MegaFon ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตในรัสเซีย ซื้อลิขสิทธิ์ใบหน้าของ บรูซ วิลลิส (Bruce Willis) นักแสดงฮอลลีวูดชื่อดัง มาทำ Deepfake ให้ AI สร้างใบหน้าไว้ใช้กับแคมเปญโฆษณา โดยการซื้อลิขสิทธิ์ในครั้งนี้สื่อรัสเซียรายงานว่า มีมูลค่าอยู่ราว ๆ 1-2 ล้านเหรียญ (32 ล้านบาท)

วาซิลี บอลชาคอฟ (Vasili Bolshakov) ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ของ MegaFon กล่าวว่า เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้วิลลิสไม่สามารถบินมาถ่ายโฆษณาตัวนี้ได้ ทาง MegaFon จึงตัดสินใจว่าจ้างสตูดิโอ Deepfake ซึ่งถือเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการจำลองใบหน้าอันดับต้น ๆ ของโลก ให้มาเลียนแบบหน้าของพระเอกเรื่อง Die Hard ในครั้งนี้

ไม่เหมือนตรงไหนเอาปากกามาวง…

ทาง Deepfake ได้ใช้ระบบเครือข่ายนิวรอน (Neural Network) ซึ่งเป็นระบบปัญญาประดิษฐ์ประเภทหนึ่งที่มีความสามารถในการเรียนรู้ มาประมวลผลจากภาพและวิดีโอที่มีใบหน้าของวิลลิส จำนวนกว่า 34,000 ชิ้น จนสุดท้ายสามารถถอดออกมาเป็นใบหน้าของวิลลิสอย่างที่เราเห็นกันในโฆษณาชุดนี้

“ภาพของบรูซ วิลลิส ถูกสร้างขึ้นด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยีการสร้างใบหน้า ซึ่งอิงตามอัลกอริธึมของเครือข่ายนิวรอน ในการทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น วิศวกรของสตูดิโอ Deepcake ได้เลือกภาพถ่ายและวิดีโอของวิลลิสจำนวนกว่า 34,000 ชิ้น เพื่อนำมาให้ระบบ AI สร้างเป็นใบหน้าของวิลลิส” บอลชาคอฟ เล่าที่มาของโปรเจกต์นี้

วิลลิส ตัวจริง?

บอลชาคอฟ ยังเสริมว่า ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก การใช้ Deepfakes ถือเป็นทางออกที่ดีสำหรับงานด้านประชาสัมพันธ์ อีกทั้งยังย้ำว่าแม้ตัววิลลิสจะไม่ได้มาเข้ากองด้วยตัวเอง แต่เทคโนโลยีนี้ก็ทดแทนตัวพระเอกคนดังได้ดีไม่แพ้กัน

“เราตระหนักดีว่าเราสามารถนำเสนอเนื้อหาคุณภาพสูงได้ โดยไม่ต้องห่วงเรื่องการระบาดใหญ่ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ การใช้เทคโนโลยีนี้ช่วยให้เราสามารถถ่ายทำเนื้อหาได้เร็ว และถูกกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับตอนที่ดาราบินมาเข้ากองถ่ายด้วยตัวเอง

“เราประกาศเรื่องการใช้เทคโนโลยีนี้อย่างเปิดเผย และเราไม่หลอกลวงใคร ในทางกลับกัน เราเชื่อว่าการได้เห็นวิลลิส ในบทบาทใหม่เป็นเรื่องที่ดีสำหรับทุกคน” บอลชาคอฟกล่าว

แคมเปญโฆษณาตัวนี้นี้มีทั้งหมด 15 ตอน โดยตอนแรกได้ผู้กำกับชาวรัสเซีย อิเลีย ไนชูเลอร์ (Ilya Naishuller) ที่เคยกำกับภาพยนตร์เรื่อง Nobody รับหน้าที่ดูแล

ทีเซอร์ของโฆษณาตัวนี้

Deepfakes ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ทั้งให้คุณและโทษในเวลาเดียวกัน ในปี 2019 เคยมีโจรใช้ Deepfake ปลอมเป็นผู้บริหารบริษัทแห่งหนึ่ง ก่อนที่จะโทรสั่งให้ลูกจ้างโอนเงินจำนวน 243,000 เหรียญ (ราว 8.5 ล้านบาท) มาให้ตน ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นกลายเป็นข้อถกเถียงครั้งใหญ่เรื่องความปลอดภัยของนวัตกรรมนี้

แต่อย่างไรก็ตาม การใช้ Deepfakes อย่างถูกต้อง ก็อาจสร้างงานสร้างอาชีพให้กับหลายคน เหมือนอย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับยูทูบเบอร์ Deepfake รายหนึ่งที่ชื่อ Shamook หลังผลงานการใช้ Deepfake ลดอายุตัวละครลุค สกายวอล์คเกอร์ ในซีรีส์ The Mandalorian ของเขา ไปเข้าตาบริษัท Industrial Light and Magic ของ จอร์จ ลูคัส (George Lucas) จนสุดท้ายบริษัทยักษ์ใหญ่นี้ต้องชวนเขาไปทำงานด้วย

เครดิตภาพและอ้างอิง:

https://bit.ly/3o6crx0

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส