นับตั้งแต่เปิดตัวฉายเรื่องแรก ‘Dr. No’ ในปี 1962 จนถึงเรื่องที่ 25 ล่าสุด ‘No Time to Die’ ในปีนี้ หนังชุดสายลับแห่ง MI6 ที่มีรหัสประจำตัว 007 ชื่อ ‘เจมส์ บอนด์’ (James Bond) ที่มีต้นกำเนิดจากนวนิยายชุดของ เอียน เฟลิมมิง (Ian Fleming) มีการสร้างต่อเนื่องมาเกือบ 60 ปี ผ่านนักแสดงผู้รับบทบอนด์ถึง 6 คน จากฌอน คอนเนอรี จนถึงแดเนียล เครก beartai ได้รวบรวมลิสต์หนังเจมส์ บอนด์ ทั้ง 25 เรื่องไว้ที่นี่แล้ว
Dr. No (1962)
หนังเจมส์ บอนด์ ภาคแรก โดยผู้กำกับ เทอเรนซ์ ยัง และเป็นการเปิดตัว ฌอน คอนเนอรี ในฐานะสายลับ 007 เป็นครั้งแรก บอนด์ถูกส่งไปสืบคดีฆาตกรรมเพื่อนร่วมงานที่จาไมกา นำไปสู่แผนการลับบนเกาะส่วนตัวของ ดร.จูเลียส โน หนังประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ทำเงินไปถึง 60 ล้านเหรียญ และเป็นบรรทัดฐานให้กับหนังเจมส์ บอนด์ ภาคต่อ ๆ ไปให้ดำเนินรอยตาม
From Russia with Love (1963)
ผู้กำกับ เทอเรนซ์ ยัง และฌอน คอนเนอรี ร่วมงานกันอีกครั้ง เล่าเรื่องราวของบอนด์ที่เดินทางไปตุรกีเพื่อรับเครื่องถอดรหัสชื่อเล็กเตอร์จากเจ้าหน้าที่สาวชาวรัสเซีย จากนั้นก็ถูกตามล่าจากองค์กรอาชญากรรมสเปกเตอร์ ที่ต้องการล้างแค้นให้กับ ดร.โน ถือเป็นหนังบอนด์ที่เต็มไปด้วยฉากแอ็กชัน ตื่นเต้น ระทึกขวัญมากกว่าภาคแรก
Goldfinger (1964)
หนังเจมส์ บอนด์ ภาคที่ 3 เปลี่ยนผู้กำกับเป็น กาย แฮมิลตัน โดย ฌอน คอนเนอรี ยังคงรับบทสายลับ 007 ที่ได้รับคำสั่งให้ตามติดนายหน้าค้าทองชื่อ ออริก โกลด์ฟิงเกอร์ จนสืบทราบถึงแผนปล้นทองคำสำรองของสหรัฐอเมริกา หนังทำรายได้ท่วมท้นถึง 124 ล้านเหรียญ แถมยังเป็นการสร้างขนบหลายอย่างให้กับหนังบอนด์ อย่างเช่น ประโยคทองในการสั่งเครื่องดื่ม “A martini, shaken not stirred.” และของเล่นไฮเทกหลายอย่าง นอกจากนั้น Goldfinger ยังเป็นบอนด์เรื่องแรกที่ได้รับรางวัลออสการ์สาขาเทคนิคพิเศษด้านเสียงยอดเยี่ยมอีกด้วย
Thunderball (1965)
เทอเรนซ์ ยัง กลับมานั่งเก้าอี้ผู้กำกับอีก (เป็นครั้งสุดท้าย) พร้อมฌอน คอนเนอรี และบอนด์ในภาคที่แหวกแนวนำเสนอฉากแอ็กชันใต้น้ำ ภายใต้เรื่องราวการออกเดินทางของบอนด์ไปยังบาฮามาส เพื่อตามหาหัวรบนิวเคลียร์ 2 หัวที่ถูกสเปกเตอร์ขโมยไป ด้วยฉากการต่อสู้ไล่ล่าในทะเลและใต้น้ำที่ดูแตกต่างจากภาคก่อน ๆ ทำให้บอนด์ภาคนี้กวาดเงินไปมากถึง 141 ล้านเหรียญ และยังได้รับรางวัลออสการ์สาขาเทคนิคพิเศษด้านภาพยอดเยี่ยม
You Only Live Twice (1967)
นี่คือหนังเจมส์ บอนด์ เรื่องแรกที่ไม่ได้นำโครงเรื่องมาจากนิยายทั้งดุ้น ใช้แค่บางตัวละครและบางสถานที่จากนิยายชื่อเดียวกันของ เอียน เฟลมมิง ที่สำคัญเขียนบทโดย โรอัลด์ ดาห์ล นักเขียนชื่อดัง ฌอน คอนเนอรี ยังรับบทบอนด์ จากการกำกับของ ลิวอิส กิลเบิร์ต พูดถึงบอนด์ที่ต้องเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อสืบหายานอวกาศที่ถูกขโมยและนักบินอวกาศที่ถูกลักพาตัว
On Her Majesty’s Secret Service (1969)
การรับบทเจมส์ บอนด์ ครั้งแรกและครั้งเดียวของ จอร์จ ลาเซนบี นักแสดงชาวออสเตรเลีย กำกับโดย ปีเตอร์ อาร์. ฮันต์ ในภาคนี้บอนด์ต้องเผชิญหน้ากับ โบลเฟลด์ ที่วางแผนล้างสมองคนไข้เพื่อให้ไปปล่อยเชื้อโรคไปทั่วโลก หนังได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังบอนด์ที่มีการดัดแปลงได้ซื่อสัตย์ต่อนวนิยายของเอียน เฟลมมิง และมีสาวบอนด์ที่มีเสน่ห์มากที่สุดคนหนึ่ง (ไดอานา ริกก์)
Diamonds Are Forever (1971)
หลังจากลาเซนบีถอนตัวไป ฌอน คอนเนอรี ก็จำต้องกลับมารับบทบอนด์อีกครั้ง พร้อมผู้กำกับกาย แฮมิลตัน จาก ‘Goldfinger’ เล่าเรื่องราวของบอนด์ที่ออกตามล่าแก๊งลักลอบค้าเพชรเถื่อน เริ่มต้นจากแอฟริกาไปจนถึง ฮอลแลนด์ อังกฤษ และอเมริกา และพบว่าผู้อยู่เบื้องหลังแผนร้ายนี้คือศัตรูเก่าอย่างโบลเฟลด์ หนังไม่ค่อยมีอะไรแปลกใหม่ เดินตามสูตรเดิม ๆ สิ่งเดียวที่ทุกคนจดจำได้จนถึงวันนี้คือเพลง “Diamonds Are Forever” ของเชอร์ลีย์ บาสซี
Live and Let Die (1973)
การรับบทเจมส์ บอนด์ ครั้งแรกของโรเจอร์ มัวร์ และยังคงกำกับโดย กาย แฮมิลตัน เล่าเรื่องราวการสืบสวนคดีฆาตกรรมของ 3 เจ้าหน้าที่ของเอ็มไอซิกซ์ นำไปสู่มิสเตอร์บิก พ่อค้ายาเสพติดสุดเหี้ยมบนเกาะแห่งหนึ่ง หนังได้รับคำชมในเรื่องฉากแอ็กชันและการรับบทบอนด์ครั้งแรกของมัวร์ที่มีอารมณ์ขันมากกว่าในฉบับของคอนเนอรี
The Man with the Golden Gun (1974)
กาย แฮมิลตัน ยังคงนั่งเก้าอี้ผู้กำกับเป็นเรื่องที่ 4 และเรื่องสุดท้าย โรเจอร์ มัวร์รับบทบอนด์ที่ได้รับลูกกระสุนสีทองสลักเลข 007 ซึ่งแสดงว่าเขากำลังตกเป็นเป้าหมายของเพชฌฆาตปืนทอง สคารามันกา แม้ภาพรวมจะเป็นหนังบอนด์ที่ไม่ค่อยได้รับการชื่นชมนัก แต่กลายเป็นที่จดจำของชาวไทย เพราะนี่เป็นหนังบอนด์เรื่องแรกที่ถ่ายทำในประเทศไทย และฉากดวลกันของ 2 ตัวละครหลักที่เกาะตะปู จังหวัดพังงา ที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก
The Spy Who Loved Me (1977)
ลิวอิส กิลเบิร์ต ก้าวเข้ามาเป็นผู้กำกับบอนด์เป็นภาคแรก เล่าเรื่องของบอนด์ต้องจับมือกับสายลับสาวของเคจีบี เพื่อติดตามเรือดำน้ำของกองทัพอังกฤษและโซเวียตที่หายไป นี่คือหนังบอนด์ของโรเจอร์ มัวร์ ที่ได้รับคำวิจารณ์ที่ดี ทั้งการแสดงของมัวร์และฉากแอ็กชันที่สมจริง โดยได้เข้าชิงออสการ์ถึง 3 สาขาคือกำกับศิลป์, ดนตรีประกอบ และเพลงประกอบสุดไพเราะ “Nobody Does It Better” ของคาร์ลี ไซมอน
Moonraker (1979)
หนังบอนด์เรื่องที่ 3 และเรื่องสุดท้ายของผู้กำกับ ลูอิส กิลเบิร์ต ที่เกาะกระแสหนังไซไฟที่สร้างปรากฏการณ์ในช่วงนั้นอย่าง ‘Star Wars’ พูดถึงบอนด์ที่เข้าไปสืบเรื่องกระสวยอวกาศที่ถูกจี้และต้องหยุดยั้งแผนที่จะปล่อยสารพิษเพื่อกวาดล้างประชากรโลก หนังทำรายได้สูงถึง 210 ล้านเหรียญ นับว่าสูงที่สุดในตอนนั้น
For Your Eyes Only (1981)
อดีตนักตัดต่อในหนังบอนด์ 3 เรื่องก่อนหน้านี้อย่าง จอห์น เกล็น ก้าวเข้ามาเป็นผู้กำกับภาคแรก ในเรื่องราวการรับภารกิจกู้ระบบสื่อสารที่อยู่ภายในเรือสอดแนมของสหราชอาณาจักรซึ่งจมลง เพื่อหาเป้าหมายในการทำลายอัตโนมัติ ก่อนที่เรือจะตกไปเป็นของรัสเซีย แม้จะเป็นหนังบอนด์ที่ไม่ได้มีอะไรหวือหวา แต่ก็ถือว่ากลับเข้ามาเข้ารูปเข้ารอยหลังจาก ‘Moonraker’
Octopussy (1983)
โรเจอร์ มัวร์ ในบทบอนด์ ต้องออกสืบสวนคดีฆาตกรรมของสายลับ 009 และเผชิญกับแผนร้ายของนายพลคลั่งแห่งรัสเซียที่อยากระเบิดสงคราม เพื่อกรุยทางให้รัสเซียเป็นชาติมหาอำนาจ หนังกำกับโดย จอห์น เกล็น และได้รับคำชมในเรื่องของฉากแอ็กชันที่ดูสนุก แต่ก็ถูกตำหนิว่าเป็นงานสูตรสำเร็จมากเกินไป
A View to a Kill (1985)
จอห์น เกล็น กลับมาหน้าที่กำกับอีกครั้ง พร้อมกับโรเจอร์ มัวร์ ที่รับบทบอนด์เป็นครั้งที่ 7 และครั้งสุดท้าย ในภาคนี้บอนด์ต้องตามติดพฤติกรรมของมหาเศรษฐีเจ้าของธุรกิจเทคโนโลยี และเข้าไปพบกับแผนการทำลายซิลิคอน วัลเลย์ แม้จะเป็นหนังบอนด์ที่มีฉากหวือหวาอย่างที่หอไอเฟลและสะพานโกลเดนเกต รวมทั้งได้เกรซ โจนส์ ศิลปินสาวชื่อดังชาวจาเมกามารับบทสาวบอนด์ แต่โดยรวมก็ยังถือว่าเป็นหนังบอนด์ที่ไร้แก่นสาร
The Living Daylights (1987)
การเข้ามารับบทเจมส์ บอนด์ เป็นครั้งแรกของ ทิโมธี ดาลตัน กำกับโดย จอห์น เกล็น พูดถึงบอนด์ที่ได้รับคำสั่งให้สังหารสายลับหญิงที่วางแผนสังหารนายพลของรัสเซีย แต่ไป ๆ มา ๆ บอนด์กลับถูกซ้อนแผน การมารับบทบอนด์ของดาลตัน ช่วยให้โทนหนังดูซีเรียส หม่นขึ้น และมีความเป็นหนังแอ็กชันที่ตื่นเต้นมากขึ้นกว่าที่เคย
Licence to Kill (1989)
การกำกับครั้งสุดท้ายเป็นเรื่องที่ 5 ของ จอห์น เกล็น และการรับบทบอนด์ของทิโมธี ดาลตัน เป็นครั้งที่ 2 และครั้งสุดท้ายเช่นกัน นี่คือหนังบอนด์เรื่องแรกที่ไม่ได้ใช้ชื่อเรื่องของนิยายเอียน เฟลมมิง เล่าเรื่องราวของบอนด์ กับ ฟีลิกซ์ ไลเทอร์ สายลับซีไอเอ ที่ร่วมกันจับตัวเจ้าพ่อค้ายาเสพติด แต่ไม่สำเร็จ แถมไลเทอร์บาดเจ็บสาหัสและภรรยาถูกฆ่าตาย บอนด์จึงต้องตามล้างแค้น เรียกว่าเป็นหนังบอนด์ที่จริงจังและเคร่งเครียดจนขาดความบันเทิงและเสน่ห์แบบ 007
GoldenEye (1995)
เพียร์ซ บรอสแนน กับการเข้ามารับบทเจมส์ บอนด์ เป็นครั้งแรก ภายใต้การกำกับของ มาร์ติน แคมป์เบลล์ ถือเป็นหนังบอนด์เรื่องแรกที่เขียนบทขึ้นมาใหม่ทั้งหมดโดยไม่ได้ยึดตามนวนิยายของเอียน เฟลมมิง หนังพูดถึงบอนด์ที่ต้องจัดการกับองค์กรก่อการร้ายที่มีแผนใช้โกลเดนอายเป็นอาวุธดาวเทียมยิงคลื่นแม่เหล็กมายังโลก เพื่อทำลายระบบการเงินของอังกฤษ ถือเป็นการเปิดตัวบรอสแนนได้สง่า เพราะได้รับคำชมในแแง่การสร้างพัฒนาการให้กับบอนด์และทำเงินไปมากถึง 356 ล้านเหรียญ
Tomorrow Never Dies (1997)
บรอสแนนกลับมารับบทบอนด์ ที่พยายามหยุดยั้ง เจ้าพ่อสื่อผู้บ้าอำนาจที่ต้องการจะสร้างเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 หนังกำกับโดย โรเจอร์ สปอร์ติสวูด และไม่ค่อยได้รับคำชื่นชมนักเพราะไร้ความแปลกใหม่และเดินตามสูตรเดิม แต่นี่เป็นอีกครั้งที่หนังถ่ายทำในประเทศไทย และได้มิเชล โหยว มารับบทบอนด์เกิร์ลสัญชาติจีน
The World Is Not Enough (1999)
ในภาคนี้ บอนด์ได้รับมอบหมายให้ปกป้องลูกสาวของนักธุรกิจน้ำมันผู้มีอิทธิพลที่ถูกลอบฆ่า ให้พ้นจากผู้ก่อการร้ายระดับชาติ โดยมี ดร.โจนส์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุธนิวเคลียร์คอยช่วยเหลือ หนังกำกับโดย ไมเคิล แอ็ปเทด ที่ได้รับคำวิจารณ์ค่อนข้างลบโดยเฉพาะการรับบทของ เดนิส ริชาร์ดส์ ยังดีที่มีฉากแอ็กชันสนุก ๆ ให้ดูเพลิน ๆ ได้
Die Another Day (2002)
ภาพจำของหนังเรื่องนี้คือ ฮัลลี แบร์รี ในชุดบิกินีสีส้มที่เดินขึ้นจากชายหาด และการปรากฏตัวของ มาดอนนา ที่มาช่วยทำเพลงประกอบให้ด้วย เพียร์ซ บรอสแนน กับการรับบทบอนด์ครั้งที่ 4 และครั้งสุดท้าย โดยกำกับของ ลี ทามาโฮริ เล่าเรื่องราวของบอนด์ที่พยายามตามหาคนที่หักหลังเขาในเอ็มไอซิกซ์ ซึ่งต่อมาพบว่าเป็นทหารชาวเกาหลีเหนือที่ถูกเขาฆ่าเสียชีวิต นับเป็นหนังบอนด์ที่น่าผิดหวังที่สุดภาคหนึ่ง
Casino Royale (2006)
แดเนียล เครก ก้าวเข้ามารับบทเจมส์ บอนด์ คนที่ 6 ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นบอนด์ที่ไม่ตรงตามนิยายต้นฉบับ แต่หนังภาคแรกของเขาพิสูจน์ให้เห็นว่าเครกเป็นบอนด์เวอร์ชันใหม่ที่ทุกคนยอมรับ หนังกำกับโดยมาร์ติน แคมป์เบล เล่าเรื่องราวของบอนด์ที่ได้รับมอบหมายให้เข้าไปแฝงตัวสืบเรื่องกองทุนของพวกก่อการร้ายที่คาสิโนโรแยล นี่คือหนังที่เสมือนการรีบูตเจมส์ บอนด์ ใหม่อีกครั้ง และเป็นหนึ่งในหนังบอนด์ที่ดีที่สุดภาคหนึ่ง
Quantum of Solace (2008)
มาร์ก ฟอสเตอร์ ก้าวเข้ามากำกับบอนด์ในภาคนี้ เล่าเรื่องการตามตัวมิสเตอร์ไวต์ของบอนด์ไปจนถึงเฮติ และพบกับความสัมพันธ์ของเขากับนักอนุรักษ์ธรรมชาติที่กำลังร่วมมือกับอดีตนายพลชาวโบลิเวียที่ต้องการยึดอำนาจและผูกขาดเรื่องแหล่งน้ำในประเทศ หนังเต็มไปด้วยความดุดันและฉากแอ็กชันมัน ๆ ซึ่งเหมือนเป็นภาคเชื่อมโยงระหว่าง ‘Casino Royale’ และ ‘Skyfall’
Skyfall (2012)
ผลงานกำกับของ แซม เมนเดส ที่กลายเป็นหนังบอนด์ที่ทำเงินสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์คือ 1,108 ล้านเหรียญ เมื่อเอ็มไอซิกซ์ถูกโจมตี พร้อมกับเอ็มถูกตั้งคำถามถึงความสามารถในการทำงาน บอนด์ต้องออกสืบหาความจริง และพบว่าผู้อยู่เบื้องหลังคือ ราอูล ซิลวา อดีตสายลับเอ็มไอซิกซ์ หนังเต็มไปด้วยเรื่องราวน่าจดจำและเต็มไปด้วยฉากแอ็กชันดี ๆ นอกจากเพลงประกอบ “Skyfall” ของอะเดลที่ได้รับรางวัลออสการ์แล้ว ยังเป็นภาคที่อำลาจูดี เดนช์ ในบทเอ็มอีกด้วย
Spectre (2015)
แซม เมนเดส กลับมารับหน้าที่กำกับบอนด์เป็นครั้งที่ 2 แดเนียล เครก ในบทบอนด์ กับการเดินทางไปเม็กซิโกเพื่อทำภารกิจของเอ็มคนก่อน จนทำให้เขาถูกพักงาน และนำไปสู่องค์กรอาชญากรรมชื่อสเปกเตอร์ ที่มีแผนควบคุมเครือข่ายสอดแนม แม้จะไม่น่าประทับใจเท่า ‘Skyfall’ แต่ก็ถือว่าเป็นบอนด์ที่โดดเด่นและมีฉากแอ็กชันที่น่าตื่นเต้น
No Time to Die (2020)
หนังบอนด์เรื่องที่ 25 และเรื่องสุดท้ายของแดเนียล เครก ที่กำกับโดย แครี โจจิ ฟูกุนากะ ซึ่งต้องเลื่อนฉายข้ามปีจากการระบาดของโรคโควิด-19 หนังเล่าเรื่องของบอนด์ที่ถูกซุ่มโจมตีระหว่างพักร้อนอยู่กับแมดเดอลิน บอนด์ตัดสินใจเลิกกับแมดเดอลินเพราะคิดว่าเธอหักหลังเขา 5 ปีถัดมาเกิดเหตุนักวิทยาศาสตร์ถูกลักพาตัวจากห้องปฏิบัติการของเอ็มไอซิกซ์ ที่พัฒนาอาวุธชีวภาพ ทำให้บอนด์ต้องเข้ามาออกตามหา นำไปสู่บทสรุปที่เข้มข้นและสะเทือนใจ นี่คือหนังบอนด์ที่ยาวที่สุด 163 นาที และว่ากันว่าเป็นบอนด์ภาคที่ทำให้เราได้เห็นความรู้สึกอ่อนโยนของสายลับคนนี้อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ถือเป็นการอำลาบทบอนด์ของแดเนียล เครก ได้อย่างน่าจดจำ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส