพาะในชื่อ “คณะกรรมการสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ “Delta Works” หรือโครงการระบบจัดการน้ำของเนเธอร์แลนด์ที่โด่งดังไปทั่วโลก

Delta Works คือโครงการระบบจัดการน้ำที่ใช้วิศวกรรมขนาดใหญ่ ที่จะประกอบไปด้วยโครงการย่อยต่าง ๆ 16 โครงการ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในระยะยาว โครงการ Delta Works จะใช้วิธีการสร้างเขื่อน ประตูระบายน้ำ พนังกั้นน้ำ สถานีสูบน้ำ(จำนวนมาก) คันกั้นดิน และกำแพงกั้นคลื่นทะเล โดยวิศวกรรมเหล่านี้จะทำหน้าที่กั้นบริเวณปากแม่น้ำ ตลอดจนลำน้ำในประเทศ เพื่อป้องกันน้ำท่วมจากพื้นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่มีความเสี่ยงกับน้ำท่วมอย่างมาก วิศวกรรมเหล่านี้จะมีทั้งแบบ ที่กั้นถาวร หรือแบบที่สามารถเปิด ปิดได้ เพื่อไว้สำหรับสัญจรทางน้ำได้นั่นเอง 

Delta Works ถือเป็นโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ใช้งบประมาณกว่า 2.5 แสนล้านบาท เพราะด้วยเหตุนี้ประชาชนชาวเนเธอร์แลนด์จึงต้องเสียภาษีน้ำท่วม หรือ Flood Tax เพื่อนำมาเงินจำนวนดังกล่าวมาเป็นงบในการดูแลและพัฒนาโครงการ

แล้วมันทำงานอย่างไร ? คำถามที่หลายคนอาจสงสัย หลักการทำงานของ Delta Works คือ เขื่อนที่มีพนังกั้นน้ำสามารถสกัดคลื่นสูงได้ถึง 40 ฟุต จากระดับน้ำทะเล และยังทำหน้าที่เป็นตัวกั้นน้ำทะเล และแม่น้ำให้ออกจากกัน เรียกง่าย ๆ ว่า เขื่อน จะทำหน้าที่เป็นตัวกั้นน้ำจากทั้งสองทาง ให้แยกกันไปคนละทาง  ทางน้ำเหล่านี้จะถูกแยกให้อยู่ไกลจากพื้นที่ที่อยู่อาศัยของประชาชนมากขึ้น ความเสี่ยงต่อน้ำท่วมก็จะลดน้อยลง 

อีกทั้งทะเลเหนือมักเกิดปรากฏการณ์ Storm Tide หรือคลื่นชายฝั่งยกตัวสูงจากพายุ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นสูงกว่าปกติถึง 5 เมตร ทำให้บ่อยครั้งนั้นมีน้ำทะเลทะลักเข้ามาท่วมในพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชน ส่วนด้านในของเขื่อนก็จะเป็นน้ำจืด ที่กั้นมาจากแม่น้ำ น้ำตรงจุดนี้ถือเป็นแหล่งสำคัญสำหรับชาวบ้านหรือเกษตรกรที่อาศัยอยู่ตามแนวเขื่อน ในการนำมาดำรงชีวิตหรือทำการเกษตรได้

แผนที่บ่งบอกเมืองที่ติดตั้ง Delta Works

ยกตัวอย่างการทำหน้าที่ของเขื่อนไปแล้ว เราไปดูในส่วนที่เป็นประตูระบายน้ำกันบ้าง การทำงานของมันจะแตกต่างจากเขื่อนทั่วไปพอสมควร อย่างที่กล่าวไปข้างต้นเขื่อนจะเป็นตัวกั้นทะเลและแม่น้ำให้ออกจากกัน แต่ประตูระบายน้ำจะไม่กั้นทั้งแม่น้ำและทะเล จากปากอ่าวออกจากกันอย่างถาวร มันถูกปรับให้สามารถใช้ควบคุมการปล่อยน้ำ เข้า ออกได้ 

นอกจากกันไม่ให้น้ำทะเลทะลักเข้ามาแล้ว ยังสร้างไว้เพื่อเปิดทางเข้าออกให้เรือสัญจรได้ นอกจากนี้บ่อยครั้งก็จะเปิดให้น้ำทะเลให้เข้ามาเพื่อประโยชน์ต่าง ๆ เช่น การปล่อยน้ำเค็มไหลเข้ามา น้ำเค็มก็จะมาพร้อมกับปลาในเวลาเดียวกัน มันก็กลายเป็นเรื่องง่ายสำหรับชาวประมงในการหาออกปลาในเขื่อน แทนที่จะต้องออกไปทะเลไกล ๆ และเมื่อไหร่ถ้าเกิดมีพยายุเข้า ลมกระโชกแรง เสี่ยงต่อน้ำทะเลจะเข้ามา ประตูระบายน้ำก็จะปิดเพื่อไม่ให้น้ำทะเลไหลเข้ามาในเขื่อนได้ 

กรุงเทพฯ ของเรามีพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลเหมือนกับเนเธอร์แลนด์ ถ้าถามว่าเราสามารถนำระบบการจัดการน้ำของเนเธอร์แลนด์ มาปรับใช้กับบ้านเราได้หรือไม่?  คำตอบคือ เป็นไปได้ยาก ที่จะนำระบบ Delta Works ทั้งโครงการมาใช้ เพราะอย่าลืมว่าเมืองไทยมีพื้นที่ด้านภูมิศาสตร์ ที่ต่างกับประเทศในแถบยุโรป บ้านเรามีปัญหาในเรื่องของดินทรุด และปัญหาการเวณคืนที่ดิน คงเป็นเรื่องยากที่อยู่ดี ๆ จะเวณคืนพื้นที่ใจกลางเมืองที่มีมูลค่ามหาศาล เพื่อนำพื้นที่มาขุดทำเป็นคลองเก็บน้ำ หลายคนอาจจะคิดว่ามันก็เหมือนการโยนเงินหลักหมื่นล้านทิ้งลงไปกับสายน้ำ ก็ได้แต่หวังว่าสุดท้าย วันหนึ่งบ้านเราอาจจะมี Delta Works ในแบบของตัวเองก็เป็นได้

เครดิตภาพและอ้างอิง
https://bit.ly/3EHivBQ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส