ความโดดเด่นของภาพยนตร์ ‘Shang-Chi and the Legend of the Ten Rings’ (ชาง-ชี กับตำนานลับเท็นริงส์ ) นั้นไม่ใช่เพียงแค่การที่มันเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกในจักรวาลมาร์เวล หรือ MCU (Marvel Cinematic Universe) ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับฮีโรที่มีเชื้อชาติเอเชีย ภายใต้เรื่องราวแบบเอเชียแบบเต็ม ๆ เพียงเท่านั้น เพราะการมาของฮีโรอย่าง ‘ชางชี’ ยังได้ให้กำเนิดขุมพลังขุมใหม่ในจักรวาลมาร์เวลขึ้นอีกด้วย ซึ่งนั่นก็คือ ‘Ten Rings’ หรือวงแหวนทั้งสิบ และยังเป็นครั้งแรกที่เล่าเรื่องเจาะจงไปที่องค์กรใหญ่แห่งหนึ่งในจักรวาลมาร์เวล นั่นก็คือกลุ่มที่มีชื่อว่า ‘เท็นริงส์’ ที่เคยมีบทบาทในภาพยนตร์ ‘Iron Man’ มาก่อนหน้านี้
หากจะอธิบายง่าย ๆ วงแหวนทั้งสิบหรือ ‘เท็นริงส์’ นั้นก็ไม่ต่างอะไรจาก ‘อินฟินิตีสโตน’ (Infinity Stone) ของธานอสใน Avenger นั่นเอง เพราะว่ามันเป็นสิ่งของวิเศษที่ทำให้ผู้ที่ได้ครอบครองนั้นมีพลังอันทรงอานุภาพ ซึ่งการมาของวงแหวนทั้งสิบนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร และจะมีบทบาทต่อไปใน MCU อย่างไร นี่คือตำนานเล่าขานและเบาะแสที่ควรรู้
SPOILER ALERT !!
คำเตือน : ส่วนหนึ่งของเนื้อหาในบทความนี้ มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์ ‘Shang-Chi and the Legend of the Ten Rings’ เท่าที่จำเป็น จึงจำเป็นที่ควรจะต้องรับชมภาพยนตร์ก่อนที่จะอ่านบทความนี้ (และเพื่อจะได้นึกเนื้อเรื่องตามระหว่างอ่านได้ด้วย)
ตำนาน ‘วงแหวนทั้งสิบ’
จากคอมิก
หากจะพูดถึง ‘วงแหวนทั้งสิบ’ ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่พูดถึง ‘แมนดาริน’ โดยวายร้ายชาวจีนคนนี้ปรากฏตัวครั้งแรกในคอมิกส์ ‘Tales of suspense’ ฉบับที่ 50 เดือนกุมภาพันธ์ ปี 1964
เนื้อเรื่องเล่าว่า แมนดารินเป็นอดีตลูกเศรษฐีจีนที่พ่่อแม่ตายก่อนยุคเปลี่ยนการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ไม่นาน แมนดารินที่อาศัยอยู่กับป้า ใช้จ่ายเกินกำลังจนหมดเนื้อหมดตัว และไม่มีเงินจ่ายภาษีให้กับทางการ ทำให้ทั้งคู่โดนไล่ออกจากเมือง เขาจึงเดินทางสำรวจเข้าไปยังดินแดนต้องห้ามที่เรียกว่า ‘หุบเขาแห่งวิญญาณ’ (Valley of Spirits)
(หมายเหตุ : ในคอมิกส์ช่วงแรก พ่อของชางชี จะมีชื่อว่่า ‘ฟูแมนจู’ (Fu-Manchu) แต่ภายหลังด้วยปัญหาของตัวละครฟูแมนจู ที่สร้างขึ้นจากภาพลักษณ์ด้านลบต่อชาวจีนและชาวเอเชีย รวมถึงการถูกฟ้องจาก ‘แซ็ก โรห์เมอร์’ (Sax Rohmer) นักเขียนชาวอังกฤษเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวละครฟูแมนจูที่เขาเขียนขึ้นในปี 1910 ทำให้ Marvel ได้ปรับเปลี่ยนเรื่องราวของชางชีใหม่ และเปลี่ยนชื่อพ่อของชางชี กลายเป็น ‘เฉิง ซู่’ (Zheng Zu) และปรับให้แมนดารินเป็นพ่อของชางชีในเวอร์ชันภาพยนตร์)
ณ ที่นั้น เขาได้พบโครงกระดูกเอเลียนสายพันธุ์ ‘แอกซอน-คารร์’ (Axonn-Karr) มีลักษณะครึ่งเอเลียน ครึ่งมังกรจีน มีความสามารถในการปลอมตัวเป็นสิ่งมีชีวิตต่่าง ๆ ที่เคยเดินทางมาเพื่อยึดครองโลกเมื่อหลายร้อยปีก่อนหน้า พร้อมกับนำ ‘วงแหวนทั้งสิบ’ เดินทางติดมาด้วย แมนดารินได้พบกับวงแหวนทั้งสิบ เขาใช้เวลานานหลายปีในการศึกษาพลังของวงแหวนแต่ละวงอย่างละเอียด โดยในคอมิกได้ระบุพลังของวงแหวนแต่ละวงเอาไว้อย่างละเอียด
มือซ้าย
นิ้วโป้ง : ‘White Light’ ปล่อยพลังแสงเพื่อควบคุมพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อควบคุมพลังดึงดูด หรือใช้ปล่อยแสงเพื่อพรางตา หรือปล่อยภาพลวงตาแก่ศัตรู หรือใช้ปล่อยแสงเลเซอร์ได้
นิ้วชี้ : ‘Flame Blast’ ปล่อยรังสีออกมาเพื่อทำให้ศัตรูลุกเป็นไฟจากระดับโมเลกุล
นิ้วกลาง : ‘Electro-Blast’ ใช้ควบคุมการปล่อยพลังงานไฟฟ้าได้
นิ้วนาง : ‘Mento-Intensifier’ ช่วยให้สามารถควบคุมความคิดจิตใจของศัตรูได้ แต่ใช้ได้ในระยะสั้น ๆ
นิ้วก้อย : ‘Ice Blast’ สามารถช่วยให้ปล่อยพลังทำให้อุณหภูมิของสิ่งต่าง ๆ และอากาศลดลงจนกลายเป็นน้ำแข็งได้
มือขวา
นิ้วโป้ง : ‘Matter Rearranger’ ปล่อยพลังเพื่อควบคุมอะตอมในระดับโมเลกุลให้ช้าลงหรือเร็วขึ้น สามารถเปลี่ยนแปลงสภาพของสิ่งของได้โดยไม่เปลี่ยนแปลงรูปร่างของโมเลกุล
นิ้วชี้ : ‘Impact Beam’ ปล่อยแรงผลักรุนแรงเท่ากับระเบิด 150 กิโลกรัมเพื่อทำลายโมเลกุลของสิ่งต่าง ๆ ได้
นิ้วกลาง : ‘Vortex Beam’ ใช้ทำให้เกิดพายุ หรือกระแสน้ำวนพัดพาสิ่งต่าง ๆ หรือใช้เป็นอาวุธได้
นิ้วนาง : ‘Disintegration Beam’ ปล่อยลำแสงทำให้อะตอมแตกตัวออกจากกัน แต่ต้องชาร์จพลัง 20 นาทีก่อนการใช้งานครั้งต่อไป
นิ้วก้อย : ‘Black Light’ ปล่อยพลังดูดกลืนแสงเพื่อให้ความมืดเข้าปกคลุมได้
จนเมื่อแมนดารินสามารถควบคุมพลังของวงแหวนทั้งสิบได้แล้ว เขาจึงใช้มันในการยึดครองหมู่บ้าน จนแม้แต่ทางการก็ยังหวาดกลัว และเมื่อยึดได้ทั้งหมดแล้ว เขาก็มีเป้าหมายที่หวังอยากจะยืดครองโลกต่อไป จนกระทั่งแมนดารินได้กลายมาเป็นศัตรูของไอรอนแมนในที่สุด ส่วนใน ‘Iron Man 3’ (2013) ใน MCU ก็อย่างที่รู้กันว่า แมนดารินแห่งกลุ่มเท็นริงส์คนนั้น ที่ลักพาตัวโทนี สตาร์กเป็นเพียงตัวปลอมเฉย ๆ ซะงั้น ซึ่งในหนังเรื่องนี้ เราก็จะได้เห็นแมนดารินตัวจริงพูดถึงแมนดารินตัวปลอมด้วย
ต่อมาในคอมิก ‘Special Marvel Edition’ ฉบับที่ 15 เดือนธันวาคม 1973 ฟูแมนจู ได้ให้กำเนิดบุตรชายคนแรกที่ชื่อว่า ‘ชางชี’ ซึ่ง ฟูแมนจู ในเวลานั้นได้ใช้พลังแห่งวงแหวนทั้งสิบสร้างกองทัพอันยิ่งใหญ่ และแผ่ขยายอำนาจไปทั่วโลกราวกับลัทธิหรือศาสนาหนึ่งเลยทีเดียว แมนดารินจึงได้ตั้งใจที่จะฝึกชางชีให้กลายเป็นนักฆ่าผู้แข็งแกร่งและเก่งกาจในการต่อสู้ในทุกรูปแบบ ทั้งการใช้อาวุธและมือเปล่า แต่ชางชีกลับตาสว่างและพบว่า พ่อบังเกิดเกล้าของเขาคือวายร้ายที่กำลังทำลายโลก เขาจึงเลือกที่จะแยกทางกับพ่อของตนเอง
ส่วน ‘เซี่ยหลิง’ บุตรีคนแรก และน้องสาวของชางชี ในคอมิกจะทำหน้าที่เป็นอดีต “มือขวา” ให้กับ ฟูแมนจู ด้วย แต่ด้วยความที่ห่างเหินกับพ่อ เธอจึงเปลี่ยนข้างมาต่อสู้ร่วมกับชางชีในที่สุด
(อ่านต่อ “บทบาทของ ‘เท็นริงส์’ ในภาพยนตร์” หน้า 2 เลย)
บทบาทของ ‘เท็นริงส์’ ในภาพยนตร์
ส่วนในภาพยนตร์ ‘Shang-Chi and the Legend of the Ten Rings’ นั้น แม้ว่าจะมีส่วนที่คล้ายคลึงกับที่มาและตำนานในคอมิกหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ที่มาของเท็นริงส์จริง ๆ กลับไม่ได้ระบุอะไรชัดเจนนัก
SPOILER ALERT ! ตัวหนังเปิดเรื่องด้วยกองทัพสงครามจีนในยุคโบราณเมื่อนับพันกว่าปีก่อน ‘เหวินหวู่’ (เหลียงเฉาเหว่ย) หรือ ‘แมนดาริน’ ผู้เป็นแม่ทัพได้ขี่ม้าฝ่าทัพข้าศึกแบบตะลุยเดี่ยว โดยใช้พลังจากเท็นริงส์ เพื่อกำราบข้าศึก เปิดทางให้กองทัพเข้าจู่โจม โดยในบทบรรยายไม่ได้กล่าวอะไรมากไปเพียงแค่ตำนานโบราณที่กล่าวถึงที่มาของเท็นริงส์ ที่บ้างก็ว่าถูกพบในปล่องภูเขาไฟ หรือเก็บมาได้จากหลุมศพ (ซึ่งจะว่าไปก็ใกล้เคียงกับในคอมิก เพราะแมนดารินค้นพบวงแหวนทั้งสิบในปล่องภูเขาไฟ ที่มีซากอวกาศตั้งอยู่ และมีศพเอเลียนอยู่ภายใน)
โดยอย่างที่ทราบกันว่า เท็นริงส์ในภาพยนตร์ ได้ดัดแปลงเท็นริงส์ให้กลายเป็นกำไลสวมแขนข้างละ 5 วงแทนที่จะเป็นแหวนสวมนิ้ว ที่สามารถกลายมาเป็นอาวุธในการต่อสู้ได้ และในภาพยนตร์จะไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติของแหวนแต่ละวงมากนัก นอกจากจะมอบพลังอันมหาศาลให้กับผู้สวมใส่ และตัวเท็นริงส์ก็จะเปลี่ยนสีไปตามผู้ที่ได้สวมใส่มันอีกด้วย โดยตอนที่เหวินหวู่ครอบครอง เท็นริงส์จะเป็นสีน้ำเงิน
SPOILER ALERT ! จนกระทั่งเมื่อเหวินหวู่โดน ‘สัตว์ดูดวิญญาณ’ (Soul Eater) ที่เขาปลดปล่อยออกมา ดูดวิญญาณเข้าไป ‘ชางชี’ (Simu Liu) จึงได้มีโอกาสสวมใส่เท็นริงส์ และเท็นริงส์ก็จะเปลี่ยนเป็นสีทอง
โดยผู้ที่ครอบครองเท็นริงส์ จะสามารถใช้วงแหวนแต่ละอันเพื่อเป็นอาวุธ หรือใช้วงแหวนทั้งหมดเหวี่ยงคล้ายแส้ได้ สามารถปล่อยพลังหมัดอันมหาศาลใส่คู่ต่อสู้ได้ ช่วยมอบพลังในการเคลื่อนที่ไปยังที่ต่าง ๆ ได้ และยังสามารถบินกลับมาหาผู้ครอบครองได้เมื่อถูกปล่อยออกไปในระยะไกล โดยในภาพยนตร์ เราจะได้เห็นเหวินหวู่สวมเท็นริงส์ไว้ที่ข้อมือข้างละ 5 ห่วงเพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ในการต่อสู้อีกด้วย
และที่สำคัญคือ ผู้ที่ได้ครอบครองเท็นริงส์จะมีชีวิตเป็นอมตะ นั่นจึงทำให้เหวินหวู่สามารถสร้างกองทัพและแผ่ขยายอิทธิพลของกลุ่มเท็นริงส์ออกไปยังที่ต่่าง ๆ ทั่วโลกได้ยาวนานนับสหัสวรรษ แต่นั่นก็หมายถึงผู้ที่ครอบครองเท็นริงส์เอง ก็ต้องมีความสามารถและพละกำลังมากพอที่จะควบคุมและใช้พลังจากเท็นริงส์ให้ได้ด้วย
อันนี้ไม่สปอยล์แต่อยากแถม สำหรับใครที่สงสัยว่า ทำไมในหนังต้องเปลี่ยนเท็นริงส์ จากแหวนสวมนิ้วในคอมิกส์ มาเป็นห่วงสวมที่แขนแทน ‘โจนาธาน ชวาร์ตซ’ (Jonathan Schwartz) โปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เฉลยข้อสงสัยว่า ที่ต้องการเปลี่ยน เพราะแหวนสวมนิ้วมันดูคล้ายกับ ‘อินฟินิตีสโตน’ (Infinity Stone) ของธานอสไปหน่อย และแหวนมันก็ดูง้องแง้งกว่า (อ้างอิง)
เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า เท็นริงส์แบบสวมที่แขนนั้นได้แรงบันดาลใจจาก ‘ห่วงเหล็กกังฟู’ (Kung Fu Iron Rings) ในการฝึกกังฟูแบบเส้าหลิน ซึ่งคอหนังจีนน่าจะคุ้นหูคุ้นตาจากในภาพยนตร์จีนกังฟูคลาสสิกต่าง ๆ เช่น ‘ยอดมนุษย์ยุทธจักร’ (The 36th Chamber of Shaolin (1978)) หรือหนังของเฉินหลงอย่าง ‘ไอ้หนุ่มหมัดเมา’ (Drunken Master (1978)) หรือแม้แต่ใน ‘คนเล็กหมัดเทวดา’ (Kung Fu Hustle (2004)) ของโจวซิงฉือ
‘เท็นริงส์’ ที่อยู่ใน ‘End Credits’
SPOILER ALERT ! ในภาพยนตร์ แม้เท็นริงส์จะมีบทบาทในการมอบพลังให้แก่ผู้ครอบครองเพื่อกำจัดศัตรู และภัยร้ายลี้ลับตามตำนาน ‘มังกรผู้พิทักษ์’ (The Great Protector) และ ‘สัตว์ดูดวิญญาณ’ (Soul Eater) ที่ถูกปิดตายอยู่ในถ้ำหลังหมู่บ้าน ‘ถาโหล’ อันเป็นบ้านเกิดของ ‘เจียงหลี่’ (Fala Chen) ภรรยาของแมนดาริน และแม่ของชางชี แต่อย่างไรก็ตาม ตัวหนังก็ยังไม่ได้ลงรายละเอียดลึก ๆ เกี่ยวกับเท็นริงส์มากนัก โดยเฉพาะพลังแห่งวงแหวนแต่ละวง เราจึงได้เห็นเหวินหวู่ และชางชีใช้พลังจากเท็นริงส์แบบรวม ๆ ซะมากกว่า
SPOILER ALERT ! สิ่งที่น่าจะเป็นเบาะแสของที่มา และพลังของเท็นริงส์ทีี่มากกว่าเดิมนั้น น่าจะอยู่ใน End Credits ที่สำคัญ 2 ตัว ตัวแรกเกิดขึ้นหลังจากที่ชางชี และเคธี กำลังเล่าเรื่องการต่อสู้ให้เพื่อน ๆ ฟังในร้านอาหาร ทันใดนั้น ‘หว่อง’ (ฺBenedict Wong) ได้ใช้พลังเวททะลุมิติมาหาทั้งคู่เพื่อเรียกตัวไปคุยในห้องสมุดของตัวเอง
โดย End Credits ตัวแรก ชางชี, เคธี และหว่อง ได้ติดต่อสื่อสารเพื่อปรึกษาเรื่องเท็นริงส์กับภาพโฮโลแกรมของ ‘บรูซ แบนเนอร์’ (Mark Ruffalo) และ ‘กัปตันมาร์เวล’ (Brie Larson) โดยบรูซได้วิเคราะห์ว่า เท็นริงส์นั้นไม่ได้ทำมาจากไวเบรเนียม และไม่ทราบช่วงเวลากำเนิดที่แน่นอน แต่คาดน่าจะมีอายุเก่าแก่หลายพันปี ซึ่งแก่กว่าอายุของเหวินหวู่ด้วยซ้ำ ส่วนกัปตันมาร์เวลเสริมว่า เท็นริงส์นั้นไม่เหมือนเทคโนโลยีใด ๆ จากต่างดาวที่เธอเคยพบมาก่อน
SPOILER ALERT ! ก่อนที่บรูซจะอธิบายเสริมว่า เมื่อชางชีได้เป็นผู้ครอบครองเท็นริงส์โดยสมบูรณ์ ก็เท่ากับว่าชีวิตของชางชีกำลังจะเปลี่ยนไปตลอดกาล ซึ่งนั่นก็อาจจะเป็นเบาะแสที่หมายถึงว่า ต่อไปชางชีอาจจะกลายมาเป็นหนึ่งในทีม Avengers ของ MCU โดยสมบูรณ์หรือไม่ ก่อนที่จะตรวจจับสัญญาณได้ว่า เท็นริงส์กำลังส่งสัญญาณไปยังที่ใดที่หนึ่ง หรือใครคนใดคนหนึ่งในจักรวาล
SPOILER ALERT ! ส่วนใน End Credits ที่ 2 ‘เซี่ยหลิง’ (Zhang Meng’er) ในทีแรกเดินทางกลับไปยังฐานทัพกลุ่มเท็นริงส์ เพื่อหวังจะปิดกลุ่มลง แต่กลายเป็นว่า เธอได้ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้ากลุ่มเท็นริงส์แทน และยังได้ทำการฝึกกองกำลังผสมระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย พร้อมทั้งเปลี่ยนโฉมฐานทัพที่ดูน่าเกรงขามด้วยลวดลายกราฟิตี ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่า กลุ่มเท็นริงส์ในรูปโฉมใหม่อาจจะมีบทบาทมากขึ้น (ซึ่งก็ต้องเดาว่า จะเป็นบทบาทในทางดี ทางร้าย หรือเทา ๆ กันแน่)
รวมทั้งตัวเท็นริงส์ หรือ ‘วงแหวนทั้งสิบ’ และผู้ครอบครองอย่าง ‘ชางชี’ ก็อาจจะกำลังมีบทบาทและทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมในจักรวาล MCU ในภายภาคหน้า
หรือแม้แต่ใน ‘Shang-Chi and the Legend of the Ten Rings’ ภาคต่อไป