เมื่อนึกถึงภาพวาดศิลปะ เราอาจจะนึกถึงภาพที่ใช้ดินสอ หรือพู่กันในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นเอกขึ้นมา แต่ในเมืองเบรนทรี ประเทศอังกฤษ เจมส์ คุก (James Cook) สถาปนิกวัย 24 ปี เขาตัดสินใจทำสิ่งที่แตกต่างจากศิลปินคนอื่น ๆ โดยการหันมาใช้พิมพ์ดีดเพื่อสร้างสรรค์งานศิลปะขึ้นมาจนได้รับความนิยมไปทั่วโลก 

คุกเล่าว่าแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะโดยใช้พิมพ์ดีด มาจากศิลปินที่ป่วยจากอาการสมองพิการคนหนึ่ง

“ทั้งหมดผมเริ่ม ตอนที่ยังเรียนหลักสูตร A Levels ตอนนั้นเราได้รับมอบหมายให้ค้นคว้าเกี่ยวกับศิลปินที่ใช้วัตถุแปลก ๆ ไม่เหมือนใครในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ซึ่งนั่นคือตอนที่ผมได้พบกับศิลปินชาวอเมริกันชื่อพอล สมิธ (Paul Smith) ซึ่งในเวลาต่อมาผมก็พบกับเรื่องราวสุดน่าทึ่งของเขา”

เจมส์ คุก

สำหรับสมิธ ถือเป็นศิลปินชาวอเมริกันที่ป่วยจากอาการสมองพิการ จนไม่สามารถเดินหรือแม้กระทั่งสามารถจับดินสอได้หมือนคนอื่น แต่ด้วยความหลงใหลในศิลปะ สมิธก็ค้นพบหนทางแห่งการสร้างสรรค์โดยการใช้พิมพ์ดีดมาวาดแทนดินสอ

จากเรื่องราวของสมิธ ทำให้คุกหันมาพัฒนาทักษะการพิมพ์ดีดของตัวเอง เขาเริ่มลองผิดลองถูกอยู่ 7 ปี ก่อนจะสามารถทำออกมาเป็นภาพผลงานศิลปะกว่าร้อยชิ้น ซึ่งโดยส่วนมากผลงานศิลปะจากเครื่องพิมพ์ดีดของคุก มักจะเป็นภาพสถานที่ หรือรูปของเหล่าคนดัง 

“โดยปกติ ผมจะเริ่มต้นด้วยการวาดภาพร่างของสิ่งที่ผมจะวาด เครื่องพิมพ์ดีดส่วนใหญ่ใช้กระดาษ A4 เท่านั้น ดังนั้นหากคุณกำลังจะวาดภาพบุคคลหรือสิ่งปลูกสร้าง คุณต้องแน่ใจว่าคุณมีพื้นที่เพียงพอบนหน้ากระดาษ”

จากการฝึกฝนกว่า 7 ปี ทำให้คุกกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพิมพ์ดีด ซึ่งคุกก็เปิดเผยว่าระยะเวลาที่ผ่านมาทำให้เขาค้นพบเทคนิคเฉพาะตัวขึ้นมา

“ถ้าผมจะทำภาพบุคคล ผมจะเริ่มที่ดวงตา เพราะดวงตาของคุณจะถูกดึงดูดเข้าหาดวงตาเหล่านั้นก่อนเสมอ และส่วนใหญ่สิ่งเหล่านี้จะเป็นจุดที่ทำยากที่สุด ผมใช้สัญลักษณ์วงเล็บเพื่อทำเป็นเส้นโค้งของรูม่านตา และลงท้ายด้วยเลขศูนย์ตรงกลาง เพราะส่วนที่ว่างเปล่าของศูนย์จะสร้างส่วนที่เป็นประกายในดวงตา และนั่นก็ทำให้ภาพดูมีชีวิตชีวา และเป็นธรรมชาติขึ้น

“ในการทำผิวอ่อน ๆ ผมจะใช้สัญลักษณ์ @ เพราะมันมีพื้นที่ผิวค่อนข้างใหญ่ และสำหรับส่วนที่เป็นรอยบุ๋มต่าง ๆ ผมจะใช้เครื่องหมายดอกจัน”

เมื่อพูดถึงภาพอาคารต่าง ๆ คุกก็เสริมว่าเขามักใช้เครื่องหมายขีดล่างและตัวพิมพ์ใหญ่ของตัวอักษร I กับ S เพื่อสร้างเป็นพื้นผิวของอิฐ ส่วนขีดล่างและขีดทับจะใช้เป็นหลังคา และตัวอักษร H ส่วนใหญ่เขาจะใช้สร้างบานหน้าต่าง

“คุณมีปุ่ม 44 ปุ่มบนเครื่องพิมพ์ดีด และสิ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีการจัดเรียงปุ่มบนกระดาษ และการซ้อนทับเพื่อสร้างออกมาเป็นรูปร่างบางอย่าง นี่คืองานที่คุณกำลังทำภายใต้ข้อจำกัดมากมาย”

ผลงานกว่าร้อยชิ้น ถูกสร้างสรรค์ผ่านเครื่องพิมพ์ดีดมากกว่า 30 เครื่อง คุกเล่าว่าแต่ละเครื่องผลิตขึ้นมาตั้งแต่ปี 1930 ไปจนถึงปลายทศวรรษ 1990

นอกจากนี้ผลงานแต่ละชิ้นใช้ระยะเวลาในการสร้างสรรค์แตกต่างกันออกไป ซึ่งหากเป็นขนาด A4 ทั่วไปอาจใช้เวลาประมาณ 9 ถึง 15 ชั่วโมงจึงจะเสร็จสมบูรณ์ แต่สำหรับบางชิ้นอาจลากยาวไปถึง 30 ชั่วโมง 

“ภาพวาดแต่ละภาพมีขนาด และความซับซ้อนแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม ผมถูกจำกัดให้ใช้กระดาษ A4 มาตรฐาน เนื่องจากกระดาษนี้เป็นขนาดทั่วไปที่เครื่องพิมพ์ดีดใช้ ซึ่งการสร้างภาพแต่ละครั้งอาจใช้เวลาประมาณ 9-30 ชั่วโมง” 

ปัจจุบันคุกก็ยังเดินหน้าสร้างสรรค์ผลงานในลักษณ์นี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งตลอดปีที่ผ่านมาผลงานของเขา มักจะถูกนำไปจัดแสดงตามพิพิธภัณฑ์หรือสถานที่ต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้ง โดยตัวคุกปิดท้ายว่าแม้ผลงานของเขาจะไม่ใช่ผลงานศิลปะที่วาดด้วยมือเหมือนชิ้นอื่น ๆ แต่เขาเชื่อว่าผลงานที่สร้างสรรค์ออกมาล้วนแต่มีคุณค่า และมีเรื่องราวในตัวเอง

“งานทั้งหมดมีเรื่องราวของตัวเอง และเรื่องราวเบื้องหลังเหล่านั้น ก็มีความน่าสนใจพอ ๆ กับงานศิลปะที่เกิดขึ้นนี่แหละ”

เครดิตภาพและอ้างอิง:

https://bbc.in/3iPC41K

https://bit.ly/3iS11ts

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส