หลายคนรู้จัก เซอร์ ไอแซก นิวตัน (Sir Isaac Newton) ในฐานะผู้ค้นพบกฎแรงโน้มถ่วงของโลก และบิดาแห่งวงการฟิสิกส์ รวมถึงเป็นคนที่คิดค้นสิ่งประดิษฐ์จนกลายเป็นมรดกตกทอดสู่คนรุ่นหลังมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ‘ประตูแมว’ นั่นเอง
หลายคนอาจจะงงว่า เดี๋ยวก่อน! ‘เซอร์ ไอแซก นิวตัน’ ที่คิดค้นทฤษฎีแคลคูลัสเนี่ยนะ จะคิดค้นอะไรแบบนี้? แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อแหละว่า หากไร้ซึ่งสิ่งประดิษฐ์เล็ก ๆ นี้ บางทีนิวตันอาจไม่มีเวลาไปคิดค้นสิ่งประดิษฐ์หรือทฤษฎีที่เปลี่ยนโลกเราในวันนี้
ใครที่เคยอ่านชีวประวัติของนิวตัน คงจะรู้ดีว่าชายคนนี้ถือเป็น ‘ทาสแมว’ ตัวยง เขาชอบเลี้ยงแมวหลายตัว แถมยังดูแลดีไม่ต่างกับลูกแท้ ๆ เลยทีเดียว และเมื่อพูดถึงการคิดค้นประตูแมว แน่นอนว่าจุดเริ่มต้นแรงบันดาลใจก็หนีไม่พ้นวีรรรมของเหล่าแมว ๆ ที่ทำเอานิวตันถึงกับปวดหัวมาแล้ว
ย้อนกลับไปนิวตันมักจะชอบขึ้นไปบนห้องใต้หลังคา เพื่อทดลองเรื่องแสงกับปรึซึมสามเหลี่ยม โดยห้องใต้หลังคาที่ว่าเป็นห้องทึบที่มีประตูเข้าออกเพียงแค่บานเดียว แถมไม่มีหน้าต่างหรือช่องใหญ่ ๆ ที่จะสามารถให้แมวเข้าได้เลย
แน่นอนว่าพอเข้าห้องไม่ได้ เหล่าแมวน้อยหลายต่อหลายตัวก็ทำการประท้วง โดยการข่วนประตู หรือพยายามจะเข้า ๆ ออก ๆ ห้องตลอดเวลา จนทำให้นิวตันต้องหยุดจากการทดลองเพื่อไปเปิดปิดประตูให้แมวตลอดเวลา
จากความรำคาญที่เกิดขึ้น บวกกับความคิดที่ว่าหากปล่อยไว้ คงไม่ได้ทดลองอะไรสำเร็จกันพอดี ก็ทำให้นิวตันปิ๊งไอเดียหนึ่งขี้นมา เขาตัดสินใจตัดช่องเล็ก ๆ ตรงประตูจากนั้นก็ปิดด้วยผ้าสักหลาดที่ด้านบนของช่อง เพื่อเป็นเหมือนประตูเล็ก ๆ ที่สามารถเปิดปิดเองได้ ซึ่งต่อมานิวตันก็เรียกสิ่งประดิษฐ์ของตัวเองนี้ว่า ‘ประตูแมว’
แต่ว่ากันว่าทุกสิ่งประดิษฐ์ของเหล่าอัจฉริยะก็ล้วนแต่มีจุดบอดกันทั้งนั้น ช่วงแรกประตูแมวของนิวตันใช้งานได้ดีกับแมวที่โตเต็มวัยแล้ว แต่เขาก็สังเกตว่าลูกแมวตัวเล็ก ๆ นั้นไม่สามารถลอดผ่านประตูที่เขาสร้างขึ้นได้ เพราะอยู่สูงเกินไป ต่อมาเขาจึงทำการเจาะรูเล็ก ๆ เท่ากับขนาดของลูกแมว เพื่อให้ลูกแมวเหล่านั้นสามารถลอดผ่านไปได้
หลังสร้างประตูแมวสำเร็จ นิวตันก็หมดปัญหาเรื่องการต้องเดินไปเปิดปิดประตู หรือกลัวว่าจะมีแสงเล็ดลอดเข้ามาขณะที่ทำการทดลองในห้องมืดอีกต่อไป
งานนี้เหล่าทาสแมวคงต้องขอบคุณความรำคาญของนิวตันในครั้งนั้น ซึ่งหากไร้ซึ่งเสียงข่วนประตูอันน่ารำคาญในวันนั้น เหล่าทาสแมวในวันนี้ก็คงต้องเผชิญกับความยากลำบาก ในการที่ต้องเดินไปเปิดปิดประตูให้กับเจ้านายอยู่ตลอดเวลาเป็นแน่
เครดิตภาพและอ้างอิง:
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส