แม้ว่าในปัจจุบันมนุษย์จะตระหนักถึงผลกระทบจากการล่าสัตว์ไม่ว่าจะเพื่อประโยชน์ในแง่ใดก็ตาม แต่สุดท้ายก็ยังคงมีการล่าสัตว์อยู่ดี โดยเฉพาะสัตว์ใหญ่อย่างเช่นช้างแอฟริกา ที่ยังพบว่ามีการล่าช้างแอฟริกาเพื่อเอางาอยู่ ซึ่งผลวิจัยล่าสุดเผยให้เห็นว่า ผลกระทบของการล่าช้างไม่ได้ส่งผลเพียงแค่การลดจำนวนอย่างมากของช้างแอฟริกา หรือส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงระดับวิวัฒนาการที่ช้างแอฟริกาต้องมีการปรับตัวเพื่อรักษาชีวิตและเผ่าพันธ์ุของมันเอาไว้

ช้าง ช้างแอฟริกา

งานวิจัยล่าสุดที่เผยแพร่ในวารสาร ‘Science’ โดย ‘ผศ.ดร.เชน แคมป์เบล-สแตนตัน’ (Shane Campbell-Staton) นักชีววิทยาด้านวิวัฒนาการ จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton University) สหรัฐอเมริกาและคณะ ได้เผยให้เห็นหลักฐานที่แสดงว่า ช้างแอฟริการุ่นปัจจุบันที่อาศัยอยู่ในประเทศโมซัมบิก ในทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะช้างตัวเมีย มีวิวัฒนาการในระดับโครโมโซมที่ทำให้งาของมันค่อย ๆ หดสั้นลงจนกระทั่งหายไปในที่สุด เพื่อป้องกันตัวเองจากการล่าของนายพรานที่ต้องการล่าเพื่อเอางาช้าง

โดยการวิจัยนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2016 โดย ดร.เชน ได้ทำการวิเคราะห์ภาพวิดีโอที่บันทึกภาพช้างแอฟริกา ที่อาศัยอยู่ใน ‘อุทยานแห่งชาติโกรองโกซา’ (Gorongosa National Park) ที่ตั้งอยู่บริเวณภาคกลางของประเทศโมซัมบิก จากการวิเคราะห์คลิปวิดีโอพบว่า ช้างแอฟริกาตัวเมียหลายตัวที่อยู่ในคลิปนั้นไม่มีงา หรือที่เรียกว่าเป็น ‘ช้างพัง’ (ช้างตัวเมียที่ไม่มีงา) ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่แปลกมาก เพราะตามปกติแล้ว ช้างแอฟริกาตัวเมียที่ไม่มีงา จะพบได้เพียง 2 เปอร์เซนต์จากจำนวนประชากรช้างแอฟริกาเท่านั้น

ช้าง ช้างแอฟริกา

และเมื่อ ดร.เชน ได้ลงไปสำรวจจำนวนช้างแอฟริกาในอุทยานแห่งชาติโกรองโกซา ก็พบว่า ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 1977-2004 หรือประมาณ 3 ทศวรรษ พบว่า จำนวนช้างแอฟริกาตัวเมียที่ไม่มีงานั้นมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 18.5 เปอร์เซนต์ เป็น 33% เปอร์เซนต์ ซ่ึงก็สอดคล้องกันกับเหตุการณ์ในช่วงปี 1977 ที่มีสงครามกลางเมืองเกิดขึ้นภายในประเทศโมซัมบิกซึ่งสู้รบกันยาวนานกว่า 15 ปี

ส่งผลให้กองกำลังของสองฝ่ายต้องออกล่างาช้างเพื่อหารายได้ในการสนับสนุนการทำสงคราม จนทำให้จำนวนช้างแอฟริกาโดยรวมของโมซัมบิกลดลงกว่า 90 เปอร์เซนต์ และทำให้ช้างแอฟริกาตัวเมียไม่มีงาเพิ่มขึ้นมากจนถึงประมาณ 50 เปอร์เซนต์ หรือประมาณ 3 เท่าจากปกติ แม้หลังสงครามจบ ก็ยังพบว่ามีช้างตัวเมียที่ไม่มีงาเพิ่มขึ้นถึง 1 ใน 3 ในปี 2014 ซึ่งก็มีมุมที่น่าสนใจว่า แม้งาช้างตัวเมียจะหายไปจากวิวัฒนาการการป้องกันตัวเองจากนักล่างาช้าง แต่กลับพบว่า ช้างตัวผู้กลับยังคงมีงาเหมือนเช่นปกติ ส่วนที่ไม่มีงานั้นพบได้น้อยมาก ๆ

ช้าง ช้างแอฟริกา

ไม่เฉพาะแต่ในโมซัมบิกเท่านั้น แต่ประเทศอื่น ๆ ในทวีปแอฟริกาก็ประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน เช่นใน ‘อุทยานปางช้างแอดโด’ (Addo Elephant National Park) ในแอฟริกาใต้ พบว่าช้างตัวเมีย 174 ตัวในอุทยาน ไม่มีงามากถึง 98 เปอร์เซนต์มาตั้งแต่ช่วงปี 2000

ในแง่พันธุกรรม ทีมวิจัยยังไม่พบปัจจัยการเปลี่ยนแปลงที่แม่นยำนัก แต่มีการวิเคราะห์ว่า อาจมีการกลายพันธุ์ในระดับโครโมโซม ที่อาจจะอยู่ในยีนบนโครโมโซม X ส่วนที่เรียกว่า ‘AMELX’ ที่เป็นส่วนที่ไว้ใช้สร้างฟันและงา ซึ่งช้างตัวเมียจะมีโครโมโซม X สองตัว เท่ากับว่ามันจะมีสำเนาของโครโมโซมนี้อยู่ ทำให้การกลายพันธุ์นั้นเกิดขึ้นได้ตามปกติโดยไม่ส่งผลกระทบใด ๆ

ช้าง ช้างแอฟริกา
ภาพตัดขวางแสดงการทำงานของโครโมโซม X ส่วนที่มีชื่อว่า ‘AMELX’ ซึ่งใช้สำหรับสร้างตัวงาของช้าง

แต่หากเกิดกับเพศผู้ที่มีโครโมโซม X ชุดเดียว ก็อาจจะส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อช้างตัวผู้ และลูกหลานที่สืบทอดโครโมโซมนั้นได้ และถ้าในอนาคตมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมมากขึ้น ก็อาจทำให้ช้างตัวผู้ไม่มีงาได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่า ณ ตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณใด ๆ ชี้ชัดว่าจะเกิดขึ้น

ซึ่ง ดร.เชน ได้อธิบายเสริมว่า ปรากฏการณ์กลายพันธุ์นี้ก็สามารถเกิดขึ้นกับมนุษย์ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ผู้หญิงที่มีภาวะนี้ไม่มีฟันกรามด้านบน และผู้สืบทอดพันธุกรรมนี้ในรุ่นที่สามก็จะกลายเป็นผู้ที่ไม่มีฟันกรามด้านบนตั้งแต่กำเนิดเป็นตัวอ่อนในครรภ์

ช้าง ช้างแอฟริกา

แม้การสูญเสียงาของช้างแอฟริกาตัวเมียจะป้องกันการล่าได้ แต่ ดร.เชน กล่าวว่าก็ทำให้วิถีชีวิตของช้างเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน โดยปกติแล้ว งาช้างเปรียบเสมือนมีดพับสารพัดประโยชน์ สำหรับใช้ลอกเปลือกไม้ ขุดหลุมหาน้ำบาดาลหรือแร่ธาตุ ฯลฯ ซึ่งการที่งาหายไปก็อาจทำให้ยากขึ้นสำหรับการดำรงวิถีชีวิตของช้างตามปกติ และส่งผลต่อความหลากหลายในระบบนิเวศ เช่นในพืชบางชนิด จนอาจทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุลไปในที่สุด และนั่นหมายความว่า อาจจะต้องใช้เวลานับร้อยปีในการฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับมาเหมือนเมื่อครั้งก่อนสงคราม

ในขณะที่วิวัฒนาการนี้ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้นมาก ๆ เพียงในชั่วระยะเวลาเพียง 30 ปีเท่านั้น


อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส