ใครที่ชื่นชอบการชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ ต่างก็คุ้นเคยกับโรงใหญ่ที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า หรือตามศูนย์การค้าต่าง ๆ บ้างก็คุ้นเคยกับโรงภาพยนตร์ที่จัดฉายภาพยนตร์นอกกระแสมาบ้างแล้ว แต่ถ้าเป็นโรงภาพยนตร์ที่จัดฉายเฉพาะภาพยนตร์คลาสสิก หรือภาพยนตร์อันทรงคุณค่าแล้วนั้น มีเพียงไม่กี่ที่ในประเทศไทย และที่ ๆ ว่ามานี้ อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานครเท่าไหร่นัก ที่นี่คือ “หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)”

หอภาพยนตร์ เป็นองค์การมหาชน จัดตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2527 โดยใช้ชื่อว่า “หอภาพยนตร์แห่งชาติ” และได้รับการยกสถานะให้เป็นองค์การมหาชนในพ.ศ. 2552 โดยมีจุดมุ่งหมายในการเก็บรักษาฟิล์มภาพยนตร์และโสตทัศน์ให้เป็นทรัพย์สินทางปัญญา เป็นสมบัติและมรดกของชาติ รวมทั้งจัดระบบการค้นคว้า การศึกษา และวิจัย

ต้องบอกก่อนว่า หอภาพยนตร์แห่งนี้ ไม่ได้มีแค่การจัดฉายภาพยนตร์เพียงอย่างเดียว ยังมีส่วนของหอสมุด ‘เชิด ทรงศรี’ ที่รวบรวมข้อมูลและเนื้อหาเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์, ลานดารา ที่รวบรวมฝ่ามือ ฝ่าเท้า และลายเซ็นของเหล่านักแสดง เปรียบเสมือนฮอลลีวูด วอล์ก ออฟ เฟม (Hollywood Walk Of Fame) ในดินแดนฮอลลีวูด และส่วนของพิพิธภัณฑ์ ที่จำลองฉากการถ่ายทำและรวบรวมสิ่งของที่มีการใช้งานในกองถ่ายภาพยนตร์มาให้ได้ชมกัน มีทั้งส่วนจัดแสดงแบบถาวร และส่วนจัดแสดงแบบหมุนเวียน

ซึ่งในส่วนของพิพิธภัณฑ์และลานดาราที่กล่าวมาในข้างต้นนั้น ณ วันที่ได้มาเยือนหอภาพยนตร์ ยังไม่สามารถเข้าชมได้ เนื่องจากอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และอยู่ในช่วงปรับปรุงซ่อมแซม เพื่อพร้อมกลับมาเปิดให้เข้าชมอีกครั้งเมื่อถึงวันที่พร้อม และเมื่อถึงวันนั้น ทาง #beartai จะกลับมาเยือนและนำคุณผู้อ่านทุกท่านไปชมด้วยกัน

สำหรับการมาเยือนหอภาพยนตร์ในครั้งนี้ เป็นการมารับชมภาพยนตร์ และเข้าชมส่วนจัดแสดงในส่วนต่าง ๆ ที่ทางหอภาพยนตร์ได้เปิดให้เข้าชมได้ โดยการเข้าชมภาพยนตร์นั้น ผู้ที่ต้องการเข้าชม จะต้องทำการจองที่นั่งผ่านทางหน้าเว็บไซต์ของหอภาพยนตร์ โดยสามารถเลือกได้ว่าจะรับชมเรื่องใด และรอบเวลาใด ซึ่งภาพยนตร์ที่ทางหอภาพยนตร์นำมาฉายนั้น มีทั้งภาพยนตร์ไทย ภาพยนตร์ต่างประเทศ ภาพยนตร์การ์ตูน และภาพยนตร์ข่าว บางครั้งจะจัดรอบการฉายแบบพิเศษ โดยอิงตามช่วงเวลาหรือกำหนดเป็นกิจกรรมพิเศษในรอบเดือนนั้น ๆ อย่างที่ผู้เขียนได้มารับชมนี้ ผู้เขียนได้มาชมในช่วงเวลาที่ทางหอภาพยนตร์กำลังประกาศชื่อภาพยนตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติพอดี จึงมีโปรแกรมพิเศษที่คัดเฉพาะภาพยนตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในปีที่ผ่าน ๆ มา นำมาฉายให้ได้รับชมกันอีกครั้ง

หลังจากที่จองที่นั่งผ่านทางเว็บไซต์แล้ว เมื่อมาถึงหน้าห้องออกตั๋ว แค่เพียงแจ้งข้อมูลส่วนตัวที่ได้ลงทะเบียนไว้ เจ้าหน้าที่จะทำการออกตั๋วเข้าชมให้ โดยตั๋วเข้าชมนั้นจะมีลักษณะเป็นคิวอาร์โค้ด (Quick Read Barcode : QR Code) มีให้ถึง 2 ส่วนด้วยกัน คือ คิวอาร์โค้ดสำหรับการเข้าชมภาพยนตร์ และคิวอาร์โค้ดสำหรับการเข้าชมนิทรรศการต่าง ๆ ภายในหอภาพยนตร์ (ภายในตั๋วจะระบุว่าเป็น “ตั๋วกลาง”)

ก่อนจะเข้าโรงฉาย ยังพอมีเวลาในการเดินสำรวจสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ภายในอาคาร เริ่มตั้งแต่ชั้นล่างสุดของอาคาร ถัดจากห้องออกตั๋ว เป็นห้องจำหน่ายของที่ระลึก มีมากมายหลากหลายรูปแบบให้เลือกสรร ทั้งหนังสือ, เสื้อยืด, โปสเตอร์ภาพยนตร์ และแผ่นดีวีดีภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ

ถัดออกมา จะพบกับนิทรรศการถาวรในชื่อ “ภาพค้างติดตา” เป็นนิทรรศการที่เหมาะสมสำหรับเด็ก (แต่ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ก็เข้าชมได้นะ) ภายในนิทรรศการดังกล่าว เป็นการบอกเล่าถึงเรื่องราวของการบันทึกภาพในรูปแบบต่าง ๆ จากสมัยโบราณ ที่ใช้วิธีขีดเขียนลงบนผนังถ้ำ พัฒนามาเรื่อยจนถึงยุคบันทึกภาพด้วยฟิล์ม ทั้งในแบบภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว เล่าเรื่องราวผ่านเจ้าแมงมุมตัวน้อยที่รับอาสาพาทุกท่านเดินทางแบบย้อนเวลาไปสัมผัสชีวิตในแต่ละยุคที่ได้กล่าวมา

เดินขึ้นมายังชั้นลอย จะพบกับจุดจัดแสดงขนาดย่อม ๆ ที่ทำให้นึกถึงวันวานสมัยก่อนของคุณพ่อ คุณแม่ (หรือรุ่นคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ของเรา ๆ ท่าน ๆ) นั่นคือ นิทรรศการถาวร “ลานไปดวงจันทร์” ที่จำลอง “หนังกระโปรง” ภาพยนตร์เคลื่อนที่ในราคาประหยัด ขอแค่เพียงได้รับชมก็มีความสุขแล้ว ถึงแม้ภาพยนตร์ที่นำมาฉายในโรงเล็กโรงนี้ จะเป็นการนำเศษฟิล์มจากห้องตัดต่อมาร้อยเรียงให้กลายเป็นเรื่องใหม่เรื่องหนึ่ง หรือบางโรงเป็นการนำภาพยนตร์สั้น มาฉายให้ผู้ที่สนใจอยากเข้าชม หยอดเหรียญเพียงไม่กี่สตางค์ก็รับชมได้

ระหว่างการเดินขึ้นไปตามชั้นต่าง ๆ จะพบกับการจัดแสดงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีการใช้งานในกองถ่ายทำภาพยนตร์ ตั้งแต่หน้ากองถ่าย ไปจนถึงห้องล้างฟิล์ม ทุกชิ้นที่ได้เห็นนั้น ล้วนเป็นของที่ผ่านการใช้งานมาแล้วทั้งสิ้น อาทิ

อุปกรณ์การถ่ายทำ

เครนกล้องพร้อมที่นั่งที่ละโว้ภาพยนตร์เคยใช้งานจริง

ชุดของ “ผีชบา” ในภาพยนตร์เรื่อง “โปรแกรมหน้า วิญญาณอาฆาต”

เครื่องประดับของเหล่านักแสดง

บทภาพยนตร์, กระดาน หรือ สเลต (Slate) ที่ใช้ในระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์

ฟิล์มถ่ายทำภาพยนตร์ในหลากหลายขนาด

ตลับและกล่องจัดเก็บฟิล์ม

นอกจากการจัดแสดงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิตภาพยนตร์แล้ว ยังมีนิทรรศการหมุนเวียน และนิทรรศการถาวรจัดแสดงด้วย รวมไปถึงในชั้นที่ 4 ของตัวอาคาร เป็นที่ตั้งของห้องสมุดและโสตทัศนสถาน ‘เชิด ทรงศรี’ แหล่งรวบรวมความรู้ทางด้านภาพยนตร์ทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงสามารถรับชมภาพยนตร์ ข่าว หรือสารคดีเรื่องที่ต้องการได้ในรูปแบบ Video on Demand ต่อให้ภาพยนตร์ที่ต้องการรับชมนั้นจะอยู่นอกโปรแกรมการฉายของทางหอภาพยนตร์ก็ตาม

ในส่วนของโรงภาพยนตร์นั้น ภายในอาคารมีถึง 3 โรงด้วยกัน ทุกโรงรองรับการฉายภาพยนตร์ทั้งในระบบฟิล์ม และระบบดิจิทัล (ซึ่งเป็นฟิล์มที่ผ่านการบำรุงรักษาและสแกนให้กลายเป็นไฟล์ดิจิทัลแล้ว) แต่แตกต่างกันที่ขนาดความจุที่นั่งภายในโรง มีตั้งแต่ 50 ที่นั่ง, 100 ที่นั่ง และโรงใหญ่ที่สุด มีขนาด 361 ที่นั่ง นั่นคือโรงศาลาศีนิมา เป็นโรงที่ผู้เขียนได้มารับชมในครั้งที่ได้มาเยือนนี้

พื้นที่ภายในโรงศาลาศีนิมา ชั้น 6 อาคารสรรพสาตรศุภกิจ

ถึงแม้ภาพยนตร์ที่นำมาฉายนั้น เป็นภาพยนตร์ที่ไม่ได้เหมือนกับโรงที่มีโปรแกรมการฉายแบบทั่ว ๆ ไป แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างไปจากโรงภาพยนตร์ที่เห็นกันดาษดื่นตามห้างสรรพสินค้า คือการที่ไม่มีการฉายโฆษณา หรือการฉายตัวอย่างภาพยนตร์ในโปรแกรมถัดไป มีเพียงแต่การกล่าวต้อนรับและการเกริ่นนำก่อนการฉายจากเจ้าหน้าที่ของหอภาพยนตร์

สำหรับการชมภาพยนตร์ หรือรับชมนิทรรศการต่าง ๆ ที่จัดแสดงภายในหอภาพยนตร์แห่งนี้ ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ในส่วนของภาพยนตร์ สามารถเลือกรับชมเรื่องที่ต้องการรับชมจากโปรแกรมในแต่ละเดือนที่ทางหอภาพยนตร์จัดไว้ หรือรับชมแบบ Video on Demand อย่างที่ได้กล่าวมาในข้างต้นก็ได้

หอภาพยนตร์แห่งนี้ เปิดทำการทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) ตั้งแต่เวลา 10.00 น. ไปจนถึงเวลา 17.00 น. ท่านใดที่สนใจและต้องการเดินทางมายังหอภาพยนตร์แห่งนี้ สามารถเดินทางได้ทั้งรถโดยสารส่วนบุคคล และรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) ถ้าหากเดินทางด้วยรถเมล์ สามารถเดินทางด้วยสาย 515 (อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ – เซ็นทรัล ศาลายา), สาย 547 (สวนลุมพินี – บ้านเอื้ออาทรศาลายา) และสาย Y70E (บีทีเอสสถานีหมอชิต – บ้านเอื้ออาทรศาลายา)

สำหรับส่วนของพิพิธภัณฑ์ และลานดารา ซึ่งอยู่ในช่วงของการปรับปรุงพื้นที่และภูมิทัศน์อยู่นั้น หากทางหอภาพยนตร์ทำการปรับปรุงแล้วเสร็จและเปิดให้เข้าชมได้ ทาง #beartai จะกลับมานำพาคุณผู้อ่านทุกท่านมาเยี่ยมชมกันอีกครั้งหนึ่ง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส