หลังจากที่ ‘คิม จอง-อึน’ ผู้นำสูงสุดแห่งประเทศเกาหลีเหนือ ได้ออกมายอมรับและแนะนำให้ประชาชนเตรียมรับมือเพื่อต่อสู้กับวิกฤติทุพภิกขภัย หรือภาวะขาดแคลนอาหาร จนทำให้ต้องออกมาเรียกร้องให้ประชาชนอยู่อย่างประหยัดและกินให้น้อยลง จนกว่าจะถึงช่วงเวลาเปิดพรมแดนประเทศอีกครั้งในปี 2025 รวมทั้งยังได้แนะนำให้ศึกษาการนำ ‘หงส์ดำ’ (ฺBlack Swan) มาเป็นอาหาร รวมทั้งเพาะเลี้ยงในระดับอุตสาหกรรมในฐานะสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่ ที่อร่อยและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง
โดยเมื่อไม่นานมานี้ ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ได้ออกมาเรียกร้องให้ประชาชนอยู่อย่างประหยัด และกินให้น้อยลง เพื่อรับมือกับภาวะการขาดแคลนอาหาร อันเนื่องมาจากภาวะความไร้สเถียรภาพทางเศรษฐกิจขั้นรุนแรงที่ทำให้ราคาอาหารและสินค้าแพงขึ้นเป็นอย่างมาก ปัญหาการคว่ำบาตรจากนานาชาติในการดำเนินการโครงการวิจัยนิวเคลียร์ และการปิดพรมแดนประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปีที่แล้ว และคาดว่าจะเปิดพรมแดนอีกครั้งในปี 2025 ทำให้การค้าระหว่างชายแดนระหว่างเกาหลีเหนือและจีนต้องชะงักลง
สำนักข่าว ‘โรดอง ชิมมุน’ (Rodong Sinmun) หนังสือพิมพ์ทางการของพรรคแรงงานแห่งเกาหลีเหนือ ได้เผยแพร่เนื้อหาของทางการเมื่อวันจันทร์ที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยได้แนะนำให้ประชาชนหันมาบริโภค ‘หงส์ดำ’ (ฺBlack Swan) โดยระบุว่า “เนื้อของหงส์ดำนั้นอร่อย และมีคุณค่าทางยา” โดยชูจุดเด่นว่า เนื้อของหงส์ดำนั้นมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก และเป็นอาหารสุขภาพที่โดดเด่นของศตวรรษที่ 21
แม้ว่าหงส์ดำจะเป็นนกน้ำที่มีความสวยงาม และในหลาย ๆ ประเทศก็มักไม่นิยมกิน แต่ทางการเกาหลีเหนือได้เผยว่า ทางการได้เริ่มวิจัยการเพาะเลี้ยงหงส์ดำมาตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2019 รวมทั้งยังได้มีการเปิดศูนย์โครงการเพาะเลี้ยงหงส์ดำ ‘กวางโพ’ (Kwangpho) ที่ตั้งอยู่ในเมือง ‘จงพยอง’ (Jongphyong) ทางทิศตะวันตกของเกาหลีเหนืออย่างเป็นทางการเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
โดยกระทรวงการเกษตรของเกาหลีเหนือได้เผยถึงความคืบหน้าของเพาะเลี้ยงหงส์ดำว่า เนื้อหงส์ดำนั้นมีโปรตีนสูงมาก และย่อยง่ายกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ๆ พร้อมยังได้เสริมว่า เนื้อของหงส์ดำยังมีสารอาหารที่ช่วยบำรุงสุขภาพ เช่น ‘อิมมูโนโกลบูลิน’ (Immunoglobulin) กรดไขมันไลโนเลอิก (Linoleic acid) และสารอาหารอื่น ๆ มีคุณสมบัติเป็น “ซูเปอร์ฟู้ด” (Superfood) ที่มีคุณสมบัติในการต้านโรคมะเร็ง โดยทางการพร้อมที่จะผลักดันให้มีการเพาะเลี้ยงหงส์ดำในระดับอุตสาหกรรม เพื่อหวังว่าจะเป็นส่วนที่ “สนับสนุนให้ชีวิตของประชาชนดีขึ้น” ตามคำกล่าวของทางการ
ซึ่งคาดว่านโยบายการแนะนำให้ประชาชนหันมาบริโภคหงส์ดำนี้ น่าจะควบคู่กับนโยบายในการจัดการกับสถานการณ์การขาดแคลนอาหารในประเทศ โดยผลักดันให้ดูแลเรื่องการเกษตร และปศุสัตว์ เช่นการทำฟาร์มแพะ วัว ควาย และกระต่าย รวมทั้งยังแนะนำให้โรงเรียน โรงงานอุตสาหกรรม และสถานที่ประกอบธุรกิจต่าง ๆ ให้หันมาทำสวน เลี้ยงปลา เลี้ยงสัตว์ ปลูกผักบนดาดฟ้า หรือพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้งาน เป็นต้น
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส